เรื่องมีอยู่ว่า นิตยสาร Vogue ฉบับเดือนกันยายน มีความพิเศษอู้วหูวมาก เพราะทางกองบรรณาธิการ Vogue ให้อำนาจ บียอนเซ่ ในการจัดการนิตยสารฉบับเดือนนี้ทั้งหมด นิตยสาร Vogue ฉบับนี้เลยมีความน่าสนใจอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะรูปเล่ม หรือบทความข้างใน อย่างนึงที่เรียกได้ว่าสร้างประวัติศาสตร์ในวงการแฟชั่นอย่างหนึ่งคือ บียอนเซ่เลือกใช้ช่างภาพรุ่นใหม่ ต่างกับเล่มอื่นๆ ที่ต้องใช้ช่างภาพรุ่นใหญ่
แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ ไทเลอร์ มิทเชลล์ (Tyler Mitchell) เป็นช่างภาพผิวสีคนแรกในประวัติศาสตร์ของ Vogue ที่ได้ถ่ายปกนิตยสาร ฟังดูน่าตื่นเต้นเนอะ แต่พอมานั่งคิดๆ ดูแล้ว เอ๊ะ Vogue อยู่มาร้อยกว่าปี #นี่ก็ปี2018แล้วนะ ทำไมคนผิวสีเพิ่งจะมีโอกาสได้ถ่ายปกนิตยสารล่ะ? เหตุการณ์นี้ช่างคล้ายกับงานประกาศรางวัลออสการ์ปี 2015 และ 2016 ที่มี #OscarSoWhite และมีการวิจารณ์ว่า ทำไมดาราที่ได้รางวัลออสการ์นี้ มีแต่คนขาวล่ะ?
*ช่วงอัพเดทกันหน่อย: #OscarSoWhite คือกระแสทวิตเตอร์ในอเมริกาว่า ทำไมออสการ์ปี 2015 และ 2016 ผู้เข้าชิงส่วนใหญ่มีแต่ฝรั่งผิวขาว แล้วชาวผิวสีหายไปไหนหม้ด ทั้งที่ในตอนนั้นฮอลลีวูดมีดาราหลากหลายเชื้อชาติมาก แต่ทำไม! ทำไมออสการ์ปีนี้มัน โซไวท์! ขาวพอๆ กับ ป้าทิลดา สวินตัน ขี่เลื่อนหมีขาวเลยค่า (ล้อเล่นนะ รักป้านะคะ) เลยเป็นผลให้ออสการ์ปี 2017 มีคนผิวสีมากขึ้น เย้! นอกจากนี้ Netflix ซีรีส์ และหนังฮอลลีวูดต่างๆ ก็เริ่มปรับเทรนด์มาให้คนผิวสีแสดงมากขึ้นแล้ว เย้เย้เย้!*
ในขณะที่วงการหนังเริ่มหันมาใช้ดาราหลากเชื้อชาติ ไหนลองหันมาดูวงการแฟชั่นกันหน่อยสิคะ
ถ้าหลับตานึกถึงนางแบบที่เดินแฟชั่นโชว์ เรานึกถึงภาพอะไรบ้างคะ? หน้าตาสวยหรือดูมีเอกลักษณ์ ตัวสูง 170 ขึ้นไป ใส่รองเท้าส้นสูงปรี๊ด ผิวขาว หน้าฝรั่งๆ ผมสีบลอนด์ๆ น้ำตาลๆ ตาสีฟ้าๆ
วงการแฟชั่นเป็นวงการที่นำหยิบเอาแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมหลากหลายมาก เราจะเห็นแต่ละปี อย่างน้อยๆ ก็จะต้องมีคอลเลคชั่นนึง ที่นำเอาวัฒนธรรมที่แปลกตา ตั้งแต่วัฒนธรรมเอเชียอย่างกิโมโนญี่ปุ่น, หรือกี่เพ้า และลวดลายต่างๆ ของจีน, เครื่องประดับจากชนเผ่าในแอฟริกัน, วัสดุธรรมชาติจากชนเผ่าในปาปัวนิวกินี, สร้อยคอแบบสาวชาวเขา มากมายพอที่จะไปสรรหามาได้
แต่วงการแฟชั่นกลับมีสัดส่วนความหลากหลายของนางแบบ หรือถ้าพูดให้ถูก ก็คือ ‘ตัวแทนผู้ที่สวมเสื้อผ้าเหล่านั้น’ น้อยมาก
พูดว่าน้อยมากก็คงนึกภาพไม่ออกใช่มั้ยคะ งั้นเราจะยกกราฟมาให้ดูแบบเวลาพรีเซนต์ Power Point ให้ดูแบบเห็นตัวเลขแล้วกัน
อ้างอิงจากเว็บไซต์ Thefashionspot ในปี 2016 สัดส่วนของนางแบบที่เป็นคนขาวมีมากถึง 3 ใน 4 ของทั้งหมด ขณะที่นางแบบชนชาติอื่นรวมกันแล้วมีแค่ 24.75 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง เห็นภาพหรือยังว่ามันน้อยแค่ไหน
ในต่างชาติเอง ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง cultural appropriation หรือการหยิบวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยกว่ามาใช้โดยผู้ที่อยู่เหนือกว่า พูดง่ายๆ ก็คือหากินกับวัฒนธรรมของคนที่ด้อยกว่านั่นเอง ในเมืองนอกมีบ่อยครั้งที่คนเอาวัฒนธรรมของคนเอเชีย, คนดำ, คนเม็กซิกัน, ฯลฯ มาแต่ง จนกลายเป็นดราม่าว่า “วัฒนธรรมของฉันไม่ใช่เครื่องแต่งกายของคุณ”
ความคิดนี้ถูกโต้เถียงมาหลายต่อหลายรอบแล้วว่า ตกลงว่าสิ่งนี้ควร หรือไม่ควรทำ เพราะวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนผันไปตลอดเวลา จะมาบอกว่าใครเป็นเจ้าของวัฒนธรรมมันก็ไม่ได้นะ
พูดแบบนี้คงไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าเราเอารูปมาให้ดูแบบเห็นจะๆ ล่ะ? อย่างคอลเลคชั่น Spring 2016 ของ Valentino นี่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงมากว่าใช้ชนพื้นเมืองเป็นเหมือนภาพพื้นหลัง ทั้งที่คุณไปหยิบวัฒนธรรมที่เขาเป็นเจ้าของมาใช้ แต่ทำไมคุณถึงไม่ให้เขาเป็นคนนำเสนอล่ะ เพราะมันไม่ได้มาตรฐานแฟชั่นคุณ? มันดูไม่ฮิป ไม่คูล ไม่เอเลแกนท์พออย่างนั้นเหรอ? (ขอใช้คำว่าเอเลแกนท์นะคะ เวลาพูดต้องเชิดหน้า บึนปากนิดๆ ด้วยให้ได้ฟีล)
เอาล่ะ ไปซะไกล กลับมาที่เมืองไทยบ้างดีกว่า เพราะเราเองก็ยังตกอยู่ในวังวนว่าใช้นางแบบหน้าไทยๆ บ้านๆ แล้วก็ไม่ ‘เอเลแกนท์’ เหมือนกัน
ในเมืองไทยเอง เราก็เห็นออกบ่อยๆ ในวงการแฟชั่น มีการเอาวัฒธรรมท้องถิ่นมาใช้เป็นแรงบันดาลใจ เอาผ้าไหมไทย ผ้าท้องถิ่น มัดย้อม หรือเครื่องประดับเงิน ทองเหลือง อะไรก็ตาม มาจากต่างจังหวัด ภาคใต้บ้าง ภาคเหนือบ้าง ภาคอีสานบ้าง แล้วแต่ว่าใครจะหยิบมาใช้
แต่เราได้เห็นคนในท้องถิ่นจริงๆ เป็นคนใส่เสื้อผ้าพวกนี้บนแคทวอล์คบ้างมั้ย?
หรือเพราะความคิดว่าใช้คนเหล่านี้เป็นตัวแทนของแบรนด์มันจะไม่เท่ ไม่คูล ไม่ฮิป เอ่า แล้วไหนล่ะ ที่บอกว่าได้แรงบันดาลใจมา
สุดท้ายมันจะต่างอะไรกับการที่เอามาแต่เปลือก เหมือนเป็นการบอกกลายๆ ว่า หน้าตาของคนอย่างพวกคุณไม่ได้มาตรฐานพอที่จะเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ ทั้งที่วัฒนธรรมเขาได้มาตรฐานนะ งงมั้ย?
หรือบางทีก็บอกว่าเป็นแฟชั่นวีคเมืองไทย ภูมิใจในความเป็นไทย ความสามารถของดีไซเนอร์ไทย แต่ทำไมนางแบบส่วนใหญ่ยังเป็นฝรั่งอยู่ล่ะ? เพราะต้องเป็นฝรั่งเท่านั้นเหรอ ถึงจะ ‘ได้มาตรฐาน’
(จะไม่มีรูปแฟชั่นโชว์ใดๆ ในส่วนนี้ เพราะขี้เกียจมีปัญหากับแบรนด์ เหนื่อย!)
เหมือนเป็นเรื่องตลกร้ายเนอะ ที่มีข่าวว่านางแบบรัสเซียรับงานหนักจนตาย แต่ในขณะที่น้องๆ นางแบบในไทยต้องพยายามหางานแทบตาย กว่าจะได้เป็นนางแบบแบรนด์ดังๆ ได้เดินบนแฟชั่นโชว์ หรือถ้าพูดให้ถูก คนไทยที่เดินแฟชั่นโชว์ส่วนใหญ่จะต้องเป็นดาราดังมาก่อนแล้ว หรือแม้แต่นางแบบหลายคน ก็ผันตัวไปเป็นดาราซะเอง เพราะการเป็นนางแบบอย่างเดียวมันไม่ดังพอ หรือมีงานไม่พอยาไส้งั้นเหรอ?
แล้วยิ่งน่าตลกเข้าไปอีก เมื่อเอาหน้านางแบบไทยแต่ละคนมาวางเรียงกันแล้ว นึกถึงคำว่า ‘Asian Look’ สิ่งที่ผุดมาในหัวเราอย่างแรกคือหน้าหมวยๆ ตัวขาวๆ
ทั้งที่หลายกระแสก็ออกมาบอกว่า “ฉันรักผิวของฉัน ผิวแทนก็สวยได้” ราวกับว่าเราสนับสนุนสีผิวที่หลากหลายแค่ในสื่อ แต่พอมาเป็นการทำงานจริงๆ คนที่เลือกมาแคส ก็ต้อง ‘ผิวขาวไว้ก่อน’ อยู่ดี หรือถ้าผิวคล้ำนิดๆ ก็ขอหน้าหมวยๆ ไว้ก่อนได้มั้ยอะ สุดท้ายแล้ว องค์กรใหญ่ๆ ก็ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ดี ไม่ว่าจะวงการโฆษณาหรือวงการแฟชั่นเอง
ก็แล้วมันจะต่างอะไรกับ รีเ*นซี่ บรั่นดีไทย ให้โลกรู้ เมืองไทยมีดี
แต่นางเอกโฆษณาพี่ลูกครึ่งมาเลยค่ะ! จมูกงี้เป็นสันเลยนะคะ แหม่!
สุดท้ายแล้ว ถ้ายังอยากใช้นางแบบเป็นฝรั่ง ก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอก แต่เราว่า คุณภูมิใจในความ ‘ไทย’ ของคุณเหลือเกิน แต่ความไทยของคุณมันดูคับแคบ ไม่ครอบคลุมกับสิ่งที่คุณหยิบมาใช้เป็นแรงบันดาลใจเลย
สิ่งที่สำคัญจริงๆ แล้ว อยู่ที่ว่า เราให้โอกาสกับคนที่แตกต่างมากพอหรือยัง? เราให้พื้นที่ในสื่อ กับคนที่เป็นใบหน้าส่วนใหญ่ของประเทศพอหรือยัง? เราให้ความสำคัญกับความหลากหลายมากพอหรือยัง?
เราจะแก้ทัศนคติแบบ “อีกาคาบพริก” “หน้าอีสานจังเลย” หรือ “หน้าตาแบบนี้ ไปกรีดยางอยู่ใต้เถอะน้อง” ได้อย่างไร ถ้าสื่อยังตอกย้ำความคิดว่า ‘สวย’ = ‘ขาว หมวย / ฝรั่ง เอ็กซ์’
คุณจะเป็น ‘ผู้นำทางแฟชั่น ผู้นำทางความคิด’ ได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่คุณเลือกใช้เพื่อสื่อถึงแบรนด์ของคุณ ยังยึดติดกับค่านิยมเก่าๆ อยู่ดี