ซูเปอร์มาร์เก็ตฝรั่งเศสกลายเป็นร้านค้าเพื่อคนจน

เรื่อง: พีระพัฒน์ สวัสดิรักษ์

 

ทุกๆ เช้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ต Auchan ใจกลางกรุงปารีส มักดาลีนา ดอส ซานโตส (Magdalena Dos Santos) จะพบกับ อาเหม็ด เฌอร์บรานี (Ahmed Djerbrani) หรือ ดูดู คนขับรถของธนาคารอาหารเพื่อคนยากไร้ (food bank) ของฝรั่งเศส

มักดาลีนาทำงานในแผนกอาหารของร้านสะดวกซื้อ มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการจัดเก็บอาหารสำหรับบริจาคของร้าน โดยเตรียมอาหารที่ใกล้วันหมดอายุไว้สำหรับส่งต่อให้อาเหม็ด เมื่อเปิดตู้เย็นขนาดใหญ่ของร้าน มักดาลีนาจะพบว่ามีสิ่งใดบ้างที่ต้องโละออกไป ทั้งโยเกิร์ต พิซซ่า ผลไม้สด ผัก และชีส

การให้อาหารเหลือทิ้งเป็นการกุศลไม่ได้เป็นแค่การกระทำด้วยความปรารถนาดีเท่านั้น มันยังเป็นข้อกำหนดภายใต้กฎหมายปี 2016 ที่สั่งห้ามร้านขายของชำร้านสะดวกซื้อโละอาหารที่ยังสามารถกินได้ทิ้งไป และหากมีการฝ่าฝืน ร้านค้าอาจถูกปรับเป็นเงิน 4,500 ดอลลาร์ต่อการละเมิดหนึ่งครั้ง

อาหารเหลือทิ้ง (food waste) เป็นปัญหาระดับโลก ในประเทศกำลังพัฒนานั้นพบการทิ้งอาหารเกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการผลิต แต่ในประเทศร่ำรวยกลับทิ้งมันไปในขั้นตอนการบริโภค ร้านขายของชำเป็นผู้รับผิดชอบต่อขยะจำนวนมาก ฝรั่งเศสจึงพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวด้วยการออกกฎหมายอาหารเหลือทิ้งเมื่อสองปีที่แล้ว

หลังร้าน อาเหม็ดจอดรถ แล้ววัดอุณหภูมิโยเกิร์ตที่ถูกส่งออกมาจาก Auchan “ผมเช็คอุณหภูมิของผลิตภัณฑ์นมเพื่อให้แน่ใจว่าพวกมันถูกเก็บไว้ในห้องเย็นตลอด” เขากล่าวก่อนโหลดอาหารเข้าไปในรถตู้ และขับข้ามเมืองไปยังโบสถ์ ซึ่งจะแจกจ่ายให้กับครอบครัวที่ยากจน

หนึ่งในทีมบริจาคอาหาร จิลเลียน เดมูเลส (Gillaine Demeules) อาสาสมัครการกุศลของโบสถ์ St. Vincent de Paul เตรียมพร้อมรับอาหารบริจาคประจำสัปดาห์บอกว่า

“พรุ่งนี้เราจะแจกจ่ายซุป ปลาซาร์ดีน พาสต้าและสิ่งของสดใหม่ๆ ที่พวกเขามอบให้เราวันนี้” เธอกล่าว “เราไม่เคยรู้ถึงสิ่งที่พวกเขากำลังจะนำมาให้”

จากข้อมูลของ ฌาคส์ เบเลต์ (Jacques Bailet) จากเครือข่ายธนาคารอาหารแห่งประเทศฝรั่งเศสที่รู้จักกันในชื่อ Banques Alimentaires ระบุว่า กฎหมายใหม่ได้เพิ่มปริมาณและคุณภาพของการบริจาค มีอาหารสดใหม่และผลิตภัณฑ์ที่พร้อมใช้งานเพิ่มเติมมากขึ้น โดยที่มันยังไม่ถึงวันหมดอายุ

องค์กรการกุศลทั่วประเทศฝรั่งเศสมีประมาณ 5,000 แห่งที่ขึ้นอยู่กับเครือข่ายธนาคารอาหาร ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของอาหารเหล่านี้มาจากการบริจาค เขากล่าวว่ากฎหมายดังกล่าวช่วยลดการสูญเสียอาหารโดยการยกเลิกข้อตกลงบางอย่างระหว่างซูเปอร์มาร์เก็ตและผู้ผลิตอาหาร

“มีผู้ผลิตอาหารรายหนึ่งซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้บริจาคแซนด์วิชที่ผลิตเพื่อส่งให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์หนึ่งโดยเฉพาะ แต่ตอนนี้เราได้แซนด์วิช 30,000 ชิ้นต่อหนึ่งเดือนซึ่งเป็นแซนด์วิชจากพวกเขา นั่นคือแซนด์วิชที่เคยถูกโยนทิ้งไป” ฌาคส์กล่าว

photo: Love Food Hate Waste NZ

ขณะที่โลกเสียหนึ่งในสามของอาหารที่ผลิตขึ้น และฝรั่งเศสทิ้งอาหารมากถึง 30 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ชาวอเมริกันทิ้งอาหารมากถึง 90 ล้านกิโลกรัมต่อปี หรือสามารถถมทับที่นั่ง 90,000 ที่นั่ง ของสนามกีฬา Rose Bowl ในทุกๆ วัน นี่คือข้อมูลจาก โจนาธาน บลูม (Jonathan Bloom) ผู้เขียนเรื่อง American Wasteland กล่าวถึงอาหารเหลือทิ้งในประเทศสหรัฐอเมริกา เขาบอกว่ามีวิธีการจัดการอาหารที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นคุณสามารถเริ่มต้นจากจุดสิ้นสุดของห่วงโซ่โดยการห้ามกำจัดอาหารด้วยการเอาไปทิ้งถมดิน

บลูมกล่าวอีกว่ากฎหมายของฝรั่งเศสนั้นยอดเยี่ยม และเขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวจากรัฐบาลวอชิงตัน แต่มันก็เป็นเรื่องยากลำบากทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ปัจจุบัน เขารู้ว่าชาวอเมริกันจะไม่ค่อยสนใจเมื่อรัฐบาลบอกแนวทางในการดำเนินธุรกิจว่าต้องทำอย่างไร

“แบบฉบับของฝรั่งเศสค่อนข้างเป็นสังคมนิยม แต่ผมจะพูดในทางที่ดี เพราะคุณกำลังจัดเตรียมวิธีให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต้องทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่เพียงแต่สำหรับสิ่งแวดล้อม แต่จากมุมมองทางจริยธรรมในการส่งต่ออาหารที่ดีต่อสุขภาพให้ผู้ที่ต้องการ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบางอย่างที่เป็นอันตรายซึ่งเกิดขึ้นจากอาหารที่ถูกฝังลงในหลุมฝังกลบ” เขากล่าว

กฎหมายของฝรั่งเศสดูเหมือนว่าจะสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศ ทั้งระบบของธุรกิจที่ช่วยให้ร้านขายของชำและร้านสะดวกซื้อมีการจัดการคลังสินค้าได้ดีขึ้น และลดอาหารเหลือทิ้งลง แม้ว่าการสำรวจอย่างเป็นทางการยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

สมาชิกสภา กิโยม กาโรต์ (Guillaume Garot ) ผู้เขียนกฎหมาย เชื่อว่าการต่อสู้กับอาหารเหลือทิ้งควรเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับนโยบายอื่นๆ ของชาติ เช่นการใส่เข็มขัดนิรภัย กิโยมกล่าวว่า เขาได้รับการติดต่อจากผู้คนทั่วโลกที่ต้องการทำสิ่งเดียวกันกับฝรั่งเศส

“มันเป็นการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงานของซูเปอร์มาร์เก็ต” เขากล่าว “พวกเขาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมของพวกเขามากขึ้น และพวกเขาได้เป็นผู้ให้มากขึ้น”

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือกิโยมกล่าวว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตถูกมองว่าเป็นมากกว่าการทำธุรกิจหวังกำไร มันจะกลายเป็นสถานที่ที่มีความเป็นมนุษยธรรมมากขึ้น


อ้างอิงข้อมูลจาก: npr.org

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า