หลายประเทศในยุโรปกับสหรัฐอเมริกาส่งเสียงประณาม สหประชาชาติแสดงความกังวล ที่ประชุมผู้นำแห่งสหภาพยุโรปลงมติคว่ำบาตรเบลารุส และห้ามสายการบินของเบลารุสบินเข้ายุโรป รวมทั้งให้รัฐสมาชิกห้ามสายการบินของตนบินเข้าสู่น่านฟ้าของเบลารุส นี่เป็นมาตรการลงโทษต่อระบอบการปกครองของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก (Alexander Lukashenko) ที่บังคับให้เที่ยวบินโดยสารของไรอันแอร์ (Ryanair) ลงจอดในประเทศเพื่อจับกุมนักหนังสือพิมพ์ผู้คัดค้านรัฐบาลระดับนำคนหนึ่งบนเครื่องบิน
เสียงประณามของนานาชาติยังคงดังอยู่อย่างต่อเนื่องหลังจากเหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ เบลารุสถูกกล่าวหาว่าใช้ข้อมูลปลอมที่อ้างว่ามีการวางระเบิดบนเครื่องบินและใช้เครื่องบินขับไล่ MiG-29 ขึ้นบังคับให้นักบินเปลี่ยนทิศทางบินไปยังเมืองหลวงมินสค์ เพื่อจับกุม โรมัน โปรตาเซวิช (Roman Protasevich) บล็อกเกอร์ชาวเบลารุสวัย 26 ปี ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีลูกาเชนโกตลอดปีที่แล้ว
สหรัฐอเมริกากับหลายประเทศในยุโรปเรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นการกระทำเยี่ยง ‘สลัดอากาศ’ และเป็น ‘การจี้บังคับเครื่องบินที่รัฐให้การสนับสนุน’
ในการประชุมสุดยอดที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2021 ผู้นำ 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปตกลงกันอย่างรวดเร็วและพร้อมเพรียงเพื่อจะร่างมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเบลารุส ทั้งเป็นรายบุคคลและที่จะกำหนดเป้าหมาย และยังเรียกร้องให้สายการบินทั้งหลายของยุโรปงดบินเข้าสู่น่านฟ้าของเบลารุส ซึ่งเป็นประเทศในเขตยุโรปตะวันออกที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และยังออกมาตรการห้ามสายการบินของเบลารุสบินเข้าสู่ทุกประเทศในยุโรปอีกด้วย
ผู้นำสหภาพยุโรปใช้ถ้อยคำเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘การจี้เครื่องบิน’ โดยตรง ขณะที่เครื่องบินโดยสารของสายการบินไรอันแอร์พร้อมกับผู้โดยสาร 126 คนกำลังบินจากกรีซไปสู่ปลายทางที่ลิทัวเนีย เมื่อวันอาทิตย์ นอกจากนี้ EU ยังได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักข่าวโปรตาเซวิชในทันที รวมทั้งเพื่อนสาวที่เดินทางมากับเขา โซเฟีย ซาเพกา (Sofia Sapega) ชาวรัสเซียวัย 23 ปีซึ่งถูกจับกุมพร้อมกันด้วย
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกาประณามการจับกุมนักข่าวรวมทั้งคลิปวิดีโอที่มีโปรตาเซวิชปรากฏตัวว่าเป็น “การข่มเหงบังคับที่น่าอับอาย ที่ได้กระทำลงไปต่อทั้งฝ่ายที่ขัดแย้งกันทางการเมืองและเสรีภาพของสื่อมวลชน”
“ข้าพเจ้ายินดีกับข่าวที่สหภาพยุโรปเรียกร้องให้กำหนดเป้าหมายการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและมาตรการอย่างอื่น และได้ขอให้ทีมงานของเรามองหาทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับดำเนินการกับผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ โดยจะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป เหล่าพันธมิตร ผู้ร่วมงานรายอื่น และองค์กรระหว่างประเทศ” ไบเดนกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์
องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization – ICAO) หน่วยงานการบินพลเรือนขององค์การสหประชาชาติ กล่าวว่าการบังคับลงจอดเช่นนี้ “อาจขัดต่ออนุสัญญาชิคาโก” ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ปกป้องอธิปไตยในน่านฟ้าของทุกประเทศ ICAO ได้เรียกประชุมสภาสมาชิกจาก 36 ประเทศซึ่งมีอำนาจในการตรวจสอบสถานการณ์ใดที่อาจขัดขวางการพัฒนาการบินระหว่างประเทศ ในวันพฤหัสบดี
คำแถลงของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูแตร์เรส (António Guterres) ระบุถึง ‘ความกังวลอย่างยิ่ง’ ต่อเหตุการณ์การบังคับให้เครื่องบินโดยสารลงจอดที่เบลารุส เมื่อ 23 พฤษภาคม และการควบคุมตัวนักข่าวชาวเบลารุส
เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้มี “การสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบ โปร่งใส และเป็นอิสระ ต่อเหตุการณ์ที่ไม่น่าสบายใจนี้” และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกับการสอบสวน
เขากล่าวว่าเขายังคง “กังวลอย่างมากกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ยิ่งเลวร้ายลงในเบลารุส” หลังการเลือกตั้ง “ขอเรียกร้องให้ทางการเบลารุสเคารพพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ รวมทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพทั้งหลาย ในการแสดงออก การชุมนุม และการร่วมสมาคมของพลเมืองด้วย”
สภาพกดดัน อาจเป็นการทรมาน
ภาพวิดีโอดังกล่าวปรากฏขึ้นหลังจากสื่ออิสระในเบลารุสแจ้งเบาะแสว่าโปรตาเซวิช กำลังเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ แต่ในวิดีโอนั้น โปรตาเซวิชเอ่ยปฏิเสธว่าเขาไม่ได้มีปัญหาสุขภาพแต่อย่างใด และดูเหมือนเขาจะยอมรับสารภาพว่าได้ก่ออาชญากรรมตามที่ถูกตั้งข้อหาโดยรัฐบาลเบลารุส
ทางการเบลารุสได้เผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นการบันทึกไว้ขณะผู้ต้องหาตกอยู่ภายใต้สภาพการณ์ข่มขู่บังคับ นับตั้งแต่ตอนถูกคุมขังที่สนามบินมินสค์
แต่ว่านักเคลื่อนไหวหลายคนรวมทั้งผู้นำฝ่ายค้านหลักของประเทศได้ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์คลิปวิดีโอนี้ และให้ความเห็นว่าโปรตาเซวิชถูกกดดันให้ยอมรับว่าได้กระทำผิดตามการกล่าวหา
ดมิตรี (Dmitri) พ่อของโปรตาเซวิช บอกกับผู้สื่อข่าว ‘วิทยุยุโรปเสรี’ (Radio Free Europe) เมื่อวันจันทร์ว่า เขาเกรงว่าลูกชายของเขาอาจถูกทรมาน เขา “หวั่นกลัวมาก” ว่าลูกชายจะได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ในบ้านเกิดของตนแบบร้ายกาจ
“เรากลัวที่จะคิดเรื่องนี้ แต่เป็นไปได้ว่าเขาอาจถูกทุบตีและถูกทรมาน” เขากล่าวในวิดีโอคอล “เราตกใจและเสียใจมาก … เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ที่ใจกลางยุโรป
“เราหวังว่าประชาคมระหว่างประเทศทั้งหมดรวมทั้งสหภาพยุโรปจะกดดันทางการของประเทศนี้อย่างหนักแบบไม่เคยปรากฏมาก่อน เราหวังว่าแรงกดดันจะได้ผล และเจ้าหน้าที่จะตระหนักได้ว่านี่เป็นการทำผิดพลาดครั้งใหญ่”
ความเป็นไปของเหตุการณ์
เบลารุสส่งเครื่องบินขับไล่ MiG-29 ลำหนึ่งขึ้นบินคู่ขนานและบังคับเที่ยวบินที่ FR4978 ของไรอันแอร์ ซึ่งได้เดินทางมาจาก เอเธนส์, กรีซ และกำลังมุ่งหน้าไปยัง วิลนีอุส, ลิทัวเนีย เพื่อให้ลงจอดในเมืองหลวงมินสค์ โดยอ้างว่าเครื่องบินโดยสารมีภัยคุกคามจากการวางระเบิด เมื่อ 13:16 น. เวลาท้องถิ่น (10:16 GMT) วันอาทิตย์
จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบลารุสได้เข้าควบคุมตัวผู้โดยสารโปรตาเซวิชออกไป ขณะผู้โดยสารอื่น 126 คนทยอยลงจากเครื่อง พยานบางคนกล่าวว่า นักเคลื่อนไหวรายนี้ออกอาการ “หวั่นกลัวสุดขีด” เมื่อถูกจับพร้อมกับเพื่อนสาวของเขา
แม่ของซาเพกาเพื่อนสาวบอกกับบีบีซีว่า หญิงสาววัย 23 ปีถูกนำตัวไปคุมขังในมินสค์และเสริมว่า คำสุดท้ายที่เธอเขียนในบัญชีรับส่งข้อความ WhatsApp คือคำว่า ‘MUMMY’ ส่วนข้อกล่าวหาที่มีต่อเธอไม่ได้ปรากฏชัดเจน
ผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่า โปรตาเซวิชบอกกับผู้โดยสารคนอื่นว่าเขาเกรงมากว่าจะต้องเผชิญกับโทษประหาร เบลารุสเป็นประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตหลังจากที่ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ล้มเลิกโทษเช่นนี้ไปแล้ว
หลังการจับกุมนักกิจกรรมคนสำคัญ ผู้โดยสารคนอื่นทั้งหมดถูกตรวจค้นร่างกายและสิ่งสัมภาระ แล้วปล่อยให้รอคอยอยู่อีกหลายชั่วโมงภายใต้การควบคุมตัว ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เบลารุสพากันสาละวนอยู่กับการจัดฉาก และเสแสร้งแสดงว่าน่าจะต้องมีภยันตรายอันอาจเกิดขึ้นจากการวางระเบิดเครื่องบินเสียจริง
ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยให้เครื่องบินเดินทางต่อไปสู่จุดหมาย ยังมีผู้โดยสารอีกสามคนที่ไม่ได้ไปจนถึงปลายทางสุดท้ายของเครื่องบินที่ วิลนีอุส, ลิทัวเนีย ผู้บริหารระดับสูงของไรอันแอร์ ไมเคิล โอเลียรี (Michael O’Leary) กล่าวว่าเขาเชื่อว่าสายลับ KGB ของเบลารุสบางคนลงจากเครื่องบินที่มินสค์พร้อมกับคนอื่น แล้วไม่กลับขึ้นมาอีก แต่สิ่งนี้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ (หน่วยงานข่าวกรองของเบลารุสยังคงใช้อักษรย่อของหน่วยเช่นเดิมเหมือนสมัยที่เคยอยู่กับสหภาพโซเวียต)
ทางการเบลารุสกล่าวว่าเที่ยวบินนี้ถูกเบี่ยงเบนเส้นทางเนื่องจากภัยคุกคามโดยระเบิดของกลุ่มผู้ก่อการร้ายฮามาสแห่งปาเลสไตน์ และที่สนามบินนานาชาติมินสค์ เจ้าหน้าที่การคมนาคมอาวุโสได้อ่านเนื้อความจดหมายให้ผู้สื่อข่าวฟัง ซึ่งเขาอ้างว่าส่งมาจากกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวโดยทางอีเมล
“ถ้าคุณไม่ทำตามข้อเรียกร้องของเรา ลูกระเบิดก็จะแตกปะทุออกเหนือวิลนีอุส” จดหมายกล่าว (ตามที่อ่านโดยเจ้าหน้าที่คมนาคมเบลารุส) และบอกว่าพวกฮามาสเรียกร้องให้ EU ยุติการสนับสนุนที่มีต่ออิสราเอล โดยให้อิสราเอลหยุดยิงในกาซาทันที (ทั้งที่การหยุดยิงในปาเลสไตน์เริ่มต้นมาได้สองสามวันก่อนหน้านั้นแล้ว) เจ้าหน้าที่ไม่ยอมอธิบายต่อคำถามสำคัญว่า ทำไมกลุ่มฮามาสจึงเลือกส่งสารนี้มายังสนามบินนานาชาติมินสค์เพียงแห่งเดียว
กลุ่มฮามาสรีบออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แต่อย่างใดเลย โฆษกฮามาสแถลงในฉนวนกาซาว่ากลุ่มตนจะไม่มีวันใช้กลยุทธ์เช่นนี้ และในทางสากล เป็นที่รู้กันอยู่ว่ากลุ่มฮามาสไม่มีประวัติหรือขีดความสามารถอันประจักษ์ที่จะถึงขั้นออกปฏิบัติการนอกเขตอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์ได้
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) ผู้นำแห่งเยอรมนี กล่าวว่าข้อกล่าวอ้างของทางการเบลารุสแบบนั้น “ไม่น่าเชื่ออย่างสิ้นเชิง”
ความสัมพันธ์เบลารุสกับสหภาพยุโรป
ความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐเบลารุสและสหภาพยุโรป ก่อรูปร่างขึ้นครั้งแรกหลังจากที่ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปยอมรับความเป็นเอกราชของเบลารุส ปี 1991
หลังจาก ลูกาเชนโก กลายมาเป็นผู้นำเบลารุส ปี 1994 ความสัมพันธ์ระหว่างมินสค์กับสหภาพยุโรปก็ย่ำแย่ลง และยังคงเย็นชาและห่างเหิน เนื่องจากสหภาพยุโรปออกมติประณามรัฐบาลเบลารุสหลายครั้ง สำหรับการปฏิบัติที่เป็นเผด็จการ ต่อต้านประชาธิปไตย และยังได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรอีกด้วย
หลังจากการปรับปรุงความสัมพันธ์เล็กน้อยในปี 2008 มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเบลารุส ปี 2010 (ซึ่งลูกาเชนโกได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายด้วยคะแนนของทางการเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งนำไปสู่การเดินขบวนและการจับกุมผู้คัดค้านจำนวนมากในมินสค์ EU ประกาศว่าการจำคุกบุคคลฝ่ายค้านและผู้ประท้วงขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงกำหนดมาตรการลงโทษขึ้นใหม่ที่เพ่งเล็งไปยังเจ้าหน้าที่และนักธุรกิจรายใหญ่ของเบลารุส
เบลารุสมีส่วนเข้าร่วมในกลุ่มความร่วมมือผูกพันตะวันออก (Eastern Partnership) ที่ก่อตั้งขึ้นโดยสหภาพยุโรป และเมื่อตุลาคม 2015 EU ประกาศว่าจะระงับมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่ต่อเบลารุสไว้ก่อน โดยเบลารุสมีพรมแดนติดกับประเทศสมาชิก EU 3 ประเทศ ได้แก่ โปแลนด์ ลิทัวเนีย และ ลัตเวีย
ตั้งแต่ตุลาคม 2020 EU ได้กำหนดมาตรการเข้มงวดกับเบลารุสอย่างต่อเนื่อง มาตรการดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อโต้ตอบต่อการคดโกงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเบลารุส เมื่อสิงหาคม 2020 รวมไปจนถึงการข่มขู่และปราบปรามผู้ประท้วงอย่างสันติ การจับกุมคุมขังสมาชิกฝ่ายค้านและพวกนักข่าว
สหภาพยุโรปไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งของเบลารุสครั้งนั้น และประณามว่าเป็นการเลือกตั้งที่ ‘ไม่เสรี และ ไม่ยุติธรรม’
ขณะนี้มีบุคคลทั้งหมดรวม 88 คน และ 7 หน่วยงาน ถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของ EU ต่อเบลารุส ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีเบลารุส ลูกาเชนโก กับ วิคเตอร์ ลูกชายของเขาซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติด้วย ตลอดจนบุคคลสำคัญรายอื่น ผู้นำทางการเมือง และผู้บริหารฝ่ายรัฐบาล สมาชิกระดับสูงของระบบตุลาการ และรวมถึงผู้มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจอีกหลายคน
บุคคลผู้ที่เป็นเป้าหมายเหล่านี้ถูกระบุว่ามีหน้าที่รับผิดชอบในการปราบปรามและการข่มขู่ต่อผู้ประท้วงโดยสันติ สมาชิกฝ่ายค้าน และนักข่าว หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2020 ในเบลารุส รวมถึงเจ้าหน้าที่กรรมการเลือกตั้งผู้ประพฤติมิชอบในกระบวนการเลือกตั้งครั้งนั้นด้วย มาตรการเหล่านี้รวมถึงการห้ามเดินทางเข้าสู่เขตแดนประเทศสมาชิก EU และการอายัดทรัพย์ รวมทั้งการปิดกั้นธุรกรรมทางการเงินและการธนาคาร
กิจกรรมของโปรตาเซวิช
นักข่าวชาวเบลารุสโปรตาเซวิชผู้ถูกจับกุมจากเครื่องบินโดยสาร เป็นผู้ก่อตั้งช่องข่าว NEXTA ซึ่งออกอากาศผ่านแพลตฟอร์ม Telegram ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระหว่างการประท้วงครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้วเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ของลูกาเชนโกเพื่อตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาเป็นวาระที่ 6 หลังจากการลงคะแนนเสียงที่ฝ่ายค้านปฏิเสธ และบอกว่าเป็นการโกงครั้งมโหฬาร
เขาเดินทางออกจากเบลารุส ปี 2019 เพื่อเข้าอาศัยลี้ภัยอยู่ในลิทัวเนีย ทำงานเสนอเรื่องราวสารพัดสำหรับช่องข่าวและรายการในเครือ NEXTA Live ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 2 ล้านคนใน Telegram ทำกิจกรรมอื่นหลายอย่างเพื่อช่วยประสานงานการประท้วง และเผยแพร่วิดีโอภาพที่ตำรวจเข้าปะทะกับผู้ประท้วง ซึ่งช่วยกระตุ้นการลุกฮือขึ้นต่อต้านลูกาเชนโกด้วยสันติวิธี
หลังจากนั้นโปรตาเซวิชก็ออกจากการทำงานกับ NEXTA มาถึงช่วงหลังนี้เขาดำเนินงานผ่านบล็อก Belamova ของตัวเอง บนแพลตฟอร์ม Telegram เช่นกัน ซึ่งกำลังได้รับความนิยมโดยมีผู้ติดตามในเบลารุสจำนวนมหาศาล
เมื่อปีที่แล้วทางการเบลารุสได้จัดชื่อโปรตาเซวิชไว้ใน ‘รายการเฝ้าระวังการก่อการร้าย’ และเริ่มต้นดำเนินคดีอาญากับเขาด้วยข้อหาก่อความวุ่นวาย และการยุยงให้เกิดความเกลียดชัง อันเป็นความผิดที่ระวางโทษจำคุก 15 และ 12 ปีตามลำดับ
ปฏิกิริยา เบลารุส และ รัสเซีย
กระทรวงการต่างประเทศเบลารุสแถลงอธิบายอย่างแข็งกร้าวต่อแถลงการณ์ของสหภาพยุโรปว่าอีกฝ่ายหนึ่งแสดงตนในแบบของ ‘คู่ขัดแย้ง’ อย่างชัดเจน โดยยืนยันว่ารัฐบาลมินสค์ได้กระทำการที่ “สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศอย่างเต็มที่”
เบลารุสสั่งให้นักการทูตลัตเวียทุกคนออกนอกประเทศ หลังจากที่ธงเบลารุสถูกนำลงในการแข่งขันฮ็อกกี้น้ำแข็งโลกเมื่อวันจันทร์ ที่ ริกา, ลัตเวีย แล้วชักขึ้นแทนที่ด้วยธงสีขาวแดงของฝ่ายค้านที่มักใช้อยู่ในการประท้วงที่เบลารุส การแข่งขันดังกล่าวถูกโอนย้ายจากมินสค์ท่ามกลางเสียงกล่าวประณามของนานาชาติเกี่ยวกับการปราบปรามผู้คัดค้านและต่อต้านลูกาเชนโก
ท่ามกลางความไม่พอใจและเสียงก่นด่าของนานาชาติ รัสเซียจัดแจงรีบเสนอความช่วยเหลือเป็นกำลังใจแก่พันธมิตรของตน
เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่า เหตุการณ์นี้จำเป็นต้องได้รับการสอบสวน แต่ก็ไม่สามารถจะเร่งรีบดำเนินการได้ รัฐมนตรีบอกนักข่าวว่า เบลารุสได้ปฏิบัติต่อเหตุการณ์นี้ด้วย “วิธีการที่สมเหตุสมผลอย่างแท้จริง”
“ตัวแทนของกระทรวงการต่างประเทศเบลารุส … เน้นย้ำถึงความพร้อมของทางการเบลารุส ในการดำเนินการกับปัญหานี้อย่างโปร่งใส และปฏิบัติตามกฎสากลทั้งหมด” ลาฟรอฟกล่าวระหว่างการแถลงข่าว
“ผมคิดว่านี่เป็นแนวทางที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง”
เขายังเรียกร้องให้ประชาคมโลก “ประเมินสถานการณ์อย่างมีสติ” อีกด้วย
มาเรีย ซาคาโรวา (Maria Zakharova) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เขียนลงในเพจ Facebook กล่าวหาว่าฝ่ายตะวันตกมีความเจ้าเล่ห์ในเชิงมือถือสากปากถือศีลเมื่อทำการตอบโต้กับเรื่องนี้
“เป็นเรื่อง ‘น่าตกใจ’ ที่ทางตะวันตกเรียกเหตุการณ์ในน่านฟ้าเบลารุสว่า ‘น่าตกใจ’ แบบนั้น”
“แล้วทีตอนนั้น ไม่สมควรตกใจหรอกหรือ กับ … การบังคับ [ลงจอด] ในออสเตรียที่ทำกับเครื่องบินของประธานาธิบดีโบลิเวียตามคำร้องขอของสหรัฐอเมริกา … หรือว่า [พวกเขา] ไม่สมควรต้องมาตกใจกับพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกันของผู้อื่น”
เธออ้างอิงถึงเหตุการณ์ ปี 2013 เมื่อเครื่องบินของประธานาธิบดีโบลิเวีย อีโว โมราเลส (Evo Morales) ที่บินออกจากมอสโคว์ถูกบังคับให้ลงจอดและตรวจค้นที่ออสเตรียเพราะมีการสงสัยว่า เอดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) โดยสารมาด้วย แต่สุดท้ายเรื่องไม่ได้เป็นเช่นนั้น
มอสโคว์และมินสค์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร ลูกาเชนโกได้พึ่งพาอาศัยการสนับสนุนของรัสเซียเป็นหลักใหญ่ท่ามกลางการคว่ำบาตรของประเทศฝ่ายตะวันตก แม้ว่าต่างฝ่ายต่างก็ไม่ค่อยไว้วางใจกันเท่าใดนัก
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเครมลินได้บอกปัดข่าวทุกแง่มุมที่ว่ารัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับลงจอดของเครื่องบินที่เบลารุส โดยกล่าวว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นผลมาจากความรู้สึกต่อต้านรัสเซีย
เมื่อพูดกับผู้สื่อข่าวในการประชุมทางโทรศัพท์ ดมิตรี เปสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกรัฐบาลรัสเซียกล่าวว่า ทุกวันนี้มอสโคว์ถูกกล่าวหาทุกอย่างแบบเกินควร และนักวิจารณ์ก็มักปล่อยให้ความเกลียดชังรัสเซียส่งผลต่อการตัดสินใจของพวกเขา ตามการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) จะจัดการประชุมแบบเป็นการลับวันพุธนี้ (26 พฤษภาคม) เกี่ยวกับกรณีการบังคับเปลี่ยนเส้นทางเครื่องบินโดยเบลารุสและการจับกุมนักข่าวในเวลาต่อมา Euronews รายงาน
นักการทูตหลายคนกล่าวว่า การประชุมถูกเสนอโดย ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ และ เอสโตเนีย ฝรั่งเศสเป็นสมาชิกถาวรของสภาความมั่นคง ร่วมกับสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน และ รัสเซีย ส่วน ไอร์แลนด์ และ เอสโตเนีย เป็นสมาชิกไม่ถาวรในปีนี้
นักการทูตคนหนึ่งบอกกับสำนักข่าว AFP ว่า คำประกาศของคณะมนตรีความมั่นคงมีแนวโน้มที่จะถูกต่อต้านคัดค้านอย่างค่อนข้างแน่นอนจากรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของเบลารุส