วันนี้กลับมาชวนดูหนังใหม่เอี่ยมที่น่าจะยังไม่สตรีม คือ Freud’s Last Session (2023) แปลตรงตัวไม่รู้จะแปลว่าอะไร คำว่า session หมายถึง ชั่วโมงที่เราดูผู้ป่วย พวกเราคุณหมอชอบเรียกผู้ป่วยว่า ‘เคส’ ชื่อเรื่องก็จะหมายถึง ‘เคสสุดท้ายของฟรอยด์’
แค่ชื่อเรื่องก็สนุกแล้ว เมื่อดูไปกลางเรื่องจะรู้สึกได้ว่านี่เป็นเคสสุดท้ายของใครกันแน่ อนึ่ง หนังเรื่องนี้สร้างจากบทละครที่เขียนจากนิยายอีกที เป็นฟิกชัน (fiction) ไม่มีหลักฐานว่าฟรอยด์พบใครเป็นคนสุดท้าย มีเพียงหลักฐานว่ามีอาจารย์จากออกซ์ฟอร์ดคนหนึ่งไปหาเขาที่บ้าน
เป็นหนังจิตวิเคราะห์ที่ดูง่าย นานๆ จะได้ดูสักครั้งก็อดเอามาฝากมิได้ ที่ว่าดูง่ายก็ต้องมีพื้นฐานกันบ้าง ข้อเขียนนี้จึงจะมีทั้งเล่าเรื่องและตีความ ก่อนตีความก็อาจจะเลกเชอร์กันก่อนสักเล็กน้อย ท่านที่ตั้งใจจะหาดูเองให้ได้ก็ข้ามไปก่อน
อาจจะมีคำถามถึงการเมืองไทยวันนี้ “ชั่วโมงสุดท้ายของใคร”
หนังขึ้นต้นด้วยการโปรยข้อความจากงานเขียนของ จอน บันยัน [(John Bunyan) 1628-1688] เป็นนักเขียนชาวอังกฤษและพูริตัน (Puritan หมายถึง โปรเตสแตนต์ที่เคร่งศาสนากลุ่มหนึ่ง) จากนั้นเป็นฉากที่แมธธิว กูดี (Matthew Goode) รับบท ซี เอส ลิวอิส [CS Lewis (1898-1963)] ผู้เขียนนาร์เนีย (The Chronicles of Narnia) ที่ทุกคนรู้จักกันดีกำลังเดินไปที่บ้านของซิกมันด์ ฟรอยด์ [Sigmund Freud (1856-1939)] ในลอนดอน แอนโธนี ฮอปกินส์ (Anthony Hopkins) รับบท ซิกมันด์ ฟรอยด์
เรียนบรรณาธิการ ย่อหน้าที่ผ่านมาตั้งใจเขียนวงเล็บมากมายเพื่อยกสถานะของข้อเขียนให้เป็นงานวิชาการ เนื่องจากเคยเขียนถึงหนังเรื่องนี้โพสต์ขึ้นเพจครั้งหนึ่งแล้วเฟซบุ๊กสั่งลบ ถ้ารอบนี้สั่งลบอีกก็ตัวใครตัวมันละเด้อ
ลิวอิสอยู่ที่ออกซ์ฟอร์ด เขาเดินทางมาพบฟรอยด์ถึงบ้านที่ลอนดอน ลิวอิสเดินสวนและทักทายแอนนา ฟรอยด์ [Anna Freud (1895-1982)] ที่หัวมุมถนนขณะกำลังเดินออกจากบ้านพอดี แอนนาคือบุตรีของซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นบุตรคนที่ 6 เธอจะเป็นนักจิตวิเคราะห์และเป็นผู้เริ่มต้นงานจิตวิเคราะห์ในเด็กในเวลาต่อมา อิริก เฮช อิริกสัน [Erik H Erikson (1902 – 1994)] ผู้เขียนทฤษฎีพัฒนาการบุคลิกภาพกับสังคมซึ่งบ่งพัฒนาการมนุษย์เป็น 8 ขั้นตอน แล้วเพจเลี้ยงลูกเพจหนึ่งใช้อ้างอิงเรื่อยมา ก็ทำงานจิตวิเคราะห์ด้านเด็กอยู่กับแอนนา ฟรอยด์
หากสนใจจิตวิเคราะห์ในเด็ก สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ Childhood and Society ที่อิริคสันเขียนเอง และเป็นหนังสือต้องอ่านของจิตแพทย์เด็กทุกคนบนโลก ถ้าอยากรู้ว่าเรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นได้อย่างไร แต่เตือนก่อนว่าทำใจให้ดีๆ ก่อนอ่าน เคยมีสำนักพิมพ์หนึ่งแปลไทยทั้งเล่มให้ผมช่วยเขียนคำนิยม หลังจากผมอ่านอย่างตั้งใจไป 2 รอบได้เสนอสำนักพิมพ์ไปว่าอย่าตีพิมพ์เลย สังคมไทยรับไม่ได้แน่นอน น่านับถือที่นักแปลเห็นด้วย และสั่งยกเลิกการตีพิมพ์
เรียนบรรณาธิการอีกที ผ่านไป 1 หน้า A4 แล้วยังไปไม่ถึงบ้านเลย ข้อเขียนเป็นวิชาการมากครับ
เวลานั้นลิวอิสเขียนหนังสือ The Pilgrim’s Regress เป็นนวนิยายการเดินทางเชิงปรัชญาของ ‘จอน’ ในลักษณะเปรียบเทียบกับหนังสือปี 1678 ที่เล่าเรื่องการเดินทางเชิงปรัชญาของจอน บันยัน ที่ชื่อ The Pilgrim’s Progress ซึ่งมีคำโปรยอ่านไม่รู้เรื่องตอนเปิดหนัง เวลานั้นฟรอยด์ได้วิพากษ์ลิวอิสกรณีที่เขาเปลี่ยนจากสถานะไม่มีพระเจ้าไปเป็นคริสเตียน ลิวอิสมาหาถึงบ้าน!
หนังทั้งเรื่องโฟกัสที่การพูดคุยของคนทั้งสองในบ้านที่ลอนดอนนี้ ฟรอยด์วิพากษ์ลิวอิสและพระผู้เป็นเจ้า แต่การพูดคุยนั้นพาดพิงอีกหลายเรื่องของจิตวิเคราะห์คือเรื่อง นิสัย (habit) ความฝัน (dream) การพลั้งปาก (slip) ปมปิตุฆาต (Oedipus complex) และพฤติกรรมทางเพศ homosexuality กับ sado-masochism เรียกว่ายกตำราจิตวิเคราะห์ทั้งเล่มมาคุยกันสั้นๆ ประเด็นละ 1-2 ประโยคอย่างชาญฉลาด
บ้านลอนดอนที่เห็นนี้ ฟรอยด์เพิ่งย้ายหนีนาซีจากเวียนนามาอยู่เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1938 วันที่ลิวอิสมาหาฟรอยด์คือวันที่ 3 กันยายน 1939 2 วันหลังอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) บุกโปแลนด์ ฉากหลังของหนังคือความตึงเครียดของการเริ่มต้นของสงครามภาคพื้นยุโรป ระหว่างที่คนทั้งสองคุยกันฟรอยด์จะลุกไปเปิดวิทยุฟัง เนวิล เชมเบอร์ลิน (Neville Chamberlain) นายกรัฐมนตรีอังกฤษเวลานั้นพูดกับประชาชนเป็นระยะๆ พร้อมๆ กับเดินไปชงวิสกีเหยาะยาอะไรบางอย่าง แล้วก็จุดซิการ์สูบ
เป็นที่น่าสังเกตว่า บ้านของฟรอยด์เต็มไปด้วยรูปปั้นของเทวรูปหลากหลายศาสนาและลัทธิ รวมทั้งเทพีและนักบุญคริสเตียน มีฉากหนึ่งลิวอิสหยิบรูปพระแม่ขึ้นมาดูแล้วทักฟรอยด์ว่า ตัวท่านเองก็มีรูปสะสมของคริสเตียนเหมือนกัน
การพูดคุยเข้มข้นขึ้นทุกขณะจนถึงฉากสุดท้าย เป็นฟรอยด์เองนั่งบน crouch ส่วนลิวอิสกำลังไล่ต้อนฟรอยด์เรื่องความสัมพันธ์กับลูกสาวแอนนา ฟรอยด์ อย่างดุเดือด
ที่นอนเอนหลังที่เรียกว่า crouch นี้ เป็นที่นอนสำหรับผู้ป่วยใน session จิตวิเคราะห์ ผู้ป่วยจะนอนหันหน้าไปทางหนึ่ง นักจิตวิเคราะห์จะนั่งด้านหลังมิให้ผู้ป่วยเห็นหน้า ด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจะพูดไปได้เรื่อยๆ ตามหลักการ free association นั่นคือนึกอะไรขึ้นมาก็พูดออกไปโดยไม่ต้องคิด
ฟรอยด์กำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งในช่องปากระยะสุดท้าย เขาใช้มอร์ฟีนบ่อยและสูบซิการ์มวนต่อมวน “ผมยินดีถอยไปสูบปลายถันของซิการ์เหมือนทารกดูดปลายถันของแม่” เขาแก้ต่างเมื่อลิวอิสทักเรื่องซิการ์ ซิการ์ไม่หมดแต่มอร์ฟีนที่แพทย์ประจำตัวสั่งไว้ให้หมด ฟรอยด์พักการสนทนาโทรศัพท์ไปบริภาษแอนนาขณะที่กำลังสอนนักศึกษาอยู่ว่า ให้หามอร์ฟีนมาเด็ยวนี้โดยไม่มีข้อแม้!
แอนนาทิ้งการสอนนักศึกษากลางคันออกจากมหาวิทยาลัยไปหามอร์ฟีนให้พ่อ ท่ามกลางเสียงหวอเตือนภัยด้วยนายกรัฐมนตรีเชมเบอร์ลิน อาจจะประกาศสงครามกับฮิตเลอร์ได้ทุกเมื่อ แอนนาถูกเพื่อนร่วมงานพูดใส่หน้าว่าเธอเป็น attachment disorder ความผิดปกติของสายสัมพันธ์ เธอขาดพ่อไม่ได้ ฝืนคำสั่งพ่อไม่ได้ ไปจากพ่อไม่ได้ ความสัมพันธ์กับพ่อเป็นพยาธิสภาพทางจิต (psychopathology) ปมนี้จะถูกเปิดเผยอีกในตอนท้ายเรื่อง
“เด็กเปลี่ยนไปเมื่อพบว่าพ่อไม่ได้เรื่อง” ฟรอยด์ว่า
“เหมือนที่คุณว่าพระเจ้าไม่ได้เรื่อง” ลิวอิสว่า
“โอ้ พระเจ้า” ฟรอยด์อุทานในคราหนึ่ง
ลิวอิสชี้ทันทีทันควัน “นั่นไง!”
การสนทนาเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อลิวอิสตีความ (interprete) ฟรอยด์จากเรื่องความสัมพันธ์กับลูกสาวแอนนาว่า ฟรอยด์เป็นคนเห็นแก่ตัว (selfish) แล้วหลบซ่อนตัวในถ้ำที่มีแต่พระเจ้า (หมายถึงเทวรูปต่างๆ นานา) ฟรอยด์ก็ตีความ (interprete) ลิวอิสกลับทันทีว่า ขี้ขลาด (coward) ได้แต่หลบซ่อนตัวอยู่หลังเทพนิยาย (หมายถึงไหนว่าเป็นคริสเตียน)
กลับไปตอนต้นเรื่องครู่หนึ่ง มีฉากที่ลิวอิสเดินคุยกับ เจ อาร์ อาร์ โทลคีน [J.R.R. Tolkien (1892-1973)] ผู้เขียน The Lord of the Rings ลิวอิสเตือนโทลคีนว่าเราเป็นนักวิชาการ ผมเคยสงสัยมานานแล้วว่าสองคนนี้จะตั้งอกตั้งใจเขียนนาร์เนียและลอร์ดออฟเดอะริงส์ละเอียดอะไรมากมายขนาดนั้นไปทำไมมิทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้อ่านนวนิยายชุด Middle Earth ซึ่งแปลไทยโดย ธิดา จงนิรามัยสถิต อย่างดีเลิศทุกเล่ม พอดูที่โทลคีนตอบลิวอิสแล้วสบายใจเลย พวกเขาเขียนงานวิชาการ!
หลังจากสนทนากันอย่างดุเดือดถึงขั้นด่ากันใส่หน้า พหูสูตทั้งสองท่านก็จับมืออำลากันด้วยดี
ลิวอิสอำลาฟรอยด์เดินออกบ้าน สวนทางแอนนาที่กำลังกลับเข้าบ้านพร้อมมอร์ฟีน มีฉากเล็กๆ ตอนที่แอนนาไปเคาะร้านยาเพื่อขอมอร์ฟีนให้ ดร.ฟรอยด์ เจ้าของร้านยาพูดว่า ‘ดร.เซ็กซ์’ นั่นน่ะหรือ แล้วปิดประตูใส่หน้า
มีฉากเลกเชอร์ของแอนนาฉากหนึ่งควรแก่การขับเน้น เธอฉายภาพเด็กๆ ที่เป็นเหยื่อสงครามแล้วบรรยายว่า “ที่เราควรห่วงมิใช่เด็กได้รับความรุนแรง แต่เราควรห่วงว่า (เชื้อ) ความรุนแรงจะติดเด็กเมื่อไร”
ซิกมันด์ ฟรอยด์ ถึงแก่กรรมด้วยมอร์ฟีนเกินขนาด 20 วันหลังจากวันนั้น คือวันที่ 23 กันยายน 1939
เป็นนวนิยาย แต่พลาดไม่ได้สักฉาก หลุดไม่ได้สักบทสนทนา