Facebook: ร้านน้ำชาดิจิทัลแห่งเมียนมา ภาระทางศีลธรรมของแพลตฟอร์มที่กลายเป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชัง

ช่วงเวลาประมาณ 23 นาฬิกาของวันที่ 4 ตุลาคม 2021 ตามเวลาประเทศไทย เกิดเหตุการณ์ Facebook ล่ม จนทั่วโลกไม่สามารถใช้งานได้นานถึง 6 ชั่วโมง Facebook แถลงว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะล่มในทุกเครือข่ายการให้บริการของ Facebook มาจากการตั้งค่าเราเตอร์ผิดพลาด ส่งผลให้เครือข่ายบริการของ Facebook ไม่ว่าจะเป็น Instagram, WhatsApp, Oculus และ Facebook ต้องประสบกับปัญหาการใช้งานพร้อมกัน  

ดูเหมือนว่า Facebook  ไม่เพียงแค่ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2021 ที่เครือข่ายทั้งหมดของ Facebook ต้องอยู่ในสถานะออฟไลน์ จนทำให้โลกเข้าสู่สภาวะปราศจาก Facebook นานถึง 6 ชั่วโมง Facebook ยังกำลังเผชิญกับปัญหาอื่นอีกไม่น้อย ทั้งประเด็นที่ถูกแฉว่าเน้นหากำไรแต่ละเลยการปราบปรามข่าวปลอมและเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง

22 กันยายน 2021 ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางของสหรัฐมีคำสั่งให้ Facebook เปิดเผยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมาต่อชาวโรฮิงญา[1]ในรัฐระไข่[2]  คำร้องขอดังกล่าวจัดทำโดยแกมเบีย ซึ่งกำลังพยายามค้นหาหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนคำฟ้องของตนในการดำเนินคดีกับเมียนมาในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) คำถามที่สำคัญ คือ Facebook จะตัดสินใจอย่างไรต่อนโยบายความเป็นส่วนตัว การเข้าถึงข้อมูล สิทธิและภาระผูกพันของบริษัทโซเชียลมีเดีย 

แกมเบียเริ่มกระบวนการศาลโลกเพื่อฟ้องเมียนมาในเดือนพฤศจิกายน 2019 โดยกล่าวอ้างว่าเมียนมาละเมิดพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ค.ศ. 1948 เนื่องจากมีการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ในปี 2016 และ 2017 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 10,000 คน และบังคับให้ผู้คนมากกว่า 700,000 คนต้องพลัดถิ่น  

ก่อนการฟ้องคดีของ ICJ คณะทำงานเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงอิสระระหว่างประเทศในเมียนมารายงานว่า ชาวโรฮิงญาในเมียนมาประสบกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง  รวมถึงการทรมาน การข่มขืน และการสังหาร ซึ่งอนุมานได้ว่าเป็นเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  ในเดือนมกราคม 2020 ICJ  ออกมาตรการฉุกเฉิน โดยสั่งให้เมียนมาต้องป้องกันการกระทำที่เข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญาและการทำลายหลักฐานโดยทันที

Facebook กับ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

ในการค้นหาข้อเท็จจริง UN ให้ความสนใจอย่างมากกับวิธีการที่ Facebook ถูกใช้โดยทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและนอกภาครัฐ เพื่อส่งเสริมคำพูดแสดงความเกลียดชังและความรุนแรง หลังจากการสอบสวนโดย Facebook เองเกี่ยวกับการใช้งานแพลตฟอร์มในเมียนมา เดือนสิงหาคม 2018 บริษัทประกาศว่าได้ลบเพจ 425 เพจ กลุ่ม 17 กลุ่ม บัญชี Facebook 135 บัญชี และบัญชี Instagram 15 บัญชี เนื่องจากเข้าข่ายเผยแพร่คำพูดแสดงความเกลียดชัง นอกจากนี้ยังปิดบัญชีส่วนบุคคลอีก 20 บัญชี รวมถึงแอคเคาท์ของพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย (ซึ่งต่อมาเป็นผู้นำการทำรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021) และเครือข่ายโทรทัศน์เมียวดีที่กองทัพควบคุม ตอนนั้น Facebook ออกมายอมรับว่า ‘ดำเนินการช้าเกินไป’ การลบบัญชีและเพจเหล่านี้ของ Facebook ทำให้ผู้ใช้ Facebook และบุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงบัญชีเหล่านี้ได้ แต่ Facebook ยังคงเก็บเนื้อหาไว้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินคดีกับ Facebook ของแกมเบียในศาลรัฐบาลกลางสหรัฐ

ข้อพิพาทคำขอให้เปิดเผยเนื้อหา

5 มิถุนายน 2020 แกมเบียได้ยื่นคำร้องตาม 8 USC §17822 ในศาลแขวงประจำเขตโคลัมเบีย กฎเกณฑ์ดังกล่าวอนุญาตให้ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐดำเนินการไต่สวน บันทึกคำให้การ  เพื่อประกอบการพิจารณาคดีในศาลต่างประเทศหรือศาลระหว่างประเทศ สิ่งที่ผู้ร้องขอสนใจก็คือ เนื้อหาที่เกี่ยวกับการสร้างความเกลียดชังและความรุนแรง ซึ่งถูกลบออกไปแล้ว ในขณะที่ Facebook คัดค้านคำขอเหล่านั้น โดยอ้างกฎหมาย  Stored Communications Act (SCA) (28 USC §2702) ที่ไม่อนุญาตให้เปิดเผยเนื้อหา ประการที่สอง Facebook แย้งว่าคำขอเป็นภาระมากเกินไปและสามารถค้นหาข้อมูลผ่านช่องทางอื่นๆ ศาลควรใช้ดุลยพินิจในการปฏิเสธคำขอ

อันที่จริง Facebook ได้เคยจัดเตรียมเนื้อหาให้กับหน่วยสืบสวนอิสระสำหรับเมียนมา (IIMM) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  คำถามที่ตามมาก็คือ เหตุใด Facebook และ แกมเบีย จึงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการเปิดเผยข้อมูลที่เคยเผยแพร่สู่สาธาณะอยู่ก่อนแล้วก่อนที่จะถูก Facebook ลบ

การจัดประเภทเนื้อหาที่โพสต์บนโซเชียลมีเดียเป็น ‘สาธารณะ’ หรือ ‘ส่วนตัว’ นั้นไม่ได้ตรงไปตรงมาเสมอไป ศาลชี้ว่าโพสต์บน Facebook บางโพสต์ ถูกตั้งค่าให้เป็นสาธารณะแก่ทุกคนได้ตลอดเวลา ในขณะที่โพสต์อื่นๆ จะถูกแชร์เฉพาะกับสมาชิกของกลุ่มหรือผู้ติดตามเพจและกลุ่มส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ศาลให้เหตุผลว่าหากอนุญาตให้เข้าถึงกลุ่มส่วนตัวบน Facebook ได้โดยอัตโนมัติ หรือหากโพสต์ ‘ส่วนตัว’ นั้น “เข้าถึงได้สำหรับบุคคลทั่วไป” โพสต์ดังกล่าวจะเป็น “สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ” ศาลจึงต้องดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อดูว่าผู้ใช้ตั้งใจให้การสื่อสารเป็น ‘สาธารณะ’ หรือ ‘ส่วนตัว’   

ศาลพิจารณาคำขอของแกมเบียแล้วมีดุลยพินิจดังนี้

ประการแรก ศาลปฏิเสธข้อโต้แย้งของ Facebook ที่ว่าคำขอนั้นเป็นภาระหนักเกินไป โดยตั้งข้อสังเกตว่าคำขอดังกล่าวระบุเฉพาะบุคคล 70 ราย หน่วยงาน 4 แห่ง และเพจ Facebook จำนวน 9 เพจ ศาลยังปฏิเสธข้อโต้แย้งของ Facebook ที่ขอปิดเผยเนื้อหาย้อนหลังจนถึงแค่ปี 2016 เท่านั้น และเห็นด้วยกับคำขอของแกมเบียที่ว่าให้เปิดเผยข้อมูลย้อนหลังไปถึงปี 2012 แทน 

ประการที่สอง ศาลพิจารณาว่าเอกสารที่ร้องขอมีแนวโน้มที่จะมีประโยชน์ ในกระบวนการพิจารณาคดีของ ICJศาลไม่ได้ลงรายละเอียดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจสร้างเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่สรุปว่าหลักฐานเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ Facebook อธิบายว่าเป็น “การรณรงค์สร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญาโดยร่วมมือกัน” ศาลจึงถือว่าบันทึกที่แกมเบียร้องขอนั้นมีความเกี่ยวข้องสูงกับคดีนี้ 

ประการที่สาม ศาลโต้แย้งคำให้การของ Facebook ที่ว่าแกมเบียควรค้นหาข้อมูลผ่านทางช่องทางอื่นๆ และศาลตั้งข้อสังเกตว่า Facebook ได้เปิดเผยข้อมูลให้กับ IIMM ก่อนหน้านี้ก็จริงแต่เป็นไปอย่างจำกัด  

ศาลเห็นพ้องกันว่าบันทึกดังกล่าวจะให้ความกระจ่างว่า Facebook เชื่อมโยงบัญชีที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องจริงกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลเมียนมาอย่างไร และบัญชีบางหน้านั้นดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่คนเดียวกันหรือไม่ เป็นไปได้ไหมว่าหน้า Facebook ที่ดูเหมือนไม่มีพิษมีภัย ที่มีชื่อเช่น ‘ความงามและความคลาสสิค’, ‘ครูสาว’, ‘หัวเราะกันสบายๆ’ และ ‘เรารักเมียนมาร์’ อาจถูกควบคุมโดยกองทัพเมียนมาอย่างลับๆ ดังนั้นศาลจึงขอบังคับให้ Facebook จัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนของ Facebook เอง โดยอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ปกติเกี่ยวกับนโยบายสิทธิต่างๆ

ศาลระบุว่า Facebook ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความพยายามในการแก้ไขบทบาทของ Facebook ในสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา การตัดสินใจครั้งนี้ทำให้ Facebook ต้องทำข้อตกลงนั้นให้ดี 

วิธีการที่ลงไปในสนาม Facebook และคาดว่าจะได้รับข้อมูลตามคาดหวังไว้ไม่มากก็น้อยนั้น เหมือนกับในช่วงหลายปีที่เมียนมาอยู่ภายใต้ระบบเซ็นเซอร์ของรัฐบาลทหารอย่างเข้มข้น ถ้าคุณอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คุณจะต้องลงไปที่ร้านน้ำชาและพูดคุยกับผู้คน เพราะยุคเซ็นเซอร์ ร้านน้ำชาที่มีอยู่ทั่วไปทุกมุมถนนในเมียนมา คือ ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร ที่คุณจะได้อัพเดท แต่พอ Facebook เข้ามา มันก็เข้ากันพอดีกับวิธีการแบบนั้น  นั่นคือ มันกลายเป็นร้านน้ำชาดิจิทัล ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขยายข้อมูลและสร้างผลกระทบในโลกแห่งความจริง เพราะปัจจุบันมีผู้ใช้ Facebook มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 54 ล้านคน

ถึงที่สุดแล้ว คดีที่ Facebook ถูกแกมเบียยื่นฟ้องได้เน้นย้ำให้เห็นถึงการผสมผสานที่แปลกประหลาดของสิ่งจูงใจที่บริษัทอย่าง Facebook อาจต้องเผชิญ ซึ่งพัวพันอยู่ระหว่างการปกป้องความลับทางธุรกิจ การให้ความช่วยเหลือนักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน และการปกป้องชื่อเสียงของตนเอง คำร้องขอของแกมเบียนั้นยังไม่ถึงขั้นยืนยันเจตนาและการสมรู้ร่วมคิดของ Facebook เพื่อให้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่คำตัดสินของศาลได้ชี้ให้เห็นถึงภาระผูกพันทางศีลธรรม ซึ่งขณะนี้ได้เปลี่ยนเป็นภาระผูกพันทางกฎหมายแล้ว  

เชิงอรรถ

[1] ในข้อเขียนนี้ใช้คำว่า ‘โรฮิงญา’ ไม่ใช้คำว่า ‘โรฮีนจา’ ตามการสะกดและออกเสียงแบบเมียนมา เพราะในภาษาถิ่นอาระกันเหนือ มีคำเรียกชาวจิตตะกองในบังคลาเทศและผู้คนในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอลว่า สอระกันญา

[2] ในข้อเขียนนี้ใช้คำว่า ‘ระไข่’ ไม่ใช้ว่า ‘ยะไข่’ ตามสำเนียงเมียนมา เนื่องจากใช้ตามการเรียกของภาษาถิ่นอาระกันหรือระไข่

อ้างอิง  

US judge orders Facebook to release anti-Rohingya account records

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า