ในโลกของการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ว่าบุคคลใดจะเคยมีตำแหน่งและอำนาจขนาดไหน ถ้าได้ทำผิดไว้ก็ย่อมจะมีวันหนึ่งที่ต้องเผชิญกับความยุติธรรมที่สังคมจะมอบให้
อดีตนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ฟรองซัวส์ ฟิลยง (François Fillon) กับภรรยา พีเนโลพี ฟิลยง (Penelope Fillon) รวมทั้งอดีตผู้ช่วย มาร์ค จูโลด์ (Marc Joulaud) ถูกศาลปารีสพิพากษาว่ามีความผิด ข้อหายักยอกเงินงบประมาณสาธารณะ สมรู้ร่วมคิด และร่วมกันปกปิดการกระทำผิด
คำพิพากษาสรุปว่า ขณะฟิลยงอยู่ในตำแหน่ง เคยจ่ายค่าจ้างแก่ภรรยา ลูกๆ และผู้ช่วย เป็นเงินรวมหลายแสนยูโร จากงบประมาณของรัฐ เพื่อตอบแทนการงานอันน้อยนิด หรือแทบไม่ปรากฏประโยชน์ใดๆ
ฟิลยงถูกตัดสินจำคุก 5 ปี โดยรอลงอาญา 3 ปี ปรับ 375,000 ยูโร (13 ล้านบาท) และตัดสิทธิลงเลือกตั้งนาน 10 ปี พีเนโลพีถูกตัดสินจำคุก 3 ปี โดยรอลงอาญา และค่าปรับ 375,000 ยูโรเช่นกัน
ฟิลยงกับจำเลยร่วมทั้งหมดถูกศาลสั่งให้ชดใช้เงินกว่า 1 ล้านยูโร (34.68 ล้านบาท) ให้แก่สภาสมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศส (Assemblée Nationale)
ทนายความของเขาโวยวายว่าไม่ยุติธรรมและกล่าวว่าจะยื่นอุทธรณ์ในทันที ทำให้อดีตนายกฯ ยังไม่ต้องเดินเข้าตะรางตอนนี้
ฟิลยงเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้ประธานาธิบดีนิโกลาส ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) ระหว่างปี 2007 ถึง 2012 ปัญหาเริ่มปรากฏในปี 2017 เมื่อ Le Canard Enchainé หนังสือพิมพ์เสียดสีของฝรั่งเศส ออกมาแฉว่าภรรยาเขากับลูกสองคนมีรายได้เกือบ 1 ล้านยูโรในตำแหน่งผู้ช่วยงานของรัฐสภา สำหรับการงานแบบปลอมๆ กลวงๆ แหกตาประชาชน และนำไปสู่ข้อกล่าวหาว่า เขาทำให้สภาเป็นแหล่งหากินของครอบครัวตามประสาผัวเมียกับลูกๆ อย่างอื้อฉาว
เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาในเวลานั้น โดยอ้างว่าภรรยาเคยทำงานมากว่า 15 ปีในฐานะผู้ช่วย และเธอจัดการงานในหลายบทบาท รวมถึงจัดตารางงาน เป็นตัวแทนเขาในกิจกรรมด้านวัฒนธรรม นอกจากนี้เขายังบอกว่าลูกสาวและลูกชายของเขาได้รับจ้างงานในตำแหน่งคล้ายกันนั้นเป็นเวลา 15 เดือนและ 6 เดือนตามลำดับ ซึ่งเขาอ้างว่าไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่เป็นสิ่ง “ผิดพลาดในการตัดสินใจ” เท่านั้น
ข่าวกล่าวว่า ประเด็นต่อสู้ของฟิลยงแขวนอยู่กับเหตุผลข้อเท็จจริงที่ว่า “ผัวเมียกันเมื่อจ้างงานกันและกัน ใครจะเอากิจกรรมส่วนไหนมาชี้ชัดได้ว่าเป็นการทำงานตามที่ได้รับค่าตอบแทน หรือเพื่อสนองตอบความต้องการของคู่สมรสตามควร” เขาจึงไม่ควรถูกตัดสินว่าผิด
จะว่าไปแล้ว เหตุผลที่ฟิลยงยกขึ้นต่อสู้คล้ายกับนัยยะ “นี่ เธอเกาหลังให้ฉันหน่อยซิ” แล้วเมียก็ทำให้ตามนั้น แต่พอดีการเกาหลังนี้เกิดในที่ทำงานของสภา ใครจะไปตัดสินได้ว่าการกระทำนั้นคือการกระทำในสถานะผู้ช่วยงานรัฐสภา หรือเป็นการทำหน้าที่ภรรยาช่วยสามี? — นี่เป็นการสมมุติ แต่มันก็ดูตลกที่ต้องมาต่อสู้กันในศาลด้วยเหตุผลเช่นนี้
เรื่องอื้อฉาว ‘สภาผัวเมีย’ นี้ส่งผลทำลายการรณรงค์ทางการเมืองที่เขามุ่งช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส เมื่อปี 2017 ลงสิ้นเชิง และเป็นการเปิดหนทางให้กับชัยชนะของ เอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน