ยีนที่สกัดจากดีเอ็นเอของมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่อาจจดสิทธิบัตรได้ เพราะเป็นผลผลิตของธรรมชาติ
ศาลสูงสหรัฐ
13 มิถุนายน 2556
ยาโมเลกุลเดิมที่มีรูปแบบยาใหม่ ไม่อาจจดสิทธิบัตรได้ เพราะให้ผลการรักษาไม่ต่างจากเดิม และสิทธิบัตรมีไว้ให้แก่สิ่งประดิษฐ์ที่มีความใหม่และนวัตกรรมที่สูงขึ้นเท่านั้น
ศาลสูงสุดอินเดีย
1 เมษายน 2556
วิธีการบำบัดรักษาไวรัสตับอักเสบซีในผู้ป่วยที่การบำบัดรักษาล้มเหลว ไม่อาจจดสิทธิบัตรได้ เพราะเป็นการขอถือสิทธิ์ในวิธีการบำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์หรือสัตว์
คณะกรรมการสิทธิบัตรไทย ที่ 1/2553
29 มกราคม 2553
กรณีตัวอย่างเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับยาหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่เข้าข่ายจะได้รับการจดสิทธิบัตร และปัญหารูปแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะใน ยุโรป สหรัฐ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา บราซิล โคลอมเบีย อินเดีย หรือแอฟริกาใต้
จาก 3 กรณีนี้จะเห็นว่า ระบบทรัพย์สินทางปัญญาของโลกกำลังเผชิญปัญหาการขอรับสิทธิบัตรที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเพียงเล็กน้อยจากบริษัทเจ้าของสิทธิ์เดิม เพื่อที่จะผูกขาดด้านเทคโนโลยีและผลประกอบการต่อไปเรื่อยๆ
การจด ‘สิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด’ (Evergreening Patent) กลายเป็นประเด็นร้อนในหลายประเทศ แม้แต่ศาลสูงสหรัฐก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับการให้สิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด ที่อาจจะขัดขวางทั้งการแข่งขันของตลาดและการสร้างสรรค์นวัตกรรม
ต้องยอมรับว่าระบบสิทธิบัตรมีประโยชน์ในแง่การสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม แต่ด้วยอำนาจผูกขาดซึ่งมีกำหนดระยะเวลาถึง 20 ปี ทำให้สิ่งประดิษฐ์ที่สมควรได้รับสิทธิบัตรต้องมีความใหม่ มีการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นและสามารถประยุกต์ใช้ในระดับอุตสาหกรรมได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณียาชื่อสามัญ ระบบสิทธิบัตรก่อให้เกิดการผูกขาดในการวิจัยและการจำหน่าย ทำให้ผู้ผลิตยาชื่อสามัญไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ บริษัทยาต้นแบบหรือเจ้าของสิทธิบัตรจึงมีอำนาจในการกำหนดราคายาแต่เพียงผู้เดียว
การอนุมัติสิทธิบัตรให้การปรับเปลี่ยนคุณสมบัติเพียงเล็กน้อย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อยาจำเป็นในงานสาธารณสุข สิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์และกรรมวิธีอาจถูกนำมาใช้เพื่อขัดขวางไม่ให้ยาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันในตลาด ทั้งที่การแข่งขันจะทำให้ยามีราคาถูกลงและช่วยขยายโอกาสเข้าถึงยาของผู้บริโภค
ในออสเตรเลีย งานวิจัยฐานข้อมูลสิทธิบัตรออสเตรเลียพบว่า ยารักษาโรคอันดับต้นๆ มีสิทธิบัตรแบบ evergreening จำนวนมาก ทำให้ยาเหล่านั้นมีสิทธิบัตรต่อเนื่องสูงสุดที่ 50 ปี จากอายุสิทธิบัตร 20 ปี ตามกฎหมายออสเตรเลียและตามความตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลก
สำหรับประเทศไทย การตรวจคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ด้านเภสัชภัณฑ์ช่วง ปี 2543-2553 จำนวน 2,188 คำขอ คิดเป็นร้อยละ 20 ของคำขอรับสิทธิบัตรในสาขานี้ พบว่าร้อยละ 84 มีสิทธิหลักเป็น evergreening
การพัฒนาระบบตรวจสอบการให้สิทธิบัตรเพื่อคัดกรองเภสัชภัณฑ์ที่ไม่มีความใหม่ ไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ไม่ให้ได้รับสิทธิบัตร จะช่วยให้ยาสามัญเข้ามาแข่งขันในตลาด ทำให้ยาจำเป็นมีราคาถูกลง ประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้น และเป็นการเสริมสร้างงานวิจัยและนักวิจัยไทยให้มีความเข้มแข็งในระยะยาว