ทุกวันนี้หากมองไปตามชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต เราจะพบสินค้ามากมายที่โฆษณาด้วยสรรพคุณต่างๆ ดึงดูดใจให้ผู้ซื้อเลือกหยิบไปจ่ายเงิน ไม่ว่าจะเป็นการโอ้อวดคุณค่าสารอาหารที่ดีมีคุณค่าต่อร่างกาย ทำจากวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ ฯลฯ แม้กระทั่งในสินค้ายี่ห้อเดียวกันยังแบ่งแยกออกเป็นหลายสูตร ทำให้ภาระหนักตกอยู่ที่ผู้บริโภคที่ต้องใช้เวลามากกว่าเดิมในการเลือกซื้อสินค้า เนื่องจากเลือกไม่ถูกว่าสูตรไหนจะดีและเหมาะกับสุขภาพของตนเองมากที่สุด
ทว่าฉลากสินค้าที่แปะป้ายบอกข้อดีต่างๆ นาน นั้น จะเป็นจริงตามที่บอกทั้งหมดหรือไม่? จากรายงานของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture; USDA) ที่ได้สำรวจสินค้าที่วางขายบนชั้นวางของห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในสหรัฐฯ พบว่า กว่า 43 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ออกวางขายในปี 2010 มีการอวดอ้างสรรพคุณที่มีผลดีกับสุขภาพอย่างน้อย 1 สรรพคุณ
อย่างไรก็ตาม การโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณมักจะพูดเกินความเป็นจริง หรือพูดความจริงเพียงครึ่งเดียวอยู่เสมอๆ หากพิจารณาข้อเท็จจริงที่อยู่เบื้องหลังคำโฆษณาเหล่านั้นจะพบว่าคำอวดอ้างต่างๆ ไม่ได้มีผลดีต่อร่างกายมากไปกว่าการบริโภคอาหารปกติที่ไร้ฉลากสักเท่าไหร่นัก
ต่อไปนี้คือตัวอย่าง 4 สรรพคุณยอดฮิตที่อยู่บนอาหารหลายประเภท ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้ส่งผลกับร่างกายมากดังคำโฆษณา
1. มีโอเมกา 3
สรรพคุณยอดฮิตที่อยู่บนอาหารหลากหลายชนิดตั้งแต่เนยถั่ว นม ไปจนถึงขนมปัง แท้จริงแล้วโอเมกา 3 ที่อยู่ในอาหารตามห้างสรรพสินค้าบางชนิดมีผสมอยู่เพียงแค่ 32 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นเพียง 1 ใน 10 ของปริมาณที่อยู่ในปลาแซลมอนน้ำหนักครึ่งออนซ์ ขณะที่ปริมาณที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพที่สุดจากการบริโภคโอเมกา 3 คือการทานเนื้อปลาแซลมอนประมาณ 3.5 ออนซ์ 2 ครั้งต่อสัปดาห์
2. ผสมสารต้านอนุมูลอิสระ
อาหารที่แปะป้ายนี้ส่วนมากต้องมีส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันจึงจะส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย การทานอาหารตามธรรมชาติอย่างผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินเอ, ซี และอี จะส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่า จากการทดสอบพบว่าการทานแครอทหัวเล็กๆ เพียง 1 หัวจะได้คุณค่ามากกว่าเป็นสองเท่าของการทานซีเรียลที่อ้างว่าผสมสารต้านอนูมูลอิสระเลยทีเดียว
3. ไฟเบอร์สูง
แม้ว่าขนมปังหรืออาหารตามห้างสรรพสินค้าบางชนิดที่บอกว่ามีไฟเบอร์สูงจะให้คุณค่ามากถึง 35 เปอร์เซ็นต์ที่ร่างกายต้องการต่อวัน แต่ไฟเบอร์จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติสามารถให้คุณประโยชน์ได้มากกว่านั้นมาก นอกจากนี้ งานวิจัยที่บอกว่าอาหารที่มีไฟเบอร์สูงสามารถลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ ได้แนะนำว่าไฟเบอร์ดังกล่าวควรเป็นไฟเบอร์ที่มาจากอาหารตามธรรมชาติมากกว่า เช่น ถั่ว, ข้าวโอ๊ต, ผลเบอร์รี่ หรือบร็อคโคลี่
4. ใช้ธัญพืชเต็มเมล็ด (โฮลเกรน)
ขนมปัง, ซีเรียล หรือแครกเกอร์ชนิดต่างๆ ที่โฆษณาด้วยสรรพคุณดังกล่าวจะต้องมีส่วนผสมของธัญพืชเต็มเมล็ดอยู่ด้วย แต่บริษัทผู้ผลิตมักไม่บอกตัวเลขที่แท้จริงว่ามีผสมอยู่ในปริมาณเท่าไหร่ และยังไม่มีการกำหนดปริมาณขั้นต่ำที่ต้องผสมลงไปอีกด้วย แครกเกอร์บางยี่ห้อที่แปะป้ายนี้อยู่บนบรรจุภัณฑ์มีส่วนผสมของธัญพืชเต็มเมล็ดอยู่เพียง 5 กรัม หรือ 1/16 ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวันเท่านั้น ดังนั้นหากต้องการคุณค่าแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ ของโฮลเกรน จึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่บอกว่า ‘ใช้ธัญพืชเต็มเมล็ด 100 เปอร์เซ็นต์’ มากกว่า
*************************************
ที่มา: huffingtonpost.com