“ละครน้ำเน่า ฉันจะเล่น!” อินทิรา เจริญปุระ

headpic-01-01
เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี / ปริชาติ หาญตนศิริสกุล
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

ทำลืมว่าพระเอกทำอาชีพอะไรไป หนึ่ง
หลับหูหลับตาทำไม่สนว่าทำไมนางร้ายต้องกลอกตาสูง เบ้ปากต่ำเกินปกติไป สอง
ทำเบลอ ทำไม่สนใจว่าทำไมตัวละครเหล่านี้ไม่เคยใส่เสื้อผ้าซ้ำกันเลยสักฉากไป สาม

แต่ขนาดว่าได้ทำลายตรรกะการใช้ชีวิตไปแทบสิ้น พอเกือบจะเข้าใกล้ความอิน เริ่มรู้สึกว่ากลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับละครแล้วนั้น ก็ยังถูกสะกิดให้สงสัยไปอีกแล้วว่า

“อี๊ นี่หล่อนตื่นมาแล้วเปียแน่นขนาดนี้ได้ไงยะ”

คนเราต้องทำถึงขนาดไหนกัน ที่จะทำให้ไม่ถูกสะกิดเตือนอยู่บ่อยๆ -ตลอดไปจนจบเรื่อง- ว่า…นี่ๆ นายกำลังดูละครอยู่นะ #อย่าได้คิดว่ามันจริงไป

ยังไม่นับข้อกังวลของแอคทิวิสต์และปัญญาชนไทยเลยว่า ละคร (แม่ง) ก็เป็นเครื่องมือสร้างอุดมการณ์ของรัฐชาติสมัยใหม่ ผลิตซ้ำวาทกรรมเรื่องชนชั้นศักดินา เชิดชูศีลธรรม เหยียดเพศ ต่างๆ นานา เลยด้วยซ้ำ

เพราะไม่อยากให้ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องถูกมอมเมา WAY Magazine Online ชวน ทราย-อินทิรา เจริญปุระ คุยเรื่องละครๆ ในประเด็น ‘ละครน้ำเน่านี่มีอะไรดีมั่งไหม’ ในฐานะคนเล่น ฐานะนักแสดงที่เป็นคอลัมนิสต์ ผู้ที่อ่านและเขียนถึงภาพยนตร์และหนังสือจำนวนหนึ่งอยู่อย่างต่อเนื่อง

อยากรู้ว่านักแสดงอย่างเธอ จะอึดอัดใจบ้างไหม ที่ต้องเล่นละครที่มันน้ำเน่าได้ขนาดนี้

หมายเหตุ: เพื่ออรรถรสในการอ่านบทความชิ้นนี้ แนะนำให้เปิดคลิปรายการ ‘อร่อยสร้างภาพ’ เพื่อให้จินตนาการเสียงโทนต่ำสูงของอินทิราได้ออก เพราะเป็นการยากเหลือเกิน ที่ผู้เขียนจะพยายามถ่ายทอดสีสันนั้น เรียบเรียงออกมาเป็นตัวหนังสือได้อย่างครบถ้วน

ละครในมุมมองของทราย-อินทิรา เจริญปุระ คืออะไร

มุมมองของเราเหรอ ละครคือ “เชี่ย…อะไรมันจะบังเอิญขนาดนั้นอะ” พระเอกบังเอิญเจอนางเอก แล้วก็บังเอิญเจอตัวร้าย แล้วก็บังเอิญเจอพ่อนางเอก แล้วก็บังเอิญ บังเอิญ บังเอิญ คือในชีวิตคนเรา มันจะมีเรื่องบังเอิญได้กี่ครั้งกัน

คือมันไม่ใช่เรื่องจริง และมันไม่มีวันเป็นเรื่องจริง และทุกคนพยายามหาเหตุผลมาทำให้ละครเป็นเรื่องจริง แต่เอ๊ย…นี่มันละครนะ เข้าใจไหม แต่โอเค ในรายละเอียดทางการแพทย์ บทสนทนาการพูด หรือรายละเอียดที่เป็นข้อมูล เป็นวิชาการ มันควรจะจริง เพราะมันคือการสร้างความรู้ความเข้าใจ  

dsc_0001

ไม่จริง สนุกกว่าเหรอ?

เราว่าไม่จริงสนุกกว่า คือจะจริงก็ได้ แต่ก็จริงอย่างละคร ถ้าชีวิตใครจะบัดซบ มันก็ต้องบัดซบแบบ มึงต้องขุดรูอยู่ ถามว่าในชีวิตจริงมีชีวิตใครที่บัดซบได้ขนาดนี้ไหม เราเชื่อว่ามี แต่เขาอาจจะไม่ได้เจอเรื่องบังเอิญแบบนั้น เขาไม่ได้ไปล้มหน้ารถพระเอกพอดี และพระเอกคนนั้นก็ไม่ได้รวยล้นฟ้าพอดี และก็ไม่ได้บังเอิญๆๆ บังเอิญขนาดที่ชีวิตจริงๆ ซึ่งลักษณะการบังเอิญแบบนั้น มันคือความบันเทิงแบบละครไง คนเราจะบังเอิญได้สักกี่ครั้งกัน และเปอร์เซ็นต์การบังเอิญเจอแบบนี้ มันก็น้อยเสียจนถ้าเราเจอใครที่เป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง แล้วไปพบรักกับคนที่มีลักษณะเหมือนเจ้าชาย เราก็จะเรียกเขาว่า ‘ซินเดอเรลลา’ ใช่ไหม คือมันน้อยเสียจนเรามีศัพท์บัญญัติเฉพาะไปเลยอะ

แต่มันเหมือนเป็น ‘ความไม่จริง’ ในเชิงพล็อตเรื่องใช่ไหม แต่มันมีความไม่จริง ในเชิงคาแรคเตอร์ ที่จะเตือนเราอยู่ตลอดว่า เรา ‘กำลังดูละคร’ อยู่เหมือนกัน

เรากล้านะ เรายินดีที่จะตื่นมาในสภาพหัวยุ่ง หน้าซีด แต่เราถามว่าคนดูจะด่าไหม ก็ด่า คือเขาก็จะรู้สึกว่า “ทำไมกูต้องมาทนดูคนหน้าแย่ด้วย เล่นอย่างนี้กูก็เล่นได้ แบบนี้ก็จริงไปไหมมึง” อะไรแบบนี้ คือเข้าใจไหมว่า ในขณะที่ด่าว่าไม่จริง เขาก็ไม่อยากเห็นอะไรที่จริงเกินไปด้วยไง เพราะเขารู้สึกว่า นี่ฉันดูละครอยู่นะ ไม่ได้ดูสารคดีสัตว์โลก

คือในขณะที่เราเรียกร้องหาความจริงจากละคร เราก็รับไม่ได้ถ้ามันจะจริงมากไป?

คือมันจะจริงก็ได้ แต่มันต้องจริงอย่างละครไง เข้าใจใช่มะ (หัวเราะ)

แต่หลังๆ มาก็เริ่มมีข้อเปรียบเทียบละครไทยกับซีรีส์เกาหลี หรือซีรีส์ต่างประเทศ 

โหย…ซีรีส์เกาหลีนะ โคตรเมโลดราม่า โคตรน้ำเน่า โคตรขยี้ ขยี้แรงกว่าเราอีก แต่โอเค รายละเอียดมันจริง เขาทำการบ้านดี บทสนทนาดี ตัวเอกหน้าใส ก็ถ่ายที่เย็นขนาดนั้นก็ต้องใสล่ะวะ มีฉากซักผ้า นางเอกตื่นเช้ามาก็มีฉากนั่งทาครีม แต่มันก็มีความไม่จริงอยู่ในละครของบ้านเขาใช่ไหม เช่น อะไรจะรันทด และชีวิตโดนขยี้แบบนั้น คือจะชี้ว่า ไม่ว่า CSI ซีรีส์เกาหลีนานา มันมีความไม่จริงอยู่ในนั้นด้วย

อย่างแบทแมนที่เรารู้สึกว่า เชี่ยแม่ง…โคตรจริง โดยเฉพาะยุคหลังๆ ที่พยายามจะใส่ความสมจริงเข้าไป ต้องมีปม ต้องดาร์ค มีชีวิตบัดซบมากตอนเด็กๆ เห็นพ่อโดนฆ่าต่อหน้า แต่เป็นมหาเศรษฐีเลยนะ แล้วตอนกลางคืนก็ใส่ผ้าคลุม ใส่หน้ากาก ออกไปปฏิบัติการ นี่…มันจริงแบบนี้ แต่ถามหน่อย จะเอาความจริงขนาดไหนกันกับผู้ชายที่ใส่ผ้าคลุมออกแล้วไปปฏิบัติการ?

จริงๆ ก็ไม่เคยคิดถึงมุม ‘จริงแบบไม่จริง’ มาก่อนเลย เพราะมัวแต่ไปเหยียดหยามหาว่า ละครไทยมันช่างไม่จริง

คือเราโตมากับ ปลาบู่ทอง งี้ นางสิบสอง งี้ ควักตางี้ โคตรน่ากลัวเลย เราฟังเรื่องอย่างนี้กันมาตั้งแต่เด็ก แล้วทุกคนก็รู้ด้วยว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง ว่ากันจริงๆ แล้วเราเกิดมาโดยที่มีปุ่มอะไรแบบนี้อยู่แล้วด้วยซ้ำ มันเป็นระบบ auto correct ที่รู้ว่าเรื่องไหนจริง-ไม่จริง

คือรู้ว่าสังข์ทองไม่ใช่เรื่องจริง มันออกมาจากหอย แม่แกะฝักออกมา อ้าว…ทำไมทีอย่างนี้รู้อะ แต่พอดูละครจะเอาเรื่องจริง

คือ คือ คือมึงอยากได้ความจริงชุดไหนกันน่ะ จริงจนไม่จริง ไม่จริงจนจริงไปเลย แต่เอ๊ะ คิดดูอีกที เราก็ยังอยากให้ โทนี สตาร์ค เป็นเรื่องจริงนะ (หัวเราะ)

dsc_9874

กลับไปเรื่องความคิดที่เชื่อว่า การทำให้ละครสมจริง ต้องสร้างมาจากความเจ็บปวด อาจเป็นเพราะเราเชื่อว่า ‘เพราะชีวิตคือความเจ็บปวด’ ไหม

ใช่ไหม แล้วทำไมต้องเจ็บปวดเพื่อให้ดูจริงล่ะ ทำไมด้านมืดถึงแปลว่าจริง ไม่จริงได้ไหม ยิ่งหลังๆ น่าเบื่อมากเลยนะ หนังยอดมนุษย์ หนังซูเปอร์ฮีโร่ ที่ทุกคนต้องมีด้านมืด มืดอะไรนักหนา ไม่มีบ้างก็ได้ ไม่โกรธเลยนะ

คือเราไม่ได้ดูถูกความคิดของใครเลยโว้ย และเราไม่ได้บอกว่าความคิดเรามันถูกหรือมันเป็นมาตรฐานเลยนะ แต่มันมีคนที่ต้องการสิ่งเหล่านี้ ต้องการความบันเทิงหรืออะไรที่ปลอบประโลมเขาจากชีวิตที่…กูเหนื่อย กูก็อยากถักเปียสองข้างเป็นพจมาน อยากจะได้ความรู้สึกที่ว่า วันหนึ่งฉันจะได้ครองบ้านหลังนี้ หรือฉันจะพบรักกับหนุ่มญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าฉันเป็นสาวชาวสวน คือท่ามกลางความเหน็ดเหนื่อยของชีวิตที่คนมันเจอทุกวัน ระบบการดูแลอะไรของเราก็ห่วยแตก สวัสดิการอะไรเราก็ไม่มีสักอย่าง มันก็มีคนที่ต้องการพัก ต้องการความบันเทิงแบบนี้อยู่เหมือนกันนะ

โอเคล่ะ ถ้าเราบอกว่า ขนบหนึ่งของละครไทยคือความไม่จริง เราจะบอกได้ไหมว่า การที่ละครไทยเชิดชูศีลธรรม ก็เป็นหนึ่งในความไม่จริงด้วย

วันก่อนเราดูข่าว แรงมาก คือมีคนขโมยของแล้วไปบอกคนอื่นว่าตัวเองโดนข่มขืน นี่มันละครชัดๆ เลยนะ แล้วถ้าแต่ก่อนใครเขียนบทแบบนี้ไปส่งช่อง ก็ต้องโดนด่าหาว่าปลอม แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า ละครซุกตัวอยู่ในมุมมืด ไม่กล้าทำอะไรรุนแรง เพราะข้างนอกแม่งโคตรน่ากลัวเลย คือคุณจะบอกว่าสังคมเลียนแบบละครอยู่เหรอ มึงบอกสิ ว่าอีนี่มาจากเรื่องไหน

ในขณะที่เราทำหนังเรื่องพระไม่ได้เลย-ดูหนังสือพิมพ์ ทำหนังเรื่องครูไม่ได้เลย-ดูหนังสือพิมพ์ ไม่รู้ เราอาจจะชอบโลกแห่งความจริงกันมากกว่าก็ได้ เราไม่พร้อมจะโดนขยี้ด้วยเรื่องอะไรพวกนี้ ไม่ในช่วงเวลาแห่งความบันเทิงของเรา อาจจะพอแล้วกับเรื่องอะไรแบบนี้ กูเอาไว้ดูในข่าวอย่างเดียวก็พอ

แต่เรื่องความสะอาดที่อยู่ในละครนี้ มันก็มีความก้ำกึ่งกันระหว่าง ‘การพาสเจอไรส์ตัวละคร’ กับ ‘การสร้างคาแรคเตอร์ตัวละคร’ นึกออกไหม เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องที่โง่มาก ที่เราจะเข้าใจไปว่า ถ้าเราเห็นคนคนนี้กินเหล้าสูบบุหรี่ เราจะเข้าใจไปเองว่าเขาเป็นคนแบบหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องนุ่งสั้น ทาปากแดง หรือเขียนตาเฉี่ยว

แต่ในโลกที่มันต้องพาสเจอไรส์ตัวละครมากๆ เราก็ต้องสร้างคาแรคเตอร์อื่นๆ ขึ้นมาเพื่ออธิบายคาแรคเตอร์แบบนั้น เช่น ถ้าตัวร้ายสูบบุหรี่กินเหล้าไม่ได้ใช่ไหม งั้นต้องมีรอยสัก ตัวร้ายทาปากแดงไปเลย

หรืออะไรก็ไม่รู้ แต่มันต้องตัดบุคลิกบางอย่างทิ้งไป แล้วไปเพิ่มคาแรคเตอร์ในส่วนอื่นแทน ซึ่งเราว่ามันก็ประหลาดดี มากไปกว่านั้น เราอยู่ในโลกที่มันมีการจัด category มนุษย์กันแปลกๆ อยู่แล้ว เช่น ถ้าเป็นมนุษย์แม่ เป็นเมียหลวง แปลว่าดี ชนะเสมอ เป็น single mom แปลว่าแข็งแกร่ง เข้าใจโลกแบบนี้ไหม? ละครเราสอนใจนะ แต่ถ้าอีนี่ชั่ว สุดท้ายมันจะต้องตายอย่างทรมาน

เคยดูละครแต่ก่อน ไม่ได้สะอาดขนาดนี้

เราว่าแต่ก่อนละครใจกว้างกว่านี้อีก เห็นด่ากัน ดูดบุหรี่กัน ก็ไม่เห็นมีใครเจ็บปวดอะไร อย่างเราวัดจากละครเรื่องแรกที่เราเคยเล่น ล่า เรายังนึกไม่ออกเลยว่าเขาจะรีเมค หรือทำใหม่ได้ยังไง ไม่ต้องมากกว่านั้น เอาแค่เท่านั้นก็ได้ เพราะเดี๋ยวก็จะต้องมีคนมาหาว่า ‘มันรุนแรง มันนี่ มันโน่น มันนั่น มันต้องขึ้น 18+ มันต้องขึ้น ฉ.ฉิ่ง ช.ช้าง’ เข้าใจใช่ไหม?

dsc_9935

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นจากอะไร

นั่นสิ จำไม่ได้เลย รู้ตัวอีกทีก็ อ้าว…แบบนี้แล้วเหรอ ซึ่งตอนนี้ก็เทิร์นกลับมาแบบ “อุ้ยเรื่องนี้จูบจริง” คือแม่งก็ปลอมอยู่ดีแหละวะ ไซ้ข้างๆ และคนอะไรจะล้มตัวได้องศาดีขนาดนั้น

แต่พอเราพูดถึงละครที่เปิดเผยขนาดนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปไกลพอสมควรนะ แต่เข้าใจว่าการเซ็นเซอร์ อาจมาจากความรู้เรื่องบุหรี่ด้วยก็ได้

เราไม่ได้จะว่า ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ดีหรืออะไรนะ แต่เราแค่แปลกใจว่า ทำไมเรามาตกใจกับ ฮอร์โมน ทั้งๆ ที่ท่านมุ้ยเคยทำ เสียดาย มาแล้ว ซึ่ง เสียดาย คือน่ากลัวมากๆ ทั้งสองภาค

ทราย เจริญปุระ เป็นคนที่มีความมั่นใจ เป็นนักแสดงมือรางวัล เป็นหนอนหนังสือ เป็นคอลัมนิสต์ที่เขียนถึงภาพยนตร์และหนังสือจำนวนหนึ่งและเขียนอย่างต่อเนื่อง จะรู้สึกอึดอัดใจไหม ที่ต้องมาเล่นละครน้ำเน่า

คือพ่อเราทำ บ้านทรายทอง ทำ คู่กรรม ซึ่งมันค้านกับประวัติศาสตร์โลกทุกประการ เราจะพูดไรได้อีกวะ (หัวเราะ) แต่เอาจริงๆ คือ เวลาที่เราเล่นละคร มันก็ยังเป็นเราอยู่นะ หมายถึงว่าเรายังมีกระบวนการคิดแบบนี้ ไม่ได้ว่าเปลี่ยนสมอง แล้วดาวน์โหลดความคิดอีกชุดหนึ่งมาใส่ เราเล่นเป็น เราเล่นได้ เรารู้ว่าเราทำงานอยู่ จะเรียกว่ายังไงดี อาจจะต้องเล่าย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้นทำงาน

ตอนที่อายุสิบสามสิบสี่เราทำงานแล้ว เรามีชีวิตวัยเด็กที่ ใครๆ ก็รู้ว่าเราเป็นลูกผู้กำกับ ทุกคนเรียกเราด้วยนามสกุล ‘เจริญปุระ’ ฉะนั้น เราก็จะมีความแปลกแยกประมาณหนึ่งกับเพื่อนที่โรงเรียน แล้วเข้าใจไหมว่า อะไรๆ ก็จะ “อะ…ไหน เจริญปุระตอบซิ๊” เดินผ่านห้องพักครูก็ “เธอ เจริญปุระ ไปซื้อน้ำแดงมาให้ครูที” เข้าใจมะ เพื่อนๆ ก็จะ (เบ้ปาก เอี้ยวคอ มองบน) แล้ว มันเลยเหมือน มีเส้นแบ่งระหว่างเรากับเพื่อนที่โรงเรียนอยู่แล้ว

ซึ่งเราไม่ได้ดูถูกว่าการเป็นวัยรุ่นทั่วไปมันง่ายนะ มันไม่ง่ายหรอก เรารู้ว่ามันก็ยาก แต่การที่เราต้องไปทำงาน โลกเรามันถูกสวิตช์อยู่ตลอดเวลา เราอยากมีเพื่อนนะ เวลาไปโรงเรียนเห็นเขาคุยกัน ก็อยากคุยบ้าง ที่สำคัญคือ เขาคุยถึงละครที่เราเล่นด้วยไง แล้วกูจะเอาอะไรไปคุยกับมันวะ มันอายนะโว้ย เด็กอะ เอาตัวไปอยู่ในทีวี แถมมีพ่อเป็นดาราอีก ครูก็ถามอีก งั้นเราไปอยู่ห้องสมุดแล้วกัน แล้วก็อ่านหนังสือเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ที่ไม่บวกอีก ไม่เบิกบานอีก มันก็เลยยิ่งถ่าง ถ่าง ถ่าง ไปเรื่อยๆ

ตอนเด็กๆ รู้สึกว่าไม่มีตัวตน

ไม่มี แต่อยู่มาวันหนึ่งก็มีตัวตน แต่มีตัวตนในแบบ “อะๆ ไม่ต้องไปกวนอินทิราเขา เขาต้องไปถ่ายละคร” เข้าใจใช่ไหม? มันเป็นแบบนี้

อยู่โรงเรียนก็ไม่มีเพื่อน อยู่กองก็เด็กกว่าคนอื่นเขาหมด แต่เราดันเป็นคนที่ “เรื่องของมึง” อยู่แล้วด้วยไง ฉะนั้นพอเราไปทำงาน มันก็คือทำงาน ตอนเด็กๆ จะรู้สึกแค่ว่า เอ๊…ก็เหมือนที่พ่อเราทำไง และมันก็กลายเป็นว่าเราอยากจะพิสูจน์ตัวเองด้วยซ้ำว่า เออ…กูทำได้ กูไม่ใช่เด็กเส้นนะ

ฉะนั้น ที่ถามว่าเราอยากเปลี่ยนโลกไหม เราอาจจะพูดได้ว่า เราโชคดีที่เราเทิร์นมาเล่นหนัง นางนาก ได้ถูกจังหวะเวลา เพราะ หนึ่ง-มันได้เปลี่ยนภาพจำของหนังผีไปเลย แต่หลังจากนั้น ทุกบทที่เข้ามาหาเราคือหนังผีทั้งหมด แม่งจะให้กูตายซ้ำแซะ ตายแล้วตายอีกกี่รอบกันวะ? (หัวเราะ) ดังนั้นมันเลยเหมือนมีเส้นมาตรฐานในการทำงานไปด้วยว่า มึงอยากให้กูเล่นหนังผีนักใช่ไหม ได้…กูเล่น แต่กูจะเล่นเป็นคนในหนังผีโว้ย หึ…เป็นไงล่ะ คือมันทำให้เรามีมาตรฐานการทำงานในระดับหนึ่ง

สอง-รูปลักษณ์เรามันไม่ใช่นางเอกเลยโว้ย ยืนคู่กับพระเอกก็ซบไปเจอหูแล้วอะ มันไม่มีความอ่อนโยนเลย ฉะนั้น ภาพยนตร์มันจะมีพื้นที่ให้กับคาแรคเตอร์แบบเรา อย่างเช่น บทกะหรี่ในหนังเรื่อง นาคปรก แต่เรื่องนั้นคือเราชอบมาก คือในชีวิตจริง เราจะได้เป็นกะหรี่สักกี่ครั้งในชีวิตกัน

ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตัวละครที่มีคาแรคเตอร์ชัด

ใช่ เพราะถ้าคาแรคเตอร์ไม่ชัด เขาไม่มาจ้างเราไง ใช่ปะ (หัวเราะ) ถ้าเราจะใช้ชีวิตและทำมาหากินกับอาชีพนี้ เราก็ต้องทำงานไง แต่แม่งก็ต้องมีพื้นที่ให้เราและต้องเหมาะกับเราด้วย มันเลยรู้สึกว่า เราโชคดีนะ ได้ไปเล่นหนังพอดี เวลารับงาน เราก็ดูจากความสนุกเป็นหลัก แต่ที่เล่นเพราะเงินก็มีนะ เพราะเป็นช่วงพ่อป่วย ก็โอเค ทำงานไป ช่างแม่ง

แต่มันจะมีสักจังหวะหนึ่งในชีวิตไหม ที่รู้สึกว่า อยากจะกู้โลกด้วยการเล่นแต่ละครน้ำดี หรือเคยคิดอยากเขียนบท หรือทำละครอะไรที่มันดูปัญญาชนขึ้นไหม

หึ ไม่อะ เราชอบเล่นอะไรแบบนี้ เราโคตรชอบเลย เพราะมันไม่จริงดี ชีวิตเราเหนื่อยพอแล้ว โลกแม่ง ยากพอแล้ว กูเล่นแบบนี้แหละ มันมั่นใจได้ว่าตอนสิบห้า ตัวร้ายแม่งตายแน่นอน ตอนสิบสี่แม่งต้องถูกอีนี่ฆ่า ตอนสิบหกอีนี่จะได้แต่งงาน แล้วมันก็จะมีชีวิตที่ดี happily ever after แล้วพอ คัต จบ เดินออกจากกอง เพื่อจะพบว่า “ไอ้เหี้ย รถติด สัด” อะไรแบบนี้

โลกมันแย่พอแล้ว เราเลยไม่รู้สึกค้าน ไม่รู้สึกกับการที่เรารับตังค์จากเรื่อง ปลาบู่ทอง แต่รู้สึกว่า กูเนี่ย…กู้โลกด้วยวิธีนี้อยู่ เวลาเราเห็นมนุษย์นั่งรถติดอยู่บนทางด่วนที่แถวยาวมาก มันรู้สึกว่า นี่กูจ่ายตังค์ 50 บาท มาเพื่อเหี้ยไรเนี่ย?! แต่พอเราเห็นรถคันข้างหน้าเปิดทีวีอยู่ เราจะรู้สึกดีแล้วว่า เออ อย่างน้อยเขาก็หนีจากทางด่วนดาวคะนองได้ตรงนี้วะ

ถ้าบอกว่า ละครคือประตูหนีทางออก ให้คนดูใช้หลบออกจากชีวิตจริงที่โหดร้าย ในฐานะนักแสดง ทรายใช้ละครน้ำเน่า หลีกหนีความจริงบนโลก เป็น Daily Healing Pill ของทรายด้วยไหม

ใช่ มันคือยาบ้าสำหรับเราเลย เพราะเวลาไปกองถ่าย ทุกคนต้องดูเรา ซึ่งมันเป็นอีโก้ของมนุษย์ ของคนทำงานแบบนี้เลยนะ แรกๆ ไม่มีหรอก เด๋อมาก เขาเล่นไรกันเหรอ เขาให้ทำอะไรก็ทำ งงๆ ไป เพราะไม่รู้ว่าเล่นแล้วดีไหม ไม่ดียังไง แต่หลังๆ คือ กูไม่แคร์แล้ว การมีพวกมึงไม่ได้ทำให้กูดีขึ้น ขอรับเช็คเลยค่ะ (ยิ้ม)

อันนี้ดีกว่า เป็นรูปธรรมกว่า ทุกคนโอเค แล้วเวลาเราเล่นละคร เราไม่เคยดูมอนิเตอร์เลยนะ เพราะเรากลัวผู้กำกับไม่ชอบ แต่พอผู้กำกับบอกว่า “โอเคทราย ผ่าน” มันรู้สึกว่า เห็นมั้ย…มีคน appreciate เราว้อย การได้มีชื่อเข้าชิง หรือแม้กระทั่งแค่มีคนคิด/วิเคราะห์สิ่งที่เราทำมากกว่าเรา เช่น “หูย เรื่องนี้พี่ทรายต้องตีความแบบนี้ๆ แน่เลย / แต่กูไม่ได้คิดอะไรนะ กูก็เล่นไปอะ” อะไรแบบนี้ สำหรับเรา มันคือยาอีมากๆ

dsc_9951

แล้วความคิดที่ว่า ถ้าละครเป็นแหล่งบ่มเพาะอุดมการณ์บางอย่าง เช่น เรื่องชาติ บทบาทผู้หญิง ลำดับชั้นต่ำสูงในสังคม คิดไหมว่า ตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ผลิตซ้ำอุดมการณ์ชุดนั้น

รู้สึก นี่เล่นหนังกู้ชาติมานะ มันก็ช็อกเหมือนกันว้อย ครั้งหนึ่งเราเคยทำพิธีกรรายการเด็ก ก็คุยกับเด็กว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เด็กก็บอก อยากเป็นทหาร / ทำไมอะ / จะได้ฆ่าพม่า แล้วเราแบบ เดี๋ยวๆๆ มึง มึงยังฆ่าพม่าอีกเหรอ อายุเท่าไหร่เนี่ย คือผ่านไป 300 ปีแล้วนะ แต่หลังจากนั้นคือ อ้าว…กูนี่หว่า นี่เพิ่งฆ่าไปเมื่อวานนี้เองนะ

จะอธิบายยังไงดี เรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ แต่บางทีมันก็ตลก มัน weird อะ จริงเหรอที่คิดแบบนี้ แต่เราไม่ได้รู้สึกแย่กับหนังนะ เราตั้งใจเล่น ตั้งใจทำงาน แต่พอออกมาแล้วมันแบบ เชี่ย…กูมันคือหนึ่งในผู้หล่อหลอมอุดมการณ์เลยนะ ถ้าโตขึ้นไปแล้วอีนี่เป็นทหาร คือกูใช่ไหมที่เป็นแรงบันดาลใจเขา

แต่เราไม่แน่ใจว่า มันมีผลเพราะตัวหนังเอง หรือเพราะความ hype (เผยแพร่เกินจริง) ว่าอันนี้มันเป็นเรื่องจริงกันแน่

หรือว่าเป็นแค่ความบันเทิง เพราะสำหรับเรามันเป็นแค่ความบันเทิง มันคือหนัง มันคือมหรสพ มันคือกฤษดาภินิหาร มันคือ ‘ตำนาน’ มันคือเรื่องเล่า มันคืออะไรใดๆ ก็ตาม ที่ “กูจะเล่าแบบนี้” แต่ที่น่ากลัวก็คือ ทุกคน take it serious กับมัน กลายเป็นตัวอย่างอะไรบางอย่างที่ซีเรียส ซึ่งอันนี้เราว่าน่ากลัว คือทุกคน treat มันอย่างความบันเทิง แล้วเราก็เล่นมันอย่างความบันเทิง แต่ทุกคนยกมันขึ้นมาจับยึดไว้แล้วเชื่อนี่คือเส้น standard นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ อันนี้เราว่าน่ากลัว

เหมือนเราไม่ถูกสอนให้ทำความเข้าใจว่า ‘ประวัติศาสตร์คืออะไร’

ตำนานนะลูก ตำนาน คือเราไม่รู้จะอธิบายยังไงอะ คือคุณเชื่อ Game of Thrones เหรอ เชื่อว่าอีนี่เป็นแม่มังกรจริงๆ เหรอ?

คล้ายกับว่าในขณะที่เรียกร้องความบันเทิง แต่จับยึดว่านี่คือเรื่องจริง?

อย่างเรื่อง บางระจัน ที่ขอปืนใหญ่จากกรุงศรีฯ เฮ้ย ถ้าเราเป็นกรุงศรีฯ เราก็มีสิทธิ์ไม่ให้นะ มึงจะยิงกูปะ เพราะมันไม่ใช่จังหวัดบางระจัน จังหวัดกรุงเทพฯ อย่างทุกวันนี้ แต่ทุกคนคิดว่า เอ้ย…กรุงศรีฯ ใจร้ายอะ แต่เดี๋ยวๆๆ ใจเย็นๆ ก่อนนะ คือเราไม่ได้บอกว่าเขาไม่ดีโว้ย แต่นี่คือเรื่องของการปกครอง ไม่ใช่ว่าฉันทำแกงเขียวหวานแล้วเอามาแบ่งเธอ ไม่ใช่ นี่คือการขอยืมปืน ‘คนข้างบ้าน’ เพราะว่าเมื่อคืนฉันเห็นแสงอะไรแวบๆ ก็ไม่รู้ ขอยืมปืนหน่อยได้ไหม มันไม่ใช่ไหม?

พอมันเป็นเรื่องของการเมือง ไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม ทุกคนจะรู้สึกว่า การเมืองแม่งพูดถึงยาก เราอย่าไปพูดถึงมันเลย ดังนั้นทุกคนก็เลยพร้อมใจกันไม่พูดความจริง แต่เอาจริงๆ ละครทุกเรื่องมันก็การเมืองทั้งหมด

มีด้วยหรือ การเมืองในละครน้ำเน่า? 

ทำไมนางเอกถึงต้องสู้ชีวิต เอ๊า…รัฐสวัสดิการมันไม่ดีไง ไม่มีหนังเรื่องไหนเลยที่พอแม่นางเอกไอแค่กๆ แล้วจะมีคนบอกให้เขาไปใช้สิทธิ์สามสิบบาท มีแต่ว่า ถ้าพ่อแม่ป่วยไข้ เจ็บหนัก อีนี่ต้องออกไปสู้โลกละ

ท้ายสุด ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะเปลี่ยนจากละครสะท้อนสังคม เป็นนำสังคม

เปลี่ยนเป็นไรอะ กลับไปเป็นเหมือนเดิมก่อนแบบที่เราเคยได้ดู ผู้พิชิตมัจจุราช สนุกมาก แฝงธรรมะด้วย คำพิพากษา ซีอุย อะไรอีก เหยื่อ คุณหญิงนอกทำเนียบ กลับไปเป็นเหมือนเดิม จะมีพื้นที่ให้เราได้ทำอะไรมากขึ้นด้วย มองในแง่อาชีพ จะมีอะไรให้เราทำมากขึ้นด้วย (หัวเราะ)

 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า