ลำพังแค่ตอนมีประจำเดือนก็ใช้ชีวิตลำบากกันอยู่แล้ว แต่ให้ลองผ่านช่วง ‘วันแดงเดือด’ โดยไม่มีผ้าอนามัยสักชิ้นใส่แล้วยังต้องไปโรงเรียนอีก – สยองเลยล่ะ ไม่เชื่อลองถามสาวๆ คนไหนก็ได้ โดยเฉพาะสาวๆ วัยรุ่นในสหราชอาณาจักร
หลังอ่านพบว่า เด็กหลายคนต้องขาดเรียนช่วงมีประจำเดือนเพราะไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ เดือนเมษายน 2017 เอมิกา จอร์จ (Amika George) วัย 17 ปีในขณะนั้นรู้สึก ‘ไม่โอเค’ จนลุกขึ้นมาเริ่มแคมเปญ #FreePeriods ในห้องนอนของเธอ ก่อนขยายความเคลื่อนไหวผ่านโลกออนไลน์ เดินหน้าต่อสู้ให้วัยรุ่นหญิงที่ขาดโอกาสมีสิทธิรับผ้าอนามัยฟรีและสามารถไปเรียนหนังสือได้
จากเป้าหมายแรกที่ต้องการแค่ 10 รายชื่อในคำร้องต่อ นายกรัฐมนตรีเธเรซา เมย์ แต่เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น คำร้องของเธอมีคนลงชื่อกว่า 2,000 คน หนึ่งปีต่อมารายชื่อพุ่งไปถึง 200,000 คน
จนถึงตอนนี้ แคมเปญของเธอได้รับความสนใจจากทั่วโลก รวมถึงได้รับรางวัล Goalkeepers Award จาก บิลล์ เกตส์ และชื่อของเธอก็ติดหนึ่งใน 25 วัยรุ่นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกของนิตยสาร Time
ย้อนกลับไปในห้องนอนตอนนั้น เธอคิดว่า “น่ารังเกียจมากที่ไม่มีความช่วยเหลือมาถึงพวกเธอ”
เมื่อประจำเดือนกระทบชีวิตผู้หญิง
รายงานข่าวจาก Metro เปิดเผยว่า ครูหลายคนได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างการโดดเรียนของเด็กหญิงกับช่วงเวลามีประจำเดือน ผลสำรวจจากองค์กรธนาคารอาหารดาร์ลิงตัน (Darlington Salvation Army Food Bank) ระบุว่า ผู้หญิงในสหราชอาณาจักรหลายคนต้องใช้ระดาษหนังสือพิมพ์ ผ้าเช็ดหน้า หรือถุงเท้าเก่าแทนผ้าอนามัยราคามหาโหด
“ในฐานะเด็กนักเรียนคนหนึ่ง ฉันกลัวว่าระบบทางชีววิทยาตามธรรมชาติของผู้หญิงจะกลายเป็นอุปสรรคในการศึกษาและการไปถึงเป้าหมายทางการเรียนอย่างเท่าเทียม ท่าทีนิ่งเฉยของรัฐบาลต่อปัญหานี้ทำให้ฉันเดินหน้าแคมเปญมอบผ้าอนามัยฟรีให้กับเด็กๆ จากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำด้วย
“เด็กเหล่านี้ต้องอยู่กับความวิตกกังวลอย่างหนักตลอดการนั่งในห้องเรียน กลัวว่าประจำเดือนจะเลอะชุดนักเรียนและนำไปสู่การล้อเลียนหรือรังแก ดังนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดคือไม่ไปโรงเรียนเสียเลย”
การกำหนดราคาของผ้าอนามัยทั้งแบบแผ่นและแบบสอดกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสินค้าเหล่านี้ยังคงถูกเก็บภาษีและจัดให้อยู่ในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย ทั้งที่ผู้หญิงจำเป็นต้องใช้ สำนักข่าว Huffington Post เคยคำนวณว่า ตลอดชีวิต ผู้หญิงจะต้องจ่ายเงินค่าผ้าอนามัยเฉลี่ย 1,383 ปอนด์ หรือประมาณ 55,700 บาท
นอกจากนี้ ผลสำรวจจากเว็บไซต์ OnePoll พบว่า 44 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่เคยขาดแคลนผ้าอนามัยต่างมีปัญหาในการหางานทำด้วย สูงกว่ากลุ่มผู้หญิงที่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ตามปกติถึง 20 เปอร์เซ็นต์
ขบวนประท้วงสีแดง
เดือนธันวาคม 2017 จอร์จ และผู้คนกว่า 2,000 คนยืนรวมตัวอยู่นอกบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง หรือทำเนียบนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ทั้งหมดสวมชุดสีแดงและโบกธงที่มีถ้อยคำเกี่ยวกับประจำเดือน เรียกร้องให้รัฐบาลเคลื่อนไหวเพื่อยุติการขาดแคลนผ้าอนามัยเนื่องจากปัญหาทางการเงิน
ไม่กี่เดือนหลังจากการเดินขบวนครั้งนั้น รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรได้ประกาศว่า จะมอบเงินภาษีจากผ้าอนามัย 1.5 ล้านปอนด์หรือราว 60 ล้านบาทให้การกุศลเพื่อแสดงถึงการรับรู้ปัญหานี้ เธอเองก็ดีใจกับความสำเร็จครั้งนี้แม้จะเล็กน้อยก็ตาม แต่เธอยังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายด้วย
“การขาดเรียนหมายถึงการหล่นไปรั้งท้ายในกระบวนการการศึกษา และเด็กเหล่านี้ต้องพบว่าตนเองอยู่ห่างจากเป้าหมายและความทะเยอทะยานก็ช่วยให้ตามทันแทบไม่ได้ แค่เพราะพวกเธอมีเลือดออกตามธรรมชาติเท่านั้น”
จนถึงตอนนี้ #FreePeriods ได้จับมือกับ Red Box Project และ Pink Protest เปิดตัวการรณรงค์ครั้งใหม่ที่พุ่งเป้าไปที่ด้านกฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเด็กคนไหนต้องขาดเรียนเพราะไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัยอีก เป้าหมายต่อไปของเธอจึงเป็นการระดมเงินทุนเพื่อรณรงค์ด้านกฎหมาย ผลักดันให้โรงเรียนและวิทยาลัยทุกแห่งในอังกฤษมอบทุนเพื่อจัดสรรผ้าอนามัยให้กับนักเรียนนักศึกษาทุกคนที่ต้องการ
เดือนสิงหาคม 2018 รัฐบาลสกอตแลนด์เริ่มต้นแจกผ้าอนามัยฟรีในทุกโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย โดยมีให้หยิบฟรีในห้องน้ำทุกแห่ง เช่นเดียวกับสบู่และกระดาษชำระ รวมถึงแจกให้กับประชาชนที่มีรายได้ต่ำ ส่วนเวลส์ก็ยังให้สัญญาว่าจะมอบเงิน 1 ล้านปอนด์สำหรับแก้ไขปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัย
จอร์จบอกว่า อยากทำให้ปี 2019 ไปไกลกว่าเดิม โดยพยายามผลักดันให้เด็กทุกคนในสหราชอาณาจักรมีสิทธิได้รับการศึกษา โดยไม่ถูกขัดขวางจากร่างกายของตัวเอง
“ไม่มีใครควรขาดเรียนเพราะมีประจำเดือน” เธอบอก
อ้างอิงข้อมูลจาก:
standard.co.uk
theguardian.com
freeperiods.org
สนับสนุนโดย