‘โอกาส’ เพจจัดหางานให้ผู้พ้นโทษบนโลกอันแปลกหน้า

เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่ หมี-สมิหรา ทันต์เจริญกิจ และ หญิง-ปทุมรัตน์ อินทรพงษ์ ตกลงร่วมหัวจมท้ายก่อตั้งเพจจัดหางานที่ชื่อว่า ‘โอกาส’ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนตัวกลางระหว่างนายจ้างและแรงงานที่มาในนาม ‘ผู้พ้นโทษ’ 

สำหรับหมี มันเริ่มจากความรู้สึกอิ่มตัวกับงานด้านสื่อสารการตลาดที่เธอทำมาทั้งชีวิต เมื่อถึงวันที่พร้อมทั้งหน้าที่การงานและเงินทองเลี้ยงชีพ จึงถึงเวลาอันควรที่เธอจะใช้ความเชี่ยวชาญของตนทำประโยชน์บางอย่างได้ 

ส่วนหญิง แม้เธอจะแนะนำตัวว่าเป็นเพียงแม่บ้านและคนทำเบเกอรี แต่ในอีกด้าน เธอมักจัดกิจกรรมเทรนนิงนักโทษในเรือนจำจังหวัดราชบุรีอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งในวันหนึ่ง… 

“พี่คะ หนูจะทำยังไงดี หนูไม่รู้จะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกยังไง เพราะหนูคิดว่าที่นี่เป็นบ้านหนูไปแล้ว” 

คำถามนี้เป็นของนักโทษหญิงผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำมานานกว่า 10 ปี ซึ่งอีกราว 3-4 เดือนข้างหน้า เธอกำลังจะพ้นโทษ และก้าวเท้าสู่โลกที่เธอร้างลามานาน 

อิสรภาพที่พ่วงมากับสังคมแปลกหน้า ผู้คนที่ไม่คุ้นตา ความหวาดกลัวที่จะถูกเหยียดหยาม และชีวิตที่ต้องดิ้นรนบนโลกที่ไม่เหมือนเดิม 

“ประโยคนี้มันเจ็บปวดตรงที่ว่า ทุกคนต่างคิดว่าบ้านคือที่ที่สบายที่สุดในชีวิต ถ้าเขาคิดว่าในเรือนจำคือบ้าน นั่นหมายความว่าในวันหนึ่งที่เขาออกไป เขาก็จะอยากกลับมาอีก มันคือจุดสะท้อนเลยว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อพวกเขา” หญิงย้อนความทรงจำไปยังจุดเริ่มต้นของเพจโอกาส 

“ส่วนเราที่อยากหาอะไรทำอยู่แล้ว ประจวบกับมีประเด็นเรื่องการหางานให้กับผู้พ้นโทษเข้ามาพอดี แล้วเราสองคนก็ได้มาเจอกัน มีความสนใจตรงกัน จึงเริ่มทำเพจขึ้นมาจากจุดนั้น” หมีเล่าเสริม

‘โอกาส’ เริ่มต้นขึ้นทันทีเมื่อทั้งสองได้พูดคุยกัน แม้ขณะนั้นพวกเธอจะยังมีความรู้ในประเด็นปัญหาไม่มากนัก แต่ว่าก็ว่าเถอะ ลงมือทำก่อนละกัน ความรู้น่ะหาระหว่างทางได้อยู่แล้ว! 

เมื่อคนล้นคุก

ประเทศไทยมีจำนวนนักโทษในเรือนจำสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และเกินกว่าความจุของเรือนจำ ปัจจุบันคุกในประเทศไทยสามารถรับนักโทษได้ประมาณ 200,000 คน แต่ตัวเลขของกรมราชทัณฑ์จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2564 มีจำนวนนักโทษถึง 307,910 คน 

ส่วนใหญ่คือผู้ต้องขังคดียาเสพติดที่มีจำนวนถึง 250,287 คน คิดเป็น 81.29 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังทั้งหมด

“เราตั้งเป้าสิ่งที่อยากทำคือ หางานให้กับผู้พ้นโทษ ส่วนเงินเขาต้องไปหาเอง เพราะการช่วยให้เขาหาเงินได้ด้วยตัวเองนี่แหละคือสิ่งที่ยั่งยืนที่สุด มากกว่าการให้เงินหรือรับบริจาค เราอยากสนับสนุนให้เขายืนได้ด้วยตัวเอง หาเงินได้ด้วยตัวเอง ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทั้งหมดจะกลายเป็นความภูมิใจและผลงานของเขาเอง เราเพียงสนับสนุนและรวบรวมโอกาสมาให้เขา” หมีกล่าว

คำถามคือ แล้วผู้พ้นโทษหางานทำด้วยตนเองไม่ได้หรือ? โครงการฝึกอบรมอาชีพผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะฝึกฝนทักษะการทำอาหาร การนวดแผนไทย เสริมสวย งานช่างฝีมือ และอีกมากมาย สอดคล้องต่อการดำรงชีวิตของผู้พ้นโทษมากน้อยแค่ไหน? 

สำหรับหมี การฝึกทักษะอาชีพใดๆ ก็ล้วนดี แต่ในโลกของความเป็นจริงที่ผู้พ้นโทษต้องเผชิญ มันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะมีทักษะอีกประการที่สำคัญไม่น้อย 

“เมื่อพวกเขาพ้นโทษออกมาแล้ว ยังมีบริบทอื่นรอบตัวอีกมากมายในการที่เขาจะประสบความสำเร็จในอาชีพ เช่น เขาเรียนทำเบเกอรีในเรือนจำ ทำขนมอร่อยมากเลยนะ แต่เมื่อออกมาปุ๊บ หนึ่ง-เงินทุนหาจากไหน สอง-การตลาดทำยังไง สาม-การขายล่ะใครทำ มีบริบทอื่นเยอะแยะที่พวกเขาต้องคำนึงถึง

“เรื่องเหล่านี้พวกเขาไม่ได้ถูกสอน พวกเขาไม่ได้ดำรงชีวิตอยู่ในโลกความเป็นจริงตั้งแต่ต้น เพราะตอนเขาอยู่ข้างในเรือนจำ ไม่ว่าจะทำเบอเกอรียังไงก็มีออเดอร์ เพราะมีคนจัดการให้เขาหมด แต่พอเขาออกมา เขาต้องอยู่ตัวคนเดียวแล้วนะ” 

อิสรภาพบนโลกอันแปลกแยก

ในวันที่นักโทษก้าวเข้าสู่เรือนจำ จนถึงวันที่ก้าวเท้าออกมาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ โลกและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกเขา โดยเฉพาะผู้ที่ต้องคดียาวนานนับสิบปี 

“บางคนถึงขั้นกลับบ้านไม่เป็น เดินออกมางงๆ ไม่รู้จะทำยังไง ทุกอย่างมันเปลี่ยนเลยจริงๆ เขากลัวว่าเมื่อก้าวเท้าออกไปแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา บางคนให้กรอกใบสมัครงาน เขายังใช้เทคโนโลยีไม่เป็นเลย ‘ผมใช้ไม่เป็นครับพี่ ผมกรอกไม่เป็นครับ’”

หญิงเล่า 

มากไปกว่านั้น การกลับมาประกอบอาชีพของผู้พ้นโทษก็มักถูกจำกัดด้วยอคติของสังคมและระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานต่างๆ หรือกระทั่งกฎหมายบางฉบับที่มีลักษณะกีดกันผู้พ้นโทษให้ไม่สามารถประกอบอาชีพบางประเภทได้

เช่น พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528, พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551, พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525, พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547, พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และ พ.ร.บ.อื่นๆ อีกจำนวน 25 ฉบับ

เราหางาน คุณหาเงิน

หน้าที่ของเพจโอกาส คือตัวกลางในการเชื่อมต่อนายจ้างให้มาเจอกับลูกจ้าง โดยเริ่มต้นจากนายจ้างที่ต้องการเปิดโอกาสตำแหน่งงาน ติดต่อเข้ามายังเพจโอกาส หมีมีหน้าที่สอบถามรายละเอียดตำแหน่งงาน เงินเดือน เนื้องาน สถานที่ทำงาน 

ด้านของหญิง เมื่อมีผู้พ้นโทษสมัครงานเข้ามา เธอมีหน้าที่โทรสัมภาษณ์เพื่อคัดกรองเบื้องต้นถึงความตั้งใจ ทัศนะต่อการทำงาน ความมุ่งมั่น ผ่านบทสนทนาที่ผ่อนคลาย 

“เราจะไม่ถามเขาตรงๆ แต่จะคุยกันไปเรื่อยๆ ประโยคหนึ่งที่ต้องถามก็คือ ‘เขาเข้าไปพัวพันกับคดีได้อย่างไร’ เพราะคำตอบของเขาจะสะท้อนได้ว่า บางทีเขาแค่พลาดเลยทำให้ต้องคดี หรือบางคนก็บอกตรงๆ เลยว่า ผมไม่ได้พลาดครับ เพื่อนพาไปเพราะสังคมที่ผมอยู่ 

“อีกคำถามที่สำคัญคือ ‘ตำแหน่งงานที่เขาสมัครนั้น รู้ไหมว่าต้องทำอะไรบ้าง’ เพราะหญิงอยากรู้ว่าเวลาเขามาสมัครงานนั้น เขารู้หรือไม่ว่าต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง ต้องทำงานอะไรบ้าง แต่เราไม่บังคับว่าเขาต้องตอบในส่วนของคดี เล่าเท่าที่เขารู้สึกสบายใจ”

หากตำแหน่งงานที่นายจ้างต้องการ สอดคล้องกับความสนใจและศักยภาพของผู้สมัครงาน หน้าที่ของโอกาสคือพาทั้งสองฝั่งมาเจอกัน พูดคุยสัมภาษณ์กันอีกครั้ง และเมื่อนายจ้างตกลงจ้างงาน นั่นถือเป็นการปิดดีล แต่หากนายจ้างปฏิเสธ กระบวนการจับคู่คนทำงานและตำแหน่งงานก็จะเริ่มใหม่อีกครั้ง 

กุ้ง ชายหนุ่มจากจังหวัดพะเยาที่เคยต้องโทษในคดียาเสพติด หลังพ้นโทษเขาสมัครเข้าโครงการโอกาสและเลือกสมัครงานเป็นพนักงานในไร่คานาอันที่จังหวัดกาญจนบุรี
photo: เพจ โอกาส

จากที่ทำหน้าที่เป็นจุดบรรจบระหว่างนายจ้างหรือผู้ประกอบการกับลูกจ้างที่เป็นอดีตนักโทษ พบว่าอคติของนายจ้างต่ออดีตผู้ต้องโทษเป็นเรื่อง ‘หายห่วง’ สำหรับหมีและหญิงยังไม่เคยพบกรณีเช่นนี้ เพราะนายจ้างทุกคนที่ติดต่อเพจโอกาสเข้ามา นั่นแปลว่าพวกเขาเปิดใจแล้ว 

“เราไม่เคยไปบังคับหรืออ้อนวอนเขา ถ้าคุณไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร ภูมิหลังของนายจ้างบางส่วนอาจมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับผู้พ้นโทษก็ได้ แต่นายจ้างที่เดินเข้ามาหาเรา แปลว่าเขาต้องพร้อมแล้วที่จะให้งาน เพราะถ้าเขาไม่พร้อม เขาคงไม่ติดต่อเรามา เขาจะไม่มีคำถามเลยว่า ผู้พ้นโทษจะมาขโมยของไหม จะมาจิกหัวแม่เขาไหม ไม่มี” หมีกล่าว

ผู้พ้นโทษ = มนุษย์

คนทั่วไปทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ผู้พ้นโทษก็ต้องทำงาน 8 ชั่วโมง นายจ้างจ่ายค่าแรงคนทั่วไปเท่าไหร่ ก็ต้องจ่ายให้ผู้พ้นโทษเท่านั้น ไม่มีใครได้สิทธิพิเศษ หรือถูกลิดรอนสิทธิเพียงเพราะเคยต้องโทษ ฉะนั้น งานที่ผู้พ้นโทษได้รับต้องยืนอยู่บน ความยุติธรรมเป็นสำคัญ ทั้งหมดคือความตั้งใจของหมีและหญิงนับแต่เริ่มต้นโครงการ

“เราอยากให้ผู้พ้นโทษกลายเป็นคนปกติที่สุด ทรีตเขาเป็นคนปกติเท่าเทียมกับคนอื่นๆ เราจึงไม่อ้อนวอนให้ผู้ประกอบการต้องมาสงสารหรือเห็นใจ อยากรับเข้าทำงานก็รับ ไม่อยากรับก็ไม่ต้องรับ ที่สำคัญผู้พ้นโทษเขาจะไม่ภูมิใจในตนเองด้วยนะถ้ารับเขาเพราะสงสาร ไม่ได้รับเพราะเชื่อว่าเขาทำงานได้จริงๆ” 

ดล ผู้พ้นโทษจากจังหวัดเชียงราย ติดต่อมาที่โครงการเพื่อหางานทำ ภายหลังเขาได้งานตำแหน่งช่างล้างแอร์ที่จังหวัดขอนแก่น photo: เพจ โอกาส


หญิงและหมีกล่าวหนักแน่น 

ทำไมอดีตนักโทษถึงเลือกมาหาเพจโอกาส ทั้งที่ทัณฑสถานก็มีโครงการจัดหางานให้ผู้พ้นโทษอยู่แล้ว – เราถามเธอทั้งสองตรงๆ 

“เราเคยคุยกับผู้พ้นโทษว่าทำไมถึงมาหาเรา คำตอบคือ เพราะเราคือความหวังสุดท้ายของเขา เขามองว่าเราน่าจะทำจริง น่าจะหางานให้เขาได้จริง จากผู้พ้นโทษที่เราได้หางานให้เขาไป เขาก็เอาไปบอกต่อคนอื่นๆ ว่าเราทำจริง” หญิงตอบ

ปัจจุบันตำแหน่งงานที่เพจโอกาสรวบรวมไว้มีจำนวนถึงหลักร้อย ซึ่งจากคำบอกเล่าของหมี น่าแปลกใจที่ว่าตำแหน่งงานนั้นมีมากกว่าจำนวนแรงงาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอมองว่า หนึ่ง-ตำแหน่งงานที่มีมักกระจุกตัวในกรุงเทพฯ และสอง-ลักษณะของงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้พ้นโทษ 

การกระจุกตัวของงานในมหานคร ทั้งสองมองว่าเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องขยายโอกาสในพื้นที่ที่หลากหลายมากขึ้น แต่สำหรับข้อสอง ทั้งหมีและหญิงมองว่า ตัวแปรสำคัญขึ้นอยู่กับผู้พ้นโทษล้วนๆ 

“เราเจอเยอะมากที่สมัครเข้ามา รับปากต่างๆ แต่พอถึงเวลากลับหายตัว เราก็คิดว่าเป็นเพราะความไม่พร้อมของเขา อาจจะมีความกังวลอยู่ หรืออาจจะกลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้ มันมีหลายเหตุผลในใจของผู้พ้นโทษ การที่เขาจะตัดสินใจเข้ามาทำงานต้องใช้ความกล้าขั้นสุดยอดในการที่จะพิสูจน์ตนเอง” หมีกล่าว ก่อนที่หญิงจะเสริมว่า 

“เขากลัวที่จะไปใช้ชีวิตแบบคนปกติ แต่เข้าใจได้ เพราะบางคนอยู่ในนั้นมา 5-10 ปี อยู่จนไม่รู้ว่าโลกข้างนอกเป็นยังไง เพียงแต่ใจต้องสู้ มันถึงจะรอด”

20 คือจำนวนนายจ้างที่พร้อมรับผู้พ้นโทษเข้าทำงานในองค์กร

287 คือจำนวนผู้พ้นโทษที่ติดต่อมายังเพจโอกาส

มาตรวัดความสำเร็จของทั้งสอง นั่นคือผู้พ้นโทษมีงานทำ มีเงินใช้จ่ายดำรงชีวิต และสามารถอยู่ในกติกาของสังคมได้ ปราศจากการแปะป้ายความผิดในอดีตที่เคยพลาด 

แต่ถ้าถามถึงความฝันใหญ่ๆ ทั้งสองตอบอย่างน่าคิดว่า 

“โครงการโอกาสต้องเจ๊ง เพราะไม่มีใครมาสมัครกับเรา ด้วยเหตุผลที่ว่า หนึ่ง-ผู้พ้นโทษน้อยลง สอง-เขาไม่ต้องพึ่งตัวกลางอย่างเราแล้ว เขาเดินไปที่ไหน ทุกคนก็พร้อมจะรับเขา เขาสามารถสมัครงานได้ด้วยตัวเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นเมื่อไหร่ แปลว่าโครงการ ‘โอกาส’ หมดหน้าที่แล้ว เราจะได้ปิดตัว แล้วไปทำอย่างอื่น” 

อ้างอิง 

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า