บ่ายวันอาทิตย์ที่กลิ่นคาวปลาตลบอบอวลไปทั่วท่าเรือกัลปังหาในจังหวัดตราด แรงงานประมงชาวกัมพูชาหลายสิบคนต่างกำลังตั้งหน้าตั้งตาทำงานของตัวเองโดยไม่สนใจใคร บนพื้นที่ลื่นไปด้วยเมือกปลาทะเลมีคนงานกำลังขนปลาที่จับได้ขึ้นจากเรือ คนงานที่วุ่นวายอยู่กับการบดน้ำแข็งลงในถังเก็บของเรือ เพื่อเตรียมตัวออกเรือหาปลาใหม่อีกครั้ง
การขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจประมงทำให้ตราดเป็นจังหวัดชายแดนจังหวัดหนึ่งที่ระเบียบกรมการจัดหางาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาจัดสรรจำนวนการจ้างคนต่างด้าว ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 อนุญาตให้มีการจ้างงานชายแดนในลักษณะชั่วคราวตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับ 2 พ.ศ. 2561) เพื่อแก้ปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการ แรงงานสามารถเดินทางข้ามมาทำงานแบบไปเช้า-เย็นกลับ หรือ เข้ามาทำงานชั่วคราวตามฤดูกาลได้
แรงงานประมงชาวกัมพูชาหลายคนมักเลือกใช้วิธีเข้ามาทำงานชั่วคราวตามฤดูกาล เดินทางเข้ามาทำงานเป็นลูกเรือในจังหวัดตราด
แต่โอกาสในการทำงานของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ การจะเป็นแรงงานตามมาตรา 64 ได้ก็มีเงื่อนไขที่แรงงานต้องฝ่าฟันเช่นกัน
- แรงงานตามมาตรา 64 จะต้องเป็นแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในจังหวัดของประเทศต้นทางตรงตามที่กฎหมายกำหนด เช่น จังหวัดตราดของไทยอยู่กับจังหวัดเกาะกงของกัมพูชา ผู้ประกอบการไทยสามารถจ้างคนกัมพูชาในจังหวัดเกาะกงเข้ามาทำงานให้ตนเองได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวกัมพูชาในจังหวัดอื่นหลายคนจึงต้องใช้วิธีการบนดินและใต้ดินย้ายทะเบียนบ้านให้มีภูมิลำเนาอยู่ในเกาะกง เพื่อจะได้เดินทางข้ามมาเป็นแรงงานตามมาตรา 64 ได้
- แรงงานประมงตามมาตรา 64 ต้องถือหนังสือผ่านแดน (border pass) เดินทางไปตีตราเข้า-ออกไทยกัมพูชาทุกเดือน เนื่องจากแม้ว่าพวกเขาจะได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในจังหวัดชายแดนที่กฎหมายกำหนดได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่พวกเขากลับได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในราชอาณาจักรชั่วคราวเพียง 30 วันเท่านั้นตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แรงงานจึงต้องเดินทางออกนอกประเทศทุกเดือน เพื่อไม่ให้อยู่เกินกำหนด อันจะทำให้การอยู่อาศัยในประเทศไทยของพวกเขาผิดกฎหมาย ความไม่สอดคล้องกันของกฎหมายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวและกฎหมายคนเข้าเมือง สร้างภาระและค่าใช้จ่ายให้แก่แรงงานประมงที่เดินทางเข้ามาทำงานโดยไม่จำเป็น
ชีวิตแรงงานประมงที่ต้องเสี่ยงอันตรายอยู่กลางทะเล เมื่อขึ้นฝั่งมาพวกเขาก็ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะสูญเสียรายได้จากลูกล่อลูกชนของนายจ้าง ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อกำหนดของกฎหมาย ที่ตราดนายจ้างส่วนใหญ่มักจะยึดสมุดบัญชีธนาคารและบัตร ATM ของลูกจ้างไว้ และจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างเป็นเงินสดแทน ส่วนสมุดบัญชีธนาคารนายจ้างจะเก็บไว้โอนเงินเดือนเข้า-ออกเอง เพื่อจะได้มีหลักฐานยืนยันการโอนเงินเดือนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย
นอกจากนี้นายจ้างหลายคนยังมีธรรมเนียมการจ่ายเงินเดือนแบบจ่ายส่วนหนึ่งและหักเก็บไว้อีกส่วนหนึ่ง หากแรงงานประมงคนนั้นมีเงินเดือน 15,000 บาท นายจ้างจะแบ่งจ่ายให้ 10,000 บาทต่อเดือน และเก็บ 5,000 บาทไว้ทุกเดือน แล้วรอจ่ายเป็นเงินก้อนตอนตัดบัญชีใหญ่ปลายปี โดยอ้างเก็บไว้เป็นเงินค่าทำบัตรต่างๆ ที่สำรองออกให้แรงงานไปก่อน
แต่ในอีกแง่หนึ่งการจ่ายเงินเดือนไม่ครบเช่นนี้เป็นวิธีการที่จะผูกมัดให้แรงงานอยู่ทำงานให้นายจ้างไปจนครบปี เนื่องจากการออกเรือประมงแต่ละครั้งจะมีศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก หรือ PIPO (Port in Port out Controlling Center) เช็คชื่อลูกเรือทุกคนก่อนออกเรือและกลับเข้าท่าทุกครั้ง หากรายชื่อไม่ตรงตามที่แจ้งไว้ หรือคนงานมาไม่ครบตามจำนวน PIPO ก็จะไม่อนุญาตให้เรือลำนั้นออกทะเลได้ นายจ้างจึงต้องหาทางทำให้แรงงานอยู่กับตนเองให้นานที่สุด เพื่อลดความยุ่งยากในการออกเรือและการแจ้งรายชื่อลูกเรือใหม่กับ PIPO
ถึงตอนนี้ถ้าดูตามปฏิทินชีวิตของแรงงานประมงชายแดนตามมาตรา 64 ในจังหวัดตราดจริงๆ พวกเขาเป็นแรงงานถาวรที่มีการจ้างงานกับนายจ้างตลอดทั้งปี บนเงื่อนไขของสถานะชั่วคราวที่รัฐกำหนดให้ต้องไปต่อใบอนุญาตทำงานทุก 3 เดือน และเดินทางเข้าออกประเทศทุกเดือนนั่นเอง
ภายใต้ความปลอดภัยในการทำงานที่ต่ำของแรงงานประมง กฎหมายยังเปิดช่องให้นายจ้างมีสิทธิเลือกได้ว่าจะนำลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคม หรือซื้อบัตรประกันสุขภาพให้แก่ลูกจ้าง ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการหรือลูกจ้างอื่นที่ไม่อยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม พ.ศ. 2560 มาตรา 3 (6) ในส่วนของลูกจ้างในกิจการประมงซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดทั้งปี
ดังนั้นนายจ้างจึงไม่จำเป็นต้องนำแรงงานประมงชายแดนที่มีลักษณะเป็นการทำงานชั่วคราว (ถาวรตลอดทั้งปี) ตามมาตรา 64 เข้าสู่ระบบประกันสังคมได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่มักตัดปัญหาการส่งเบี้ยประกันสังคมทุกเดือนให้แก่ลูกจ้าง ด้วยการซื้อบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวแบบ 3 เดือน ในราคา 500 บาท ให้แก่ลูกจ้างที่มาทำงานให้กับตนเองแทน เนื่องจากมีราคาถูกและไม่ยุ่งยาก
เมื่อนายจ้างไม่เลือกประกันสังคม แล้วแรงงานประมงเหลือสิทธิอะไร?
บัตรประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวคุ้มครองเพียงแค่การเจ็บป่วยทั่วไป (การเจ็บป่วยนอกงาน) และการคลอดบุตรเท่านั้น สิทธิประโยชน์ของบัตรประกันสุขภาพไม่ครอบคลุมกว้างเท่ากับประกันสังคมที่ดูแลชีวิตลูกจ้างไปถึงกรณีการทุพพลภาพ ตาย เงินสงเคราะห์บุตร เงินชดเชยกรณีว่างงาน และกรณีชราภาพ ซึ่งถ้านายจ้างยอมพาลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมหลังส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน สิทธิในการรักษาพยาบาลของลูกจ้างจะเกิดในเดือนที่ 4 หรือเมื่อครบกำหนดการต่อใบอนุญาตทำงานครั้งที่ 2 พอดี
นอกจากประกันสังคมแล้วกองทุนเงินทดแทนยังเป็นอีกหลักประกันหนึ่งที่จะสามารถช่วยดูแลชีวิตแรงงานประมงจากการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุจากการทำงานได้ แต่นายจ้างส่วนใหญ่ก็มิได้พาแรงงานประมงชั่วคราว (ถาวรตลอดทั้งปี) ตามมาตรา 64 ไปขึ้นทะเบียนกับกองทุนเงินทดแทนเช่นกัน เนื่องจากเป็นการสร้างภาระให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องส่งเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด
พร กิม เป็นแรงงานประมงชาวกัมพูชาคนหนึ่งที่ต้องสูญเสียนิ้วมือของตัวเองให้กับการทำงาน หลังการออกเรือวันนั้นขณะที่เขากำลังควงเชือกหมุนอวนลากปลาขึ้นมา นิ้วกลางข้างซ้ายของเขาไปติดเข้ากับรอกข้างเรือ จนทำให้นิ้วขาด พร กิม ยอมรับว่า ความเหนื่อยล้าจากการมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและทำงานติดต่อกันหลายวัน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการผิดพลาดครั้งนั้น เขาได้รับเพียงมนุษยธรรมจากนายจ้าง (ที่ไม่พาเขาไปขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมและกองทุนเงินแทน) ออกค่ารักษาพยาบาลให้ แต่เขาก็ไม่ได้รับเงินทดแทนจากการสูญเสียอวัยวะจากการทำงานอย่างที่ควรจะได้ตามกฎหมาย
นี่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแรงงานประมงชายแดนตามมาตรา 64 ที่ต้องตกอยู่ในมาตรฐานขั้นต่ำที่ต่ำสุดของหลักประกันสุขภาพที่ไม่สอดคล้องกับการทำงานของพวกเขา ทั้งที่หลักประกันสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อชีวิตคนที่ทำงานเสี่ยงอันตรายอย่างแรงงานประมง…แต่แขน ขา มือไม้ และชีวิตของพวกเขากลับไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายเหมือนอย่างแรงงานในอาชีพอื่น