ตั๊ดมะด่อฎีกา: การเมืองมวลเมฆ เชิงอรรถรัฐประหารพม่า

ในที่สุด ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ทำให้ ผบ.สส. แห่งตั๊ดมะด่อ (တပ်မ​တော်) หรือกองทัพพม่า เชื่อว่าเขาจะไม่มีวันได้เป็นประธานาธิบดีภายใต้กฎกติกาของรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน ดังนั้น เขาจึงเลือกใช้กำลังแทน

1 กุมภาพันธ์ 2021 ฝ่ายกองทัพได้จับกุมประธานาธิบดีอูวินมยิ่น (ဦးဝင်းမြင့်) และด่ออองซานซูจี (​ဒေါ်​အောင်ဆန်းစုကြည်) ที่ปรึกษาแห่งรัฐ พร้อมด้วยแกนนำพรรค NLD ซึ่งเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และได้ทำการยึดอำนาจในเช้าวันเดียวกันกับที่รัฐสภาสมัยใหม่กำลังจะเปิดทำการ อดีตรองประธานาธิบดีอูมยิ่น สเหว่ (ဦးမြင့်​ဆွေ) ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพให้เป็นประธานาธิบดีชั่วคราวอย่างกะทันหัน และในฐานะดังกล่าว เขาได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี และโอนอำนาจรัฐทั้งหมดให้กับพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย (ဗိုလ်ချုပ်မှူးကြီးမင်း​အောင်လှိုင်)

တိမ်​တောင်သဖွယ်၊ မင်း​ရေးကျယ်[1] (เต่ง-ต่อง-ตะ-ผแหว่ ၊ มิน-เย-แจ่) แปลว่า การบ้านการเมืองนั้นลึกซึ้งมีขอบเขตกว้าง ยากที่จะคาดเดาเข้าใจได้โดยง่ายเหมือนกับการพยากรณ์รูปพรรณสัณฐานของมวลหมู่เมฆบนท้องฟ้า – หลังรัฐประหาร พลเอกมินอ่องหล่าย ยกสำนวนพม่าโบราณขึ้นมากล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งมีความหมายว่าเรื่องการบ้านการเมืองนั้นลึกซึ้ง มีขอบเขตกว้าง ยากที่จะคาดเดาเข้าใจได้โดยง่าย เหมือนกับการพยากรณ์รูปพรรณสัณฐานมวลหมู่เมฆบนท้องฟ้า

นักวิเคราะห์ นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน นานาชาติ ต่างทำงานอย่างหนัก เพื่อต้องการหาคำอธิบายเรื่องราวตอนรุ่งสางค่อนแจ้งของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ในบริเวณจุดตัดระหว่างอินเดียกับจีน ซึ่งทำงานกันหนักมากจริงๆ เพราะต้องสังสรรค์กับทะเลข้อมูลข่าวสารตรงหน้า ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลบ่าล้นทะลักซัดสาดม้วนขึ้นม้วนลง ท่วมท้นโซเชียลมีเดีย จนบางทีพวกเขาและเราเอง ก็แทบไม่มีเวลาพอที่จะตกผลึก บ้างก็ถูกกระแสคลื่นข้อมูลนั้นๆ พัดไปติดอีกฝั่งหนึ่ง บ้างก็ประหนึ่งว่าจมจ่อมติดอยู่ในเกลียวคลื่นผ้าลูนตะหย่า/ลุนตะยา บางจังหวะวังน้ำวนแห่งข้อมูลก็ดูดผู้คนหายไปผุดโผล่อยู่ทางฝั่งฟากโน้น จนมองไม่เห็นกระแสน้ำที่ก็กำลังไหลเอื่อยเฉื่อยอยู่ในอีกกระแสธารหนึ่ง

อย่างที่มีอุปมาอุปไมยในสำนวนโบราณพม่าว่าคาดการณ์ได้ยาก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเวลาที่มองเหตุการณ์การเมืองพม่า จำเป็นต้องเข้าใจสังคมพม่า ความคิดและพฤติกรรมของคนพม่าแท้หรือชนเชื้อสายพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของกองทัพหรือทหารพม่า ที่กล่าวอย่างนี้มิใช่ว่าจะมาบอกว่าการกระทำอย่างนั้นดี หรือไม่ดี อย่างไร และก็มิได้ต้องการแสดงความเห็นอกเห็นใจชนชั้นผู้ปกครองที่มีชีวิตค่อนข้างสบาย และมิได้ดูแลเอาใจใส่พัฒนาสังคมพม่าให้เจริญหรือเปิดที่ทางกว้างให้มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างที่ควรจะเป็นไป ซึ่งเห็นได้จากประสบการณ์ชีวิตของประเทศพม่าในยุครัฐบาลทหารที่เพิ่งก้าวผ่านมาเมื่อไม่นานนี้ และไม่ว่าประชาชนเหล่านั้นจะเป็นคนพม่าแท้ (Burman) หรือชาติพันธุ์อื่นๆ ประเด็นปัญหาการเมืองในพม่าก็ยังมีมากมายเกินกว่าที่จะขนนำมาอธิบายได้หมดทุกประเด็น สิ่งที่ข้อเขียนนี้กำลังจะทำคือการมองปัญหาจากประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์และความซับซ้อนสัมพันธ์กันของชาติพันธุ์ บางทีอาจเป็นทำนองอดีตขีดปัจจุบัน จนกลายมาเป็นการคิดอ่านตั้งชื่อข้อเขียนนี้ว่า ตั๊ดมะด่อฎีกา (တပ်မ​တော်ဋီကာ)

ในระหว่างทางประวัติศาสตร์พม่า ก่อนถึง ตั๊ดมะด่อฎีกา

‘ยุคแห่งการต่อสู้กู้ชาติ’ ในประวัติศาสตร์พม่า เริ่มปรากฏขึ้นพร้อมกับการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 1886 ในความทรงจำบาดแผลของประเทศพม่าเรียกยุคอาณานิคม ซึ่งกินระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ ค.ศ. 1886 ถึง ค.ศ. 1948 เป็นยุคที่ประเทศและประชาชนตกอยู่ใต้สถานะทาส ภายใต้สภาวะบีบคั้นและแรงกดดันจากสถานะการเป็น ‘ทาสอาณานิคม’ ก่อให้เกิดการลุกฮือขึ้นของกลุ่มนักต่อสู้กู้ชาติเป็นจำนวนมาก ในทั่วทุกหัวระแหงของประเทศพม่า

บรรดาแกนนำกลุ่มนักต่อสู้กู้ชาติต่างลุกขึ้นมาปลุกระดมพล เพื่อต่อต้านการครอบงำของอังกฤษ ซึ่งเริ่มปฏิบัติการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างหนักตั้งแต่ช่วงปีแรกของการตกเป็นอาณานิคม จนถึง ค.ศ. 1891 และในบางพื้นที่ ยืนหยัดต่อต้านการเข้าครอบครองของอังกฤษยาวนานถึง 10 ปี ก็มี ในช่วงทศวรรษแรกของการตกเป็นอาณานิคม พบว่า มีแกนนำกลุ่มต่อสู้กู้ชาติจำนวนมากถึง 100 กว่าคน สภาวการณ์แข็งขืนดังกล่าว ส่งผลให้อังกฤษต้องสูญเสียกำลังทหารและค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ในการปราบปรามกลุ่มนักต่อสู้กู้ชาติ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ในช่วงนี้ได้เกิดวรรณกรรมที่มีแก่นเรื่องหลักเป็นการต่อสู้กู้ชาติเป็นจำนวนมาก คนที่เขียนวรรณกรรมต่อสู้กู้ชาติเป็นคนแรกๆ คือนักเขียนและนักต่อสู้นามว่า ตะขิ่น โก่ ด่อ ฮมาย (သခင်ကိုယ်​တော်မှိုင်း) (ค.ศ. 1876-1964) งานเขียนของเขาส่วนใหญ่มุ่งเน้นการขับไล่ไสส่งระบอบอาณานิคมให้พ้นไปจากพม่า พร้อมกับกระตุกเตือนให้ภาคภูมิใจกับประวัติศาสตร์ ภาษาและวัฒนธรรมอันดีงาม

ตะขิ่น โก่ ด่อ ฮมาย (သခင်ကိုယ်​တော်မှိုင်း) (ค.ศ. 1876-1964)

ตะขิ่น โก่ ด่อ ฮมาย เขียนงานหลายประเภท ทั้งร้อยกรองและร้อยแก้ว ร้อยกรองที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดเป็นร้อยกรองประเภท เลโช (​လေးချိုး) หรือบทกวีที่หนึ่งบทมีสี่บาท ซึ่งเป็นรูปแบบกวีนิพนธ์ที่เกิดและนิยมแต่งกันมากในสมัยราชวงศ์คองบอง (ค.ศ. 1752-1885) ตะขิ่น โก่ ด่อ ฮมาย ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนที่มีฝีไม้ลายมือในการแต่งเลโช ชนิดที่หาคนเปรียบได้ยากในยุคอาณานิคม

งานเขียนอีกประเภทหนึ่งที่มีชื่อเสียงไม่แพ้กัน คือ ฎีกา อันที่จริง ฎีกา คือ วรรณกรรมภาษาบาลี ที่แต่งขึ้นเพื่ออธิบายความในคัมภีร์อรรถกถาของอรรถกถาจารย์ที่ได้ไขความในพระไตรปิฎกไว้อีกชั้นหนึ่ง แต่ตะขิ่น โก่ ด่อ ฮมาย ได้สร้างสรรค์ฎีกาสไตล์ใหม่ในบรรณพิภพพม่า แทนที่จะเขียนเรื่องศาสนาตามขนบเดิม เขากลับใช้ฎีกาเขียนอรรถาธิบายถึงระบอบอาณานิคม โดยพยายามโจมตีและชำแหละความชั่วร้ายของระบอบอาณานิคมและเกทับบลัฟแหลกด้วยวัฒนธรรมพม่า ใช้กลวิธีเหมือนกับคัมภีร์ฎีกาภาษาบาลี เขายกบทกวีอย่างเลโช และอื่นๆ ขึ้นตั้งเป็นรูปวิเคราะห์ และอธิบายขยายความให้ยืดยาวออกไปเป็นร้อยแก้วที่ใช้ประโยคยาวเป็นพารากราฟ กระนั้นก็ยังคงมีคำสัมผัสแพรวพราวและเฟ้นคำได้อย่างสละสลวย ฎีกาของเขาเป็นส่วนหนึ่งของการนัดหยุดเรียนและนัดหยุดงานครั้งใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อคว่ำบาตรเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ช่วงทศวรรษ 1920 ว่ากันว่า นั่นเป็นเพราะอานุภาพของฎีกาที่ชื่อว่า ဘွိုင်း​ကောက်ဋီကာကြီး หรือ Boycott ฎีกา ของตะขิ่น โก่ ด่อ ฮมาย ที่ต้องเขียนเรื่องนี้เพราะเขาบอกว่า “ชนชาติอังกฤษสำแดงอำนาจ แข่งพระธาตุเจดีย์เจ้า แล้วผองเราร่วมลุกสู้”

เขาเป็นคนแรกที่บัญญัติและแปลคำว่า boycott เป็นการคว่ำบาตรในภาษาพม่า และเขียนอรรถาธิบายถึงความหมาย วิธีการ และผลลัพธ์ของการต่อสู้ต่อต้านด้วยวิธีดังกล่าว เพื่อปลุกระดมให้นำมาใช้ในการประท้วงต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม

ในทำนองเดียวกันอย่างนั้น การใช้ชื่อข้อเขียนว่า ตั๊ดมะด่อฎีกา เพื่อต้องการอธิบายรัฐประหารในพม่า เช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ในห้วงคำนึงของตั๊ดมะด่อ เหมือนกับที่บรรดานักวิเคราะห์ นักวิจารณ์ นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน ไปจนถึงประชาคมโลกที่ต่างก็พยายามหาคำอธิบาย และผลิตแง่มุมมองที่หลากหลาย

ตั๊ดมะด่อยุทธการวงศ์: ประวัติศาสตร์นิพนธ์รัฐประหารฉบับกองทัพ

ก่อนการทำรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 มีจดหมายสองฉบับสำคัญ ฉบับหนึ่งเป็นจดหมายจากพลเอกมินอ่องหล่ายถึงด่ออองซานซูจี ลงวันที่ 28 มกราคม 2021 จดหมายอีกฉบับหนึ่งเป็นจดหมายที่อ้างว่าเป็นของด่ออองซานซูจีให้ไว้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2021 หลังจากจดหมายของนายพล 1 วัน

ต่อเมื่ออ่านจดหมายทั้งสองฉบับแล้วก็ทำให้สามารถเชื่อมโยงถึงปฐมเหตุแห่งยุทธนาการ ข้อมูลเท่าที่มีการเปิดเผยอย่างกว้างขวางและพยายามป่าวประกาศบอกประชาคมโลก อยู่ปาวๆ คือ กกต. ไม่ดำเนินการสอบสวนข้อเรียกร้องกรณีที่มีการยื่นหนังสือร้องเรียนประเด็นโกงเลือกตั้ง ความไม่โปร่งใส และไม่น่าไว้วางใจในการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ภายใต้รัฐบาล NLD การเจรจาต่อรองระหว่างกองทัพกับพรรค NLD นำโดยอองซานซูจี ล้มเหลว กองทัพจึงจำเป็นต้องปฏิบัติการยึดอำนาจเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกองทัพก่อนที่สภาใหม่จะเปิดฉากขึ้น

กองทัพตั้งข้อกล่าวหาพรรค NLD หลายกระทง ประธานาธิบดีวินมยิ่น โดนข้อหาละเมิดข้อกำหนดการเฝ้าระวังการแพร่กระจายของ COVID-19 อองซานซูจีที่ปรึกษาแห่งรัฐและรมว.กระทรวงการต่างประเทศ โดนตั้งข้อกล่าวหาละเมิดกฎหมายการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และพรรค NLD ทั้งหมด ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าทุจริตการเลือกตั้ง

เช่นเดียวกับที่เวลาเราอ่านงานเขียนประเภทพงศาวดาร ราชวงศ์ปกรณ์ หรือวรรณคดียุทธนาการของกษัตริย์ยุคโบราณในดินแดนพม่า ซึ่งพาย้อนกลับเข้าไปสู่อดีตวันคืนอันไกลโพ้น บางช่วงบางตอนก็จะมีข่าวซุบซิบบ้าง ข่าวลือบ้าง คำพยากรณ์บ้าง การตีตราให้ภาพแบบฉบับของฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ปาฏิหาริย์อัศจรรย์ต่างๆ มาแบบลมหอบหมุนม้วน มืดฟ้ามัวปฐพี ธรณีลั่นเลื่อนต่างๆ นานา แทรกเข้ามา

สองสามปีที่ผ่านมาหลังจากพลเอกมินอ่องหล่ายต่ออายุราชการเมื่อปี 2016 มีข่าวลือว่าเขาเก็บงำความทะเยอทะยานในการเป็นประธานาธิบดี ซึ่งเขาเคยแย้มเป็นนัยๆ อยู่หลายวาระโอกาส ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ อย่างในวาระไปเยือนรัสเซีย เมื่อปี 2020 เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ Politic Magazine ฉบับที่ 117 (7 สิงหาคม 2020) ตอนหนึ่งว่า เราไม่สามารถแยกทหารออกจากรัฐพม่าได้ ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าจักรวรรดิพม่าโบราณเจริญรุดหน้าได้ด้วยแรงผลักดันของกองทัพ ผมเชื่อว่าประสบการณ์ 40 ปีในการบริหารกองทัพจะช่วยพัฒนาประเทศและประชาชนได้

หลังจากรัฐประหาร เขาถือว่าเป็นหน้าที่ของเขาในการฟื้นฟูอำนาจรัฐให้กับทหาร เพราะอย่างที่มีข้อมูลปรากฏในฐานข้อมูลว่าในการเลือกตั้ง 2020 พรรค NLD ของอองซานซูจีได้ที่นั่งในสภาไป 396 ที่นั่ง ในขณะที่พรรค USDP ซึ่งเป็นพรรคการเมืองทหารเก่า และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพได้ที่นั่งในสภาแค่ 33 ที่นั่ง

ปฐมเหตุของรัฐประหารไม่ได้ปักหมุดที่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 หรือในสัปดาห์ต่อๆ มา แต่ตั้งเค้าทะมึนมาเป็นเวลาหลายเดือนก่อนวันเลือกตั้ง

14 สิงหาคม 2020 แกนนำพรรค USDP ที่เป็นพรรคของทหารเก่าและพรรคเล็ก พันธมิตร อีกหลายพรรคได้เข้าพบ ผบ.สส. และฟ้องว่า กกต. ชุดนี้ ทำงานไม่โปร่งใส

อูเตงญุ่น (ဦးသိန်းညွန့်) นายทหารยศพันเอก วัยเกษียณ อายุ 72 ปี ประธานพรรค NNDP หรือพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติใหม่ ลุกขึ้นเสนอแนะต่อที่ประชุมว่า พลเอกมินอ่องหล่ายสามารถเข้าแทรกแซงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ในลักษณะเดียวกับเมื่อปี 1958

เขาเสนอโมเดลปี 1958 ว่า หลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ มีความตึงเครียดทางการทหารและการลุกฮือของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม ในปี 1948 เนวิน (ဦး​နေဝင်း) ขึ้นมามีอำนาจในกองทัพ

31 มกราคม 1949 เนวิน ได้เป็นผู้บัญชาการทหารและเข้าควบคุมทหารทั้งหมดแทนนายพลสมิธ ดุน (ဗိုလ်ချုပ် စမစ်ဒွန်း) ผู้บัญชาการกองทัพ เชื้อสายกะเหรี่ยง เนวินได้จัดระเบียบกองทัพใหม่ ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 1958 อูนุ (ဦးနု) ได้ร้องขอให้เนวินเป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล หลังจากที่พรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์ (AFPFL) แตกออกเป็นสองส่วน อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่มาก คือความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ จนอูนุเกือบไม่ได้รับการไว้วางใจจากรัฐสภา เนวินได้ฟื้นฟูกฎระเบียบใหม่ในระหว่างที่เขาเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ 2 ปี และให้จัดการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 1960 ปรากฏว่า อูนุเป็นฝ่ายชนะ ได้จัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 4 เมษายน 1960 และกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลฟื้นฟูระบบรัฐสภาอีกครั้ง อย่างไรก็ดี วันที่ 2 มีนาคม 1962 นายพลเนวินได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลอูนุที่มาจากการเลือกตั้ง ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ตั้งสภาปฏิวัติขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นทหารเกือบทั้งหมด

ไม่นานหลังจากการรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เตงญุ่น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสภาบริหารแห่งรัฐของกองทัพซึ่งมีพลเอกมินอ่องหล่ายเป็นประธาน

พลเอกมินอ่องหล่ายบอกกับผู้นำพรรค 34 พรรค ในคราวประชุมพบปะหารือเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2020 ว่าเขาเคารพผลการเลือกตั้งปี 2010 และ 2015 แม้ว่าพรรค NLD จะได้รับชัยชนะในช่วงหลัง แต่ก็ต้องเฝ้าติดตามสังเกตกระบวนการประชาธิปไตยของ NLD อย่างใกล้ชิดก่อนทราบผลการเลือกตั้ง 2020 เขายังพูดประโยคที่เป็นลาง

“ไม่มีอะไรที่ผมไม่กล้าทำ ผมกล้าทำทั้งหมด หากว่าเหล่านั้นจะกระทบต่อประเทศชาติ ประชาชนและอนาคตของกองทัพ”

พลเอกมินอ่องหล่ายกล่าว เมื่อ 14 สิงหาคม 2020 ณ กรุงเนปิดอว์

ถ้าสมาชิกของรัฐสภาใหม่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติและได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ พวกเขาจะเป็นคนดี – เตงญุ่น ชี้ให้เห็นเรื่องนี้อย่างจริงจังในที่ประชุมวันนั้น ประเด็นเรื่องการเกลียดกลัวชาวต่างชาติที่ยกขึ้นมาพูดในวันนั้นมันเป็นเหตุผลข้ออ้างที่ฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าไม่พอใจอองซานซูจีในช่วงยุคเผด็จการทหารที่ผ่านมา และพยายามทำทุกอย่างเพื่อสร้างความลำบากให้กับบุคคลผู้นี้ ถึงขนาดชี้แสดงให้ชาวพม่าเห็นว่า นางอาริส (Mrs.Aris) ซึ่งเป็นคำเรียกนางอองซานซูจีซึ่งแต่งงานกับ ไมเคิล อาริส (Michael Aris) ชาวอังกฤษ เป็นผลผลิตและได้รับอิทธิพลตะวันตก เป็นหุ่นให้ตะวันตกเชิด

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะว่าผู้นำทหารพม่าตั้งแต่นายพลเนวินเป็นต้นมาต่างเกลียดตะวันตก เหตุเพราะว่าตะวันตก ซึ่งก็คือพวกจักรวรรดินิยมได้เคยเข้าครอบงำและทำลายชาติพม่ามาแล้ว

ในยุครัฐบาลทหารยุคก่อนๆ ก็มีกระแสข่าวว่าฝั่งทหารเคยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอยากให้เธอเดินทางออกไปจากพม่าเสีย หรือถ้าไม่เป็นเช่นนั้น เธอก็ควรถูกกักบริเวณต่อไป

จดหมายสองฉบับหลังการรัฐประหาร

สำนักข่าวบีบีซีไทย รายงานว่า วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2021 ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีของไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2021 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเผยว่าได้รับจดหมายฉบับดังกล่าวจริง ซึ่งส่งมาเป็นการส่วนตัวถึงเขาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อปี 2014 เผยว่า เนื้อหาโดยสรุปในจดหมายของพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย คือ ขอให้ไทยสนับสนุนการเป็นประชาธิปไตยของพม่า ซึ่งพลเอกประยุทธ์บอกว่า เขาก็สนับสนุนอยู่แล้ว และบอกต่อว่าเขาไม่ได้ตอบจดหมายของหัวหน้าคณะรัฐประหารพม่า เนื่องจากเป็นจดหมายชี้แจงให้สนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยของพม่า ซึ่งเขาและประเทศไทยก็สนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่ก็เป็นเรื่องของพม่าว่าจะทำอย่างไรต่อไป

“เราสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในพม่า แต่สิ่งจำเป็นวันนี้ก็คือเราจะต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ให้ได้มากที่สุด” พลเอกประยุทธ์กล่าว

สำนักข่าว Dhaka Tribune ของบังคลาเทศ รายงานเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2021 ว่า พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายเขียนจดหมายอธิบายเหตุแห่งรัฐประหาร วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ถึงบังคลาเทศ

“These are good news. It’s a good beginning”

ดร.โมเมน (Dr.Momen) รมว. กระทรวงการต่างประเทศ

เราได้รับจดหมาย พวกเขาส่งจดหมายถึงเอกอัครราชทูตของเรา ดร.เอ.เค. อับดุล โมเมน (Dr.A.K. Abdul Momen) บอกกับผู้สื่อข่าว

เขาบอกว่าในจดหมายนั้นรัฐบาลเฉพาะกาลของพม่าระบุว่ามีความผิดพลาดจากการลงคะแนนเสียงถึง 10.4 ล้านเสียงเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เขาบอกว่านี่เป็นข่าวดีสำหรับเขาก็คือ ภายหลังจากการยึดอำนาจของกองทัพพม่าได้มีการพูดถึงประเด็นโรฮิงญา และความปรารถนาที่จะค่อยๆ นำกลับคืนสู่ภาวะปกติ โดยหัวหน้าคณะรัฐประหาร ดร.โมเมน ยังบอกด้วยว่า มันทำให้ชาวโรฮิงญาในค่ายกูตูปาลอง ดีใจที่ได้ยินข่าวความหวังที่จะหวนคืนสู่บ้านของพวกเขา แม้ว่ามันจะมีความย้อนแย้งอยู่อีกมากมาย เช่น กองทัพเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นคนสั่งปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาจนเกิดวิกฤติปี 2017 ถึงขั้นกลายเป็นข้อกล่าวหาว่ามันเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ตามที่มีนิยามในตำรา มีการฟ้องร้องกันระหว่างประเทศและต้องนำคดีไปขึ้นศาลโลกมาแล้วเมื่อปี 2019

ที่ผ่านมาปัญหาโรฮิงญาเป็นปัญหาที่รัฐบาลบังคลาเทศต้องแบกรับมาเป็นสิบๆ ปี บังคลาเทศมองว่าพม่าไม่มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

ทว่าเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2021 พลเอกมินอ่องหล่ายแถลงผ่านโทรทัศน์ช่อง MRTV สื่อกระบอกเสียงของกองทัพเป็นครั้งแรกถึงเหตุการณ์การรัฐประหาร ในวิดีโอแถลงนาทีที่ 19.11 ถึง 19.20 พลเอกมินอ่องหล่ายพูดถึงประเด็นโรฮิงญา ที่อพยพออกจากรัฐยะไข่และกำลังลี้ภัยในบังคลาเทศว่า เขาจะดำเนินการรับชาวโรฮิงญากลับ และดำเนินการเรื่องนี้ต่อ ตามที่ทำ MOU ไว้กับรัฐบาลบังคลาเทศ

นักวิเคราะห์ในเมืองย่างกุ้งมองว่า นี่อาจจะเป็นหมากตัวต่อไปในเกมของพลเอกมินอ่องหล่ายหรือไม่ เพราะต้องอย่าลืมว่าปัญหาโรฮิงญาก็เป็นปัญหาใหญ่โตมาก ซึ่งวิกฤติเรื้อรังมายาวนาน และยังคงอยู่ในสายตาประชาคมโลก

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์พม่าแสดงให้เราเห็น และชวนตั้งคำถามว่า นายพล หัวหน้าคณะรัฐประหารจะสามารถฟื้นฟูระเบียบแห่งรัฐที่ค่อนข้างเปิดกว้างในยุคดิจิตอลนี้ได้หรือไม่ ขนาดไหน อย่างไร หรือว่าจะมีเพียงแค่กึ่งๆ ประชาธิปไตยเหมือนในสมัยอองซานซูจีเท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนั้น ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวนนับล้านคนในบังคลาเทศก็คงไม่ได้กลับบ้าน แบบไม่ต้องมีข้อเงื่อนไขใดเลยจากรัฐบาลพม่า

เมื่อเราเอาตัวบทของกองทัพมากางดูก็จะเห็นว่าเป็นวงที่ซ้อนทับกับวงประวัติศาสตร์พม่าปี 1958 และยิ่งเมื่อใดที่การฟื้นฟูอำนาจของกองทัพแตกสลาย ทางออกหนึ่งคือการหันกลับไปใช้ธรรมเนียมเก่าแก่ของกองทัพพม่า ซึ่งก็อาจจะโผล่มาให้เห็นได้ จนบางคนเรียกมันว่าเป็น စစ်တပ်ထုံးစံ (ซิดตั๊ดโทงสั่น) แปลว่า ธรรมเนียมปฏิบัติปกติของกองทัพ เหมือนเมื่อครั้งที่ พลเอกอาวุโสตันฉเหว่ (ဗိုလ်ချုပ်မှူးကြီးသန်း​ရွှေ) คิดโยกย้ายราชธานีจากนครย่างกุ้ง เมืองหลวงสมัยอาณานิคม สู่กรุงเนปิดอว์ ซึ่งก็ว่ากันว่า ช่างเหมือนกับการโยกย้ายราชธานีของบรรดา ‘มินตะยา’ (မင်းတရား) หรือ กษัตริย์พม่า ยุคจารีต เสียเหลือเกิน

ในท่ามกลางกระแสเกลียวคลื่นข้อมูลข่าวสารที่ไหลบ่าอยู่เบื้องหน้าเรา ดูเหมือนว่ามันมีมวลคลื่นยุทธนาการที่ไหลเวียนหล่อเลี้ยงอยู่ ยุทธนาการหนึ่ง คือ สิ่งที่ข้อเขียนนี้ได้ฝนฎีกา ชื่อ ตั๊ดมะด่อฎีกา กับอีกยุทธนาการหนึ่งที่ผู้ประท้วงชาวพม่าที่ไม่เอาทหารกำลังยืนถือรูปอองซานซูจีบนท้องถนนในพม่าหรือแม้แต่ในไทย ในต่างประเทศ

เมื่อมีต้นเสียงร้องตะโกนดังๆ ว่า อะเหม่ซุ้ (အ​မေစု) หรือ คุณแม่ซุ้

พลันสิ้นเสียงนั้น ก็มีเสียงตอบรับอย่างพร้อมเพรียงประสานเสียงกันว่า ချက်ချင်းလွှတ် (แชะก์ชีนลุด) คือ ให้ปล่อยตัวเธอทันที เธอผู้เป็นไอคอนประชาธิปไตยพม่าถูกฝ่ายกองทัพจับตัวไป

และเป็นความจริงที่ว่าเมื่อเราพลัดเข้าไปในกระแสธารข้อมูล ซึ่งกำลังไหลเชี่ยวกรากในโซเชียลมีเดีย เราก็จะพบกับยุทธการวงศ์ของเขาและของเธอ…

เชิงอรรถ

[1] တိမ်​တောင် (เต่ง-ต่อง) มวลเมฆที่มีลักษณะปุยคล้ายก้อนสำลี ยอดมนกลมคล้ายกะหล่ำดอก ฐานเมฆแบนเรียบ
သဖွယ် (ตะ-ผแหว่) ดุจ; เหมือน; ประหนึ่ง 
မင်း​ရေး (มิน-เย) การเมือง (เป็นศัพท์โบราณ ตามรูปศัพท์แปลว่าเรื่องเกี่ยวกับกษัตริย์)
ကျယ် (แจ่) กว้างขวาง

อ้างอิง

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า