เรื่อง: อิทธิพล โคตะมี
มายาคติเกี่ยวกับชาวนาไทยดำเนินมาอย่างเนิ่นนานราวกับชีวิตในนิทานที่อยู่เหนือกาลเวลา เป็นภาพวาดถึงชีวิตของชาวนาที่เรียบง่าย พออยู่พอกิน แนบชิดกับธรรมชาติ สวยงาม ไม่มีการแก่งแย่งหรือขัดแย้งกัน
แต่หากชาวนาคนเดียวกันเดินเท้ามาเรียกร้องสิทธิที่ควรจะได้ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ภาพนั้นก็จะกลายเป็นภาพที่ดำมืดสกปรกทันที ตามมาด้วยคำปรามาสว่าถูกปลุกปั่น หรือถูกซื้อถูกจ้างมา แน่นอนคำอธิบายเหล่านี้แม้จะเป็นเรื่องพ้นสมัยในทางวิชาการ แต่หากเราฟังทัศนะของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ก็จะพบว่าเรื่องนี้ยังดำรงอยู่ ไม่ไปไหนเสียที
หนังสือชื่อ การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน: ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรงในภาคเหนือของไทย (2560) ช่วยให้เข้าใจประวัติศาสตร์ชาวนาไทยกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) จาก Department of Asian Languages and Cultures University of Wisconsin-Madison มาจากหนังสือภาคภาษาอังกฤษของเธอในชื่อ Revolution Interrupted: Farmers, Students, Law, and Violence in Northern Thailand (2011) โดยได้มือแปลคุณภาพสองท่านคือ เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว และ พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์
ทำไมต้องเป็นชาวนา
ระหว่างปี 2517-2519 บรรยากาศประชาธิปไตยของไทยที่กำลังเบ่งบาน เอื้อแก่การรวมตัวเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพอย่างกว้างขวาง โดยกลุ่มคนที่มีจำนวนมากที่สุดแต่กลับมีอำนาจต่อรองน้อยที่สุดคือชาวนา ได้ก่อตั้ง ‘สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย’ ทำการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน
งานวิจัยบางชิ้นระบุว่า ชาวนาจากทั่วประเทศสามารถจัดตั้งมวลชนได้ถึง 1,500,000 คน ก่อนแกนนำชาวนาจะถูกสังหาร อุ้มหาย และถูกทำร้ายเป็นจำนวนมากภายในเวลาเพียงสองปี (2518-2519) เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
แม้ว่าชาวนาจะถูกให้ความสำคัญในฐานะ ‘กระดูกสันหลังของชาติ’ แต่การศึกษาเกี่ยวกับการต่อสู้ของชาวนาเองกลับมีน้อยเกินกว่าความเป็นจริง หนังสือเล่มนี้เริ่มวิเคราะห์การต่อสู้ของชาวนาไร้ที่ดิน และศึกษาการก่อตัวของขบวนการชาวนาภาคเหนือในช่วงเวลาดังกล่าว จนพบแง่มุมที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก
สิทธิในที่ทำกินคือกุญแจ
พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าที่นา คือกุญแจสำคัญในการไขปริศนา เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้จำกัดการขึ้นค่าเช่านาตามอำเภอใจของเจ้าที่ดิน ภายใต้สถานการณ์ที่เสียเปรียบของราคาข้าวไทยบนเวทีระหว่างประเทศ
เชียงใหม่ ซึ่งถูกผนวกเข้าเป็นอาณานิคมของสยามใน พ.ศ. 2435 แต่ก็ยังคงรักษาสถานะหัวเมืองภูมิภาคที่สำคัญได้ ในช่วงพุทธทศวรรษ 2490 พบว่า มีเจ้าที่ดินอันดับ 1 ของประเทศอยู่ที่นี่ ขณะที่ค่าเช่าที่ดินของภาคเหนือเองมีการเก็บในอัตราที่สูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตที่ทำได้ในแต่ละปี บางปีต้องจ่ายค่าเช่านาถึง 60 เปอร์เซ็นต์จากผลผลิตที่ทำได้
การที่เจ้าที่ดินในเชียงใหม่สูงเป็นอันดับ 1 นี้ ผู้เขียนถือว่าเป็นมรดกตกทอดจากการที่ความสัมพันธ์ในระบบศักดินาของเจ้าล้านนา ประกอบไปกับพื้นที่ราบลุ่มรอบแม่น้ำปิงมีความอุดมสมบูรณ์สูง ส่งผลให้มีจำนวนครัวเรือนที่เป็นผู้เช่านาสูงที่สุดในประเทศอีกด้วย โดยมีถึง 54,225 ครัวเรือน
ขณะที่ พ.ร.บ.ควบคุมการเช่าที่นา ซึ่งถูกตราขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2493 แล้ว กลับบังคับใช้ได้เฉพาะพื้นที่ภาคกลางเท่านั้น ขณะที่จังหวัดอื่นๆ กฎหมายกำหนดให้พิจารณาเป็นรายจังหวัด และมันไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ใดอีกเลย
จนกระทั่งใน พ.ศ. 2517 ได้มีการตรา พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านาฉบับใหม่ออกมา ครั้งนี้ชาวนาภาคเหนือไม่รอคอยความปรารถนาที่มาไม่ถึง พวกเขาเริ่มเขียนฎีกาถึงนายกรัฐมนตรี กดดันผ่านผู้แทนราษฎรในพื้นที่ รวมถึงประสานกับนักศึกษาเพื่อให้ความรู้กันเองในกลุ่มชาวนาพื้นที่ต่างๆ
ชาวนายุคซิกซ์ตี้สู้อย่างไร
ชาวนาในพุทธทศวรรษที่ 2510 ของหนังสือเล่มนี้ ถูกอธิบายในฐานะผู้กระทำทางการเมือง ผ่านการผลักดันให้ พ.ร.บ.การควบคุมค่าเช่าที่นา ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นจริงและเป็นธรรม
การกระทำทางการเมืองเช่นนี้จึงนับเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการตัดสินใจสาธารณะ มีนัยยะไปถึงการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าที่ดินกับชาวนา โดยก่อนการเคลื่อนไหวของชาวนา เจ้าที่ดินในภาคเหนือมักเชื่อว่าพวกเขามีความสัมพันธ์เป็นผู้อุปถัมภ์ชาวนามากกว่าจะเป็นการขูดรีด
ดังนั้นการเรียกร้องของชาวนา นอกจากจะตั้งคำถามต่อความเป็นธรรมของสังคมไทย ยังกระทบอย่างถึงรากเหง้าความเชื่อดั้งเดิมของเจ้าที่ดินด้วย
ในส่วนมุมมองของเจ้าที่ดินเอง ได้มีความพยายามอำพรางความเดือดเนื้อร้อนใจของชาวนาเอาไว้ เหล่าเจ้าที่ดินใช้ช่องทางอำนาจ เครือข่ายที่เปิดกว้างมากกว่าชาวนา ในการปกปิดข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ เช่น การปิดบังความคืบหน้าข้อเรียกร้องชาวนา การให้ข้อมูลที่บิดเบือนต่อคณะกรรมการจังหวัด ในที่ประชุมของเจ้าที่ดินของภาคเหนือครั้งหนึ่ง ถึงกับมีคนยืนกรานกับทางการว่า “ตนถือครองที่นาจำนวนไม่มากกระทั่งคนมีที่ดิน 100 ไร่ ก็บอกว่ามี ‘แค่’ 100 ไร่”
บันทึกของเจ้าที่ดินเองที่เต็มไปด้วยคำกล่าวอ้างเกินจริงนี้เป็นการปฏิเสธความอดอยากของชาวนา ซึ่งผู้เขียนตีความว่า “เป็นความพยายามอย่างแน่วแน่ที่จะเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายควบคุมค่าเช่านาออกไปเรื่อยๆ”
การใช้วิธีทางกฎหมายในการต่อสู้ของชาวนาเอง ยังนำมาสู่ข้อถกเถียงต่องานศึกษาขบวนการชาวนาชาวไร่ที่ทำการศึกษามาก่อนหน้านี้ ซึ่งมักประเมินการต่อสู้ของขบวนการชาวนาในช่วงเวลาดังกล่าวว่า แม้จะสามารถระดมความเดือดร้อนได้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ขาดซึ่งจิตสำนึกทางการเมืองและการจัดองค์กรที่มีประสิทธิภาพของขบวนการ
นอกจากนั้นในบทที่ 2 ผู้เขียนยังได้วิเคราะห์ไปที่ตัวบททางภาษาของคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ว่ามีการตอบสนองการเคลื่อนไหวของชาวนาอย่างไร เช่น บทบรรณาธิการ สยามรัฐ (หนึ่งในกระบอกเสียงของรัฐบาล คึกฤทธิ์ ปราโมช) ได้ใช้พื้นที่บนหน้าหนังสือพิมพ์กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของชาวนาภาคเหนือ ผู้เขียนชี้ให้เห็นกลวิธีการเขียนถึงการต่อสู้ของชาวนาที่แตกต่างออกไปจากมุมมองของฝ่ายต่อต้านชาวนาโดยทั่วไป ซึ่งมีความแยบยลมากกว่าการขัดขวางแบบดิบๆ ในบทนี้ผู้เขียนตั้งชื่อว่า ‘หักกระดูกสันหลังของชาติ’
ชาวนาและนักศึกษา
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวนาและนักศึกษาที่เป็นตัวแสดงทางการเมืองที่โดดเด่นของสังคมไทยในช่วงปี 2516-2519 ผู้เขียนได้บรรยายไว้ในบทที่ 3: จากห้องเรียนสู่ท้องนา โดยอภิปรายผ่านกรอบทฤษฎีเรื่อง ‘ศิลปะการเรียนรู้เรื่องการสมานฉันท์’ (pedagogy of solidarity) ของ เปาโล เฟรเร (Paulo Freire) นักทฤษฎีการศึกษาชาวบราซิล ซึ่งหมายถึงความรู้ที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ร่วมกันของชาวนาและนักศึกษา
ทำให้ผู้อ่านมองเห็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของคนสองกลุ่ม มากกว่าการครอบงำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่หน่วยงานความมั่นคงกล่าวอ้าง ในเวลาเดียวกันก็เผยให้มองเห็นลักษณะข้ามชนชั้นของขบวนการชาวนา มองเห็นบทบาทของตัวละครต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครู ชาวนา นักศึกษา และมองเห็นความสูญเสียซึ่งทุกฝ่ายได้ถูกปราบปรามและถูกสังหารไปจำนวนหนึ่ง ก่อนวันสังหารหมู่ใหญ่จะมาถึงในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519
เหตุใดการเริ่มเคลื่อนไหวของชาวนาจึงทิ้งช่วงยาวนานจากปลายทศวรรษ 2490-2517
ไม่ต่างกันกับขบวนการนักศึกษา ผู้เขียนเสนอว่า โครงสร้างทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะในยุครัฐบาล จอมพล ป. ที่มีการเขียนฎีกาของชาวนา จะเห็นบทบาทของนักการเมืองที่พอจะเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวนาได้ ขณะที่ในยุคจอมพลสฤษดิ์ซึ่งเป็นยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จ พื้นที่การเรียกร้องของชาวนาก็ถูกจำกัดไปด้วย ก่อนจะมาเบ่งบานอีกครั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
เมื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนแผ่กว้าง ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยของไทยเองก็ไม่ได้หยุดนิ่ง หากแต่เปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหวไปด้วยเช่นกัน
เมื่อการสังหารส่งกลิ่นก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น การสังหารชาวนารายแรกก็มาถึงในปี 2517 (เท่าที่สืบค้นได้) ก่อนจะมีคนตายราวใบไม้ร่วง เรื่อยมาจนถึงการสังหาร อินถา ศรีบุญเรือง แกนนำชาวนาคนสำคัญที่บ้านพัก ในอำเภอสารภี
และแล้วความตึงเครียดก็ปรากฏ การเคลื่อนไหวของชาวนาและนักศึกษาได้เผชิญหน้ากับฝ่ายเจ้าหน้าที่และเจ้าที่ดินหนักขึ้น หลังจากมีการจับกุมนักศึกษาชาวนาที่เกี่ยวข้องกับ อินถา ศรีบุญเรือง ซ้ำไปอีก โดยอ้างว่าเพื่อ ‘ความปลอดภัย’ นำมาสู่การกดดันของทั้งสองฝ่ายในหลายพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่ฝ่ายที่ถือตัวว่าทำหน้าที่พิทักษ์กฎหมายบ้านเมือง
ผู้เขียนยกเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมาพิจารณา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเมาสุราอาละวาดบุกทำลายบ้านพักส่วนตัวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้มงวดในการใช้กฎหมาย!
สิ่งที่น่าสนใจคือ การบุกรุกที่ผิดกฎหมายครั้งนั้นจบลงด้วยการที่ไม่มีการเอาผิดใครสักคนเดียว ทำให้มีประเด็นน่าคิดต่อไปว่า เหตุการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาในการเมืองไทยมาจนถึงปัจจุบันหรือไม่ (หมายถึงสภาวะที่รัฐซ้อนรัฐอยู่ภายใน เรียกให้เก๋ไก๋อาจจะหมายถึงสภาวะของ ‘รัฐเร้นลึก’)
ระบบอุปถัมภ์ที่ถูกยัดเยียด
ประเด็นสำคัญที่หนังสือเล่มนี้เสนอให้เห็นอย่างเด่นชัด คือผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับงานวิชาการจำนวนหนึ่งที่มักสรุปว่า ชนบทยังคงเกาะเกี่ยวไปด้วยระบบอุปถัมภ์ ตัวอย่างสำคัญคือ บทบาทของข้าราชการในฐานะตัวแสดงทางการเมือง
ในส่วนบทบาทของข้าราชการ พบว่ามีฐานะเป็นผู้ผลิตซ้ำภาพลักษณ์ชาวนาที่ติดหล่มกับระบบอุปถัมภ์ (ทั้งอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม) โดยทำให้เสียงชาวนาเป็นเสียงที่ไม่มีน้ำหนัก ไม่ควรค่าแก่การเสียเวลาในการรับฟัง
ทว่าการที่ชาวนาเลือกใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้มากกว่าจับอาวุธต่อต้าน (ผู้อ่านอาจจะนึกถึงการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ข้าราชการเองก็ไม่นึกฝันว่าชาวนาจะใช้วิธีการทางกฎหมายมาต่อต้าน จนนำมาสู่การตอบโต้ชาวนาอย่างรุนแรงถึงแก่ชีวิต จากฝ่ายที่ทางการเรียกว่า ‘มือมืด’
แม้ว่าจะมีการสังหารไปเป็นจำนวนมาก แต่การตายเหล่านั้นก็ไม่สามารถหา ‘มือมืด’ มารับโทษได้แม้แต่คนเดียวจนถึงปัจจุบัน
ผู้เขียนให้ความเห็นอย่างถ่อมตนว่า ความพยายามของเธอนั้นไม่ใช่ตามหาคนร้ายหรือระบุฆาตกรได้ (แม้ว่าจะอยากทำ ตั้งแต่เริ่มต้นศึกษาจนเสร็จเป็นตำรา) สิ่งที่พอทำได้คือการสืบหาและระบุสภาพเงื่อนไขที่ทำให้สิ่งเหล่านี้สามารถระบุได้หรือไม่สามารถกล่าวถึงได้นั้นปรากฏออกมา
การฉายภาพการต่อรองระหว่างชาวนากับเจ้าที่ดินจึงเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่พอจะเสาะหาความเป็นธรรมได้ หนังสือเผยให้เห็นความรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงถึงความสัมพันธ์ในชนบทที่กำลังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในวันที่ชาวนาเดินทางมาชุมนุมที่สนามหลวง ในปี 2518 ก่อนจะมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
ชาวนามียุทธวิธีในการชุมนุมและยุทธศาสตร์ในการเรียกร้องที่หลากหลาย ตั้งแต่การจัดตั้งชาวนา การจัดประชุม อภิปรายเรื่องสิทธิ ประณามข้าราชการฉ้อฉล ถึงกระนั้นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อในเมืองหลวงก็ไม่ทำให้ข้อเสนอของพวกเขาได้รับการตอบรับ
ต่อมาเมื่อชาวนาปรับเปลี่ยนแนวทางการเคลื่อนไหว ด้วยการหวนกลับคืนสู่หมู่บ้าน ผลที่ตามมาก็ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับปฏิกิริยาที่รุนแรงเกินกว่าจะคาดคิด
อะไรคือการปฏิวัติ
คำว่า ‘การปฏิวัติ’ เป็นคำสำคัญมากที่สุดของหนังสือเล่มนี้ และชวนให้ครุ่นคิดพอสมควรว่า เหตุใดผู้เขียนจึงเลือกพูดถึงชาวนาที่ต่อสู้ผ่านช่องทางการเมืองปกติว่าเป็น ‘การปฏิวัติ’
ผู้เขียนได้อภิปรายในเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการศึกษาในหนังสือเล่มนี้ และเปิดประเด็นว่าด้วยนิยามการปฏิวัติ ไว้ในบทนำของหนังสือ
ผู้อ่านจะเห็นเรื่องนี้อย่างละเอียดลออมากยิ่งขึ้นใน บทที่ 4: ความรุนแรงและการปฏิเสธ และ บทที่ 5: รัฐในภาวะปั่นป่วน และในตอนท้ายของ บทสรุป: การปฏิวัติที่หวนคืน? ดังที่ผู้เขียนได้สรุปการค้นคว้าไว้ว่า
“นักวิชาการและนักกิจกรรมจำเป็นต้องหมั่นทบทวนความคิดตนเองว่าอะไรคือการปฏิวัติ ในหนังสือ ปทานุกรมการเมือง ฉบับชาวบ้าน ที่ สุพจน์ ด่านตระกูล เขียนในระหว่างที่ถูกคุมขังเป็นนักโทษการเมืองฝ่ายซ้ายในพุทธทศวรรษที่ 2490 แต่เพิ่งมาได้รับการตีพิมพ์ในพุทธทศวรรษ 2520 เขาใช้คำว่าปฏิวัติเป็นคำแปลของ revolution สำหรับสุพจน์ การปฏิวัติคือ การเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากเหง้าและฉับพลันในวิวัฒนาการของสังคม ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อไปสู่สภาพที่ดีกว่า”
ผู้เขียนเสนอว่า การที่สุพจน์ไม่ได้แสดงตัวอย่างสิ่งที่วาดหวังไว้นี่เอง จึงน่าสนใจว่าการปฏิวัติในที่นี้อาจจะหมายถึง “การปฏิวัติที่สงบสันติซึ่งจะเป็นรูปแบบการปกครองที่ประชาชนจะมีสิทธิและเสรีภาพอย่างกว้างขวาง”
หนังสือเล่มนี้เชิญชวนผู้ที่ปรารถนาเคลื่อนสังคมให้ไปสู่สภาพที่ดีกว่าข้างหน้าได้คิดถึงการปฏิวัติใหม่ โดยเริ่มคิดจากปรากฏการณ์ในอดีตที่สำคัญยิ่งแต่เงียบเชียบนัก นั่นคือการต่อสู้ของชาวนาไร้ที่ดินในภาคเหนือ ที่เคยเหยียดกระดูกสันหลังตั้งตรงเพื่อถามหาความเป็นธรรม
สำหรับผู้สนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ ในวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2560 ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จัดงานเสวนาเรื่อง ‘เปิดพื้นที่ (ใหม่) ประวัติศาสตร์นิพนธ์การเมืองของประชาชน’
โดยมีวิทยากรมาร่วมเสวนาจำนวนสี่ท่าน ได้แก่ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (ผู้เขียน), สมชัย ภัทรธนานันท์ จากคณะมนุษยศาสาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการและร่วมเสวนาโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
งานเสวนาเริ่มแต่เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้อง ร.102 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์