ไม่ว่าใครก็ล้วนเกี่ยวข้องกับอาหารด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าเกษตรกร หมอ พยาบาล ตำรวจ ทหาร วิศวกร สถาปนิก นักเขียน บรรณาธิการ คนทำงานภาคประชาสังคม หรือกระทั่งนักบวชนักบวชอาจมองอาหารเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงร่างกาย ทันตแพทย์อาจมองอาหารคืออนาคตของคนรุ่นถัดไป ชาวลาหู่คนหนึ่งอาจมองอาหารคือสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมี หมอคนหนึ่งอาจมองอาหารที่ดีคือการสร้างระบบสุขภาพต้นทุนต่ำFOOD MANIFESTO คือมุมมองต่ออาหาร คือคำประกาศว่าอาหารประเทศนี้ควรเดินทิศทางไหน คนหนึ่งเป็นทันตแพทย์ คนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คนหนึ่งเป็นคนทำงานภาคประชาสังคม คนหนึ่งทำงานผลักดันเชิงนโยบายWAY เดินทางไปยัง 4 จังหวัดทั่วภูมิภาคของประเทศ เชียงราย หนองบัวลำภู นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร อาหารจากมุมมองของแต่ละคนได้แตกแขนงไปสู่เรื่องอื่นๆ ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ การบริโภค ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิทธิ และนโยบายสาธารณะแม้ว่ามุมมองต่อเรื่องอาหารของพวกเขาจะมีรายละเอียดที่ต่างออกไป แต่ก็มีจุดร่วมมีเป้าหมายเดียวกัน คือการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในวันที่นโยบายด้านอาหารของประเทศกำลังถูกตั้งคำถาม |
“ตอนนี้มีกฎหมายหลายร้อยฉบับที่พรวดพราดออกมา”
1 เดือนหลังจากมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไป 2562 จนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 สนช. ออกกฎหมายมาแล้ว 66 ฉบับ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 18 ฉบับ หรือวันละ 2.5 ฉบับ ล่าสุด พ.ร.บ.โรงงาน ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของ สนช. ไปสดๆ ร้อนๆ ล่าสุด พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพิ่งผ่านความเห็นชอบของ สนช. ไปสดๆ ร้อนๆ ขณะที่กำลังทยอยส่งผ่านมรดกที่จะอยู่ต่อไปนั้น สนช. ได้ถอนวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว ออกไปอย่างไม่มีกำหนดหลังจากที่ภาคสังคมออกเสียงคัดค้านอย่างหนัก นั่นหมายความว่าจะไม่มีกฎหมายฉบับนี้คลอดออกมาภายในวาระของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
“ภาพใหญ่ของ พ.ร.บ.ข้าว เป็นกฎหมายที่เข้ามาควบคุมดูแลแทนที่จะเป็นกฎหมายที่สนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกร พ.ร.บ.ข้าว มีหลายมาตราที่เป็นข้อจำกัดของเกษตรกร” ทัศนีย์ วีระกันต์ แสดงความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ.ข้าว หลังจากเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคม เข้าไปยืนหนังสือให้ สนช. ยุติการพิจารณา พ.ร.บ. ฉบับนี้เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
มาตราที่เป็นข้อจำกัดของเกษตรกรในมุมมองของทัศนีย์ คือ มาตรา 6, มาตรา 20, มาตรา 21 และมาตรา 27/2
“มาตรา 6 จำนวนของเกษตรกรที่จะมาเป็นกรรมการร่วมมีสัดส่วนเพียง 4 คนจากคณะกรรมการจำนวน 14 คน สัดส่วนเกษตรกร 4 คน ย่อมไม่มีผลต่อทิศทางของการกำหนดนโยบายและกฎหมายหรือแผนงานเกี่ยวกับข้าว เมื่อสัดส่วนคณะกรรมการเป็นเช่นนี้ก็ทำให้ทิศทางจะถูกดำเนินไปด้วยภาคราชการเป็นหลัก ข้อเสนอของพวกเราคือคณะกรรมการควรเป็นตัวแทนระดับภูมิภาค เพราะแต่ละภูมิภาคมีระบบการผลิตข้าวมีพันธุ์ข้าวที่แตกต่างกันไป พวกเขาน่าจะได้เป็นตัวแทนของแต่ละภูมิภาคเข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการ
“มาตรา 20 การพูดเรื่องระบบข้อมูลหรือการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ทำนา ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนจึงจะได้รับเงื่อนไขการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งความจริงแล้วเกษตรกรไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน เพราะการสนับสนุนสามารถทำได้ผ่านกลไกของระบบหรือห่วงโซ่การผลิตข้าวได้
“มาตรา 21 พูดเรื่องพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกพันธุ์ข้าว ซึ่งก็เท่ากับเป็นการโซนนิ่งพื้นที่การปลูกข้าวรวมถึงการจำกัดพันธุ์ข้าวในพื้นที่นั้นด้วย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกร เพราะที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความพยายามจำกัดการปลูกข้าว รัฐไม่รู้จักพันธุ์ข้าว เขามองพันธุ์ข้าวในลักษณะการค้าเพียงมิติเดียว ในขณะที่เกษตรกรไม่ได้ปลูกข้าวเพื่อการค้าเพียงอย่างเดียว บางส่วนเป็นวิถีวัฒนธรรม บางส่วนปลูกเพื่อบริโภค ซึ่งก็เป็นรสนิยมของแต่ละครอบครัวหรือภูมิภาค
“เช่น ระบบไร่หมุนเวียนของภาคเหนือหรือพี่น้องชาติพันธุ์มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก พี่น้องทางเขมรทางสุรินทร์ปลูกข้าวเมล็ดเล็ก ภาคใต้ก็มีพันธุ์ข้าวอุดมสมบูรณ์มาก แต่เท่าที่เรารู้จักพันธุ์ข้าวทางการค้ามันมีอยู่ไม่เกิน 7 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นข้อจำกัดมากหากมีการโซนนิ่งแล้วระบุว่าข้าวพันธุ์ไหนที่เหมาะสม ข้าวบางพันธุ์เหมาะสมกับระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ การโซนนิ่งและจำกัดพันธุ์ข้าวก็เป็นปัญหาใหญ่ มันทำลายวิถีวัฒนธรรมของชาวนา ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพด้วย
“มาตรา 27/2 พูดเรื่องการพัฒนาพันธุ์ของเกษตรกร พันธุ์ข้าวที่จะจำหน่ายได้ต้องเป็นพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวรับรอง ปัจจุบันเกษตรกรหรือใครก็ตามจะจำหน่ายข้าวต้องไปขึ้นทะเบียนพันธุ์ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช 2518 เพื่อจำหน่ายพันธุ์ การขึ้นทะเบียนตั้งแต่ 2518 จนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรไม่มากเลยที่สามารถจำหน่ายพันธุ์ได้ตามกฎหมายแบบนี้ เพราะมีข้อจำกัดมาก ทั้งค่าธรรมเนียม การต้องมีโรงเรือน มันไม่เอื้อกับเกษตรกรรายย่อย ที่ผ่านมาจะมีกรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร รวมทั้งบริษัทใหญ่ ที่สามารถขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าวหลายพันธุ์อยู่ตอนนี้ ในขณะที่เกษตรกรน้อยมากที่จะสามารถขึ้นทะเบียนพันธุ์และวางขายตามท้องตลาดได้ การจำหน่ายของเกษตรกรตอนนี้คือจำหน่ายให้เครือญาติหรือคนที่รู้จักกัน ไม่สามารถวางตามท้องตลาดได้ ในขณะที่ศักยภาพของเขาสามารถพัฒนาพันธุ์ได้ไกลมาก แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนเลย นี่คือตามกฎหมายเดิม แต่กฎหมายใหม่คือ พ.ร.บ.ข้าว ให้เดินตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช 2518 และจำกัดโดยกรมการข้าว ยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น การเขียนกฎหมายแบบนี้มันแค่เอื้อให้มีการย้ายโอนอำนาจจากกรมวิชาการเกษตรไปกรมการข้าว ไม่ได้มีประโยชน์กับเกษตรกรเลย เป็นแค่การย้ายโอนอำนาจระหว่างหน่วยงานเท่านั้น
“ข้อเรียกร้องของเราคือ สนช. ควรรับฟังความคิดเห็นมากกว่านี้ ถ้า สนช. อยู่ระหว่างของการใกล้หมดวาระ ไม่ควรเร่งรีบออกกฎหมายแบบนี้ออกมา เพราะมีผลต่อสังคมวงกว้าง”
คำประกาศของคนทำงานด้านนโยบาย: “จะต้องไม่มีคนยากจนจากการเป็นผู้ผลิตอาหาร”
มีจุดร่วมกันอยู่ระหว่างความฝันของหมอฝน ความฝันของจะแฮ ความฝันของหมอวัฒน์ นั่นคือศักยภาพในการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของปัจเจกและของชุมชน อาหารปลอดภัยที่จะช่วยส่งเสริมระบบสุขภาพทั้งระบบ ระบบผลิตอาหารที่คำนึงถึงทรัพยากรดินน้ำป่า และสิทธิของมนุษย์
ในฐานะคนทำงานด้านนโยบายด้านเกษตร มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ทัศนีย์ วีระกันต์ เฝ้ามองนโยบายที่ส่งผลต่อระบบเกษตรของประเทศไทยมาตลอด ถ้าถามเธอว่าอะไรคือปัญหาของเกษตรกรรมและเกษตรกรไทย คำตอบที่ได้ไม่แตกต่างไปจากปัญหาในพื้นที่ที่หมอฝน จะแฮ และหมอวัฒน์ได้เล่าให้ฟัง
“ปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องใหญ่ของเกษตรกรไทย ซึ่งพัวพันมาจากความล้มเหลวในการผลิตที่ต้องพึ่งพิงระบบตลาด การผลิตที่เกษตรกรต้องพึ่งเมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้าของบริษัท เมื่อใช้เมล็ดพันธุ์ที่มาจากบริษัท เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นจะตอบสนองได้ดีต่อสารเคมี เกษตรกรก็ต้องใช้สารเคมีทางการเกษตร
“เมื่อเกษตรกรปลูกพืชคล้ายๆ กัน ก็จะมีปัญหาเรื่องตลาด ราคาผลผลิตที่ได้ไม่คุ้มกับต้นทุนที่ลงแรงไป ปัญหาหนี้สินก็ผูกพันกับชีวิตเกษตรกร หนี้สินโยงไปถึงเรื่องการสูญเสียที่ดิน ปัญหาเรื่องศักดิ์ศรีของเกษตรกรที่ไม่ทัดเทียมอาชีพอื่น ไม่มีใครอยากให้ลูกหลานเป็นเกษตรกร ไม่มีใครอยากมีอาชีพเป็นเกษตร
“ฉันเชื่อมั่นระบบเกษตรกรรมยั่งยืนว่าจะเป็นทางออกและทางเลือกของประเทศ มันควรเป็นเส้นทางหลักของประเทศ” คือความฝันเรื่องอาหารของทัศนีย์
พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน คือรูปธรรม ‘ความฝันร่วม’ ของกลุ่มคนที่สนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน พวกเขาร่วมผลักดันมากว่า 30 ปี ความคืบหน้าล่าสุดเกิดในเดือนกันยายน 2561 เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
“พ.ร.บ.อยู่ในขั้นกฤษฎีกา” ทัศนีย์บอก “พ.ร.บ.เกษตรยั่งยืนผ่านช่วงเวลามายาวนาน ต่อสู้กันมายาวนานตั้งแต่ 2545 แนวคิดของ พ.ร.บ. เกิดตั้งแต่ก่อนปี 2540 จนมาปี 2562 ก็ 20 กว่าปีมาแล้วถึงเข้าไปอยู่ในขั้นกฤษฎีกา ซึ่งยังไม่รู้เลยว่าเมื่อออกจากกฤษฎีกา กฎหมายจะเป็นอย่างไร ก็อยู่ในระหวางการทำงานร่วมกันอยู่”
พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน น่าจะเป็นรูปธรรมชัดเจนในรัฐบาลใหม่ที่จะมีขึ้นหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 หาก พ.ร.บ. ดังกล่าวมีสถานะทางกฎหมาย ทัศนีย์มองว่า จะทำให้เกษตรกรที่ผลิตอาหารที่คำนึงถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมจะมี ‘แต้มต่อ’ หลังจากที่เกษตรกรรมยั่งยืนอยู่ใต้เงาของเกษตรกรรมกระแสหลักมาตลอด
“พ.ร.บ. จะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคที่เป็นธรรม เป็นความสัมพันธ์ที่เข้าใจกันและกัน เครื่องมือสำคัญของ พ.ร.บ. คือสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนจะเป็นที่รวมของความเห็น ข้อคิดเห็น ปัญหา แนวทางที่ต้องการการพัฒนา เพื่อนำเอาความเห็นหรือแนวทางเหล่านั้นเป็นแนวพัฒนาเกษตรของประเทศไทย นี่เป็นเครื่องมือสำคัญภายใต้ พ.ร.บ.นี้ รวมทั้งงบประมาณที่เกี่ยวข้องด้วย พ.ร.บ.นี้ใกล้ความจริงแล้ว ซึ่งมันจะเป็นทางเลือกที่ดีและเป็นแต้มต่อให้เกษตรกรทุกคน”
ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหาก พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน มีสถานะทางกฎหมาย คือ การมีองค์กรที่ขึ้นมาดูแลเกษตรกรรมยั่งยืนโดยเฉพาะ ซึ่ง “เราคาดหวังว่าจะเป็นองค์กรอิสระที่จะส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน การมีสมัชชาที่จะดึงคนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เรียกว่าสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นเครื่องมือสำคัญของการวางแนวทางการพัฒนาการเกษตรของประเทศด้วย”
การมีกองทุนที่จะสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน ในประวัติศาสตร์การผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เคยมีการกำหนดแนวทางว่า กองทุนนี้จะมีที่มาจากการเก็บภาษีสารเคมีทางการเกษตรตามความเป็นพิษของสารเคมีนั้น แต่ก็ถูกคัดค้านจากบริษัทสารเคมีทางการเกษตรมาโดยตลอด ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยไม่เก็บภาษีสารเคมีทางการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2535
ใน พ.ร.บ. ฉบับที่เข้า ครม. ในปีที่ผ่านมา กองทุนสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืนจะมีที่มาจากเงินกองทุนหรือเงินต่างๆ ที่มีอยู่ภายใต้กองทุนเดิม ซึ่งทัศนีย์มองว่า “เพียงพอที่จะสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน”
สิ่งที่น่าสนใจหาก พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เกิดขึ้น เกษตรกรรมยั่งยืนจะมีพื้นที่ 1 ใน 4 ของพื้นที่ทางการเกษตรของประเทศ
“เราคาดหวังว่าเมื่อมี พ.ร.บ.นี้ ผืนดินที่เราเรียกว่าแผ่นดินอาบยาพิษจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่ที่เป็นเกษตรปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างศักดิ์ศรีให้ทั้งผู้ผลิตและบริโภค สร้างระบบอาหารที่เป็นธรรมกับทุกคนในสังคมไทย”
ถามทัศนีย์ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ สามารถแก้ไขปัญหาเรื้อรังของเกษตรกรได้มากน้อยเพียงใด
“พ.ร.บ.นี้อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้นะ แต่มันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการทำให้การแก้ปัญหาตรงจุด และเริ่มจากจุดที่เป็นปัญหาใหญ่ คือการแก้ปัญหาเชิงระบบการพัฒนาการเกษตร เรารู้กันอยู่ว่าปัญหาของภาคการเกษตรอยู่ที่ระบบการผลิตด้วยเรื่องที่ดิน สิ่งแวดล้อม ตลาด ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค พ.ร.บ.นี้จะเข้าไปแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านั้น แต่ไม่สามารถพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินได้ว่า เกษตรกรจะหมดหนี้สินพริบตาทันทีที่มี พ.ร.บ. แต่จะสร้างความยั่งยืนกับระบบการผลิต เปลี่ยนและสร้างแรงจูงใจให้คนมาทำเกษตรกรรมยั่งยืนมากขึ้น”
ทำไม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน จึงมีเนื้อหาสาระที่แตกต่างจาก ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ?
“พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน กับ พ.ร.บ.ข้าว มีที่มาต่างกัน พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืนเป็น พ.ร.บ. ที่คนทำงานเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนเข้าไปผลักดัน ใช้ประสบการณ์ การทดลอง การมีส่วนร่วมของคนหลายๆ ส่วน เข้าไปผลักดัน ทำให้เป็น พ.ร.บ.ที่ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้กระทรวงเกษตรฯ มาเป็นเจ้าของ พ.ร.บ.เกษตรยั่งยืนผ่านเวลามานานนะ ต่อสู้กับมายาวนานตั้งแต่ 2545 แนวคิดของ พ.ร.บ. เกิดตั้งแต่ก่อนปี 40 จนมา 62 ก็ 20 กว่าปี ถึงเข้าไปอยู่ในกฤษฎีกา ซึ่งยังไม่รู้เลยว่าเมื่อออกจากกฤษฎีกา กฎหมายจะเป็นอย่างไร ก็อยู่ในระหว่างการทำงานร่วมกันอยู่ แต่ พ.ร.บ.ข้าว ปุบปับออกมาเลย มันก็ขาดการมีส่วนร่วม วิธีคิดเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะสนับสนุนเกษตรกร มันไม่เกิดขึ้นในวิธีคิดของข้าราชการ หรือใน สนช. ที่ผลักดันกฎหมายนี้
ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนไม่ได้พูดถึงเกษตรกรรมที่ปลอดภัยไม่ใช่สารเคมีเท่านั้น แต่มุ่งหมายปกปักพื้นที่ทางอาหารด้วย
“ระบบอาหารบ้านเราไม่ได้มาจากการเพาะปลูกอย่างเดียว แต่มาจากการเก็บหาด้วย ฉะนั้นระบบเกษตรไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะเกษตรกรอย่างเดียว แต่เราต้องปกป้องพื้นที่อาหารด้วย เกษตรกรรมยั่งยืนที่พูดถึงระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นการรุกของอุตสาหกรรม นโยบาย ทำลายความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นเหมืองแร่ ท่อก๊าซ หรือว่าโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกรและคนในสังคม มันก็หมายถึงระบบอาหารที่จะเปลี่ยนไป
“เราเป็นประเทศที่เรียกว่าหย่อนเมล็ดอะไรลงไปดอกผลก็งอกเงย ไม่ควรมีคนที่ต้องอดอยากและยากจนจากการที่เป็นผู้ผลิตอาหารให้คนอื่นบริโภค”
อ่านซีรีส์ FOOD MANIFESTO
FOOD MANIFESTO: “เราจะส่งมอบแผ่นดินปลอดภัยให้กับคนในอนาคต”
FOOD MANIFESTO: “อาหารคือสิทธิ”
FOOD MANIFESTO: “อาหารชั้นเลิศคือการสร้างระบบสาธารณสุขต้นทุนต่ำ”
สนับสนุนโดย