วันนี้ ( 27กรกฎาคม 2565) ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตนได้ร่วมประชุมพิจารณาประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาประเด็น ‘ผ้าอนามัย’ จากการที่ได้รับหนังสือของ ปภาณษิณ ปิ่นแก้ว หัวหน้ากลุ่มลดความเหลื่อมล้ำทางเพศและคณะ เรียกร้องให้มีการแก้ไขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจำพวกผ้าอนามัยให้มีความเป็นธรรมต่อเพศหญิงมากขึ้น และต้องจัดหาหรือแจกผ้าอนามัยในสถานศึกษาระดับโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เนื่องจากเป็นวัยที่ยังไม่มีรายได้ ที่สำคัญคือการเพิ่มความเท่าเทียมทางเพศ
ก่อนหน้านี้ ปภาณษิณกล่าวไว้เมื่อครั้งเดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุม แต่ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ ตนมองว่าไม่เป็นธรรม หากผู้หญิงเป็นประจำเดือนจำเป็นต้องใช้ ก็เลือกที่จะไม่ใช้ไม่ได้ ส่วนนี้จึงเป็นการเสียภาษีประเภทเลือกเสียภาษีแบบทางเพศ ซึ่งเสียเฉพาะเพศหญิง ส่วนเพศชายไม่จำเป็นต้องเสีย จึงเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำขึ้น
ด้านธัญวัจน์ กล่าวว่า “จากการศึกษาประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเพศของผู้หญิงผู้มีประจำเดือนในประเด็นผ้าอนามัย ในต่างประเทศมีหลายแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำ อย่างประเทศสกอตแลนด์ หรือบางรัฐในสหรัฐ ก็มีการแจกผ้าอนามัยฟรี หรือบางประเทศใช้วิธียกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักร อินเดีย และผลจากการศึกษารอบด้าน ทางคณะกรรมาธิการจึงลงมติให้มีการนำร่องแจกผ้าอนามัยฟรีในสถานศึกษา เพื่อลดภาระผู้ปกครองและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ”
นอกจากนั้น ธัญวัจน์ได้ส่งเอกสารต่อให้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อสอบถามถึงประเด็นการจัดสรรงบประมาณผ้าอนามัย ตามที่มีการเรียกร้องเข้ามา และได้รับการชี้แจงว่า พม. จะทำโครงการนำร่องแจกผ้าอนามัยฟรีในบางพื้นที่
ธัญวัจน์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องงบประมาณ ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่ดำเนินการได้ในขณะนี้คือการแจกบางพื้นที่นำร่องเพื่อเก็บข้อมูลจัดสรรงบประมาณในปีต่อไป
ประเด็นเรื่องผ้าอนามัยอยู่ในร่มใหญ่ของการจัดสรรงบประมาณเพื่อตอบสนองต่อนโยบายเพื่อเพศสภาพ Gender Resoonsive Budgeting ธัญวัจน์ มองว่า จำเป็นอย่างมากที่ทุกหน่วยงานต้องเข้าใจประเด็นดังกล่าว ซึ่งธัญวัจน์ได้ติดตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการจัดทำร่างคู่มือการจัดสรรงบประมาณนี้ และถามถึงตัวชี้วัดว่า พม. จะวัดความเท่าเทียมทางเพศด้านใดบ้าง เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณในปีต่อๆ ไปมีการคำนึงถึงเพศสภาพมากขึ้น
“การตั้งข้อสังเกตในคณะกรรมาธิการนั้นเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้หน่วยงานรับเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการ และเราต้องติดตามการทำงานของกระทรวงต่อไป”