วันที่เขาและเธอออกมายืนประจันหน้ากับผู้ยึดกุมอำนาจ เราได้แต่สงสัยว่าเธอและเขาเติบโตมาในครอบครัวแบบไหน มีพ่อและแม่แบบใด อะไรทำให้การรื้อเพดานกลายเป็นภารกิจแห่งยุคสมัย กระทั่งเมื่อพบบาดแผลจากการสู้กับยักษ์ หลุมหลบภัยที่เรียกว่าบ้านเตรียมหยูกยาชนิดใดเอาไว้รักษา
เนื่องในวันที่ 12 สิงหาฯ นี่คือการกลับไปสำรวจเปลนอน ครอบครัว และชีวิตของหนุ่มสาวแห่งอนาคต ที่ออกมาเรียกร้องสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดคือ “คนเท่ากัน” แม้คำตอบที่ได้มาคือแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ก็หยุดฝันของเขาและเธอไม่ได้
เมนู-สุพิชฌาย์ ชัยลอม
ชื่อของ เมนู-สุพิชฌาย์ ชัยลอม ปรากฏครั้งแรกบนเวทีปราศรัย #มอชองัดข้อเผด็จการ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2563 การปราศรัยครั้งแรกของเธอถูกบันทึกเป็นวิดีโอและส่งต่อในโลกออนไลน์ด้วยอัตราเร็วเพียงชั่วข้ามคืน
“หนูคือสิ่งที่ระบบการศึกษาเรียกว่าความผิดพลาด!”
ภาพของหญิงสาวร่างเล็ก รวบผมเป็นหางม้า ใส่ชุดนักเรียนมัธยมปลาย และปราศรัยด้วยถ้อยคำที่ฉะฉาน ด้วยบุคลิกที่ห้าวหาญเด็ดเดี่ยว นั่นทำให้ผู้คนจดจำเธอได้เพียงครั้งแรกที่ได้ฟัง
“หนูโดนเลี้ยงมาแบบลูกตำรวจ คุณพ่อเป็นตำรวจ เขาจึงมีวิธีคิดค่อนข้างยึดติดกับกฎระเบียบและรูปแบบ เช่น ต้องอยู่ในกฎ ในความคาดหวัง ถ้าทำผิดก็ต้องโดนลงโทษ ซึ่งเป็นการลงโทษแบบ domestic violence (ความรุนแรงในครอบครัว) ค่อนข้างเป็นความทรงจำที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เราไม่ค่อยสนิทกับพ่อแม่ มองย้อนกลับไป เราว่ามันคือการที่ไม่สื่อสารและไม่ปรับตัวเข้าหากัน เลยไม่เข้าใจกัน
“เราไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยมองว่ามันคือเรื่องปกติ และตั้งคำถามกับการเลี้ยงดูเช่นนี้อยู่เสมอ รู้สึกว่ามันไม่ใช่การเลี้ยงดูที่เราในฐานะลูกควรเจอ ไม่ว่าจะเป็นการทำโทษรุนแรง การด่ากัน มันควรมีวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้ เราจึงกลายเป็นเด็กดื้อในนิยามของผู้ใหญ่
“พ่อแม่คาดหวังให้เราเป็นผู้นำครอบครัว ต้องเข้มแข็ง ต้องเก่ง ต้องแกร่ง ต้องเลี้ยงดูครอบครัวได้ เขาพยายามให้เราทำหน้าที่ผู้นำแทนเขาได้ในวันที่เขาไม่พร้อม ถามว่ามันตรงกับสิ่งที่เราอยากทำไหม มันตรงกันค่ะ เพียงแต่วิธีการที่ครอบครัวตั้งใจสื่อสารกับเรา มันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากได้เลย มันมีหลายกระบวนการ หลายวิธีการที่เขาสามารถปลูกฝังเราได้ ไม่ใช่การเลี้ยงดูแบบกดดันอย่างที่เจอมา
“เราเริ่มรู้จักคำว่า สิทธิเสรีภาพ จากปัญหาในสถาบันครอบครัว การที่เราถูกวางทิศทางไว้แล้ว เมื่อเราพยายามออกนอกทาง ครอบครัวก็พยายามตบให้เรากลับมาที่เดิม มันมีทั้งการบังคับให้เราเรียนพิเศษ บังคับที่เรียน จนมาแตกหักช่วง ม.ต้น ที่เราอยากเรียนโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เราสอบติด แต่ไม่ได้เรียนด้วยเหตุผลที่เขาไม่อยากให้เราอยู่ไกลบ้าน
“ส่วนตัวเรามองว่า มันคือสิทธิและเสรีภาพของเราที่จะเลือกอนาคต เลือกที่ที่เราจะพัฒนาตัวเอง เรารู้ตัวตั้งแต่ ม.2 ว่าเราอยากพัฒนาทักษะด้านการออกแบบเกม ส่วนตัวเราเข้าใจพ่อแม่นะ แต่เราก็เริ่มตกผลึกได้ว่า เอ๊ะ เราไม่มีสิทธิเลือกเส้นทางชีวิตของเราเหรอ มันกลายเป็นสิทธิของพ่อแม่ที่จะกำหนดเส้นทางให้เราหรือ?”
อ่านฉบับเต็ม เมนู-สุพิชฌาย์ ชัยลอม: ‘The Students Never Smile’ ไม่อาจปรากฏรอยยิ้มในระบบการศึกษาบ้าอำนาจ
รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
“เราเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง ที่บ้านทำธุรกิจส่วนตัว มีพี่น้องสามคน ผู้หญิงหมดเลย แต่ละคนมีความสนใจไม่เหมือนกันเลย คนแรกเรียนวิทยาศาสตร์ คนที่สองเรียนศิลปะ คนที่สามคือเราเอง เรียนสังคม มันมีความหลากหลายอยู่ในครอบครัวตลอดเวลา พ่อแม่ก็ไม่ได้บังคับ พ่อแม่ไม่ได้ห้ามให้เราทำในสิ่งที่อยากจะทำ สนับสนุนให้เราทำตามความฝัน เพราะจะได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เขาไม่อยากให้เราเป็นเหมือนคนที่ไม่รู้ว่าอยากทำอะไร แล้วพอโตมาคนเหล่านี้จะเคว้ง เราเห็นคนแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ในสังคม”
ชีวิตของ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังจากอ่านแถลงการณ์และข้อเสนอ 10 ข้อ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ในการชุมนุมภายใต้ชื่อ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน
วันนั้นเธอสวมเสื้อสีแดงเพลิง ผมสีบรอนซ์ เนรเทศความกลัวออกไปจากดวงตาหมดสิ้น
หลังการชุมนุมใหญ่ #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ณ ท้องสนามหลวง เช้าวันรุ่งขึ้น รุ้งในฐานะแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่เธอเป็นคนอ่านบนเวทีเมื่อครั้งก่อน ไปยังคณะองคมนตรี ผ่าน พลตำรวจโทภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
ภาพที่สังคมไทยเห็นเธอวันนั้นคือ ผู้หญิงผมบรอนซ์ สวมเสื้อยืดสีดำ สายตาไม่ยี่หระ จดจ้องเอาเรื่อง ยื่นจดหมายถึงพระราชา อีกไม่ถึง 1 เดือนต่อมา ในเช้าวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุมในห้องพักที่โรงแรม
“หนูก็เสียใจนะที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ช่วงที่เราติดคุก ทนายยื่นเรื่องประกันตัวทุกวันเลย พี่สาวรอดูข่าวตลอดว่าน้องจะได้ออกมาหรือยัง ในช่วงเวลา 16 วันนั้น พี่ของหนูนั่งแต่งหน้าเก้อทุกวัน งานก็ไม่ได้ไปทำ เพราะไม่มีกะจิตกะใจจะทำ กลัวว่าวันไหนน้องออกมาแล้วจะไปรับไม่ทัน เราเสียใจมากที่ทุกคนต้องผ่านช่วงเวลาแบบนี้ สุดท้ายแล้วทุกคนก็ต้องเข้าใจว่า สิ่งที่เราทำอยู่ ทำไปเพื่ออะไร
“ถามว่าครอบครัวอยากให้หนูออกมาทำกิจกรรมอีกไหม – ไม่ พวกเขากลัวมากเลย กลัวลูกจะติดคุกอีก กลัวมากเลยว่าน้องสาวจะหายไปอีก แต่ก็ต้องกลับไปที่คำถามตอนต้น ที่หนูบอกว่าเราหยุดไม่ได้ คือถ้าเราหยุดไป เราได้อะไร เราเสียไปแล้ว เราเสียไปเยอะมาก ในอนาคตก็จะโดน 112 อีก เพราะฉะนั้นทางข้างหน้าไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่นนั้นแล้ว ตอนนี้เราต้องทำให้คุ้มที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อรับใช้อุดมการณ์
“เราคิดว่าพ่อแม่ไม่ควรเสียใจ พ่อแม่ควรต้องภูมิใจว่าเราทำเพื่อคนอื่น”
อ่านฉบับเต็ม รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล: เราไม่ได้สู้เพื่อตาย
จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์
อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ เกิดและเติบโตจากลุ่มน้ำเซบาย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ก่อนจะผลิใบในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ชื่อของเธออยู่ในบัญชีแรกที่ได้รับหมายเรียกไปพบพนักงานสอบสวน ทันทีที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หมุนวนกลับมาไล่ล่าประชาชนอีกครั้ง
รัฐสวัสดิการ คือประเด็นที่ อั๋ว-จุฑาทิพย์ มักหยิบมาปราศรัยบนเวทีอยู่อย่างสม่ำเสมอ นำมาซึ่งคำถามที่ว่า หญิงสาวจากลุ่มน้ำเซบายคนนี้เติบโตมาอย่างไร อะไรคือประกายที่ทำให้รัฐสวัสดิการเป็นวาระที่อยู่ในใจของเธอเสมอ
“แม่พยายามทำให้หนู unique”
“เช่น เด็กบ้านอื่นได้ดูการ์ตูน แม้ว่าน้องๆ ที่บ้าน จะได้ดูเหมือนกัน แต่เราไม่ค่อยสนใจ จะชอบดูข่าวมากกว่า ประกอบกับการที่ปู่เราเป็น ส.ส. (ธีระชัย ศิริขันธ์ อดีต ส.ส.อำนาจเจริญ) ก็ทำให้คนรู้จักเรา คนก็จะรู้จักเราเพราะนามสกุล แต่ตอนนี้เขากลายเป็น ultra-royalist ไปแล้วนะ เพราะชอบส่งไลน์ สนธิ ลิ้มทองกุล มาให้เราทุกวัน (ยิ้ม)
“พอเรียนมัธยมบ้านเราก็มีวิกฤติ แม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตอนเราอยู่ ม.1 เวลานั้นมันคือโรคที่ใหม่มาก ไม่ได้เป็นที่รู้จักกันเหมือนทุกวันนี้ แม่เป็นซึมเศร้าชนิดที่ไม่สามารถทำงานได้เลย ภาพที่หนูเห็นคือแม่นั่งอยู่หน้าทีวีเป็นปี แล้วอีกครึ่งปีก็อาจจะลุกไปไหนมาไหนได้บ้าง แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเป็นอาการของโรค เพราะแม่ก็เป็นไทรอยด์อยู่ด้วย จนกระทั่งน้าเห็นว่าน่าจะแปลกๆ และเราก็เรียนสุขศึกษามา มันมีเนื้อหาที่สอนเกี่ยวกับเรื่องโรคทางจิตเวช น้ากับยายจึงแนะนำให้มาหาหมอ ทำให้ทราบว่าแม่เป็นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง
“ส่วนนาที่แม่เคยทำ ยายก็เป็นคนทำแทน รายได้ที่ได้มา หักลบกลบหนี้เหลือปีละแสนกว่าบาท ส่วนหนูก็ทำเค้กขายกับน้องชายโดยมีตาช่วยทำ ช่วงนั้นแย่มาก ไหนจะมีเรื่องที่น้าซื้อรถโดยเอาชื่อแม่หนูไปซื้อแล้วเขาโอนลอยมา เรากลับถูกดำเนินคดียักยอกทรัพย์ แต่สุดท้ายเราก็ชนะนะ
“ก่อนหน้านี้แม่ก็ผ่านมาหลายเรื่อง คือถ้าคิดแบบคนบ้านนอก แม่หนูมีลูกก็เมื่อตอนอายุ 30 แล้ว ปกติคนที่ต่างจังหวัดจะมีลูกกันเร็ว ไม่เกิน 25 ปี ก็มีแล้ว ก็เป็นภาวะสะสมความเครียดของแม่มา พอหายป่วยก็กลับมาทำงานได้ แต่ก็ไม่เหมือนเดิม กลับมาทำงานได้ก็ตอนที่ล้มละลายกันหมดแล้ว แต่เราก็ผ่านมาได้ เราก็ช่วยกันทำ อย่างน้อยยังเหลือที่ดินไว้ทำนา
“เราคิดว่าประเด็นรัฐสวัสดิการมีผลต่อชีวิตของคนทุกคน มันทำให้คนคนหนึ่งสามารถเติบโตได้ในหลายทางนะ สวัสดิการจากรัฐจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต ต่อยอดการมีชีวิตของคนได้ และถ้าหากเปรียบเทียบระหว่างการมีสวัสดิการกับไม่มีสวัสดิการ ในบริบทที่มีความเหลื่อมล้ำชัดเจนอย่างไทย เรารู้สึกว่ามันยิ่งตอกย้ำความฝันถึงการมีชีวิตที่ดี และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์”
อ่านฉบับเต็ม จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์: ชีวิต มิตรสหาย และปลายฝัน
มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
มายด์เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางเชื้อสายจีนที่เมืองสระบุรี
จากคำอธิบายของมายด์ ครอบครัวของเธอค่อนข้างเพิกเฉยต่อเรื่องทางการเมือง “เขาก็ไม่ได้สนใจอะไรขนาดนั้น จะแนว ignorant หน่อยๆ ด้วยซ้ำ”
พ่อของเธอทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ส่วนแม่ของเธอคือกรอบ กฎระเบียบ และเวลาของชีวิต
“หนูกลัวแม่มากที่สุด ด้วยความที่เราอยู่บ้านที่สระบุรี ทุกอย่างต้องผ่านการอนุมัติจากแม่ แม้กระทั่งการจะไปเที่ยวกับเพื่อน การจะไปดูหนังกับเพื่อน หรือไปกินข้าวกับเพื่อนในตอนกลางวัน ตอนกลางคืนนี่ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีสิทธิได้ไปแน่นอนอยู่แล้ว ต้องผ่านการอนุมัติจากแม่ก่อนตลอด”
เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย มายด์ได้มองโลกจากมุมมองที่ตนเลือก พินิจพิจารณาตัวตนกับโลกรอบตัว เกิดคำถามทางการเมือง ออกไปหาคำตอบ กระทั่งค้นพบตัวตนของตัวเอง เธอไม่ได้ชอบในสิ่งที่เลือก เธอไม่อยากเรียนวิศวกรรม
“พอเข้ามหา’ลัย เราได้เรียนรู้โลก ได้ทำความเข้าใจกับโลก ได้ทำความเข้าใจกับตัวเอง ได้มองตัวเองมากขึ้น เราเรียนวิศวะ เราชอบมันจริงๆ หรือเปล่า หนูพบว่าไม่ชอบเลยพี่ แต่เพิ่งมาเข้าใจตัวเองตอนประมาณหลังจากทำความเข้าใจการเมือง หนูเพิ่งจะเริ่มเข้าใจตัวเองว่าเราไม่ได้ชอบวิศวะว่ะ แล้วเราไม่โอเคกับมันเลยว่ะ แล้วจริงๆ เราเปลี่ยนได้ เราไม่จำเป็นจะต้องยึดติดกับมัน แต่หนูก็ยังไม่เปลี่ยน”
“พ่อแม่ของคุณแสดงความคิดเห็นอย่างไรในการที่คุณออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง กับการที่ลูกสาวมีคดีติดตัว 4 คดี และเป็นส่วนหนึ่งในกระแสเสียงให้สังคมไทยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์?” เราถาม
“เขาไม่แฮปปี้กับการที่หนูอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ เขาเป็นห่วงมากๆ แม่หนูจะมีคำคำหนึ่งที่พูดกับหนูว่า ‘เป็นไม้ซีกจะไปงัดไม้ซุงได้ยังไง’ เจ็บปวดอะพี่…เจ็บปวดมาก ทำไมเขาถึงมองว่าเราเป็นไม้ซีก เราเข้าใจได้ในบริบทที่รัฐมีทั้งอำนาจและอาวุธ เขาเป็นไม้ซุงแน่นอน
“แต่ลืมไปหรือเปล่า เขาอาจจะเป็นไม้ซุงที่ผุมากๆ แล้วก็ได้ เราอาจจะเป็นไม้ซีกปลายแหลมที่เพียงพุ่งตรงไปทิ่มแทง เขาอาจจะแตกสลายไปเลยก็ได้ ใครจะไปรู้ ถ้าเราแข็งแกร่งมากพอ ซึ่งหนูก็พยายามอธิบายให้แม่และป๊าฟัง เหมือนกับที่อธิบายให้เพื่อนฟัง ว่าทั้งหมดที่ทำนี้คือสิทธิของเรา เราทำได้ ความจริงแล้วแม่กับป๊าควรจะต้องออกมายืนกับหนูด้วย”
ข้อเท็จจริงหนึ่งที่มายด์อาจลืมบอกเราในวันนั้น – ไม้ซีกไม่ได้มีแค่ชิ้นเดียว
อ่านฉบับเต็ม มายด์ ภัสราวลี: กาลครั้งหนึ่งนิทานทุกเรื่องสอนให้รู้ว่า อย่าเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง
เยล-สุริยา แสงแก้วฝั้น
“พ่อกับแม่จะสอนผมเสมอว่า ถ้าเราไม่มีการศึกษา ถ้าเราไม่รู้จักแสวงหาความรู้ เราจะเสียเปรียบคนอื่นเขา ทุกวันนี้เราเสียเปรียบทางด้านกายภาพอยู่แล้ว ถ้าเราเสียเปรียบทางสติปัญญาหรือวุฒิภาวะอีก เราจะอยู่ในสังคมลำบาก โดยเฉพาะในสังคมที่มองคนไม่เท่ากันแบบนี้
“ฉะนั้นผมจึงเก็บคำสอนของพ่อกับแม่และประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เก็บเอามาคิด มาไตร่ตรอง และเปลี่ยนเป็นพลังให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้ตัวเรายืนอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ผมจึงต้องถีบตัวเองขึ้นมา เรียนหนังสือให้หนัก และทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราและสังคมส่วนรวมด้วย
‘คนทุกคนต้องเท่ากัน’ คือโลกในอุดมคติที่คนหนุ่มสาวยุคปัจจุบันเพรียกหา แต่สำหรับ เยล-สุริยา แสงแก้วฝั้น นอกจากจะมีพื้นฐานชีวิตที่ไม่สามารถเทียบเทียมกับคนอื่นได้ แม้กระทั่งสภาพร่างกายก็ไม่อาจสมบูรณ์พร้อมเหมือนคนปกติทั่วไปตั้งแต่ลืมตาเกิดเสียแล้ว
ปี 2562 เขาตัดสินใจกระโดดลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ ในนามพรรคสามัญชน นโยบายหลักที่เขาหยิบยกขึ้นมาหาเสียงในเวลานั้นคือ ‘ลดงบประมาณกองทัพ สร้างรัฐสวัสดิการ’
แม้ผลการเลือกตั้งจะไม่เป็นดั่งหวัง แต่ความใฝ่ฝันของเขาที่อยากจะเห็นบ้านเมืองมีอนาคตที่ดีก็ยังไม่มอดดับ แล้วถ้าการเมืองดี วันนี้คนพิการอย่างเขาคงไม่ต้องออกมาส่งเสียงตะโกนอยู่ข้างถนน
“ชีวิตผมเติบโตขึ้นมาในครอบครัวเกษตรกร พ่อเป็นชาวไร่ชาวนา พื้นเพของผมเป็นคนเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ค่อนข้างทุรกันดาร ที่ผมเกิดมาเป็นคนพิการก็เพราะว่าสมัยนั้นประมาณปี 2531 ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์มากนัก ยิ่งในโรงพยาบาลชุมชนยิ่งแล้วใหญ่ เด็กในชุมชนทุกคนต้องอาศัยโชคชะตาที่จะเกิดมามีร่างกายสมบูรณ์แบบทุกประการ เด็กบางคนไม่ได้เกิดในโรงพยาบาล คือเกิดที่บ้าน ต้องอาศัยหมอตำแยมาทำคลอด
“ไม่รู้ว่าผมโชคดีหรือโชคร้าย ผมได้เกิดที่สถานีอนามัยชุมชน แต่ด้วยความที่แม่ผมมีสภาพร่างกายค่อนข้างอ่อนแอ แม่มีภาวะตั้งครรภ์ผิดปกติ และผมเป็นเด็กทารกที่ตัวใหญ่พอสมควร เพราะฉะนั้นกระบวนการคลอดจึงไม่ปกติ สมัยนั้นไม่มีเครื่องมือผ่าตัด ต้องใช้วิธีดึงเด็กออกมา ทำให้สมองขาดออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงระบบประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อ ผมเลยกลายเป็นคนพิการ ต้องอยู่ในสภาพแบบนี้มาตั้งแต่เกิด
อ่านฉบับเต็ม สุริยา แสงแก้วฝั้น: เพราะคนไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นฉันจะไม่ทน
ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ
พ่อเป็นผู้สื่อข่าวประชาไท ส่วนแม่ทำงานที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง โดยเฉพาะมาตรา 112
วัยเยาว์ของ ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ จึงมีชุมชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิทำกินเป็นสนามเด็กเล่น และมีใจกลางการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2557 เป็นห้องเรียนที่ไร้กำแพง
“เราได้ไปอยู่กับชาวบ้าน ได้เห็นปัญหาของเขา เห็นชาวบ้านที่เขาสู้กับระบบราชการ เขาพยายามให้เราเห็นถึงปัญหาของชาวบ้าน เห็นถึงวิธีการต่อสู้เหล่านั้น
“ผมยังไม่เข้าใจอยู่ดี ทำไมพ่อแม่ต้องมาม็อบ เพราะเรายังเป็นเด็กด้วย คือพ่อแม่เขาไปทำงานเนอะ เขาก็เลยไปฝากไว้กับคนแปลกหน้า ซึ่งไม่รู้เป็นเรื่องตลกไหมนะครับ คนแปลกหน้าที่พ่อไปฝากไว้ก็คือพี่กอล์ฟ ประกายไฟ ซึ่งเขาเป็นกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับละคร แล้วเราก็ได้ไปทำงานกับพี่เขา ไม่รู้ว่าทำไมอยู่ดีๆ ถึงไปฝากไว้กับคนที่ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจเหมือนกัน”
การที่ทั้งพ่อและแม่ต่างทำงานในประเด็นหนักหน่วง ทั้งการเมือง สิทธิมนุษยชน กฎหมาย การเติบโตทางความคิดของขวัญข้าวจึงประกอบร่างด้วยภาพของสังคมที่ได้ไปพบเจอ ส่วนการแทรกแซงทางความคิดของพ่อแม่นั้น ขวัญข้าวบอกเราว่า
“อาจจะมีบ้างในบางเรื่องบางอย่างที่เราไปถามเขา แต่เขาก็พยายามให้เราคิดเอง สุดท้ายเราโตมาจะเป็นยังไงก็ขึ้นอยู่กับความคิดของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระบวนการคิดของเขา เขาก็ไม่พยายามที่จะเข้ามาแทรกแซงความคิดเราเลย”
อ่านฉบับเต็ม ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ: จากครรภ์มารดา ถึงแก่นนคร การเมืองในโรงเรียนของเด็ก ม.ปลาย