‘เท่าไหร่ (ถึง) เท่ากัน?’ สฤณี อาชวานันทกุล

ภาพ: อารยา คงแป้น

แม้ประเทศไทยจะสามารถยกระดับเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงได้แล้วก็ตาม แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายอนาคตประเทศไทยต่อจากนี้ องค์การ Oxfam ประเทศไทยชวน สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ และกรรมการผู้จัดการบริษัทป่าสาละ มาพูดคุยผ่านวงเสวนาดังกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจ

เราจนเพราะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือเราไม่ขยัน?

สฤณีอธิบายว่า เพราะเราอยู่ในเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และถ้าเราอยากให้ทุกอย่างเท่าเทียมก็ต้องกลับไปเป็นแบบคอมมิวนิสต์ คำถามนี้มีคำตอบสองมุม ก็คือศีลธรรม ในด้านคนดี คนเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อยากรู้ว่าสถานการณ์ของผู้มีรายได้น้อยเป็นอย่างไร และอีกด้านคือ คนเห็นแก่ตัวที่พยายามมองไปข้างหน้า กล่าวคือ เราสามารถอยู่ได้ไหมโดยไม่พึ่งพาคนอื่น คนที่มีอะไรน้อยกว่าเรา คำตอบคือ เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะสนใจคนที่เราพึ่งพาว่าเขาเป็นอย่างไร

ประสิทธิภาพหรือประสิทธิผล?

สฤณีมองว่า ความเป็นจริงแล้ว แม้เรื่องเศรษฐกิจล้วนๆ อย่างประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลก็เป็นปัญหาได้ เธออธิบายว่า ถ้าเรามีความเหลื่อมล้ำสูงมากในสังคม คนจำนวนมากไม่มีศักยภาพก็จะไม่เป็นพลเมืองที่ productive ซึ่งก็จะกลายเป็นเปลืองทรัพยากรมนุษย์ สมองมนุษย์สูญเปล่า

ในแง่เศรษฐกิจแล้วควรจะทำให้มันเป็นฐานกว้างให้ได้มากที่สุดคือ ทำให้คนต่างๆ ในสังคมมีโอกาสที่จะได้เป็นพลเมืองที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี การให้โอกาสเป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานกว้างที่สำคัญ ไม่งั้นมันจะเปราะบาง ศูนย์เปล่า เราจะเป็นสังคมที่มีนวัตกรรมได้ สังคมก็ต้องมีความหลากหลาย ต้องมีเสรีภาพในการคิด

ความเหลื่อมล้ำทำให้ประชาธิปไตยมีปัญหา

ยิ่งสังคมเหลื่อมล้ำมาก คนรวยสุดที่อยุ่บนสุดเข้ามาฉวยโอกาสทางการเมือง ทำให้ประชาธิปไตยมีปัญหา เอกชนเริ่มเข้ามาครอบงำรัฐ ทำให้ประชาชนเกิดคำถามว่า นโยบายนั้นทำให้ใคร ทำไมนโยบายเอื้อให้กับคนไม่กี่กลุ่ม สุดท้ายก็จะเกิดปัญหาสังคม และปลายทางคือความแตกแยกในสังคม

เราเห็น BREXIT โหวตออกจากอียู เราเห็นทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ทรัมป์เป็นคนนอกระบบ แต่ก็มองได้ว่าเป็นอาการหนึ่งของความเหลื่อมล้ำ เมื่อเหลื่อมล้ำจนถึงจุดนึง เหลื่อมล้ำจนหมดหวังกับการเมืองในระบบ จึงหันมาเลือกคนนอกจริงๆ สุดท้ายปลายทางคือความแตกแยก ความหดหู่ หรือที่เรียกว่า social mobility ก็คือการเลื่อนชั้น ถ้าเหลื่อมล้ำน้อย คนในสังคมพยายามหน่อยก็สามารถเลื่อนชั้นได้ แต่ในสังคมที่เหลื่อมล้ำมากๆ คนในสังคมก็จะรู้สึกว่าไม่มีทาง หมดหวัง และปลายทางก็คือทำให้เกิดความแตกแยกของสังคม ซึ่งเป็นปัญหาที่เราในปัจจุบัน

การทำธุรกิจก็สร้างความเหลื่อมล้ำ

ภาคเอกชนในไทยสามารถส่งผลกระทบให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นหรือน้อยลงผ่านการทำธุรกิจ แบ่งออกเป็นภายในและภายนอก ด้านภายใน เช่น ส่วนต่างของค่าจ้างระหว่างพนักงานบริษัทกับผู้บริหารห่างกันกี่เท่า ซึ่งเรียกว่า pay gap และไทยก็ติด Top 5 ของโลกเช่นกัน อีกประเด็นที่เป็นข่าวคือ การละเมิดสิทธิแรงงาน แรงงานทาส ส่วนเรื่องของภายนอก เช่น บริษัทคุณไปแย่งพื้นที่หรือทรัพยากรชาวบ้านมาหรือไหม่ สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านบริเวณนั้นมากน้อยแค่ไหน ทั้งหมดนี้คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ

แต่หน้าที่ของบริษัทคือการสร้างกำไร?

สฤณีอธิบายต่อว่า “ให้มองว่าบริษัทก็คล้ายกับคนเราก็ได้ เพราะบริษัทส่วนใหญ่ก็ชอบอ้างสิทธิ์ของตนเองเหมือนกัน บริษัทสามารถทำธุรกิจโดยไม่พึ่งพาได้ไหม คำตอบก็เช่นเดียวกัน ประเด็นที่มันเกิดความซับซ้อน เพราะทุกวันนี้รัฐก็ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ควรจะเป็น รัฐไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้ ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องมายังธุรกิจโดยตรง การทำธุรกิจมันทำให้สังคมเดือดร้อนอย่างชัดเจน แล้วเราจะรอให้เมื่อไรรัฐมาทำ” ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ และหลายประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากๆ เมื่อมีความเหลื่อมล้ำมาก สังคมเกิดความแตกต่าง จึงมีคำว่า ชนชั้นนำ ที่มีความหมายว่า ธุรกิจกับรัฐกลายเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว “เพราะสังคมไม่ไว้ใจว่ารัฐเป็นผลประโยชน์นายทุนหรือเป็นผลประโยชน์ประชาชน”

นอกจากนี้แล้วสฤณียังทิ้งวิธีการเช็คว่า บริษัทไหนมีความก้าวหน้าหรือสนใจแต่กำไรอย่างเดียวด้วยการตั้งคำถามง่ายๆ คือ สินค้าที่ผลิตมาจากไหน? ใครเป็นผู้ผลิต? และการใช้ชีวิตของแรงงานเองเป็นอย่างไร? หากมองในแง่ดี บริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจควรจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า