เมื่อ ‘ความบันเทิง’ คือช่องทางหนึ่งในการหลีกหนีจากโลกการเรียนและชีวิตการทำงานอันแสนเหี่ยวเฉา คนหนุ่มสาวจากทุกซอกมุมของประเทศจึงมักแสวงหาพื้นที่เหล่านั้นผ่านการฟังดนตรี เสพบรรยากาศ และดื่มด่ำไปกับศิลปินมากหน้าหลายตาในเทศกาลดนตรีประจำปี
‘Big Mountain Music Festival’ คือตัวอย่างของพื้นที่นั้น และเป็นตัวเลือกหลักของหนุ่มสาวชาวไทยที่ต้องการความเบิกบานในชีวิตอันจำเจของตนบ้าง แม้บางรายอาจหนีเสือปะจระเข้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับระบบภายในงานหรือการจัดการที่ย่ำแย่ แต่ส่วนใหญ่ก็ได้เจอกับความสุขและความบันเทิงที่กำลังแสวงหาจริงๆ
ปี 2565 เหล่าวัยรุ่นไทยได้เจอความสุขที่คาดไม่ถึง เมื่อมหกรรมดนตรีชื่อดังระดับประเทศได้ยก ‘ฮ้านหมอลำ’ มาตั้งตระหง่านบนเวทีเขาใหญ่เป็นปีแรก เรียกได้ว่าหนุ่มสาวบริเวณ ‘เดิ่นหน่าฮ้าน’ หรือหน้าเวทีล้วนถูกมนตร์สะกดจากเสียงเพลงบนเวทีของคณะหมอลำ ‘ระเบียบวาทะศิลป์’ พากันฟ้อนหน่าฮ่านแบบม่วนกุ๊บจนไม่สนใจเวทีอื่นๆ ภายในงาน
ท่ามกลางเสียงเพลงหมอลำดังกระหึ่มในโลกโซเชียลแทบทุกแพลตฟอร์ม คำถามที่น่าสนใจก็คือว่า ทำไมเสียงของระเบียบวาทะศิลป์จึงสามารถดึงกลุ่มคนหนุ่มสาวเหล่านั้นที่พยายามหลีกหนี ต่อสู้ และคัดง้างกับ ‘ระบบ’ และ ‘ระเบียบ’ บางอย่างในสังคม ให้สยบยอมต่อโลกของหมอลำได้
WAY จึงอยากชวนทำความรู้จักคณะหมอลำ #ระเบียบวาทะศิลป์ ให้มากขึ้น
ระเบียบวาทะศิลป์คือใคร
ชื่อวง: ระเบียบวาทะศิลป์
รูปแบบ: หมอลำหมู่
ทำนอง: ขอนแก่น
ก่อตั้ง: พ.ศ. 2507
อายุวง: 58 ปี
ผู้ก่อตั้ง: ‘คุณระเบียบ’ – ดวงจันทร์ พลล้ำ
สถานที่: บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ผู้บริหารปัจจุบัน: ภักดี พลล้ำ และ สุมิตรศักดิ์ พลล้ำ
สมาชิก: กว่า 300 คน
บอร์ดบริหาร
ผู้นำทีมงาน: ภักดี พลล้ำ และ สุมิตรศักดิ์ พลล้ำ
ทีมเบื้องหน้า
ทีมเบื้องหลัง
- แผนกคอนวอย (ติดตั้งเวที / ระบบเสียง / ระบบไฟ)
- แผนกศิลปกรรม (ออกแบบฉาก / ออกแบบชุด / ออกแบบโชว์การแสดง)
- แผนกสวัสดิการ (ดูแลอาหาร)
ระเบียบวาทะศิลป์มีโชว์อะไร
โดยทั่วไป ระเบียบวาทะศิลป์เริ่มทำการแสดงตั้งแต่เวลา 21.00-06.00 น. (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในสัญญา ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม)
- Part 1: 21.00-21.30 น. ‘โชว์เปิด’ เพื่อเช็คความพร้อมของแดนซ์เซอร์และนักดนตรี) เปิดวง
- Part 2: 21.30-22.00 น. โชว์วัฒนธรรม ประเพณี เพลงจากวรรณกรรม นิยายพื้นบ้านอีสาน (ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปบ้าง) โชว์วัฒนธรรม โชว์วัฒนธรรม 2
- Part 3: 22.00-22.30 น. โชว์คอนเสิร์ต เน้นเพลงลูกทุ่งหมอลำ ลูกทุ่งอินดี้ตามกระแส และโชว์โฆษณาจากสปอนเซอร์ คอนเสิร์ต
- Part 4: 22.30-23.15 น. โชว์ตลก โชว์ตลก
- Part 5: 23.15-23.30 น. โชว์คอนเสิร์ต ช่วงที่ 2
- Part 6: 23.30-05.20 น. โชว์ลำเรื่องต่อกลอน ทำนองขอนแก่น (คล้ายละครเวที เนื้อเรื่องจะเปลี่ยนไปทุกปี) ระยะเวลา 5 ชั่วโมง 20 นาที ลำเรื่องต่อกลอน
- Part 7: 05.20-06.00 โชว์เต้ยลา (ใช้เพลงเร็วหรือจังหวะเร่งในช่วงสุดท้ายของการแสดง) เต้ยลา
กล่าวโดยสรุป วงระเบียบวาทะศิลป์ใช้เวลาทำการแสดงโดยประมาณ 9 ชั่วโมง
การรับงานและอัตราค่าจ้าง
- ช่วงเวลาเดินสาย
โดยปกติ คณะหมอลำจะมีระยะเวลาเดินสายทำการแสดงหรือเรียกว่า ‘ฤดูกาล’ ฤดูกาลเดินสายของวงระเบียบวาทะศิลป์จะเริ่มตั้งแต่ช่วงออกพรรษาของทุกปี และจะสิ้นสุดเมื่อถึงช่วงเข้าพรรษา เพราะนอกจากเป็นการลดความเสี่ยงที่ต้องแสดงกลางแจ้งในฤดูฝนแล้ว ยังถือเป็นช่วงพักวง เพื่อวางแผนและเตรียมการสำหรับฤดูกาลต่อไปอีกด้วย
ฤดูกาลของระเบียบวาทะศิลป์แจกแจงได้ ดังนี้
- เริ่มเดินสายทำการแสดงทั่วประเทศ ตั้งแต่ออกพรรษา (เดือนตุลาคม) ถึงช่วงก่อนเข้าพรรษา (เดือนกรกฎาคม) รวมทั้งสิ้น 10 เดือน
- ช่วงพักวง ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนกันยายน รวมทั้งสิ้น 2 เดือน
- อัตราค่าจ้าง
ค่าจ้างขึ้นอยู่กับระยะทางของสถานที่แสดงและเจ้าภาพ ราคามาตรฐานเริ่มต้นที่ 280,000 บาท โดยระยะทางไป-กลับ ไม่เกิน 200 กิโลเมตร
หากต้องเดินทางแสดงไกลกว่าระยะมาตรฐาน 2-3 เท่า ราคาก็จะบวกเพิ่มจากราคาเริ่มต้น 2-3 เท่าเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น หากต้องเดินทางไปทำการแสดงที่มีระยะทางไป-กลับรวมกัน 600 กิโลเมตร วงระเบียบวาทะศิลป์จะคิดราคา 560,000 บาท
ทั้งนี้ ราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ของแต่ละปี และตามข้อตกลงระหว่างเจ้าภาพผู้ว่าจ้างและวงหมอลำ
กระแสนิยม ‘การคอลแลปส์’ (collaboration) ระหว่างแบรนด์
“จากหมอลำหมู่ สู่เทรนด์อันดับ 1 ใน Twitter”
วงหมอลำระเบียบวาทะศิลป์ กลายเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้นจากการคอลแลปส์ 2 หน คือ ระเบียบวาทะศิลป์ x Miss Grand Thailand 2022 และระเบียบวาทะศิลป์ x Big Mountain Music Festival 2022
ระเบียบวาทะศิลป์และวงหมอลำเครือข่ายสัญญาใจของลูกศิษย์
ระเบียบวาทะศิลป์เป็นวงหมอลำที่ผลิตศิลปินหมอลำคุณภาพดีออกมาไม่ขาดสาย นอกจากนี้ เจ้าของธุรกิจวงหมอลำต่างล้วนเรียนรู้หรือเป็นลูกศิษย์จากระเบียบวาทะศิลป์ แล้วนำไปต่อยอดขยายจนกลายเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงระดับมหภาค (อีสาน) อาทิ
- พระเอกหมอลำ บอย ศิริชัย เจ้าของคณะหมอลำใจเกินร้อย บอย ศิริชัย
- พระเอกหมอลำ นก พงศกร เจ้าของคณะหมอลำนามวิหค นก พงศกร
- พระเอกหมอลำ แมน จักรพันธ์ เจ้าของคณะหมอลำขวัญใจ แมน จักรพันธ์
- พระเอกหมอลำ บู๊ท จักรพันธ์ ลำเพลิน เจ้าของคณะซานเล้าบันเทิงศิลป์ บู๊ท จักรพันธ์
‘เสียง’ จากหมอลำถึงรัฐบาล
“ระเบียบวาทะศิลป์ ศิลปินมหาชน และขออยู่เคียงข้างประชาชน”
ปี 2564 แฟนเพจ ‘ระเบียบวาทะศิลป์’ โพสต์แถลงการณ์กล่าวถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบจัดหาวัคซีน mRNA ให้บุคลากรทางแพทย์และประชาชนโดยเร็วที่สุด ระเบียบวาทะศิลป์ยังต้องการให้รัฐบาลเร่งเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารที่ล้มเหลว เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างปกติ (อ้างอิง : https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_6507612)
เมื่อหมอลำ ไม่ได้เป็นแค่ศิลปะเพื่อสร้างความสุนทรีย์ แต่ยังคอยเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่แสดงออกถึงอำนาจของศิลปะอันถูกเริ่มต้น ถูกดำเนิน และถูกสนับสนุนโดยประชาชนด้วยกันเอง
ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ มีบันทึกร่องรอยของ ‘อำนาจศิลปะหมอลำ’ กับ ‘ระบอบอำนาจรัฐ’ ของ กบฏหมอลำโสภา พลตรี ชาวบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น ในปีพุทธศักราช 2482 หรือแม้กระทั่งการต่อสู้ของ ‘หมอลำแบงค์’ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หลังการรัฐประหาร ปีพุทธศักราช 2557 คือสิ่งยืนยันแน่ชัดแล้วว่า ‘ศิลปะที่แท้จริงต้องไม่รับใช้ใคร แต่ต้องรับใช้ประชาชน’
นี่คือคำที่ยืนยันจากเสียงหมอลำอีกวง ที่บอกว่า “ฉันไม่สยบยอมต่อระบอบอำนาจ อันไม่ได้มาจากประชาชน”