บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติฝรั่งเศส France Télécom เคยเป็นองค์กรที่มั่นคง การจ้างงานมีประสิทธิภาพ พนักงานส่วนใหญ่จงรักภักดี ทุ่มเททำงาน ฝากความหวังของชีวิตไว้จนวันเกษียณ
แต่ France Télécom ก็ถึงจุดสะดุดในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิตอลเต็มรูปแบบ ต้องประสบภาวะขาดทุนมหาศาล จนรัฐต้องสั่งให้แปรรูปเป็นเอกชนในปี 2003 ถัดมาปี 2005 หนี้สินก็พอกพูนไปถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ และในปี 2013 France Télécom ก็ถูกแปรสภาพเป็นองค์กรโทรคมนาคมใหญ่ในแบรนด์ Orange
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารต้องการลดขนาดธุรกิจ แต่แน่นอน การไล่ออกพนักงานที่ถือว่าเป็นลูกจ้างของรัฐเท่ากับต้องเสียค่าชดเชยแสนแพง เมื่อฝ่ายบริหารต้องลดจำนวนพนักงานออกไป 22,000 คน จากทั้งหมด 130,000 คน เพื่อการันตีความอยู่รอดขององค์กร
สิ่งที่ฝ่ายบริหารของ France Télécom ตัดสินใจทำคือ จัดกระบวนการไซโคอย่างเป็นระบบเพื่อบีบให้พนักงานลาออก แต่ผลที่ตามมาเลวร้ายกว่าที่คิด เมื่อตลอดกระบวนการ พนักงานอย่างน้อย 35 คนตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง หลังรู้สึกว่าตัวเองถูกหลอก ถูกทรยศ ติดกับ และสิ้นหวัง
ข้อมูลจากสหภาพแรงงานอ้างว่า ระหว่างปี 2006-2010 พนักงานของ France Télécom ฆ่าตัวตายไปถึง 60 คน โดย 19 กรณีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลอาญา ร่วมกับความพยายามฆ่าตัวตาย 12 กรณี และอีก 8 รายที่มีอาการซึมเศร้าและป่วยเรื้อรังจากการทำงาน
อดีตฝ่ายผู้บริหารของ France Télécom กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ‘ล่วงละเมิดคุกคามทางศีลธรรม’ ในสถานที่ทำงาน นับเป็นครั้งแรกที่นายจ้างฝรั่งเศสต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และกรณีนี้แสดงให้เห็นความขัดแย้งร้าวลึกระหว่างทุนนิยมและวัฒนธรรมองค์กร ตอกย้ำคำถามที่คอยหลอกหลอนชาวฝรั่งเศสถึงแรงงานในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เนื่องจากการล่วงละเมิดคุกคามถูกออกแบบและปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ จนเป็นสาเหตุให้ลูกจ้างถึงแก่ความตาย
จำเลยของคดีนี้คือ ดิเดเยร์ ลอมบารด์ (Didier Lombard) อดีต CEO, หลุยส์-ปิแอร์ แวเนส์ (Louis-Pierre Wenès), โอลิวิเยร์ บาร์เบโรต์ (Olivier Barberot) อดีตฝ่ายบุคคล และทีมงานฝ่ายบริหารอีก 4 คน
วิธีการบีบออกจากงานที่ถูกบันทึกไว้ในคำให้การ เช่น พนักงานบางคนถูกย้ายตำแหน่งงาน ย้ายเมือง วิศวกรมากประสบการณ์หรือช่างเทคนิคฝีมือดีถูกโยกไปเป็นคอลเซ็นเตอร์ บางคนได้รับอีเมลแปลกๆ จากเจ้านาย แนะนำว่าให้ออกไปเปิดร้านพิซซ่าหรือไม่ก็เกสต์เฮาส์ในชนบท บางคนถูกข่มขู่ด้วยวาจา และมีรายงานว่าพนักงานส่วนหนึ่งถูกทิ้งไว้ในออฟฟิศร้างๆ
ฝ่ายบริหาร “หาทางทำลายเสถียรภาพของพนักงาน” อัยการ ฟรองซัวส์ เบเนเซค (Francoise Benezech) กล่าว
“พวกเขาถูกต้อนจนมุมเลย” มิเชล เลโดซ์ (Michel Ledoux) หนึ่งในทีมทนายโจทก์กล่าว “ความเป็นไปได้หนึ่งเดียวคือทำให้พวกเขาออกไป ไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง”
จุดจบของพนักงานมีหลากหลาย เช่น ผูกคอตาย เผาตัวเอง โดดออกนอกหน้าต่าง โดดใส่รางรถไฟ โดดจากสะพาน สะพานลอยข้ามทางด่วน ทั้งหมดนี้ไปไกลกว่ายุทธศาสตร์ของฝ่ายบริหารที่วางไว้ว่า “ผลักดันบริษัทไปสู่ศตวรรษใหม่”
คดีมหากาพย์ระหว่างประชาชนกับองค์กรระดับประเทศนี้ต้องรับฟังไต่สวนพยานนานหลายเดือน ทั้งญาติผู้สูญเสีย นักจิตวิทยา นักสังคมวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านความทุกข์ทรมานในสถานที่ทำงาน
27 มิถุนายน 2019 ศาลอาญาฟังคำให้การของ โนมิ ลูฟราโดซ์ (Noémie Louvradoux) ซึ่งกล่าวว่า “คุณฆ่าพ่อฉันทำไม” หลังพ่อของเธอ เรมี (Rémy) วัย 56 ปีจุดไฟเผาตัวเองหน้าอาคาร France Télécom ใกล้บอร์กโดซ์ (Bordeaux) เมื่อ 26 เมษายน 2011 หลังโดนย้ายงาน
สองปีก่อนหน้าการอัตตวินิบาตกรรม เรมี ลูฟราโดซ์ เขียนจดหมายเปิดผนึกวิจารณ์การรื้อโครงสร้างองค์กรไปยังฝ่ายบริหารและรัฐบาลฝรั่งเศส ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ว่าไม่ต่างกับการโยนพนักงานที่อยู่ในวัย 50 กว่าๆ เช่นเขาลงถังขยะ “ผมเป็นส่วนหนึ่งของประเภทนั้นแหละ ผมเป็นส่วนเกิน…การฆ่าตัวตายจะเป็นทางออก”
พนักงานอายุน้อยที่สุดที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองคือ นิโกลาส์ เกรโนวิลล์ (Nicolas Grenouville) ช่างเทคนิควัย 28 ปี เขาสวมเสื้อยืดตราบริษัท ใช้สายสัญญาณอินเทอร์เน็ตผูกคอตัวเองในโรงรถ หลังโดนโยกสายฟ้าแลบไปอยู่ตำแหน่งเซลส์ที่ต้องดีลงานกับลูกค้า
“ผมไม่สามารถอยู่ในงานนี้ได้อีกแล้ว และ France Télécom ก็คงไม่แคร์อีกต่อไป” เขาขียนโน้ตไว้สั้นๆ ก่อนฆ่าตัวตายในเดือนสิงหาคม 2009 “ทุกอย่างที่พวกเขาแคร์คือเงินเท่านั้น” โดยวันก่อนฆ่าตัวตาย เขาทำงาน 12 ชั่วโมง และมีเวลาพักแค่ 30 นาที
ขณะที่ มิเชล เดอปารีส์ (Michel Deparis) พนักงานอีกคน ทิ้งจดหมายลาตายไว้ในปี 2009 ว่า “France Télécom ต้องรับผิดชอบการฆ่าตัวตายของผม”
ปีเดียวกัน คามิลล์ บอดิวีท์ (Camille Bodivit) วัย 48 ปี เคยเป็นผู้วางนโยบายองค์กร โดดสะพานในเบรอตาญ (Bretagne) หลังถูกย้ายกะทันหัน ซึ่งทนาย จูเลียต เมนเดส์-ริเบโร (Juliette Mendès-Ribeiro) บอกกับศาลว่า “งานคือทุกอย่างของเขา”
ในคำแก้ต่างของจำเลย อดีตผู้บริหารอ้างว่าต้องรับแรงกดดันจากการแข่งขันและตลาดที่เปลี่ยนไป
“บริษัทกำลังดำเนินไปในที่ที่ไม่รู้จัก” อดีต CEO ลอมบารด์ กล่าว “เราคงทำมันอย่างนุ่มนวลกว่านี้มากๆ หากเราไม่ได้มีการแข่งขันแบบนั้นมาเคาะประตูหน้าบ้าน”
โชคไม่ดีสำหรับลอมบารด์ เพราะมีคำพูดของเขารั่วไหลออกมาในปี 2007 ว่า “ผมจะต้องเอาคนพวกนี้ออกให้ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ออกทางประตูก็ต้องออกทางหน้าต่าง”
นูเอลล์ เบอร์กิ (Noëlle Burgi) นักสังคมวิทยาซึ่งทำงานกับพนักงานบริษัทช่วงเกิดกระแสฆ่าตัวตาย ให้การว่า มันคือ “กระบวนการทำให้เกิดความอับอาย”
“คุณถูกโยนไปอยู่ออฟฟิศชั้นใต้ดิน” เบอร์กิกล่าว “ที่นั่นมีชายคนหนึ่งถูกเด้งออกไปจากออฟฟิศตัวเอง เขาไม่เข้าใจว่าทำไม”
การฆ่าตัวตายจากความไม่มั่นคงทางอาชีพ แสดงให้เห็นวิกฤติว่างงานต่อเนื่องในฝรั่งเศส ทำให้คนระดับแรงงานรู้สึกได้ว่าตัวเองคือผู้ยืนอยู่แถวหน้าที่จะรับความเสี่ยงนี้มากกว่าคนอื่น
“คนที่ทำงานข้างนอกตลอดอาชีพของเขาต้องย้ายมานั่งหน้าคอมฯ กะทันหัน” เฟรเดริค กีญอง (Frédérique Guillon) ทนายของฝ่ายพนักงานกล่าว “ก่อนหน้านั้น ตอนที่ยังมีการจ้างงานเต็มเวลา หากคุณไม่แฮปปี้กับงาน คุณสามารถบอกเจ้านายคุณได้ว่า ไปลงนรกซะ”
แต่สถานการณ์แบบนั้นไม่เกิดขึ้นมานานแล้วในฝรั่งเศส เมื่อตลาดแรงงานซบเซา เช่นเดียวกับแรงงานเองก็ไม่ค่อยเดินทางข้ามประเทศไปหางานใหม่ พวกเขาต้องการความมั่นคงแบบเดิมมากกว่า
“80 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานตั้งใจจะอยู่ไปจนถึงวันสิ้นสุดชีวิตในอาชีพของพวกเขา” ปาสกาล อับเดสซามาด์ (Pascale Abdessamad) หนึ่งในพนักงานของ France Télécom ให้การ เพราะ France Télécom คือองค์กรที่ขึ้นชื่อว่าให้ความมั่นคงทางอาชีพมาอย่างยาวนาน
สถานการณ์ในฝรั่งเศสเป็นเหมือนที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ตั้งเป้าให้ประเทศเป็นมิตรกับโลกธุรกิจมากขึ้น มาครงจึงเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อกั๊กเหลือง ที่กล่าวหาว่าเป็น ‘ประธานาธิบดีของคนรวย’ ขณะเหล่าลูกจ้างส่งเสียงถึงความไม่เท่าเทียมและการดิ้นรน กลุ่มนายทุนในฝรั่งเศสกลับคิดว่า ระบบที่ใจกว้างและออกมาปกป้องแรงงานมากเกินไปทำให้จ้างงานยากและส่งผลเสียต่อการสร้างงานสร้างอาชีพ
สำหรับคดีนี้ หากพบว่ามีความผิดจริง โทษสูงสุดของฝ่ายบริหารที่เป็นจำเลยคือจำคุก 1 ปี ปรับ 85,000 ดอลลาร์ โดยผลการพิจารณาคดีนั้นคาดว่าจะมีคำตัดสินสุดท้ายออกมาภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2019
อ้างอิงข้อมูลจาก: bbc.com nytimes.com truthout.org |