จากกรณีที่ไรเดอร์สังกัดแพลตฟอร์มสีชมพูแบรนด์ดังได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ต้องตกเป็นเหยื่อของการตัดสินใจของทีมงานบริษัทที่ออกมาแสดงความเห็นโดยไม่ได้คิดไตร่ตรองให้ดี จนทางบริษัทตั้งตัวไม่ทันจากกระแสโต้กลับ และกว่าจะออกแถลงการณ์ขอโทษก็ถูกประชาชนที่โกรธแค้นนับล้านแห่ลบแอพพลิเคชั่นไปแล้ว
กรณี #แบนฟู้ดแพนด้า เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดที่ม็อบ ไม่ได้เกิดที่บริษัทแพลตฟอร์ม และไม่ได้จบลงที่การออกแถลงการณ์ขอโทษขอโพย แต่กรณีดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นสภาพการณ์ของระบบเศรษฐกิจที่ผูกติดกับวิถีชีวิตของแรงงานในปัจจุบันที่บ้างก็บิดเบี้ยว บ้างก็ถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และยังมีประเด็นที่ต้องพูดคุยถกเถียงถึงสิทธิและสถานะของแรงงานแพลตฟอร์ม เพื่อหาจุดร่วมในความสัมพันธ์ระหว่างทุนและชีวิตของแรงงานภายใต้เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ สู่การเป็นแรงงานที่มีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียม และได้รับการคุ้มครองอย่างสมศักดิ์ศรีในฐานะแรงงาน และฮีโร่ด่านหน้าที่คอยช่วยเหลือประชาชนในยามที่การออกไปซื้อกับข้าวกับปลายากเย็นเช่นปัจจุบันนี้
ในคืนวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา บนหน้าเฟซบุ๊คแฟนเพจ We Watch ในฐานะภาคประชาชนของคนรุ่นใหม่ ได้มีการถ่ายทอดสดรายการ We Talk ตอน ‘จากฟู้ดแพนด้าสู่ชาวไรด์เดอร์: เมื่อถูกทุนทอดทิ้ง แรงงานแพลตฟอร์มจะสู้ต่อไปอย่างไรดี?’ โดยมี รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นนักวิชาการที่ศึกษาและเคลื่อนไหวผลักดันรัฐสวัสดิการในสังคมมาอย่างต่อเนื่อง และ ชนฐิตา ไกรศรีกุล ผู้ปฏิบัติงานจากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
WAY เก็บประเด็นสำคัญเพื่อประกอบเป็นแง่มุมในการจับทิศทางความเป็นไปของไรเดอร์ใกล้ตัวเรามาฝากทุกท่าน เชิญอ่านบทสนทนาว่าด้วยแรงงานแพลตฟอร์มและการต่อสู้ของพวกเขาได้ต่อจากบรรทัดนี้
นิยามของ ‘แรงงานแพลตเฟอร์ม’ คืออะไร
ชนฐิตา: งานแพลตฟอร์มเติบโตมาพร้อมเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ซึ่งเข้ามาในธุรกิจบริการ เช่น บริษัทเดลิเวอรีจัดส่งอาหาร โดยมีแพลตฟอร์มเป็นตัวกลางระหว่างแรงงาน เช่น ไรเดอร์กับลูกค้าผู้ซื้อบริการ ตัวแพลตฟอร์มจะทำหน้าที่เหมือนนายหน้า โดยการรับซื้อกำลังแรงงานหรือรับสมัครคนงานเข้ามา แล้วเสนอบริการให้กับลูกค้า โดยที่เเพลตฟอร์มจะเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดหางานให้กับไรเดอร์ ที่จริงแล้วแรงงานแพลตฟอร์มไม่ได้มีแค่ไรเดอร์ แต่ยังมีกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มหมอนวด กลุ่มผู้ดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน ซึ่งการทำงานของแพลตฟอร์มก็จะคล้ายๆ กัน
แรงงานแพลตฟอร์มกับแรงงานทั่วไป ต่างกันอย่างไรในด้านสิทธิแรงงาน
ชนฐิตา: ตอนนี้กฎหมายแรงงานเมืองไทยแบ่งหยาบๆ ว่ามีแรงงาน 2 ประเภท คือ แรงงานในระบบกับนอกระบบ ในระบบ หมายถึง อยู่ในระบบประกันสังคมที่มีนายจ้างช่วยจ่ายสมทบ และนอกระบบ เช่น หาบเร่ แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์
งานรวมแพลตฟอร์มเพิ่งเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 5-7 ปีที่แล้ว กระทรวงแรงงานก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อจัดการกับสถานะแรงงานรูปแบบใหม่ ถ้าเราดูการจ้างงานแรงงานแพลตฟอร์ม จะเห็นว่าคล้ายคลึงกับการจ้างงานที่มีนายจ้าง ปกติ เพราะคนงานอยู่ภายใต้การควบคุมจากบริษัท เพียงแต่ว่าบริษัทเหล่านี้พยายามออกตัวว่า แรงงานทั้งหลายมีสถานะเป็น ‘พาร์ทเนอร์’ ไม่ใช่ลูกจ้าง กระทรวงแรงงานเองก็เออออตามนั้นไป จึงยังไม่มีการตีความสถานะอย่างเป็นทางการของแรงงานแพลตฟอร์มว่า ตกลงเขาเป็นอะไรกันแน่
ฉะนั้น กระทรวงแรงงานเลยตีความอย่างไม่เป็นทางการว่า คนเหล่านี้คือแรงงานนอกระบบ ในขณะที่การทำงานค่อนข้างชี้ชัดว่า คนเหล่านี้ก็คือแรงงานที่มีนายจ้าง การที่เขาอยู่อย่างไม่มีสถานะรับรองอย่างเป็นทางการของกฎหมาย จึงนำมาสู่การที่เขาเสียสิทธิหลายอย่าง เช่น เวลาที่ไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิต ถ้าเขาเป็นคนงานที่ถูกรับรองตามกฎหมาย อย่างในต่างประเทศ นายจางจะต้องรับผิดชอบ ถ้าเป็นในไทยก็เทียบกับการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน เพราะว่าเป็นการประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน นายจ้างต้องจ่าย แต่พอเขามีสถานะเป็นพาร์ทเนอร์ จึงเกิดเป็นความมึนงงว่า ใครจะต้องรับผิดชอบ ระบบที่ใช้กันปัจจุบันจึงเป็นแบบที่แล้วแต่ความเมตตาของบริษัทว่าจะรับผิดชอบหรือไม่ และรับผิดชอบแค่ไหน
ต้นตอของปัญหามาจากการเรียกไรเดอร์ว่า ‘พาร์ทเนอร์’ ใช่ไหม
ชนฐิตา: คำว่าพาร์ทเนอร์อาจฟังดูดีมากสำหรับคนงานในช่วงแรกๆ เพราะคนงานแพลตฟอร์มจำนวนมาก ก็คือคนที่ไหลออกมาจากการเป็นแรงงานในระบบ ฉะนั้น การเสนอความเป็นอิสระในการทำงานในฐานะพาร์ทเนอร์ ก็เลยฟังดูดีมาก
แต่พอมาหลังๆ เราจะเห็นได้ชัดว่า ความเป็นอิสระที่ว่านี้ จริงๆ แล้วมันคืออิสระของบริษัทแพลตฟอร์มที่จะไม่ต้องรับผิดชอบคนงานเท่านั้นเอง
ถ้าเป็นพาร์ทเนอร์กันก็แปลว่าบริษัทไม่มีสิทธิที่จะไล่ไรเดอร์ออกใช่ไหม หรือในความเป็นจริงคือเขาทำได้อยู่แล้ว
ชนฐิตา: บริษัทจะใช้วิธีการปิดระบบการทำงาน ก็คือระงับสัญญาณแอพพลิเคชั่นในเครื่องของไรเดอร์ หรือถ้าบางทีการระงับสัญญาณมันโจ่งแจ้งเกินไป บริษัทก็อาจจะใช้การปิดกั้นที่ทำให้ไรเดอร์ได้งานน้อยลง แต่ไม่ได้ปิดแอพฯ นะ แอพฯ ยังใช้งานได้ปกติ แต่ว่าไม่มีงานให้เขาทำ ในขณะที่เพื่อนที่อยู่ข้างๆ มีงานทำ
ฉะนั้น จะบอกว่าการเป็นพาร์ทเนอร์คือการเป็นนายตัวเองก็ไม่ถูก เพราะต้องใส่เสื้อแจ็คเก็ตของบริษัท ต้องใช้กระเป๋าของบริษัท ต้องถ่ายหน้าตัวเองเพื่อรายงานตัวเข้างานทุกครั้ง จะต้องถ่ายรูปว่าส่งงานให้ลูกค้าแล้วทุกครั้ง จริงๆ มันก็คือการควบคุม คนงานหญิงเจอการควบคุมในระดับร่างกายด้วยซ้ำ เช่น สมมุติคุณเป็นทอม แต่ว่าต้องไปทำงานเป็นแม่บ้านแพลตฟอร์มของบริษัทหนึ่ง บริษัทก็อาจจะบอกว่าคุณจะเป็นทอมหรืออะไรก็ตาม แต่ในเวลาทำงานคุณต้องพูดค่ะ ต้องแต่งตัวให้ดูเป็นผู้หญิง
ธุรกิจประเภทที่นายทุนหันมาเรียกลูกจ้างว่าพาร์ทเนอร์มีความเป็นมาอย่างไร ทุนนิยมกำลังคิดอะไรอยู่
ษัษฐรัมย์: เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจว่า การเกิดรูปแบบธุรกิจแบบแพลตฟอร์ม และการที่นายทุนโยนความเสี่ยงให้กับผู้ใช้แรงงาน มันไม่ได้เป็นเรื่องธรรมชาติ มันไม่ได้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ใช่ว่าพวกนายทุนใหญ่เขาบอกเราว่าเศรษฐกิจมันเป็นแบบนี้ แล้วเราจะต้องยอมรับมัน ต้องทำตามกติกา ไม่เช่นนั้นเราก็จะไปทำแบบอื่นที่อื่น
ผมอยากย้อนไปเมื่อ 50-60 ปีก่อน ระบบการจ้างแบบนี้เคยมีมาก่อนแล้ว ก็คือระบบการจ้างเหมาผ่านผู้รับเหมาที่จัดหาแรงงาน ถ้าเทียบกับพวกแพลตฟอร์มก็จะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายกัน เป็นแบบนี้ทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่ในช่วง 50 กว่าปีก่อน มันเกิดกระบวนการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในยุโรปตะวันตก ในสหรัฐอเมริกา ระบบแบบนี้จึงค่อยๆ หายไป นายทุนต้องรับผิดชอบแรงงาน ในฐานะที่คุณซื้อชีวิตของเขามาแล้ว ถ้าเขาเสียชีวิต เสียความฝันอะไรไป คุณก็ต้องคุ้มครองชีวิต คุ้มครองค่าจ้าง เพื่อให้แรงงานสามารถซื้อชีวิตคืนมาได้ด้วยค่าจ้างและสวัสดิการที่เหมาะสม
แต่พอขบวนการแรงงานอ่อนแอลง ควบคู่กับการที่ทุนเติบโตขึ้น จึงเกิดเงื่อนไขว่า ต่อไปนี้ถ้าคุณอยากจะสำเร็จ อยากมีชีวิตที่อิสระ คุณก็ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ก่อนหน้านี้ถ้าเราย้อนกลับไป 30-40 ปีก่อน นายทุนมักจะเคลมว่าการที่เขามั่งคั่งขึ้นมาได้ เป็นเพราะเขาแบกรับความเสี่ยง เขาเสี่ยงมากกว่า เสี่ยงซื้อคนงาน ซื้อที่ดิน เสี่ยงจ้างคนที่เขาไม่รู้จัก เขามักจะเคลมแบบนี้ แต่ ณ ปัจจุบันมันน่าคิดมากเลยว่า ด้วยเทคโนโลยีทั้งหลาย รูปแบบของทุนแบบแพลตฟอร์มมันสามารถทำให้นายทุนไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงอะไรเลย แต่โยนความเสี่ยงให้แก่ผู้ใช้แรงงาน รถก็รถเรา หมวกกันน็อคก็ของเรา น้ำมันเราก็จ่ายเอง สิ่งเหล่านี้เราจ่ายเอง เสี่ยงเอง ในขณะกลุ่มทุนก็มั่งคั่งมากขึ้นเรื่อยๆ
สังเกตดูได้ว่า พอออกสื่อทีไร บริษัทแพลตฟอร์มมักบอกว่าขาดทุนทีละร้อยล้าน สองร้อยล้านติดต่อกัน 3 ปี มันมีบริษัทไหนในโลกนี้ยกเว้นการบินไทยที่ขาดทุนปีละสองร้อยล้านแล้วไม่เจ๊ง
ผมอยากสะท้อนให้เห็นว่า คำว่าพาร์ทเนอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างเมื่อก่อนนายจ้างจะชอบอ้างว่าเราเป็นเหมือนพี่น้องกัน คุณไม่ต้องเอาโบนัสก็ได้ มีที่ซุกหัวนอนแค่นี้ก็ดีแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นคำอมตะของนายทุนอยู่แล้ว เพียงแค่มีการประดิษฐ์โวหารสวยๆ ให้รู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่เป็นเจ้าของร่วมกันยังไง ทำไมเราถึงไม่ได้ส่วนแบ่งกำไรบ้าง
ในต่างประเทศไรเดอร์มีสถานะเป็นพาร์ทเนอร์ด้วยไหม
ษัษฐรัมย์: ผมคิดว่าประเทศไหนถ้าขบวนการแรงงาน ขบวนการประชาชน ขบวนการประชาธิปไตยเข้มแข็ง ก็จะนำไปสู่กฎหมายปกป้องสิทธิแรงงานที่เป็นธรรม ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มสีชมพู ตอนที่อยู่ในเยอรมนี คนที่ทำงานกับเขาก็เป็นลูกจ้างที่มีประกันสังคม มีหักภาษี ณ ที่จ่าย มีกองทุนเงินทดแทน มีสหภาพ แต่พอบริษัทสีชมพูย้ายมาอยู่ในเมืองไทยหรือประเทศในเอเชียที่กฎหมายไม่เข้มแข็ง สิ่งที่เคยทำในเยอรมนีก็กลายเป็นอีกแบบหนึ่ง กลายเป็นพาร์ทเนอร์หมดเลย เรื่องเหล่านี้ก็ชัดเจนว่า มันไม่ได้เป็นภาวะธรรมชาติ เราชอบคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภาวะธรรมชาติ ชอบคิดว่าก็เพราะแพลตฟอร์มมันออกแบบมาแบบนี้ในเศรษฐกิจแบบใหม่ แต่ว่าในประเทศที่ก้าวหน้ากว่าประเทศไทย เขาก็ไม่ได้ใช้ระบบแบบนี้เหมือนเรา
ชนฐิตา: เพิ่มเติมนิดหนึ่งว่า งานแบบแพลตฟอร์มก็คือการจ้างงานรายชิ้น หรือ ‘กิ๊ก’ (Gig Economy) มันเริ่มมาจากงานออฟไลน์ก่อน เป็นงานแบบนักดนตรีไปเล่นตามงานนู้นงานนี้เป็นรายครั้ง อันนี้เรียกว่า 1 กิ๊ก พอเทคโนโลยีเข้ามาก็มีการยืมคำนี้กลับมาใช้อีกครั้ง แล้วการทำงานในเศรษฐกิจแบบกิ๊กที่อาจารย์ษัษฐรัมย์บอกไว้ว่า บริษัทเหล่านี้มักออกสื่อว่าขาดทุน ในความเป็นจริงคือ มันขาดทุนจริงๆ เยอะด้วย แต่ว่าทุกบริษัทก็ถูกออกแบบมาให้ขาดทุนอยู่แล้วในระยะเริ่มต้น อย่างแกรบก็เพิ่งจะได้กำไร ทั้งๆ ที่ก่อตั้งมานานมาก การขาดทุนแบบนี้คือการขาดทุนเนื่องจากการทุ่มตลาด ไม่ใช่การขาดทุนจากการเป็นผู้เสียสละ แต่มันเป็นเพียงการทุ่มตลาดเพื่อเบียดเอาคู่แข่งออกจากตลาด
บริษัทเหล่านี้จะได้กำไรตอนที่เหลือรอดเป็นเจ้าท้ายๆ ในตลาด แล้วก็จะสามารถเข้าสู่ตลาดหุ้นได้ ฉะนั้น เขาก็จะเผาเงินไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไปถึงจุดนั้น ทีนี้เงินที่เผาก็ไม่ใช่เงินของเขาคนเดียว มันเป็นเงินค่าแรง เงินค่าตอบแทนที่เคยสูงในตอนอัดฉีดช่วงแรกๆ แต่ตอนนี้ค่าจ้างก็ลดลงมา แม้จะเสียเงินไปในระยะแรก แต่มูลค่ามันไม่ได้เสีย มีแต่จะเพิ่มด้วยซ้ำ
หากมองแค่ในประเทศไทย ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับทุนแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นอย่างไร
ษัษฐรัมย์: การทำงานระหว่างรัฐกับทุนจริงๆ แล้วมันทำงานด้วยกัน ยิ่งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาที่ประชาชนไม่มีอำนาจ มันก็ปรากฏให้เห็นว่า พอคนส่งเสียงไม่ได้ รัฐมันฟังใครล่ะ รัฐมันก็ฟังทุนมากขึ้น
คิดเห็นอย่างไรจากกระแสสังคมที่แบนบริษัท แต่ผลกระทบกลับตกมาที่ไรเดอร์
ชนฐิตา: ต้องเกริ่นก่อนว่า กรณีฟู้ดแพนด้าเขาจะมีเกณฑ์รับคนงานต่างจากที่อื่น คือไม่ค่อยตรวจประวัติอาชญากรรม ในแง่หนึ่งก็กลายเป็นโอกาสสำหรับคนที่ต้องการกลับตัว แต่ในอีกแง่หนึ่งก็คือต้นทุนในการย้ายงาน เวลาที่เราจะไปสมัครกับแอพฯ อื่นๆ ก็จะมีค่าแจ็คเก็ต ค่ากระเป๋า ค่ากรอกใบสมัคร ค่าตรวจประวัติอาชญากรรม เข้าใจว่ามีหลายคนที่มีข้อจำกัดแบบนี้อยู่ แต่ก็ต้องทำให้เห็นว่าศัตรูที่แท้จริงของเขาไม่ใช่ประชาชนที่ร่วมกันแบน แต่คือรัฐ คือบริษัทที่เอาไรเดอร์มาเป็นตัวประกัน ก็มีคนที่พยายามช่วยเหลือจัดตั้งสหกรณ์แพลตฟอร์ม ช่วยเหลือไรเดอร์ รวบรวมเครือข่ายร้านอาหารโดยไม่ผ่านบริษัท นี่คือความพยายามที่จะช่วยคนที่มีข้อจำกัดในการย้ายไปแอพฯ อื่น
ษัษฐรัมย์: มันจำเป็นต้องแยก ไม่งั้นประชาชนก็จะไม่สามารถแบนอะไรได้เลย เพราะทุกองค์กรก็จะมีคนตัวเล็กตัวน้อยอยู่เสมอ บริษัทพวกนี้ก็จะหลบอยู่หลังไรเดอร์ ซึ่งในภาวะปกติก็ไม่เห็นใส่ใจชีวิตไรเดอร์เลย
เราเห็นไรเดอร์แปะป้ายข้างหลังว่าเขาไม่ใช่สลิ่ม เขาเกลียดรัฐบาลชุดนี้ เขาจะไล่รัฐบาล พวกผู้บริหารอย่ามาเนียนเอาเขาเป็นเกราะกำบัง
การทำสหกรณ์ ด้านหนึ่งก็น่าสนใจ ตอนพวกทุนเข้ามาเขาคิดว่าสิ่งที่เขาสร้างเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่ใครทำไม่ได้ง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นการฝากคนไปซื้อของ แต่ก่อนพวกเราก็ใช้วินมอเตอร์ไซค์กัน แต่พอมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ มาตรฐานงาน ความปลอดภัยอะไรต่างๆ เข้ามา เราคิดว่าเราจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ ต้องให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามาสร้างแพลตฟอร์ม ซึ่งจริงๆ หลายอย่างเราสามารถทำได้เองและอาจมีการแชร์ผลกำไรดีกว่าที่กลุ่มทุนเข้ามาทำ
ในครั้งหน้าถ้ามีเหตุการณ์แบบฟู้ดแพนด้าอีก เรามีทางเลือกในการตอบโต้ทางสังคมอย่างไรบ้าง โดยที่แรงงานได้รับผลกระทบน้อยลง
ชนฐิตา: ยากมาก มีการคิดถึงเรื่องนี้อยู่ แต่ยังเป็นการคิดกันในฝั่งคนงาน ยังไปไม่ถึงการเชื่อมแรงงานกับผู้บริโภคเข้าด้วยกัน เราคิดถึงเรื่องการสไตรค์ หรือการนัดหยุดงาน เรามองว่ามันเป็นการทำให้ระบบการทำงานของบริษัทชะงัก จะไม่ทำให้ไรเดอร์บาดเจ็บมาก แต่ว่าไม่ได้นัดกันหยุดงานเฉยๆ มันจะต้องมีกองทุนการสไตรค์ด้วย ตอนนี้เริ่มมีการศึกษาโมเดลนี้แล้วว่า เราต้องหยุดงานนานเท่าไหร่ บริษัทถึงจะชะงัก อย่างกรณีของไลน์แมนที่มีการเรียกร้องค่ารอบ เขาก็นัดหยุดงานกันไม่เยอะมาก แต่ก็ทำให้มีสินค้าค้างในระบบมากจนลูกค้าได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นบริษัทก็เดือดร้อน
ฉะนั้น เราคิดว่าการสไตรค์เป็นวิธีที่ปลอดภัยกับไรเดอร์ เพราะจะมีกองทุนมาคอยซัพพอร์ตอย่างเป็นระบบ อาจจะให้ผู้บริโภคช่วยในการบริจาคได้ แล้วให้ไรเดอร์ผลัดกันสไตรค์ สักพักบริษัทก็อยู่ไม่ได้ แต่การสไตรค์ก็เป็นเรื่องของการซื้อใจ ต้องมีการพูดคุยกันว่า ทำไมเราต้องเอาเงินมาแบ่งให้เพื่อนของเราซึ่งหยุดอยู่บ้าน
ษัษฐรัมย์: จริงๆ การสไตรค์มันใช้ทรัพยากรไม่ได้เยอะมาก ประเทศที่มีการสไตรค์ที่ใหญ่ที่สุดก็คืออินเดีย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แรงงานรวมถึงเกษตรกรพร้อมใจกันสไตรค์ แต่ในอินเดียไม่มีกองทุนอะไร ซึ่งครั้งนั้นไม่ทำให้เกิดชัยชนะที่สมบูรณ์ แต่ก็ทำให้เกิดการยกระดับการคุ้มครองแรงงาน ได้สวัสดิการต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย มองในภาพกว้างถือว่าเรากำลังพ่ายแพ้ แต่ว่าการสไตรค์ของไรเดอร์ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปีของการนัดหยุดงาน เป็นการประท้วงของไรเดอร์ไลน์แมนต่างจังหวัด เพราะว่ามีการปรับลดค่ารอบอย่างต่อเนื่อง เดิม 40-50 บาท ลดลงมาเหลือ 14 บาท เขาเลยนัดหยุดงานทั่วประเทศ ประมาณ 13 จังหวัด ที่เด่นๆ คือชลบุรี จังหวัดเดียวนัดหยุดงานไม่ต่ำกว่า 3-4 รอบ และชุมนุมกันอีกหลายวัน ตอนนี้กลุ่มสหภาพไรเดอร์ค่อนข้างเข้มแข็ง มีสมาชิกจำนวนมาก
ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายห้ามนัดหยุดงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายบ้านเมือง แต่ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนก็ทำให้เห็นว่ามันทำได้ และเดือนกรกฎาคมกลุ่มไรเดอร์ก็มองไปถึงโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องค่าตอบแทนแล้ว
ผมมองว่าการสไตรค์มันจะมีเพิ่มขึ้นกว่าที่เราคิดในสถานการณ์โควิดที่ทุกคนแบกรับความทุกข์เช่นนี้ ฝากถึงนักกิจกรรมด้วยว่า เครื่องมือนี้มองข้ามไม่ได้เลย
ในช่วงเวลานี้ ถ้าไรเดอร์ออกไปส่งของแล้วติดเชื้อโควิด เขาต้องรับผิดชอบตัวเองทั้งหมดเลยใช่ไหม
ชนฐิตา: ตอนนี้มีไรเดอร์ที่ติดเชื้อแล้วหลายคน เรื่องการดูแล อันนี้แล้วแต่บริษัทแพลตฟอร์ม ขึ้นอยู่กับความเมตตาล้วนๆ แต่มีบริษัทหนึ่งที่บอกว่า หากคุณติดโควิด รับเงินก้อนจำนวนเท่านั้นเท่านี้ไปเลย ถ้าคุณกักตัวจะได้เงินยังชีพจำนวนเท่านี้ แต่ประเด็นคือ เวลาบริษัทบอกแบบนี้ เขาไม่ได้บอกเงื่อนไขในการรับสิทธิ์
ในอเมริกามีการเคลื่อนไหวให้ไรเดอร์ฉีดวัคซีนก่อนเป็นกลุ่มแรกๆ รองจากบุคลากรทางการแพทย์ เพราะว่าคนเหล่านี้ก็เป็นด่านหน้าที่สำคัญ
ไรเดอร์สามารถเข้าถึงเครื่องมือของรัฐเพื่อต่อรองกับทุนเหล่านี้ได้บ้างไหม
ษัษฐรัมย์: อย่าว่าแต่ไรเดอร์เลย ประชาชนทั่วไปก็ยาก คนที่จะเข้าไปถึง ส.ส. เข้าถึงหน่วยงานราชการ เข้าถึงรัฐมนตรี เข้าถึงสื่อมวลชน มันถูกจำกัดอย่างมากในภาวะทั้งปกติและโควิด รูปธรรมตอนนี้ สิ่งที่จะเป็นธรรมต่อไรเดอร์และประชาชนทุกคนคือ การรวมตัวกันต่อสู้และสั่งให้รัฐมาทำในสิ่งที่ควรทำ
หากพูดเรื่องกระบวนทางกฎหมายที่จะช่วยไรเดอร์ได้ ประการแรก ต้องมีการฟ้องศาลแรงงานร่วมกัน โดยให้มีการนิยามว่า ไรเดอร์คือลูกจ้าง ไม่ใช่พาร์ทเนอร์ เพราะถ้าเป็นพาร์ทเนอร์มันต้องมีสัดส่วนการถือหุ้น
ประการที่สอง คือยื่นแก้ไขกฎหมายแรงงาน เพื่อจะให้มีการตีความเรื่องการเลือกปฏิบัติผ่านเรื่องเพศ การศึกษา และทัศนคติทางการเมือง
ชนฐิตา: อย่างแรก กระทรวงแรงงานจะต้องหยุดการร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่ชื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นการพยายามที่จะทำผลงานของกระทรวงแรงงาน และพยายามที่จะเอาไรเดอร์ไปเป็นแรงงานนอกระบบอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ปัญหาที่เราบ่นกันมาทั้งหมดยุ่งกันไปใหญ่ เพราะฉะนั้นกระทรวงแรงงานต้องหยุดเรื่องนี้ แล้วไปทำเรื่องที่ประเทศอื่นเขาทำกัน คือการพิจารณาว่าการจ้างงานแบบนี้มันอยู่ในสภาพบังคับได้อย่างไร เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานของเหล่าไรเดอร์มากขึ้น
อีกด้านหนึ่ง ทางฝั่งผู้บริโภคเองก็ควรทำในสิ่งที่เราทำได้ดี คือ การด่าทั้งบริษัทและรัฐที่ละเมิดทั้งสิทธิการเมืองและสิทธิแรงงาน