ณ ศูนย์กลางวงโคจรของผู้หญิง 8 คน
“ตอนที่เสนอชื่อไปยังไม่รู้เลยว่ามีใครบ้าง ไม่รู้จักใครเลย รู้แค่ว่าเขาจะทำวงหญิงล้วน แล้วก็อยากจะมีเครื่องเป่า อยากได้ฟีลแบบ Powerpuff Girls อยากได้ชื่อประมาณนั้น เราก็แบบ…ยังไงดีล่ะ ผู้หญิงล้วนเหรอ สุภาพสตรีเหรอ แต่เราก็ไม่ได้สุภาพไง เราหยาบ เรายึดตัวเองเป็นหลัก เราไม่สุภาพเว้ย สุภาพสตรี…เชย มันเชยไป มันมีสตริงคอมโบ ซุปเปอร์แบนด์ ซุปเปอร์สตรี สุภาพสตรี ก็เลยกลายเป็นซุปเปอร์สตรี โดยที่ยังไม่รู้จักใครในวงเลย แต่ชื่อมาก่อน”
เอิร์ธ-มือเบส เล่าที่มาของชื่อวง ‘ซุปเปอร์สตรี’ วงดนตรีผู้หญิง 8 คนเพิ่งรวมตัวกันไม่ถึงปีด้วยการชักชวนของ นรเทพ มาแสง (มือเบสวง Pause) ทุกคนมาจากคนละทิศ บางคนมีดนตรีอยู่ในชีวิตประจำวัน บางคนมีหน้าที่การงานห่างไกลจากคำว่า ‘ดนตรี’
แต่อย่างไรเสีย สิ่งที่ทำให้ผู้หญิงต่างที่มา 8 คน เอิร์ธ-ณัฐสุดา อิทธิยากร (เบส) ฟิล์ม-รินรนา โสนันทะ (ร้องนำ) เตย-ปภาณิน เกษตรทัต (กีตาร์) กุ๊กไก่-กัลยา บัวกด (กลอง) น้ำเย็น-พัชพร มุขพรหม (คีย์บอร์ด) ปุ๊กปิ๊ก-วงศรัตน์ สวนอุดม (ทรัมเป็ต) เมย์-ณัฐอร เลาหวงศ์เพียรพุฒิ (แซกโซโฟน) แนทจี้-นิติกาญจน์ นิธิไชยพัชร์ (ทรอมโบน) ได้โคจรมาพบเจอบนพื้นที่เดียวกัน ก็คือแรงดึงดูดของ ‘ดนตรี’
ดนตรีที่มือเบสซุปเปอร์สตรีย้ำนักย้ำหนาว่า “อยากให้ลืมภาพว่าเป็นผู้หญิงเล่นดนตรีก็ดูดีแล้ว อยากให้คิดว่าใครๆ ก็เล่นดนตรีได้ จะผู้หญิง ผู้ชาย จะใครก็ได้ เด็กก็เล่น เก่งกว่าเราอีก อยากให้ลืมภาพแค่ผู้หญิงเล่นดนตรี”
แต่ลืมภาพสวยไม่ได้?
“อันนี้ลืมไม่ได้จริงๆ” (หัวเราะ)
ตามหลังชื่อวงคือมิวสิควิดีโอเพลงเปิดตัว ‘ปล่อยจอย’ ที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ใช่ ผู้หญิง 8 คนมากฝีมือเล่นดนตรีจริงจัง และเหมือนประโยคก่อนหน้าที่ว่า ‘ความสวยลืมไม่ได้’ ผู้หญิงกับความสวยงามเป็นของคู่กัน ทุกคนลงความเห็นว่า ฟิล์ม นอกจากถือไมค์นำหน้าวงแล้วยังเป็นคนคุมธีมคอสตูม เธอบอกคอนเซ็ปต์สไตล์เสื้อผ้าว่า สีที่คนจำว่าเป็นผู้หญิงคือสีชมพู ส่วนสีเหลืองเป็นสีแห่งความสดใส เข้ากับทุกสี
“จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจจะให้มันออกมาเป็นแบบไหนโดยตรง คือเรามี 8 คน แล้วมัน 8 สไตล์ แต่เราก็อยากทำให้ทุกคนได้แต่งในแนวตัวเอง ก็เลยหาจุดที่มันตรงกลางที่สุด ก็เลยโอเค แนวตัวเอง แต่ขอเป็นสีนี้
“แล้วอีกอย่าง ตอนนั้นนึกถึงซูกัส รู้สึกว่าเพลงแรก ‘ปล่อยจอย’ มันเป็นศัพท์ของเด็ก 90 แล้วซูกัสมันก็มีมานานแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรเลย อยู่ดีๆ มันก็มา”
นั่นแหละ เพื่อนร่วมวงถึงลงความเห็นร่วมกันว่า “ส่วนใหญ่ยืมนักร้อง มีทุกสี” โดยเฉพาะเอิร์ธช่วยขยายความ ‘เยอะ’ ของสีว่า “ถ้าเล่นบอลลูนสีก็คือมึงชนะ (หัวเราะ) แค่นั้นเลย”
รสและกลิ่นของ ‘กรูฟ’ และ ‘เมโลดี้’
ชาวด์ดนตรีในเพลงที่ถูกตัดมาเป็นเพลงแรก ‘ปล่อยจอย’ ผสมออกมาเป็นดนตรีป๊อป เจือกลิ่นโซล กรูฟแบบฟังก์ โซโล่กีตาร์ฟิวชั่น บวกด้วยเครื่องเป่า 3 ชิ้น ในรูปแบบที่วงให้คำตอบว่า “มันเหมือนทำกับข้าว เราแค่มามิกซ์ใหม่ด้วยส่วนผสมแปลกๆ แล้วเราก็ปรุงขึ้นมาให้เป็นเมนูพิเศษ”
ทุกวันนี้ดนตรีทั่วโลกมีหลาย genre คาบเกี่ยวไขว้กันมากมายจนเกินนิยามจำกัดความว่าเพลงไหนหรือวงใดควรอยู่ในสังกัดแนวอะไร ซึ่ง ‘ปล่อยจอย’ เป็นแบบนั้น ผสมผสานสัดส่วนหลายเครื่องปรุง จนเป็นเพลงสนุกเพลงหนึ่ง แต่ในยุคสมัยที่ดนตรีเต็มไปด้วยเสียงซินธ์ ฮิปฮอป หรือไม่ก็วงอินดี้ร็อค ‘ปล่อยจอย’ อาจจะไม่ใช่แนวเพลงที่คนคุ้นหูกัน?
“จริงดิ” เตย มือกีตาร์ ท้วงสวนกลับมาแทบจะทันที – ว่าสมมุติฐานของเราอาจจะผิด
“มันเป็นไอเดียของโปรดิวเซอร์กับทีม arrange เพลง ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนกันไป แต่ด้วยความที่มันเป็นวงที่มีหลายๆ เครื่องดนตรี เราก็อยากให้แต่ละเครื่องมีบทบาทเท่าๆ กัน ค่อยๆ โผล่มาด้วยกัน แล้วก็มีสโคปประมาณหนึ่งว่าวงเรามีเครื่องเป่า เพลงมันก็จะออกมาเป็นแบบนี้ มีเครื่องเป่า มีกรูฟสนุกสนาน”
เตยอธิบายถึงแนวดนตรีของเพลงแรกว่า เคยใช้ reference เป็นไกด์อยู่หลายวง เดิมทีทุกคนเบนเข็มไปทาง Earth, Wind & Fire วงโซล-อาร์แอนด์บี อเมริกัน
“ตอนแรกเราก็มานั่งคุยกัน แต่ครั้นเราจะไปเล่นแบบนั้นเลย attitude เราก็ไม่ได้ มันคือการที่เราเอาวงแนวนั้นมาปรับให้มันเข้ากับเรามากขึ้น เราไม่ได้เป็นโซลจ๋า โหยหวน คอร์ดก็จะมี tension เหมือนดนตรีแจ๊สเข้ามา เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นเพลงที่ไม่เข้ากับยุคนี้อะไรเลย คือไม่ได้คิดอะไรเลย ค่อยๆ ทำมาแล้วเพลงมันลงตัวที่แบบนี้” เธออธิบายด้วยสีหน้าจริงจัง และ…เรียบนิ่ง
เราจำกัดความของ ‘กรูฟ’ ได้คร่าวๆ ว่าเป็นจังหวะในเพลงเพลงหนึ่ง กลองเป็นตัวกำหนดภาคริธึมของเพลง ควบคุมความเร็ว เรียบเรียงความต่อเนื่อง ส่วนเลเยอร์ถัดมาคือเสียงทุ้มแน่นของเบส Fender 4 สาย แปะสติกเกอร์ One Piece เดินขนานไปกับจังหวะกลอง และมีกรูฟของตัวเอง กรูฟของจังหวะตัวโน้ตที่ส่งมายังผู้เล่น เหมือนอยู่บนบานาน่าโบ๊ทฝ่าคลื่นในทะเล
“เป็นคนรักในเสียงดนตรีมาก คือฟังเพลงอยู่คนเดียวก็เต้นอยู่ที่บ้านได้ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นการฝึกเรื่องกรูฟด้วย”
เอิร์ธย้อนไปสมัยเรียนมหาวิทยาลัยว่า จริงๆ แล้วเบสไม่ได้เป็นเครื่องดนตรีที่เธอวิ่งเข้าหาเป็นสิ่งแรก และคงเหมือนอีกหลายวง ที่บางคนตัดสินใจเล่นเบสเพราะ “มันไม่มีมือเบส”
“มีแต่มือกีตาร์แย่งกัน เราก็เลยมาเล่น อยากเล่นอะไรก็ได้ที่มันขาดอยู่ จากนั้นเสียงเบสกลายเป็นเสียงแรกที่เราได้ยินก่อนเลย”
ความละเอียดและละเมียดที่เป็นเสมือนผู้นำในภาคดนตรี กำหนดรส กลิ่น เมโลดี้ ของเพลงได้คือกีตาร์ นอกจากเตยจะไล่เรียงคอร์ดบนฟิงเกอร์บอร์ดกีตาร์ Parker PDF100 ท่อนโซโล่เป็นส่วนหนึ่งที่ติดหู และบางคนติดมือ พยายามแกะเล่นตาม และส่งข้อความถามว่าวิธีการเล่นท่อนโซโล่ที่หน้าแฟนเพจ – สำหรับคนเล่นกีตาร์มันถือว่ายากพอสมควรใช่ไหม?
“ยากชิบหาย ยากสิ ยากค่ะ คิดอยู่นาน ตอนแรกมันเหมือนกับว่าคอร์ดตรงนี้เราก็โซโล่มาหลายๆ แบบ แล้วก็มาเลือกดูว่าแบบนี้แหละลงตัวที่สุด แบบนี้ตัวเมโลดี้มันลงตัวหลักที่จังหวะที่ 1 อะไรอย่างนี้ มันผ่านการคิดมาหนัก ก็ซ้อมถึงตี 3 …เริ่มซ้อมตี 2”
ความหมายของดนตรีในชีวิต
พูดอย่างเถรตรงตามความจริง ‘ซุปเปอร์สตรี’ ไม่ใช่สาวน้อยสายไอดอล ช่วงอายุปัจจุบันคือ 26-34 ทุกคนมีอาชีพ ทั้งงานประจำและฟรีแลนซ์ บางคนทำงานเกี่ยวกับดนตรี เล่นดนตรี อยู่กับดนตรี ขณะที่บางคน ดนตรีไม่ได้อยู่ในสารบบการใช้ชีวิตการงานภาคปกติเลย
“เป็นข้าราชการ เป็นนักดนตรีเป็นอาชีพ มันก็จะมี full-time ที่เป็นดนตรีจริงๆ แล้วก็มาเล่นดนตรีกับน้องๆ ก็เป็นงานอดิเรกที่เล่นดนตรีเหมือนกัน ซึ่งมันแทบที่จะแยกไม่ออกเลยว่าดนตรีมันคืออาชีพหรือเป็นงานอดิเรก คือมันเติมเต็มไปหมดแล้ว ทั้งชีวิตมีแต่ดนตรีอย่างเดียว” เมย์ แซกโซโฟน เป็นข้าราชการอยู่ในกรมประชาสัมพันธ์ – และเธอเป็นนักดนตรีโดยอาชีพ
แต่สำหรับเอิร์ธนั้นเป็นอีกแบบ กับงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ “เราต้องทำเช้าถึงเย็น 8 ชั่วโมง เหลือเวลาแค่ตอนกลางคืน แต่บอกเลยว่า ตอนที่เลือกเข้าทำงานครั้งแรกในชีวิต คือเลือกงานที่ไม่ต้องทำวันเสาร์ เพราะจะซ้อมดนตรี คืองานที่จะทำให้เราไม่ได้เล่นดนตรีก็คือไม่เอาเลยนะ เอาดนตรีก่อน”
ถ้างานได้เงินเยอะเอาไหม
“เอาสิ” (หัวเราะ)
ถึงจะมีความสุขกับชีวิตที่วางโครงร่างไว้ แต่เอิร์ธก็ยังมองโลกตามความเป็นจริงว่า ถ้าเลือกทางแบบนี้ ก็ต้องจัดการชีวิตให้อยู่บนเส้นความสมดุล work-life balance
“ก็ต้องดูไป แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ มันบาลานซ์ได้หมด ถ้าเราเลือกที่จะทำมันแล้ว มันไม่มีคำว่าทำไม่ได้ มันอยู่ที่เราจะทำหรือเปล่า มันต้องมีแรงผลักดันในใจตัวเอง แต่สำหรับเรามันทำให้เรามั่นคงในแบบของเราไม่ได้ เราก็เลยต้องมีงานประจำที่คอยค้ำเราไว้ ถ้าเกิดวันหนึ่งดนตรี สำหรับเรามันไม่แน่ไม่นอน บางทีที่บ้านอาจจะไม่โอเค ก็ต้องบาลานซ์ชีวิต”
ฟิล์มเป็นอีกคนที่มีงานประจำไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับดนตรี และมีความคิดต่ออาชีพเหมือนเอิร์ธว่า “หางานที่สามารถเล่นดนตรีได้เหมือนกัน ถ้าทำงานประจำที่เล่นดนตรีไม่ได้ก็ไม่เอา อย่างของฟิล์มคือเป็น AE เป็นเซลส์ อาจจะไม่ได้เข้าออฟฟิศบ่อย แต่ไปหาลูกค้าบ่อยในช่วงกลางวัน ส่วนช่วงกลางคืนก็คือเล่นดนตรีกลางคืน”
ช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น หลายคนมีความใฝ่ฝันกอบกำไว้ในอุ้งมือ ส่วนหนึ่งคือการเล่นดนตรี แต่เอาเข้าจริง เมื่อถึงเวลาช่วงหนึ่งของชีวิต ความรับผิดชอบที่มากขึ้นก็หอบหิ้วความฝันอันเป็นที่รักออกไปจากอุ้งมือ ออกไปจากตารางประจำวัน ตารางประจำสัปดาห์ หรือสุดท้ายก็ห่างหายไปแรมปี แต่คำตอบของซุปเปอร์สตรี หากดนตรีเป็นสิ่งที่รัก คือส่วนหนึ่งของชีวิต พวกเธอจึงต้องหาความหมายและวิธีอยู่กับดนตรีให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
“ฟิล์มไม่ได้เรียนดนตรี ไม่เคยเรียนเลย ตอนเด็กๆ ที่บ้านก็ไม่ให่เล่น แต่สุดท้ายมันเป็นสิ่งที่เติมเต็มจิตใจเรา คือเวลาร้องมันลืมทุกๆ อย่าง ไม่ว่าอารมณ์อยู่โหมดไหน มันลืมทุกอย่าง แล้วมันเป็นทางออกที่ดีของอารมณ์อย่างหนึ่ง ก็ดีกว่าเราไปทำอย่างอื่นที่ไม่ดี ถ้าในระยะยาวมันสามารถสร้างมูลค่า ทั้งเงิน ทั้งจิตใจได้อีกหลายต่อ
“คนที่พูดว่า เรียนอย่างนี้สิ เพื่อทำงานนี้ อย่างนี้จะเงินดีกว่า แต่สุดท้ายแล้วฟิล์มเชื่อว่า ถ้าเราตั้งใจทำอะไรกับมันสักอย่าง มันมีทางไปต่ออีกยาว เพราะอย่างฟิล์มเอง ก่อนที่จะทำงานประจำ ถึงจะไม่ได้เรียนดนตรี แต่ก็ทำงานเกี่ยวกับดนตรีมาประมาณหนึ่ง ถึงค่อยทำงานประจำ ก็รู้สึกมันสร้างมูลค่าได้”
เตยบอกความหมายของการเล่นดนตรี (ด้วยใบหน้าเรียบเฉย) ว่าเป็นคล้ายอีกพื้นที่หนึ่งที่ทำให้โฟกัสสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า และนั่นคือการเล่นดนตรีเพื่อดนตรี “การเล่นดนตรีมันมีหลายมิติ แวบหนึ่งเราอาจจะคิดว่า เราเล่นดนตรีเพื่อหารายได้เสริม แต่ในห้วงขณะที่เล่น บางทีเราก็ไม่คิดถึงอะไรอื่นเลย นอกจากดนตรีเพื่อดนตรี คือคิดว่าเล่นยังไงให้มันเพราะ เล่นยังไงให้เข้ากับองค์ประกอบอื่นๆ ก็เหมือนกับเวลาทำงานศิลปะ เราจะอยู่ในห้วงสมาธินั้น”
น้ำเย็นแชร์มุมมองในฐานะที่เรียนดนตรี อยู่กับดนตรีจริงจัง เล่นดนตรีเป็นอาชีพ รายได้ทั้งหมดมาจากดนตรี เธอบอกว่ามันเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำเป็นอาชีพได้จริงๆ
“เราต้องทุ่มเทกับมันมากๆ อย่างสำหรับน้ำเย็นคือ มันไม่ใช่แค่เล่น มันจะมีสอน มีเรียบเรียงเพลง แต่งเพลงให้คนอื่น ทำเพลงโฆษณา คือถ้าเราสามารถกระจายความสามารถของเรา แล้วเราทำได้หลายๆ อย่าง ก็จะเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความสุขมาก หารายได้ เลี้ยงครอบครัวได้ด้วย ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ให้พ่อให้แม่ พาเราไปต่างประเทศ เฉพาะดนตรี เราสามารถทำได้ แต่ว่าเราต้องอยู่กับมันมากพอ สมัยนี้มีมหาวิทยาลัย หรือมีการเรียนที่ซัพพอร์ตเยอะมาก แต่สิ่งที่มันวัดกันสุดท้ายคือตอนจบออกมา ดนตรีเรารียนที่ไหนก็ได้ แต่จบออกมาคือของจริงที่เราต้องสู้”
work-life balance คือคำสำคัญ คือความสามารถในการไต่บนเส้นขนานตรงกึ่งกลางระหว่างความฝันกับชีวิตจริง ถ้าเราสามารถควบคุมสองสิ่งให้เดินและวิ่งไปข้างหน้าด้วยกันได้ ชีวิตก็เหมือนประสบความสำเร็จไปส่วนหนึ่ง ซึ่งเตยบอก (ด้วยใบหน้าเรียบเฉย) ว่า
“วันนี้เรายังมีโอกาส เรายังสามารถรักษาบาลานซ์ได้ แต่ก็เป็นไปได้ที่มีวันหนึ่งเราอาจจะไม่ได้มาเล่นดนตรีแล้วก็ได้ แต่ในเมื่อเราอยู่ในจุดที่เล่นได้ เราก็เล่นไปตามอัตภาพ แล้วก็เล่นไปจนกว่าเราจะ…มันก็ไม่มีอะไรผิดอะไรถูก คือดนตรีมันไม่ได้สร้างแต่ความสุข บางทีมันก็สร้างความทุกข์และปัญหาอื่นๆ ให้เราเหมือนกัน แต่มันก็เป็นอุปสรรคที่เราต้องก้าวไป”
คำปิดท้ายแบบสวยๆ ของฟิล์มถึงความหมายของดนตรี ว่าเป็นจุดร่วมที่ทำให้ซุปเปอร์สตรี 8 คนได้มารวมตัวกัน และแน่นอน พวกเธอทุกคนอยากเก็บไว้
“คิดว่าถ้าเรารักอะไรสักอย่างเราจะหาเวลาให้สิ่งที่เรารักได้เสมอ การบาลานซ์คิดว่าขึ้นอยู่กับแต่ละคนเลย เพราะบางคนก็มีภาระไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วถ้ายังรักแล้วยังสามารถทำได้อยู่ เราก็ทำเท่าที่ทำได้”