“คนไทยหรือเปล่า?” ครั้งหนึ่งวลีนี้เคยเป็นทั้งคำถามชี้นำและคำกล่าวหา ทั้งไม่จริงจังและจริงจัง แตกต่างสิ้นเชิงจากอีกวลีของอดีตนายกรัฐมนตรี “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ!” กระทั่งอหังการของท่านผู้นำคนปัจจุบัน “เรามีระบบปกครองที่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร!”
ประโยคเหล่านี้สะท้อนบางสิ่งที่เหมือนๆ กันอย่างหนึ่งคือ เป็นการประกาศอย่างมั่นอกมั่นใจในฐานะประเทศที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร ทว่าผลวัดระดับการศึกษาของไทยกลับตกต่ำลงเรื่อยๆ แพ้บรรดาประเทศเพื่อนบ้านที่ต่างเคยเป็นเมืองขึ้นทั้งสิ้น
เอาล่ะๆ ยอมรับ การมองเช่นนี้ไม่ต่างจากประโยคข้างต้นที่ยกมา ล้วนเจือด้วยอคติทางรัฐชาติ แต่อดสงสัยไม่ได้ ทุกๆ ความภูมิใจในความเป็นไทยที่ว่ามา เหตุใดรากฐานสำคัญที่สุดในการพัฒนาชาติผ่าน ‘การศึกษา’ ถึงไม่เคยดีขึ้น หนำซ้ำยังตกต่ำลงเรื่อยๆ
เพื่อจะตอบคำถามและที่มาที่ไปของปัญหานี้ ภาควิชาสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงจัดงานเสวนาว่าด้วย ‘การศึกษากับอนาคตสังคมไทย ผ่านมุมมองทางสังคมและวัฒนธรรม’ โดยมีคณาจารย์จากภาควิชาสังคมและผู้คร่ำหวอดในเรื่องการศึกษานอกสถาบันมาช่วยสะสางปมให้เข้าใจถึงเบื้องหลังสภาวะล้มเหลวทางการศึกษาว่าเกิดจากอะไร ด้วยการย้อนกลับไปดูการศึกษาภาษาอังกฤษ ในฐานะไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ เพื่อเป็นภาพแทนให้เห็นโครงสร้างการศึกษาไทยทั้งระบบ
“ทุกคนคงจะทราบกันอยู่แล้วว่าสถาบันการศึกษาเองก็เป็นสถาบันหนึ่งที่มีคุณูปการต่อสังคม ถ้าพิจารณาในแง่ของอรรถประโยชน์ของสถาบันการศึกษา แน่นอนว่าทำให้เกิดการตั้งคำถามและแสวงหาความรู้ รวมทั้งใช้ความรู้นั้นในการพัฒนาตัวเองและสังคม มุ่งหวังให้สถาบันการศึกษาสลายความแตกต่างทางชนชั้น ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่ในขณะเดียวกัน หากพูดถึงในแง่ลบของสถาบันการศึกษาเองก็กลับมีลักษณะของการผลิตซ้ำอุดมการณ์บางชุด รับใช้อุดมการณ์บางชุด ทำให้เกิดระบบชนชั้น และทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจกันขึ้น”
ดร.ปุรินทร์ นาคสิงห์ จากภาควิชาสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเปิดในงานเสวนาได้อย่างน่าสนใจด้วยการไม่อวดโอ่แต่เพียงแง่งามของสถาบันการศึกษา หากยังกล่าวให้เห็นภาพรวมของสถาบันการศึกษาที่เป็นทั้งเบ้าหลอมและส่งต่ออุดมการณ์บางอุดมการณ์ที่สถาบันการศึกษาควรจะมีส่วนในการรื้อทลายลง แต่กลับกลายเป็นตัวสถาบันการศึกษาเองที่เกื้อหนุนให้อุดมการณ์นั้นยังคงอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้น ปุรินทร์จึงตั้งคำถามต่อการศึกษาเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาสังคมไทย เราจะต้องขับเคลื่อนกระบวนการศึกษาไปในทิศทางไหน และอย่างไร
ทว่าก่อนจะไปสู่การพัฒนาสังคมไทยในอนาคตด้วยการศึกษา ปุรินทร์เชื้อชวนให้กลับไปย้อนมองภาพอดีตของการศึกษาไทยผ่านการศึกษาภาษาอังกฤษที่มีมาตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อนด้วยการส่งไมค์ต่อให้ ดร.อาวุธ ธีระเอก จากภาควิชาประวัติศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือที่มาจากวิทยานิพนธ์เรื่อง ภาษาเจ้า ภาษานาย การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่อาวุธจะนำมาพูดคุยสะสางให้เห็นรากเหง้าของพัฒนาการศึกษาไทย ก็มาจากงานที่พัฒนาขึ้นมาจากวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้นั่นเอง
เริ่มจากการฉายคลิปวิดีโอจากยูทูบให้เห็นถึงลักษณะการใช้ภาษาอังกฤษของนักวอลเลย์สาวชื่อดัง นักแสดงจากภาคอีสานในภาพจำที่ภาพยนตร์ของเขาทุกเรื่องแทบไร้บทพูด และนักร้องเพลงที่เติบโตจากการตระเวนเล่นดนตรีตามริมถนนภูเก็ต
ทั้งหมดนี้ อาวุธชวนให้เราตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วนั้น มายาคติที่มักเชื่อกันว่าคนไทยไม่รู้/ไม่เก่งภาษาอังกฤษนั้น เป็นจริงแค่ไหน
ประการแรก ทั้งนักวอลเลย์สาว ทั้งนักแสดง และนักดนตรี ล้วนแล้วแต่ไม่ได้อยู่ในแวดวงที่เราเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษ กระทั่งไม่จำเป็นต้องพูดเก่ง สำเนียงแม่นด้วยซ้ำ แต่ทำไมพวกเขาถึงต้องขวนขวายให้รู้ภาษาอังกฤษ
อาวุธกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “จริงๆ ถ้าเราอยู่ในบริบทที่คนพูดภาษาอังกฤษ เราก็สามารถฝึกฝนภาษาอังกฤษได้ไม่ยาก แต่ปัญหาคือโอกาสที่เราจะเข้าถึงยังคงมีส่วนน้อย ฉะนั้นนอกจากการขวนขวาย เราจำเป็นพึ่งพาระบบการศึกษาอยู่”
ระบบตลาดทางการศึกษา
กล่าวให้ชัดคือ นอกจากความพยายามในการศึกษาภาษาอังกฤษแล้ว ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือสังคมยังจำเป็นต้องพึ่งพาการศึกษาในระบบอยู่ ซึ่งการศึกษาในระบบจะตอบสนองได้ต่อเมื่อมีครูหรืออาจารย์ที่ดีในการสอนภาษาอังกฤษ มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ภาษาอังกฤษ แต่อาวุธกล่าวว่า การที่โรงเรียนจะมีครูเช่นนั้นได้ ปัจจัยทางการตลาดเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามหรือมองในนิยามแคบๆ ของความเป็นแม่พิมพ์ของชาติได้อีกต่อไป
อาวุธไม่ปฏิเสธว่า ภายใต้ระบบการศึกษาภาษาอังกฤษแบบไทยๆ จำเป็นต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า ‘สามสูง’ คือ มีความพยายามสูง ความพึ่งพาระบบสูง และมีต้นทุนสูง แต่ต้นทุนทั้งสามนี้มีปัญหาในตัวมันเอง โดยเฉพาะในข้อต้นทุนสูง เนื่องจากต้นทุนที่ไม่เท่ากันจะเป็นตัวคัดเลือกคนที่มีต้นทุนน้อยให้ออกไปจากระบบการศึกษาที่ดีและเอื้อต่อการใช้ภาษาอังกฤษไปโดยปริยาย
“ถ้ามันเป็นความรู้ที่จำกัด ต้องใช้ความพยายามสูง พึ่งพาระบบสูง ต้นทุนสูง รวมถึงขีดให้คนที่รู้ภาษาอังกฤษกลายเป็นคนส่วนน้อยของสังคมที่สถานะกลายเป็นเรื่องของความสูงส่งสูงค่าตามไปด้วย เหมือนที่เราแปลกใจว่า อ้าว จา พนม พูดภาษาอังกฤษได้เหรอ นักวอลเลย์บอลจากบ้านโป่งทำไมพูดภาษาอังกฤษได้คล่องขนาดนี้ หรือว่า…นักดนตรีชาวบ้าน – ถ้าเราดูคลิป สิงโต นำโชค เขาออกจากระบบโรงเรียนตั้งแต่อายุ 12 หมายความว่าการเรียนรู้ของเขาเกิดขึ้นจากประสบการณ์ตัวเองทั้งนั้น ปัญหาของระบบการศึกษาของเราคือโอกาสที่ได้ใช้การฝึกฝนผ่านประสบการณ์มีข้อจำกัดมาก มันจึงเป็นเรื่องของการจำกัดในเรื่องของคน และเป็นการจำกัดในเรื่องคุณค่าที่สงวนไว้เฉพาะชนชั้นสูงไปด้วย”
ชนชั้นการศึกษา
ข้อสังเกตของอาวุธต่อปรากฏการณ์ของสังคมที่มักแปลกใจ ตั้งคำถามโดยไม่รู้ถึงภูมิหลังหรือแรงผลักใดๆ ของชีวิตผู้คนเหล่านั้นไปในทางที่ผิดแผกจากความเข้าใจที่ว่า ภาษาอังกฤษมักถูกสงวนไว้เฉพาะกลุ่มคนที่มีการศึกษา – ในอีกแง่แทนความหมายของการอยู่ในชนชั้นสูงด้วยเช่นกัน – อาวุธอธิบายว่า การที่เป็นเช่นนี้ เพราะระบบการศึกษาไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นมาจากการจัดการศึกษาสองแนวทาง
“เริ่มแรกการจำกัดการศึกษาสมัยรัชกาลที่ 5 คือจำกัดกลุ่มการศึกษาก่อน หรือจำกัดแค่เฉพาะในกลุ่มเจ้านายชั้นสูง เพราะมุ่งหวังให้เจ้านายชั้นสูง รวมไปถึงเจ้าขุนมูลนาย ได้ปรับตัวเข้าสู่ระบบราชการสมัยใหม่ (การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง หรือการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) มีการจัดให้เชิญชวนมาเรียน กระทั่งมีเงินเดือนให้เรียนด้วยซ้ำ เช่น โรงเรียนมหาดเล็กที่มีทั้งเครื่องแบบให้ มีอุปกรณ์การเรียนให้
“ทว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2430 เป็นต้นมา เมื่อภาษาอังกฤษกับความสัมพันธ์ของระบบราชการรวมถึงคุณค่าของภาษาที่กระจายไปทั่ว ฐานของการศึกษามันก็กระจายตามไป ไม่ได้เป็นภาษาเฉพาะกลุ่มคนแล้ว ภาษาอังกฤษถูกใช้เป็นการก้าวเข้าไปสู่ชนชั้นที่สูงขึ้น ถูกใช้เป็นเรื่องของการขยับฐานะตัวเองเป็นเจ้าขุนมูลนายคนหนึ่ง แต่รัฐไม่สามารถจัดการศึกษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นนี้ให้กับคนทุกคนได้
“ดังนั้น การศึกษาสมัยใหม่แต่แรกของไทยจึงเป็นการศึกษาสองระบบมาตั้งแต่ต้น คือ การศึกษาเพื่อป้อนเจ้าขุนมูลนาย ป้อนให้เป็นเจ้าคนนายคน กับการศึกษาเพื่อทวยราษฎร์ การศึกษาเพื่อป้อนให้เป็นพลเมืองที่ดีของรัฐ การศึกษาเช่นนี้จึงไม่เป็นความจำเป็นต้องมีภาษาอังกฤษ”
อาวุธอธิบายเหตุที่เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่แต่เพียงการศึกษาภาษาอังกฤษเป็นการศึกษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่การศึกษาเพื่อมุ่งหวังให้เป็นพลเมืองที่ดีของรัฐสมัยนั้น อิงอยู่กับชุมชน และวัดที่เพียงแค่การสอนให้อ่านออก โดยมีวัตถุประสงค์เพียงแค่ให้อ่านหมายทางราชการได้เท่านั้น
ต่อมาในช่วงปลายพุทธทศวรรษ 2440 อาวุธอธิบายถึงบทบาทที่เปลี่ยนของระบบการศึกษาที่เคยจำกัดแต่เพียงชนชั้นสูง โรงเรียนสวนกุหลาบที่เดิมตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์นี้ก็กลับขยับขยายออกจากรั้วพระราชวังหลวงเพื่อมารองรับกลุ่มคนที่เริ่มมีกำลังทรัพย์มากขึ้นพอขยับความรู้ของตนเองจากเพียงแค่การอ่านออกไปสู่การเขียนได้ ดังนั้นเมื่อสถานะอันสูงส่งแต่เดิมของโรงเรียนสวนกุหลายถูกปนเปื้อนด้วยการต้อนรับชนชั้นกลางของสังคม ที่ปรารถนาเข้ามามีส่วนในการยกระดับชนชั้นตัวเองผ่านการศึกษา รัฐจึงจัดการด้วยการตั้งราชวิทยาลัยเพื่อเป็นที่รองรับสำหรับชนชั้นสูงโดยตรงขึ้นแทนที่โรงเรียนสวนกุหลาบเดิม
“โรงเรียนที่สามคือโรงเรียนเอกชน โรงเรียนคริสต์ เพราะมีฐานอยู่แล้วว่าสอนภาษาอังกฤษได้ดี แต่อัสสัมชัญมีความพิเศษ เพราะเป็นโรงเรียนที่บริหารโดยบาทหลวงฝรั่งเศส บาทหลวงฝรั่งเศสรู้ว่าภาษาฝรั่งเศสกับเมืองไทยไม่ใช่ภาษาที่เป็นที่นิยมและต้องการมากที่สุด แต่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาของการค้า ดังนั้นบาทหลวงฝรั่งเศสจึงแก้ปัญหาด้วยการจ้างคนที่รู้ภาษาอังกฤษ และใช้คนของตัวเองที่รู้ภาษาอังกฤษเป็นผู้สอน”
การศึกษาภายใต้เงาอำนาจนิยม
จากช่วงปลายรัชกาลที่ 5 จนมาถึงช่วงทศวรรษ 2500 กินระยะเวลากว่า 60 ปี การศึกษาไทยในห้วงเวลาทั้งหมดนี้มุ่งตอบสนองเฉพาะกลุ่มคนมีกำลังทรัพย์ กลุ่มเจ้าสัวต่างๆ ที่กลายมาเป็นชนชั้นสูงที่มีเงิน เข้ามาแทนที่กลุ่มชนชั้นสูงในรั้วในวังที่เริ่มหมดกำลังทรัพย์ลงไปตามสภาพท้องพระคลัง แต่ไม่ใช่ว่ารัฐไม่เคยมีความพยายามในการกระจายความรู้ในเรื่องภาษาอังกฤษไปยังพลเมืองชาวไทย
ในช่วงปี 2500-2506 ประเทศไทยภายใต้การปกครองของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีความพยายามกระจายการศึกษาภาษาอังกฤษไปให้ทั่วถึงผ่านการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ด้วยนโยบายต้องการให้ไทยเป็นรัฐกันชนต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ ทว่าตามหัวเมืองต่างๆ ก็ยังไม่สามารถจัดการศึกษาได้ตามนโยบายของรัฐส่วนกลาง
“จุดเปลี่ยนสำคัญประการหนึ่งคือหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 การศึกษามีแนวโน้มไปทางอนุรักษนิยมพร้อมกับบรรยากาศทางการเมืองสมัยนั้นที่มีการส่งเสริมการศึกษาภาษาไทย และมีการตั้งแง่ที่มีรูปแบบตะวันตกหรือต่างชาติ ภาษาอังกฤษก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ได้รับผลกระทบ เรื่องของไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ มีความจำเป็นอะไรถ้าเรียนจบมาแล้วยังต้องเป็นเกษตรกรต่อไป เป็นชาวนาต่อไป อยู่ในนาในสวนจะพูดให้ใครฟัง”
ด้วยกรอบแนวคิดเช่นนี้ จึงเคยมีความพยายามที่จะกลับไปจำกัดการศึกษาให้พลเมืองรู้น้อยๆ เข้าไว้ด้วยการตัดการเรียนฟรีให้สิ้นสุดแค่เพียง ป.6 ก่อนปี 2525 แต่รัฐทานกระแสสังคมที่ต้องการส่งลูกหลานเข้าสู่ระบบชนชั้นของสังคมผ่านการศึกษาไม่ไหว การศึกษาในรูปแบบเรียนฟรีจากประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงเกิดขึ้น และมีความพยายามขยายให้เรียนฟรีไปถึงชั้นมัธยมปลาย หรือระดับ ปวช. แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ดับฝันนั้นลงให้เหลือไว้เพียงการเรียนฟรีที่ชั้น ม.3 เหมือนเดิม
เช่นนี้ ภาพต่อไปของอนาคตการศึกษาไทยจะเป็นเช่นไร?
อาวุธตอบแบบรวบรัดว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นมีความเป็นไปได้สามรูปแบบด้วยกันคือ ระบบการศึกษาจะคงหยุดนิ่งอยู่แบบเดิมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ภาษาอังกฤษกลายเป็นเรื่องของชนชั้น สงวนไว้เฉพาะกลุ่ม ผิดไปจากนี้ ล้วนก่อให้เกิดคำถาม ข้อต่อมา รัฐเข้าแทรกแซงการศึกษาเพื่อจัดการให้มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่เรียนไปให้พอผ่านเกณฑ์ ข้อสุดท้าย ประชาชนเรียนรู้จากระบบโลกาภิวัตน์ ทุกความรู้มีอยู่แล้วในอินเทอร์เน็ต ง่ายๆ คือเรียนทุกอย่างจากยูทูบ
ประชาชนในฐานะพลเมืองกลับสู่การพึ่งพาตัวเอง และรัฐสลายหายไปเหลือเพียงนิยามของการเกาะกุมคำว่าความดีและความสุข จนลืมสิ้นไปแล้วซึ่งหน้าที่แท้จริงของการจัดการศึกษาให้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เพราะภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ ความเป็นไทยแบบไทยๆ จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องไปเรียนรู้ภาษาอื่นนอกจากภาษาไทย…ในประเทศไทยเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีตกาล