ถอดประสบการณ์: สังคมไต้หวันรับมือกับ Fake News อย่างไร?

เดือนมกราคมที่ผ่านมา โลกได้เผชิญกับภัยคุกคามหลายชุดในเวลาไล่เลี่ยกัน ตั้งแต่ความเสี่ยงต่อการสู้รบภายในตะวันออกกลาง สถานการณ์ลอบสังหารนายพลอิหร่าน กาเซ็ม โซไลมานี (Qasem Soleimani) และการใช้ขีปนาวุธโจมตีฐานทัพสหรัฐอเมริกาโดยรัฐบาลอิหร่าน การแพร่กระจายของไข้ลาสซา (Lassa Fever) ที่ระบาดภายในไนจีเรีย มาจนถึงไวรัสโคโรนา (Coronavirus) ที่แพร่ระบาดขยายวงมาจากเมืองอู่ฮั่น จนนำมาสู่การติดเชื้อในคนจีนมากกว่า 7,000 คน (ถือว่าทะลุยอดเดิมที่เคยเกิดขึ้นจากโรคซาร์ส เมื่อปี 2002 ที่มีผู้ติดเชื้อภายในจีนเพียง 5,000 กว่าคน) ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตภายในจีนแล้วไม่ต่ำกว่า 100 คน นำมาซึ่งความตื่นตระหนกและหวาดกลัวในหมู่ประชาคมโลกเป็นอย่างมาก

ด้วยความที่ประเทศจีนมีอัตราประชากรขาออกไปยังต่างประเทศสูงมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ทำให้กระแสความหวาดกลัวนักท่องเที่ยวจีนผุดขึ้นตามๆ กันมา และสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าก็คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ fake news ที่แพร่ระบาดหนักข้อมากขึ้นตามความรุนแรงของสถานการณ์ไวรัสโคโรนาที่ประเทศจีน โดยจะเห็นได้ว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์นั้นต้องประสบกับปัญหาการแตกตื่นเพราะข่าวปลอมที่บอกต่อๆ กันมาผ่าน Twitter, WeChat, Weibo, YouTube รวมถึงการโพสต์คำบอกเล่าบน Facebook โดย “อ้างถึงญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ภายในจีน” อยู่หลายครั้ง (แทบจะทุกวัน) อย่างล่าสุดก็คือ ประเด็นเรื่องภาพสาวชาวจีนกับซุปค้างคาวที่สุดท้ายก็เป็นอีกฉากหนึ่งของปรากฏการณ์ fake news

การระบาดของ fake news นั้นสร้างความตื่นตระหนก วุ่นวาย สับสนให้แก่ประชาชนบนโลกออนไลน์อย่างหนักหน่วงไม่แพ้สถานการณ์โรคระบาดของไวรัสภายในอู่ฮั่นและประเทศจีนเลย สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสังคมของโลกออนไลน์นั้นเปราะบาง อ่อนไหว ต่อการแชร์ข่าว (พูดภาษาบ้านๆ ก็คือ ‘หลอกง่าย’) เอามากๆ โดยเฉพาะกับแค่โพสต์ข้อความเพียงไม่กี่ตัวอักษรภายใน Twitter ที่เมื่อถูกตัดเป็นภาพมาขยายต่อบน Facebook ก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ความเชื่อต่อเรื่องนั้นๆ ได้ในเวลาอันสั้น โดยที่คนแทบจะไม่ได้ตั้งคำถามกันเลย ในทางกลับกัน หลายๆ คนกลับเชื่อว่า ข่าวจาก Twitter นั้นมีสถานะเป็น ‘ข่าววงใน’ ที่สำนักข่าวใหญ่ๆ ไม่ได้นำมารายงานอีกด้วย

ไต้หวันก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ผู้คนในสังคมออนไลน์นั้นถูกโหมกระหน่ำไปด้วย fake news ผ่าน Facebook, Twitter, WeChat, และ Line ไม่น้อยไปกว่าสังคมออนไลน์ของประเทศไทย นับตั้งแต่ที่ ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2016 จนมาถึงการเลือกตั้งสมัยที่ 2 ของเธอ และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาภายในเดือนมกราคม 2020 สังคมไต้หวันเองก็ยังไม่หลุดพ้นออกจากวังวนการโจมตีและระบาดของ fake news เลย

คำถามที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ภูมิต้านทาน และเรื่องของการรับมือในหมู่คนไต้หวัน ว่าทำอย่างไร และมีวิธีการใด ในการช่วยกันปกป้องสังคมตนเองจากภัยของ fake news ที่พากันซัดเข้ามาดั่งคลื่นจากลมมรสุมเช่นนี้

จริงๆ แล้วสังคมไต้หวันก็ประสบปัญหาคล้ายกับสังคมไทยอยู่ไม่น้อย คนรุ่นวัยชราและวัยทำงานตอนปลาย (Baby Boomer และ Generation X ตอนต้น) มักเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ตกเป็นเหยื่อและเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้กระจาย fake news ในฐานะที่พวกเขาเป็นประชากรหน้าใหม่ในปริมณฑลของโลกออนไลน์ ทำให้การรับรู้ข่าวสารและทักษะในการพิจารณาไตร่ตรองแหล่งข่าวที่มาจากสื่อออนไลน์อาจมีไม่เท่ากับเยาวชนและคนในวัยทำงานที่อายุน้อยลงมา (Generation X ตอนปลายลงมาจนถึง Generation Z) ที่มีความใกล้ชิดกับโลกออนไลน์และเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่มากกว่า ปัญหาผู้สูงอายุและคนวัยชราหลงเชื่อในสิ่งไม่น่าเชื่อถือ แล้วส่งต่อๆ กันผ่าน Line จึงไม่ค่อยต่างอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในสังคมไทย

กลไกที่คนไต้หวันพยายามนำมาใช้ในการต่อต้านการกระจายตัวของ fake news นั้นมีอยู่ 3 ระดับ ระดับแรกคือ ในระดับประชาชน แม้ว่าในวัยกลางคนและวัยชราจำนวนมากจะไม่ค่อยได้สนใจว่าตัวเองแชร์หรือส่งต่อข่าวปลอมอยู่เป็นนิจหรือไม่ แต่ความตื่นตัวเรื่องข่าวปลอมในคนรุ่นหลังๆ ได้ทำให้กระแสการตรวจสอบข่าวปลอม และข่าวที่ไม่มีความน่าเชื่อถือขยายตัวมากขึ้น ทุกครั้งที่คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าข่าวใดมีลักษณะที่เหลือเชื่อ หรือมีความเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง ก็จะตั้งแง่สงสัยไว้ก่อนเป็นอันดับแรก และพยายามหาต้นตอว่าข้อมูลชุดไหนเป็นจริงหรือเป็นเท็จอยู่เสมอ ซึ่งหากข้อมูลชุดไหนเป็นเท็จ ก็จะมีการออกมาโพสต์ หรือส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องกัน (รวมไปถึงการช่วยกันกด report โพสต์ที่ดูไม่น่าเชื่อถือ)

แต่ที่น่าสนใจคือ วัฒนธรรม meme วัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ภายในไต้หวันก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ชื่อว่ามีความสามารถจะทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดนั้นมีความทุเลาลง ด้วยการนำสถานการณ์ ณ จุดนั้นมาสร้างเป็น meme แล้วล้อเลียน fake news ก็เช่นกัน ในช่วงที่มีการตรวจพบ fake news ระบาดมากขึ้น เช่น fake news ที่ถูกทางการรัฐบาลจีนปล่อยออกมาจนผิดวิสัย fake news เหล่านั้นก็จะถูกนำไปแปลงเป็น meme แล้วส่งต่อ/แชร์กันอย่างขำขันบน Twitter และกลุ่มใน Facebook บนโลกออนไลน์อีกต่อหนึ่ง ซึ่งสุดท้าย meme เหล่านั้นก็จะช่วยลดความน่าเชื่อถือของ fake news ลงไปเอง เมื่อมีสำนักข่าวเริ่มนำ meme เหล่านั้นออกไปพูดถึงภายในรายการโทรทัศน์หรือวิทยุอันเป็นสื่อเก่าที่คนรุ่นเก่าและวัยชรายังคงใช้เป็นช่องทางในการรับข่าวสารหลัก

นอกจากวัฒนธรรม meme ในหมู่วัยรุ่นและคนวัยทำงานตอนต้นแล้ว ไต้หวันที่มีภาคประชาสังคมที่แข็งแกร่งเป็นทุนเดิมยังมีการร่วมมือกันระหว่างองค์กรไม่แสวงผลกำไรภายในประเทศอย่างองค์กร Taiwan Media Watch และสมาคมสื่อมวลชนในการจัดตั้งศูนย์ปราบ fake news ของตนเอง ในชื่อ Taiwan Fact Check Center เมื่อตอนปลายปี 2018 (ซึ่งสามารถเรียกระดมทุนจากภาคเอกชนได้กว่า 2 ล้านบาทในเวลาอันสั้น) ศูนย์ปราบ fake news นี้จะทำหน้าที่ในการกลั่นกรองข่าวสารและประเด็นสังคมการเมืองที่เกิดขึ้นภายในไต้หวัน โดยใช้กระบวนการของการแจ้งข่าวจากประชาชนเป็นหลัก

ทางศูนย์ปราบ fake news มีทีมงานจำนวนหนึ่งเป็นผู้ตรวจสอบข่าวปลอมคอยทำหน้าที่ตรวจสอบและค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนได้ทำการรายงาน/แจ้งข่าวมาที่ศูนย์ ไม่ว่าจะผ่านทางตัวเว็บไซต์ หรือทาง Line ทันทีที่ทีมงานของศูนย์ได้สรรหาและรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องมาได้ (อาจมาจากการติดต่อไปยังสำนักข่าว แหล่งข่าวหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ) ก็จะทำการนำข้อมูลเหล่านั้นมาเผยแพร่ในรูปแบบของรายงาน

อย่างไรก็ดี กลไกทางด้านศูนย์ปราบ fake news ในไต้หวัน ยังเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่ และอาจจะไม่ได้ก้าวหน้าทันสมัยมากนักเมื่อเทียบกับศูนย์ตรวจสอบข่าว (fact checkers) ของประเทศแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่มีวัฒนธรรมการตรวจสอบข่าวและความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนมาก่อนหน้านี้นานแล้ว ไม่ว่าจะ Media Bias/Fact Check, PolitiFact, และ BBC Reality Check

การสร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบข่าวปลอมด้วยการใช้ fact checkers ยังต้องใช้เวลาอีกมาก เพราะประชาชนไต้หวันจำนวนไม่น้อยไม่ได้สนใจว่าข่าวที่ตนเองเสพจะเป็นข่าวปลอมหรือข่าวจริงมากนัก บางคนก็แค่เสพข่าวเพื่อให้รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น แต่ไม่ได้มีการระวังตัวอะไรมากมาย

ที่สำคัญคือ ในปัจจุบันนั้น บุคลากรที่จะสามารถเข้ามาสนับสนุนกลไกการตรวจสอบข่าวปลอมภายในไต้หวันยังมีปริมาณที่น้อยมาก อย่างศูนย์ปราบ fake news ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาก็มีทีมงานเพียงไม่ถึง 10 คน การทำงานจึงค่อนข้างเป็นไปอย่างเชื่องช้า และไม่สัมพันธ์กับปริมาณของ fake news จำนวนมหาศาลที่ถูกปล่อยแพร่กระจายออกมา

สาเหตุที่ปฏิเสธไม่ได้อีกประการหนึ่งอาจเป็นเรื่องของงบประมาณ การจะทำให้ศูนย์ปราบ fake news หรือ fact checkers นั้นสามารถปฏิบัติการได้อย่างต่อเนื่องตลอดรอดฝั่งต้องใช้เงินทุนค่อนค่อนข้างมหาศาล (เงินทุน 2 ล้านบาทที่ถูกระดมมาได้นั้นไม่เพียงพอ) แม้ว่าในปัจจุบันทาง Facebook, Google และ Twitter จะมีส่วนช่วยในการเข้ามาสอดส่องเรื่องของ fake news ที่เกิดขึ้นภายในปริมณฑลแอพพลิเคชั่นของตนเอง แต่ท้ายที่สุดแล้ว ปลายทางของการตรวจสอบข่าวปลอมก็ยังต้องการแรงงานมนุษย์ในการทำสรุป รวบรวม และพิจารณาตัดสินกันเองอยู่ดี ว่าข่าวใดเป็นข่าวปลอม พร้อมกับออกรายงานเป็นฉบับเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนภายหลัง ไม่ว่าจะในรูปของเว็บไซต์ หรือรายงานรูปเล่ม

หากสังเกตการเจริญเติบโตของแวดวงสื่อมวลชนฝั่งยุโรป จะเห็นว่ามีอยู่เพียงไม่กี่สำนักข่าวเท่านั้นที่มีกำลังทุนมากพอจะสามารถจัดจ้างทีมงานเพิ่มเติมจากภายในประเทศที่ถูกมองว่าเป็นแหล่งของการปล่อยข่าวปลอม (dis-informational content farms) เพื่อทำการตรวจสอบและต่อต้านการปล่อยข่าวปลอมภายในพื้นที่นั้นๆ โดยตรง ดังเช่นกรณีที่สำนักข่าวสัญชาติฝรั่งเศส Agence France-Presse (AFP) หันมาเปิดศูนย์ตรวจสอบ fake news ภายในไทยเมื่อช่วงไม่นานมานี้ ก็ไม่พ้นจะต้องจ้างบุคลากรในประเทศเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบและจัดทำรายงานเกี่ยวกับ fake news ภายในไทยและภูมิภาคใกล้เคียง

กับกรณีของการจัดการในระดับภาครัฐก็เช่นกัน เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทางรัฐสภาของไต้หวันก็เพิ่งผ่านร่างกฎหมาย Anti-Infiltration Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่พยายามจะตราขึ้นเพื่อป้องกันการแทรกแซงของรัฐบาลต่างชาติ ที่จะเข้ามาสร้างอิทธิพลภายในแผ่นดินไต้หวัน ไม่ว่าจะในส่วนของการรับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลต่างชาติ การล็อบบี้การเจรจา ที่อาจนำไปสู่การครอบงำภายในระบอบรัฐสภา การทำประชามติและการเลือกตั้ง รวมไปถึงการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด โดยมีการบัญญัติบทลงโทษไว้ว่า หากมีการละเมิดข้อความภายในกฎหมายฉบับดังกล่าว อาจต้องระวางโทษจำคุกถึง 5 ปี หรือถูกปรับเป็นเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท (จุดประสงค์หลักก็เพื่อป้องกันการแผ่ขยายอำนาจของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาในไต้หวัน)

แน่นอนว่า กฎหมายฉบับนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งจากภายในกลุ่มฐานเสียงพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าเอง (Democratic Progressive Party: DPP) และจากพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang of China: KMT) ว่าเป็นกฎหมายที่ทำให้ปริมณฑลของความหลากหลาย และเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นนั้นถูกลดทอนลง และอาจนำไปสู่การเป็นผู้ผูกขาดความจริงของรัฐบาลพรรค DPP จากการที่รัฐบาลปัจจุบันเป็นผู้ควบคุมกฎหมาย และเสียงข้างมากภายในสภาอยู่แล้ว ทำให้หลายๆ ฝ่ายกังวลกันว่า กฎหมายฉบับนี้จะกลายมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลในการกำจัดศัตรูและผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองอย่างพรรค KMT โดยใช้ข้ออ้างเรื่องอิทธิพลจากรัฐบาลต่างชาติมาเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะในความเป็นจริงแล้ว การตีความและการพิสูจน์ว่าข้อความหรือข่าวสารชุดใดเป็นความจริงหรือเท็จนั้นควรเป็นกิจการของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมากกว่าจะเป็นการถือครองสิทธิโดยภาครัฐ ที่มักมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจอยู่ตลอดหลังการเลือกตั้ง

โดยสรุปแล้ว สถานการณ์เรื่อง fake news ภายในไต้หวัน ณ ปัจจุบันนี้แม้ว่าจะยังไม่ได้ก้าวล้ำไปในขนาดที่มีกลไกการป้องกัน และตรวจสอบหนาแน่นเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและภายในยุโรป แต่ก็ถือได้ว่าประชาชนมีความตื่นตัวที่สูงขึ้นต่อปรากฏการณ์ของ fake news ไม่ว่าจะภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาครัฐ ที่มีความพยายามในการนำกลไกต่างๆ เข้ามาเพื่อช่วยกันตรวจสอบจัดระเบียบข้อมูลและสิ่งที่เผยแพร่กระจัดกระจายกันอยู่บนโลกออนไลน์

ในระดับภาครัฐนั้น กลไกที่ถูกเสนอขึ้นมาค่อนข้างจะมีเหตุผลเฉพาะเจาะจง เมื่อมองผ่านแง่มุมมิติของความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันก็จะเข้าใจได้ว่า กฎหมายฉบับนี้มีมิติที่พุ่งเป้าไปที่จีนแผ่นดินใหญ่เป็นหลัก จนอาจไม่สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการรับมือกับข่าวปลอมได้ (เพราะมัวแต่ไปให้ความสำคัญกับข่าวปลอมที่มาจากจีน จนไม่ได้ให้ความสำคัญกับข่าวปลอมชุดอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับจีนแผ่นดินใหญ่) และอาจจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนและตีความอีกมาก เมื่อพิจารณาร่วมกับเสียงคัดค้านของประชาชนภายในสังคม ที่ยังคงกังวลว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวนั้นอาจถูกสร้างมาเพื่อปิดปากศัตรูทางการเมือง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างที่ได้โฆษณาไว้

ส่วนกลไกในระดับประชาสังคมนั้นถือว่าค่อนข้างก้าวหน้า และกำลังเดินไปในทิศทางเดียวกับแวดวงสื่อมวลชนในยุโรปกำลังเดิน คือ มีการตั้งศูนย์ปราบ fake news และตรวจสอบความจริงขึ้นมาเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่อาจจะยังมีปัญหาเรื่องเงินทุน และบุคลากรที่ยังคงขาดแคลนอยู่ ทำให้การปฏิบัติงานและภารกิจการรองรับข่าวปลอมนั้นมีปัญหาในความล่าช้า ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยและไม่ค่อยสัมพันธ์กับปริมาณข่าวปลอมที่แพร่ระบาดออกมากันในระดับวินาทีบน Twitter บน Weibo และ WeChat เช่นทุกวันนี้

ทั้งหมดนี้แม้ไต้หวันจะกำลังพัฒนาเคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างช้าๆ แต่ก็ถือเป็นกรณีศึกษาที่ควรจะเก็บมาพิจารณาสำหรับประเทศและสังคมที่กำลังมีแผนจะพัฒนากลไกในการรับมือกับภัยคุกคามทางการสื่อสารชุดดังกล่าว ไม่ว่าจะจากจีนหรือจากหน่วยองค์อื่นๆ ว่าควรจะเริ่มต้นจากที่จุดใด หรือเพ่งเล็งไปที่มิติใดของปัญหาก่อนเป็นอันดับต้นๆ

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า