“คำว่า ‘บ้าน’ สำหรับคุณหมายถึงอะไร”
“สำหรับผม บ้านคือที่ที่ปลอดภัย…ที่ที่เรารู้ว่าเราจะอยู่ได้ และไม่ต้องหนีไปไหนอีกแล้ว”
หนึ่งคำถามสามารถพาไปสู่คำตอบที่หลากหลาย แต่สำหรับบางคน คำถามเรื่องบ้านทำให้เขาย้อนนึกไปถึงความทรงจำอันหนักอึ้งให้ปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง ความทรงจำที่ต้องพลัดพราก ปวดร้าว สิ้นหวัง และการหนีไปให้พ้นจนแทบไม่อยากกลับมาพูดถึงอีก – นั่นคือความทรงจำของ ‘ผู้ลี้ภัย’
การ ‘หนี’ ที่ว่านั้นเป็นเรื่องจริงที่ถูกบอกเล่าผ่านภาพยนตร์สารคดีแอนิเมชั่น Flee โดยมี อามิน นาวาบี ผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถาน เป็นผู้เล่าเรื่องราวหลักในภาพยนตร์นี้ ปัจจุบันเขาประสบความสำเร็จทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตคู่ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถ่ายทอดแง่มุมชีวิตซึ่งไม่เคยเปิดเผยมาก่อน อามินต้องมีความพร้อมและความพยายามเป็นอย่างมากกว่าที่จะเล่าเรื่องราวของตนเองกับ โยนัส โพเฮอร์ รัสมุสเซน เพื่อนวัยเด็กที่รู้จักกันในช่วงที่อามินมาถึงเดนมาร์กและย้ายไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ และเขายังกำกับภาพยนตร์สารคดีแอนิเมชั่นนี้อีกด้วย
Flee ฉายภาพเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตของอามินในหลากหลายแง่มุม ผ่านลายเส้นแอนิเมชั่นเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้เล่าเรื่อง สลับกับภาพสารคดีจากเหตุการณ์จริง โดยไม่ได้เลือกสรรเพียงมุมมองความยากลำบากที่ต้องเผชิญระหว่างการลี้ภัย แต่ยังแฝงถึงประเด็นอื่นๆ อย่างการยอมรับในตัวตนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) หรือจิตวิทยา ด้วยเรื่องของ ‘การไว้ใจใครสักคน’ ซึ่งบาดแผลและความเจ็บปวดของอามินในอดีต ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรัก สภาพจิตใจ และการใช้ชีวิตของเขามาจนถึงทุกวันนี้
คำว่า ‘บ้าน’ สำหรับอามิน ทำให้เขานึกย้อนไปถึงอดีตที่เจ็บปวดซึ่งต้องพลัดพรากจากคนในครอบครัว ภาพยนตร์ตัดสลับเหตุการณ์ปัจจุบันกับการเล่าถึงความทรงจำวัยเด็กของอามิน ซึ่งเดิมเขาอาศัยอยู่กับครอบครัวในอัฟกานิสถาน แต่ด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากผู้มีอำนาจ ทหารทำการยึดครองบ้านเมือง ทำให้หลายครอบครัวต้องอพยพหลบหนี และครอบครัวของอามินก็เป็นหนึ่งในนั้น
จากชีวิตพลเมืองสู่ชีวิตอันเปลือยเปล่า
การบอกเล่าเรื่องราวชีวิตการลี้ภัยของอามินและครอบครัว เสมือนเป็นภาพสะท้อนแนวคิด ‘ชีวิตอันเปลือยเปล่า’ (bare life)[1] ของ จิออร์จิโอ อากัมเบน (Giorgio Agamben) ชีวิตทางกายภาพที่ถูกแยกออกจากสังคมการเมือง แต่ยังอยู่ภายใต้อำนาจรัฐและกฎหมาย และถูกนับรวมในส่วนที่มิอาจนับรวมได้ กล่าวคือ รัฐรับรู้การมีอยู่ของพวกเขา ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับพวกเขาให้เป็นพวกเดียวกัน
เดิมทีพวกเขาอาศัยอยู่ในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน มีบ้านของตัวเอง มีสิทธิทางการเมืองและสถานภาพพลเมืองภายใต้กฎหมายของรัฐอัฟกานิสถาน พวกเขาสร้างประโยชน์ให้รัฐไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเป็นชีวิตทางการเมืองที่มีคุณค่าสำหรับรัฐ แม้ขณะนั้นจะเป็นยุคสงครามเย็น
กระทั่งปี 1979 กองกำลังทหารของสหภาพโซเวียตบุกยึดอัฟกานิสถาน ชาวอัฟกันจำนวนหนึ่งจึงก่อตั้งกลุ่ม ‘มูจาฮีดีน’ มีการระดมผู้ชายตั้งแต่วัยรุ่นขึ้นไปไปเป็นทหาร ทว่าการระดมผู้คนนั้นไม่ได้เกิดจากความเต็มใจ แต่เป็นการบีบบังคับ ไล่ล่า ให้ชายชาวอัฟกันไปเป็นกองกำลังทหารขับไล่โซเวียตออกจากประเทศ ทำให้เด็กชายอัฟกานิสถานหลายพันคนต้องหลบหนี พี่ชายของอามินก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะผู้คนต่างรู้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้ไม่เคยมีใครไปแล้วได้กลับมาอีก
ชาวอัฟกันหลายพันคนพากันลี้ภัยจากภาวะสงคราม สถานการณ์ทวีความรุนแรง ครอบครัวของอามินเป็นกลุ่มท้ายๆ ของการลี้ภัยครั้งนั้น พวกเขาเดินทางไปถึงมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย 1 ปีให้หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย เพื่อรอจังหวะเวลาเดินทางไปยังประเทศปลายทางคือ เมืองสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ที่พี่ชายคนโตลี้ภัยไปก่อนหน้าและทำงานส่งเงินมาให้สำหรับค่าอพาร์ตเมนต์ในรัสเซีย รวมถึงค่าใช้จ่ายให้กลุ่มค้ามนุษย์พาอามินและครอบครัวเดินทางข้ามพรมแดน
อามินและครอบครัวกำลังจะได้วีซ่านักท่องเที่ยวในรัสเซีย แต่เมื่อวีซ่าหมดอายุ พวกเขาต้องอยู่อย่างผิดกฎหมาย ใช้ชีวิตอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมในอพาร์ตเมนต์ เพราะหากออกไปข้างนอกอาจถูกตำรวจเรียกตรวจพาสปอร์ต แล้วก็ข่มขู่รีดไถเงินหรือของมีค่าอื่นๆ โดยใช้ข้ออ้างว่าจะยอมปล่อยพวกเขาไป หรือบางครั้งตำรวจก็บุกตรวจถึงที่พัก สะท้อนให้เห็นว่า แม้ผู้ลี้ภัยจะปราศจากสถานภาพพลเมือง ไม่มีสิทธิทางการเมือง และถูกลดทอนคุณค่าให้เหลือเพียงชีวิตที่เปลือยเปล่า แต่พวกเขาก็ยังคงถูกกำกับโดยอำนาจรัฐและกฎหมายของรัสเซีย
ผู้ลี้ภัยอย่างพวกเขาจึงทั้งถูกกีดกันและโดนกระทำจากตำรวจที่เป็นตัวแทนผู้ใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ด้วยคำพูด รีดไถทรัพย์สิน จับกุม ทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่การคุกคามทางเพศอย่างร้ายแรง โดยตำรวจเหล่านั้นไม่เคยต้องโทษอะไร เพราะผู้ลี้ภัยแทบไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ จากรัฐ
หลบหนี ปกปิด และไม่ไว้ใจ ราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าแค่การเดินทาง
จากครอบครัวขนาดใหญ่ สมาชิกแต่ละคนเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่ประกอบเข้าด้วยกัน ทว่าสถานการณ์ทางการเมือง ความรุนแรงและภัยอันตราย นำมาสู่การกระจัดกระจายออกไปของจิ๊กซอว์แต่ละส่วน ตั้งแต่พ่อของอามินที่ถูกจับกุมด้วยข้อหาว่าเป็นภัยต่ออัฟกานิสถานและหายตัวไปไม่กี่เดือนหลังจากนั้น พี่ชายคนโตที่ลี้ภัยไปยังสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน แล้วทำงานส่งเงินมาให้ครอบครัวสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายและค่าหลบหนีให้กลุ่มนายหน้าค้ามนุษย์พาพวกเขาออกจากรัสเซีย ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะไปสู่ประเทศปลายทางในยุโรปได้
พี่สาวของอามินได้เดินทางออกจากรัสเซียไปก่อน ทว่ากลับได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างคาดไม่ถึง เมื่อกลุ่มค้ามนุษย์ให้พวกเธออยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ที่ปิดทึบ แออัดไปด้วยผู้คนที่ต้องการลี้ภัย และแฝงไปกับเรือขนสินค้า ตลอดระยะเวลาการเดินทางพวกเขาไม่สามารถออกมาภายนอกได้ เพราะถูกล้อมด้วยตู้คอนเทนเนอร์อื่นๆ หลายคนแทบเอาชีวิตไม่รอดและได้รับผลกระทบทางจิตใจจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ขณะที่อามินเดินทางออกจากรัสเซียได้สำเร็จในปี 1995 จากการจ่ายเงินให้กับนายหน้าค้ามนุษย์ในราคาแพง เพื่อให้สามารถเดินทางด้วยวิธีการที่ปลอดภัยอย่างการเดินทางโดยเครื่องบิน ทว่าการเดินทางนั้นก็พลิกผันชีวิตของเขาอีกครั้ง เมื่อประเทศปลายทางไม่ใช่สวีเดน แต่เป็นโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งอามินต้องปิดบังเรื่องครอบครัวที่ยังมีชีวิต สร้างเรื่องราวการเดินทางขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เขาลี้ภัยได้อย่างปลอดภัย และใช้เวลาอีกหลายปีกว่าเขาและครอบครัวจะได้มาพบกันอีกครั้ง
นอกจากอามินจะต้องลี้ภัยจากประเทศบ้านเกิดตั้งแต่ยังเด็กแล้ว ชีวิตอีกด้านหนึ่งของเขาคือ การรับรู้ว่าตัวเองเป็นเกย์ตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ ทว่าสังคมวัฒนธรรมอัฟกันขณะนั้นไม่มีแม้แต่คำว่า homosexual หรือ ผู้รักเพศเดียวกัน ราวกับปฏิเสธการมีอยู่ของพวกเขา
ตลอดระยะเวลาการเดินทางจากอัฟกานิสถาน สู่รัสเซีย และเดนมาร์ก อามินจึงต้องปกปิดตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปฏิเสธตัวตนที่เขาเป็น
ชีวิตของอามินในวัยเด็กกระทั่งเป็นผู้ลี้ภัยเต็มไปด้วยความตึงเครียด ทั้งภาวะสงครามที่ต้องจากบ้านเกิด ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐทำให้ต้องคอยระวังตัวอยู่เสมอ ความหวาดกลัวจากการพยายามหนีข้ามพรมแดนกับนายหน้าค้ามนุษย์ ความเครียดว่าจะถูกส่งตัวกลับและสร้างความไม่ปลอดภัยให้กับคนในครอบครัว หากเจ้าหน้าที่รัฐรู้ว่าครอบครัวของเขายังมีชีวิตอยู่
การหนีเพื่อที่จะมีชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดขึ้นพร้อมกับความเครียดที่สั่งสม ซึ่งหลายครั้งเป็นความเครียดที่เกินกว่าเด็กคนหนึ่งจะรับไหว เมื่อผู้ใหญ่ยังหวาดกลัว แล้วเขาจะไม่กลัวได้อย่างไร นั่นจึงนำมาสู่การสั่งสมความเครียดในระดับที่เป็นพิษ (toxic stress) ส่งผลให้ในปัจจุบันแม้อามินจะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยแล้ว แต่ก็ยังคงระแวดระวังตัวตลอดเวลา ชีวิตเต็มไปด้วยความกลัว วิตกกังวล ต้องคอยรักษาระยะห่างทางความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว ไม่เว้นแม้แต่คนรัก
เมื่อประตูบานหนึ่งเปิดออก การเผชิญหน้ากับอดีตจึงเริ่มต้นขึ้น
การลี้ภัยของผู้คนจากสภาวะสงครามทางการเมือง หลายครอบครัวที่สมาชิกต้องกระจัดจายไปยังประเทศปลายทางต่างๆ ในยุโรป ซึ่งบางครั้งพวกเขาไม่สามารถเลือกประเทศปลายทางเพื่อจะอยู่ด้วยกันได้ แต่เพื่อที่จะมีชีวิตอย่างปลอดภัยและความหวังว่าจะได้พบกันอีกครั้ง พวกเขาจึงยอมรับหนทางเหล่านั้น
อามินและครอบครัวเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้กลับมาพบกันอีกครั้งแบบพร้อมหน้าพร้อมตา ความห่วงใย ความหวังดี การเฝ้าสังเกต และมองการเติบโตของสมาชิกในสายสัมพันธ์ที่เรียกว่าครอบครัว ไม่ได้จางหายไปตามระยะทางและกาลเวลาที่พวกเขาห่างไกลกัน
การแยกย้ายไปเติบโตอาจมีบ้างที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด อย่างพี่ชายและพี่สาวของอามินที่คะยั้นคะยอให้อามินมีแฟนสาวเสียที กระทั่งเขาโพล่งขึ้นมาว่าตัวเองเป็นเกย์ แน่นอนว่าการเปิดเผยตัวตนในคราวนั้นไม่ได้เกิดจากความพร้อมของอามิน และไม่อาจคาดเดาได้ว่าครอบครัวจะมีปฏิกิริยาอย่างไรหลังจากเขาพูดออกไป ทว่าผลลัพธ์ที่ปรากฏกลับเกินกว่าที่อามินจินตนาการ เมื่อคนในครอบครัวเข้าใจ ยอมรับ และพร้อมที่จะโอบรับตัวตนของเขา
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของชีวิตใหม่ หากถึงเวลาที่อามินพร้อมจะเผชิญหน้ากับอดีต พร้อมจะบอกเล่าความจริง เรื่องราวความเจ็บปวด และความรู้สึกของตนเองให้คนอื่นฟัง อาจจะเป็นเพื่อนสักคนอย่าง โยนัส โพเฮอร์ รัสมุสเซน หรือคนรักอย่าง แคสเปอร์ เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดเขายังมีครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นที่ยอมรับ และเชื่อใจได้
ภาพยนตร์แอนิเมชั่น Flee สะท้อนความยากลำบากของจังหวะชีวิตที่ไม่อาจควบคุมได้ ผ่านมุมของผู้ลี้ภัยที่ต้องดิ้นรนเพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อ และเพื่อพาตัวเองไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย การหนีไปเรื่อยๆ ด้วยความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่แล้วก็ต้องพบเจอกับสิ่งที่ไม่คาดคิดอยู่บ่อยครั้ง กว่าจะนำพาชีวิตมาอยู่ในจุดที่สมดุลนั้นไม่ง่ายเลย เหล่าเหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ในอดีต ก่อเกิดเป็นบาดแผลที่ฝังลึกในใจของอามินและยังส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขามาโดยตลอด แม้แต่ในวันที่กำลังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ หรือวันที่เขารู้สึกพร้อมที่จะเปิดใจเล่าเรื่องราวชีวิตให้ใครสักคนฟังเสียที
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปยาวนานแค่ไหน จะสัก 10 ปี หรือ 20 ปี อามินไม่อาจหลีกหนีจากความทรงจำของตนเองไปได้ตลอด…
“เมื่อเราต้องหนีมาทั้งชีวิต
มันก็ยากเหลือเกิน
ที่เราจะเรียนรู้ให้กล้าเชื่อใจใคร”
เชิงอรรถ
[1] Agamben, Giorgio. 1998. Homo Sacer: Soverign Power and Bare Life. Translaterd by Danial Heller-Roazen. Stanford: Stanford University Press.