เรื่อง: ไขแสง นรปติ
ภาพถ่าย: บ้านราษฎร์ โฟโต้
ครบรอบสามปีการรัฐประหาร คสช. แล้ว (ทำไมรู้สึกว่า…นานเหลือเกิน) ย้อนไปช่วงระยะเวลาหนึ่งเดือนหลังจากที่ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 1 ถูกอ่าน ในปี 2557 ประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาต้านรัฐประหาร พร้อมกับได้รับของแถมให้ถูกดำเนินคดีแบบที่เรียกได้ว่า ‘เทกระจาด’ ไปไม่น้อยเช่นกัน
การต้านรัฐประหาร 2557 โดยสันติ แท้จริงแล้วเกิดขึ้นในหลายจังหวัด ทว่าในหลายกรณีที่เราหยิบยกขึ้นมาเตือนความทรงจำ กลับเป็นเรื่องที่แทบไม่น่าเชื่อว่าเคยเกิดขึ้นจริง – ว่าเราเคยมีการต้านรัฐประหารมาก่อน
กรณีแรก เป็นการต่อต้านรัฐประหารในเชิงภาษาสัญลักษณ์ ที่เหล่าสามัญชนคนธรรมดาสร้างสรรค์กันขึ้นมาเอง และแบบที่สอง คือ ไม่ได้ (อยากจะ) สร้างสรรค์อะไร แต่คณะรัฐประหารตีความว่า ที่คุณทำมันหมิ่นอำนาจผม!
แบบแรก
พกสติกเกอร์ ‘ไม่เอารัฐทหาร’ โดนอุ้มหายไปสามวัน
เรื่องนี้เริ่มขึ้นหลังการรัฐประหารเริ่มขึ้นราวหนึ่งสัปดาห์ เมื่อมีนักศึกษารามคำแหงหายตัวไป ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง แฟนๆ ก็เป็นห่วงเป็นใย ว่าหายไปไหน ติดต่อก็ไม่ได้ทั้งวัน จนมาพบอีกทีที่ สน.หัวหมาก ตอนบ่ายๆ อีกวัน หลังจากที่ทหารพาตัวหายไปกลางดึก พวกเขาถูกปิดตาพาเดินทางไปไหนต่อไหน เจ้าตัวก็ไม่รู้ เปิดหน้าออกมาก็พบว่า ได้ของขวัญเป็นบันทึกการจับกุม เพราะตรวจพบว่า มีสติกเกอร์เขียน ‘ไม่เอารัฐทหาร’ อยู่ในกระเป๋า
พ่นสเปรย์ ‘คืนอำนาจให้ประชาชน’ ถูกตามจับคากระทรวง
หญิงข้าราชการกระทรวงวัยกลางคนแห่งหนึ่ง เข้าร่วมชุมนุมต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในช่วงหลังรัฐประหารไม่กี่วัน กองกำลังทหารและรถ GMC ถูกประชาชนจำนวนมากล้อมไว้ จนต้องถอยร่นออกไป ด้วยอารมณ์โกรธ เธอคว้ากระป๋องสเปรย์ สะบัดตัวอักษร ‘คืนอำนาจให้ประชาชน’ ใส่รถ GMC ที่จอดทิ้งอยู่ ผลคือ เธอถูกตามไปจับกุมทีหลัง พร้อมกับให้เซ็น MOU สัญญาว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก
สวมหน้ากาก ‘PEOPLE’ พาขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ไป สน.ลุมพินี
การนัดหมายต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติ กระจายไปตามจุดสำคัญของกรุงเทพฯ บ่ายวันหนึ่ง คุณป้าวัย 60 ปี ก็สวมหน้ากากกันฝุ่นสีขาว บรรจงเขียนข้อความว่า ‘PEOPLE’ นั่งรถเมล์ออกจากบ้านมารวมตัวกับคนอื่นๆ ที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาราชประสงค์ เธอยืนนิ่งๆ อยู่ไม่นานนัก คิดว่าจะเดินทางกลับแล้ว จู่ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบพาขึ้นมอเตอร์ไซค์ไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.ลุมพินี
กินแซนด์วิชไม่เอารัฐประหาร จับไปปรับทัศนคติ
นอกจากคุณป้าและคุณลุงที่ออกมาต้านรัฐประหาร นักศึกษากลุ่มหนึ่งก็เริ่มปิ๊งไอเดีย จะแจกแซนด์วิชให้มาร่วมกันยืนกินเฉยๆ เพื่อต้านรัฐประหาร ตามมหาวิทยาลัย เช่น ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ พร้อมกับขอรับบริจาคเงินสมทบทุนจากประชาชน เพื่อหาวัตถุดิบมาทำแซนด์วิชแจก จากแซนด์วิชที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามก็เริ่มจืดชืดทันที เพราะนัดหมายครั้งต่อมาที่หน้าห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านปทุมวัน ทั้งหมดยืนกินกันไม่นานนัก คนทำแซนด์วิชมาแจกก็ถูกเจ้าหน้าที่รวบตัวไป เข้าค่ายทหาร และหลักฐานการจับกุมอย่าง ‘แซนด์วิช’ จนถึงปัจจุบันยังหาไม่เจอว่าอยู่ที่ใด
ชูสามนิ้ว หน้าโรงหนังพารากอน พาไปลงบันทึกประจำวัน
สัญลักษณ์หนึ่งของการต้านรัฐประหารในช่วงหนึ่งเดือนแรกของการใช้กำลังยึดอำนาจ ประชาชนสามารถใช้มือของตัวเอง ชูนิ้วเรียงกันงามๆ แต่ให้ความหมายว่า ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ และการชูสามนิ้ว อีกนัยหนึ่งเป็นการเลียนแบบภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games ที่มีเนื้อหาต่อต้านเผด็จการเพื่อต่อต้านรัฐประหาร โดยเกิดขึ้นครั้งแรกที่ห้างเทอร์มินอล 21 หลังจากนั้น คนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารก็ชูกันกระจายไปโลกโซเชียลตามสถานที่สำคัญๆ ไม่มีใครบอกได้ว่า ใครเป็นผู้ริเริ่มการชูสามนิ้วเป็นคนแรก แต่หลังจากนั้นก็มีคำสั่งจากรัฐบาลทหารห้ามชูสามนิ้วขึ้นมา จนถึงขั้นที่ครั้งหนึ่ง ตำรวจนครบาลจัดแถลงผลงานจับประชาชนที่ชูสามนิ้วได้เจ็ดคน
อ่านหนังสือ 1984
นายคนหนึ่ง ได้รับการนัดหมายจากโลกโซเชียล ถือหนังสือ 1984 นวนิยายคลาสสิกของ จอร์จ ออร์เวลล์ ไปนั่งอ่านที่หน้าห้างสยามพารากอน นั่งอยู่นาน เพื่อนๆ ที่นัดกันมาก็ไม่มีใครมานั่งแล้ว เพราะถูกจับกุมไปทั้งหมด เขาจึงตัดสินใจนั่งอ่านเงียบๆ คนเดียวใต้ต้นอินทผลัม ทันใดนั้น เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนก็มาล้อมตัวเขา พร้อมเข้าถามไถ่ทันที เรื่องที่ถามกลับไม่ใช่เนื้อหาของหนังสือวิเคราะห์เผด็จการจอมปลอมเล่มนั้น แต่เป็นคำถามสุภาพๆ ว่า “ใครจ้างมา” แน่นอนหนุ่มคนนั้นนั่งอยู่ได้ไม่นานนัก ก็ถูกเจ้าหน้าที่จำนวนหลายนายลากขึ้นรถไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.ปทุมวัน
แบบที่สอง
ปั่นจักรยานในนามกลุ่มเส้นทางสีแดง โดนเอาถุงคลุมหัวเข้าค่าย
หนุ่มเสื้อแดงคนหนึ่งร่วมกับเพื่อนทำกิจกรรมปั่นจักรยานในนาม ‘กลุ่มเส้นทางสีแดง’ มาเป็นเวลาสี่ปีแล้ว ก็ทำกันไปตามปกติ แต่หลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ดูเหมือนว่ากิจกรรมที่เขาทำกลายเป็นภัยความมั่นคงขึ้นมาทัน การเดินทางไปหกประเทศในอาเซียนไม่ได้รับอนุญาตอีกต่อไป วันหนึ่ง เขาถูกทหารและตำรวจนำรถมารับที่บ้าน แจ้งให้เก็บเสื้อผ้าและนำตัวขึ้นรถ โดยใช้ถุงผ้าสีเขียวเข้มคลุมศีรษะ สายพลาสติกรัดที่นิ้วทั้งสองข้าง พาไปสอบสวนที่ค่ายทหาร
สวมเสื้อแดงขายปลาหมึก ถูกจับถอดเสื้อ
ที่เชียงใหม่ พ่อค้าขายปลาหมึกที่ริมถนนทิพย์เนตร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กำลังทำมาหากินตามปกติ ก็มีนายทหารห้านายมาหาที่ร้าน แน่นอนไม่ได้มาซื้อปลาหมึก พ่อค้าคนนั้นถูกสั่งให้ถอด เสื้อสีแดง ที่มีลวดลายเป็นภาพใบหน้า นายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยอ้างว่าฝ่าฝืนกฎอัยการศึก มีการโต้เถียงกันสักระยะ ก่อนที่พ่อค้าคนนั้นจะยอมถอด และเสื้อสีแดงตัวนั้นก็ถูกเจ้าหน้าที่ยึดไป
เดินบวชป่า โดนจับ
หลังรัฐประหาร ไม่เพียงแค่ประเด็นทางการเมืองที่ดึงดูดใจให้รถฮัมวี่มาเยี่ยมบ้าน การเดินบวชป่าของชาวบ้านในหลายพื้นที่ก็กลายเป็นภัยความมั่นคง ในชุมชนลุ่มน้ำชีแห่งหนึ่ง ชาวบ้านจัดกิจกรรมเดินไปตามกุดห้วย ลึกไปในป่าเขา ตลอดจนการลัดเลาะตามทุ่งนา ก็ถูกห้ามจัด เนื่องจากเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นภัยความมั่นคง ขณะที่ในหมู่บ้านของจังหวัดขอนแก่น ที่ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม จากการปล่อยของเสียบริษัทยักษ์ใหญ่ ก็ถูกสั่งห้ามว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง
ส่งทหารตรวจสอบหนุมานชูสามนิ้ว
การจับกุมและสอดส่องประชาชน เป็นไปอย่างละเอียดยิบ ไม่ปรานีแม้กระทั่งรูปปั้นหนุมานที่เมืองเพชรบุรี เมื่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคงตรวจสอบว่า มีหนุมานทำท่าชูสามนิ้ว กองทัพจึงส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบรูปปั้นหนุมานที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรีว่า หนุมานตั้งใจชู ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’
เหมือนในหนัง The Hunger Games หรือไม่ เรื่องมาลงเอยอย่างสบายใจ เมื่อพบว่ารูปปั้นนี้ปั้นไว้นานมากแล้ว ยืนยันด้วยคำให้การของเจ้าอาวาสว่า แท้จริงหนุมานชูสามนิ้วมีความหมายว่า ‘ชาติ ศาสนา พระหากษัตริย์’
อ้างอิงข้อมูลจาก: ข้อมูลบางส่วนมาจากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tlhr2014.com/th/?wpfb_dl=2
สำหรับการวิเคราะห์ภาษาและสัญลักษณ์ในการต่อต้านการรัฐประหาร สามารถอ่านได้ที่ https://drive.google.com/file/d/0B7m3dhPT8076cjZmTVBWQnFTSDg/view