ไทยแลนด์แดนคนแกร่ง กับการนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะ

ภาพประกอบ: บัว คำดี

ท่ามกลางความยินดีปรีดาของอุตสาหกรรมประมงฟุกุชิมะ ซึ่งในที่สุดสามารถส่งออกสินค้าประมงได้เสียที แม้จะน้อยนิด เพียงปลาตาเดียวหรือปลาฮิราเมะ 110 กิโลกรัมมายังประเทศไทย แต่ก็ถือเป็นสัญญาณแห่งความหวังของอุตสาหกรรมประมงอันยิ่งใหญ่แถบโทโฮขุที่มีศักยภาพการจับสัตว์น้ำก่อนหน้าเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ปี 2011 เกือบ 200 ตันต่อปี ในอีกมุมหนึ่ง ผู้บริโภคไทยตกตะลึงกับข่าวนี้ เพราะประเทศไทยเป็น ‘ประเทศแรกในโลกที่ยอมรับสินค้าประมงจากพื้นที่ฟุกุชิมะ’ ขณะที่ชาติอื่นๆ ยังไม่ยอมรับ

ไทยเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดหรือคนไทยเข้มแข็งกว่าชนชาติใดในโลก??? หรืออะไรเล่าที่ทำให้ Thailand ขึ้นพาดหัวข่าวใหญ่ทุกสำนักข่าวต่างประเทศขนาดนี้

ต้องย้อนกลับไปดู เกิดอะไรขึ้นที่ฟุกุชิมะ นับตั้งแต่ 11 มีนาคม 2011 ที่คนญี่ปุ่นเรียกขานว่า ‘โศกนาฏกรรม 3/11’ ฉบับของพวกเขา

1. ฟุกุชิมะ: จากภัยธรรมชาติสู่หายนะภัยฝีมือมนุษย์

จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงขนาด 9 สั่นสะเทือนทางภาคตะวันออกของญี่ปุ่น จนเกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูง 14 เมตรซัดเข้าฝั่ง จนทำให้เกิดหายนะภัยนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดของโลกที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ

เคยมีผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า หายนะภัยที่ฟุกุชิมะเริ่มต้นด้วยภัยธรรมชาติ แต่จากนั้นมันเป็นหายนะที่เกิดขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ล้วนๆ ซึ่งมนุษย์กลุ่มหลักๆ ที่ว่า คือ TEPCO (Tokyo Electric Power Company) ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น และรัฐบาลญี่ปุ่น

“เราจะได้ยินการโกหก เมื่อถูกจับโกหก เช่น การรั่วไหลของน้ำปนเปื้อน ก็ออกมาขอโทษก้มหัวแทบติดโต๊ะ อีกไม่นานเราก็ได้ยินการโกหก ปกปิดความผิดพลาดใหม่อีกครั้ง”

จากหนังสือ 10 บทเรียนจากฟุกุชิมะ ซึ่งจัดทำโดยภาคประชาสังคมในญี่ปุ่นเมื่อปี 2560 ชี้ว่า กัมมันตรังสีแพร่กระจายมากกว่ารัศมี 30 กิโลเมตรไม่ใช่ 10 กิโลเมตรตามคำสั่งอพยพของรัฐ TEPCO ได้ปล่อยน้ำปนเปื้อนออกสู่มหาสมุทรเป็นระยะ อีกทั้งยังมีการปกปิดข้อมูลความจริง กดค่าตัวเลขความปลอดภัยของการปนเปื้อนกัมมันตรังสี และไม่ยอมตรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างละเอียด

“อุบัติภัยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะยังไม่จบ – ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะต้องสูบน้ำเข้าหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่หลอมละลายอยู่ภายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จากอุบัติเหตุ พวกเขาทำอย่างนี้เพราะว่า หากไม่มีการหล่อเย็น เชื้อเพลิงจะหลอมละลายด้วยความร้อนที่ปล่อยออกมาจากขี้เถ้ามรณะ เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นในการปล่อยสารกัมมันตรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อม เพราะในขณะหล่อเย็นเชื้อเพลิงน้ำหล่อเย็นจะนำพาขี้เถ้ามรณะออกมาจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ จนทำให้เกิดการปนเปื้อนอย่างหนักในกระบวนการหล่อเย็น ตามมาด้วยการรั่วไหลลงสู่ชั้นใต้ดินของอาคารเครื่องปฏิกรณ์ ด้วยน้ำใต้ดินปริมาณ 400 ตันที่ไหลเวียนอยู่ทุกวัน

พื้นที่ทั้งหมดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะขณะนี้เต็มไปด้วยแทงค์น้ำขนาด 1,000 ตันที่บรรจุน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี และพื้นดินที่ตั้งถังน้ำเหล่านี้ก็ไม่มั่นคง มันจึงพร้อมที่จะล้มคว่ำได้ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุเป็นต้นมา มีน้ำปนเปื้อนรังสีรั่วไหลลงสู่มหาสมุทรอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ทราบว่ารั่วมาจากจุดใด จึงไม่ใช่อย่างเด็ดขาดว่า กรณีนี้เป็นอุบัติเหตุที่อยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว

ปี 2015 มีการตรวจจับสารปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากฟุกุชิมะได้ตลอดชายฝั่งใกล้กับบริติชโคลัมเบียของแคนาดา และแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ ประมาณการว่า พื้นที่มหาสมุทรโลก 1 ใน 3 เกิดการปนเปื้อนจากการรั่วไหลของกัมมันตรังสีจากภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ

และอีกไม่นานนักคณะกรรมการนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นจะเริ่มพิจารณาทิ้งน้ำที่มีการปนเปื้อนมากถึง 800,000 ตันลงในมหาสมุทรอีก

2. ผลิตภัณฑ์จากฟุกุชิมะ ปลอดภัยแค่ไหน

ผลกระทบกับภาคประมงที่เป็นหัวใจสำคัญทางเศรษฐกิจของภูมิภาคโทโฮขุ หนังสือ10 บทเรียนจากฟุกุชิมะ ระบุว่า อุตสาหกรรมประมงเผชิญการตรวจสอบอย่างละเอียดของผู้บริโภค

เนื่องจากเกิดปัญหาน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีรั่วไหลลงสู่ทะเลมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้บริโภคจึงจับตาดูอย่างเข้มงวดเรื่องการปนเปื้อนในสัตว์น้ำ จึงมีการกำหนดเงื่อนไขข้อควบคุมการออกทำประมงและผู้ประกอบการเรืออวนลากตามแนวชายฝั่งจังหวัดฟุกุชิมะแบบสมัครใจ เพื่อใช้สำหรับการปฏิบัติงานของตนเอง

ในสภาพการณ์สืบเนื่องมาจากผลกระทบของอุบัติเหตุนิวเคลียร์เช่นนี้ จังหวัดฟุกุชิมะได้ชี้แจงต่อสาธารณะว่า สัตว์น้ำถือได้ว่าน่าจะปลอดภัย ซึ่งเป็นคำตอบที่ได้จากการเฝ้าติดตามตรวจวัดมากกว่า 10,000 ครั้ง ณ ขณะนี้ ชาวประมงและพ่อค้าปลารายเล็กยังคงถือว่าทำงานอยู่ในระยะทดลอง เพื่อคอยรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคที่ซื้อสัตว์น้ำของพวกเขา ซึ่งตามแนวทางนี้ ‘การปฏิบัติการทดลอง’ จะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้เบื้องต้นที่ต้องการ

“การเปิดกิจการประมงขึ้นใหม่ในจังหวัดฟุกุชิมะ ณ วันที่ 30 กันยายน 2014 มีสัตว์น้ำ 52 ชนิดอยู่ในขอบข่ายของการปฏิบัติการทดลอง สมาพันธ์ด้านสหกรณ์การประมงจังหวัดฟุกุชิมะเป็นหัวหอกนำในการจำหน่ายสัตว์น้ำเหล่านี้ ซึ่งทั้งหมดผ่านการคัดกรองการปนเปื้อนรังสีและทำการชี้แจงต่อสาธารณะ สัตว์น้ำที่พบค่ารังสีเกินกว่า 50 เบคเคอเรล (Bq) ต่อกิโลกรัมจะถูกตัดออกจากรายการที่ทำการทดลองของสหกรณ์การประมง

“ส่วนข้อกังวลเรื่องน้ำปนเปื้อน ทางจังหวัดก็กำลังเพิ่มการตรวจสอบพื้นที่มหาสมุทร โดยบริเวณที่อนุญาตให้ทำประมงได้นั้นไม่มีการตรวจพบสารซีเซียม (Caesium) และทริเทียม (Tritium) หรือเพียงตรวจพบในปริมาณที่ต่ำมากๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวไว้ด้วยว่ามีข้อกังวลบางประการจากข้อเท็จจริงที่ว่า ชนิดของสารกัมมันตรังสีที่มีการตรวจสอบนั้นค่อนข้างจำกัด

“ปลาน้ำจืดมีลักษณะทางชีววิทยาที่ง่ายมากต่อการสะสมของสารกัมมันตรังสีซีเซียม และยังยากมากที่จะกำจัดออกไป ยังคงมีตัวอย่างเกิดขึ้นให้เห็นหลายกรณีที่พบทั้งในจังหวัดฟุกุชิมะ และที่จริงแล้วรวมไปถึงพื้นที่ภาคตะวันออกของญี่ปุ่นอีกจำนวนมากที่พบว่าปลาน้ำจืดมีการปนเปื้อนสารซีเซียมเกินกว่าจุดอ้างอิงมาตรฐาน (ยกเว้นในฟาร์มเลี้ยงปลา) ชาวประมงที่หาปลาในลำธารภูเขาถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม ‘นโยบายจับแล้วปล่อย’ และถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสั่งห้ามให้นำปลาที่จับได้กลับไปรับประทานที่บ้าน”

กระนั้นก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีนิวเคลียร์ในสัตว์ทะเลบางคนอ้างว่า “กินปลาฟุกุชิมะปลอดภัยกว่ากินกล้วย”

นิโคลัส เอส. ฟิชเชอร์ (Nicholas S. Fisher) ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีนิวเคลียร์ในสัตว์ทะเล มหาวิทยาลัยสโตนีบรูคส์ (Stony Brook University) สหรัฐ เห็นว่าปริมาณกัมมันตรังสีที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิสู่มหาสมุทรนั้นถือว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล

ปริมาณกัมมันตรังสีในเนื้อปลาจากจังหวัดฟุกุชิมะมีน้อยยิ่งกว่ารังสีที่เราได้รับจากการรับประทานกล้วยหนึ่งลูก หรือการเดินทางด้วยเครื่องบินเสียอีก อีกทั้งกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นจะไหลเวียนออกไปภายนอกตลอดเวลา ทำให้รังสีอันตรายในพื้นที่เจือจางตามไปด้วย

ส่วนปริมาณแค่ไหนถึงเป็นอันตรายนั้น โรเบิร์ต เอเมอรี (Robert Emery) จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส (The University of Texas Health Science Center) ในเมืองฮุสตัน กล่าวว่า เราต้องกินทูน่าราว 2.5-4 ตันในหนึ่งปี หรือเฉลี่ย 6.3-9.9 กิโลกรัมต่อวัน จึงจะได้รับซีเซียม 137 ในปริมาณที่เป็นอันตราย

แน่นอนว่ามีคนที่เห็นต่าง จิม ริชโช (Jim Riccio) นักวิเคราะห์นโยบายนิวเคลียร์ของกลุ่มกรีนพีซ มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสัตว์ทะเลในพื้นที่เกิดเหตุได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสีหรือไม่ เนื่องจากเหตุการณ์เพิ่งผ่านมาเพียงเจ็ดปีเท่านั้น ประกอบกับโรคที่เกิดจากการได้รับรังสี เช่น มะเร็งไทรอยด์ จะต้องใช้เวลาสักระยะจึงปรากฏอาการ ซึ่งทางกลุ่มกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบก้นทะเลนอกชายฝั่งฟุกุชิมะ เพื่อประเมินให้ชัดเจนว่าสัตว์ทะเลชนิดใดและจำนวนเท่าใดได้รับกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมาบ้าง

บทความวิชาการของนักวิจัยมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ที่เพิ่งลงตีพิมพ์เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในวารสารวิชาการ Environmental Science & Technology พบหลักฐานการกระจายตัวของสารกัมมันตรังสีต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับยูเรเนียม (Uranium) ในสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ แสดงว่าการกระจายตัวการปนเปื้อนและผลกระทบยาวนานกว่าที่เคยคาดไว้

“สิ่งที่พบคือเศษฝุ่นละอองยูเรเนียมซึ่งเต็มไปด้วยซีเซียมขนาดแค่ 5 ไมโครเมตร หรือประมาณ 1 ใน 20 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผม ซึ่งขนาดเล็กเท่านี้มนุษย์สามารถสูดดมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลม ปอด และกระแสเลือดได้โดยตรง ซึ่งต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมอย่างละเอียดเพื่อให้เข้าใจถึงฝุ่นผงนาโนเหล่านี้ที่มีผลกระทบต่อมนุษย์และสภาพแวดล้อมอย่างไร ไม่ใช่แค่รังสีที่แพร่กระจายเท่านั้น” และครึ่งชีวิตของยูเรเนียมขนาดนาโนนี้กินเวลาหลายหมื่นปี

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สารกัมมันตรังสีที่ตรวจพบไม่ได้มีแค่ซีเซียม-134 ซีเซียม-137 หรือไอโอดีน-131 แต่ยังพบ สตรอนเซียม-90 สูง ซึ่งไม่อยู่ในรายการที่ต้องตรวจวัดการปนเปื้อนในอาหาร

ไม่ว่าข้อคิดเห็นของนักวิชาการจะแตกต่างกันมากแค่ไหน แต่ข้อสรุปหนึ่งที่ทุกคนยอมรับตรงกันคือ หายนะภัยที่ฟุกุชิมะรุนแรงและเกินขอบเขตความรู้ความเข้าใจของมนุษย์และงานวิจัยต่างๆ เท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ ซึ่งบทเรียนและความรู้จากอุบัติเหตุนิวเคลียร์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่ยุโรปตะวันออก และเกาะทรีไมล์ของสหรัฐไม่อาจเทียบได้

3. ผ่านไป 7 ปี อีกหลายปัญหาที่ผ่านไม่พ้น

ในวาระครบรอบเจ็ดปีของหายนะภัยฟุกุชิมะ หนังสือพิมพ์ Asahi ได้ร่วมกับ Fukushima Broadcasting สำรวจความเห็นของชาวฟุกุชิมะ พบว่าผู้คนในพื้นที่กังวลเกี่ยวกับกัมมันตรังสีเพิ่มขึ้น สวนทางจากปีก่อนๆ ที่ความกังวลลดลงเป็นลำดับ

คนในพื้นที่ 66 เปอร์เซ็นต์ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสี ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นจาก 63 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งต่างจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่มีแนวโน้มลดลง (การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 นับตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อปี 2011) และอีก 25 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า “กังวลมาก”

54 เปอร์เซ็นต์คิดว่าต้องใช้เวลามากกว่า 20 ปีจึงสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างก่อนที่จะเกิดหายนะภัยได้ 19 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าต้องใช้เวลาประมาณ 20 ปี ส่วนคำถามที่ว่าคิดอย่างไรกับการกลับมาเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเพื่อผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง 75 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วย ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าการสำรวจระดับชาติก่อนหน้าที่มีผู้คัดค้านอยู่ที่ 61 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นการจัดการน้ำที่มีสารทริเทียมปนเปื้อน ปัจจุบันใช้วิธีเก็บไว้ในแทงค์เก็บน้ำซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และบริษัท TEPCO มีแผนจะเจือจางน้ำดังกล่าวก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเล ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ชาวฟุกุชิมะ 67 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ 87 เปอร์เซ็นต์แสดงความกังวลมาก หรือกังวลต่อการปนเปื้อนที่จะเกิดขึ้นจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนนี้ และมีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่า บริษัท TEPCO รับมือกับเหตุการณ์เมื่อปี 2011 ในระดับดีมาก

นอกจากนี้ 52 เปอร์เซ็นต์ยังมีความกังวล ‘อย่างมาก’ เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากข่าวลือที่ไม่มีมูล เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารทะเลในท้องถิ่น แต่เมื่อถามว่าคิดอย่างไรที่เจ้าหน้าที่เมืองฟุกุชิมะเปลี่ยนวิธีการตรวจการปนเปื้อนในข้าวทุกถุง เป็นการสุ่มตรวจ 49 เปอร์เซ็นต์สนับสนุน แต่อีก 44 เปอร์เซ็นต์คัดค้านการเปลี่ยนวิธีตรวจ ซึ่งจำนวนผู้คัดค้านสูงกว่าการสำรวจในระดับชาติ จำนวนค้านอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 84 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าการตรวจละเอียดจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้มากกว่า

ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2017 บริษัท TEPCO ยอมรับว่ามีการค้นพบระดับรังสีนิวเคลียร์บริเวณหม้อความดันสูงสำหรับบรรจุแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ (Containment Vessel) ของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ 2 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ อยู่ในขั้นสูงสุดที่ 530 ซีเวิร์ตต่อชั่วโมง นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะปี 2011 ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต แม้สัมผัสรังสีระดับนี้ในระยะเวลาอันสั้น และยังค้นพบหลุมยักษ์ขนาดใหญ่ร่วมสองเมตรซ่อนอยู่ด้านใต้ตะแกรงใต้อ่างปฏิกรณ์ (reactor vessel) โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ

4. ความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่นกับการไม่ยอมรับของชาติต่างๆ

แน่นอนว่าหลายปีที่ผ่านมา แม้ปัญหาในบ้านยังไม่จบ รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้การส่งออกประมงจากโทโฮขุกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ด้วยการเจรจาและแรงกดดันทางการค้า

ก่อนหน้ามหันตภัยที่ฟุกุชิมะ สินค้าประมงจากภูมิภาคนี้เป็นที่เลื่องลือ โดยในจำนวนมากกว่า 200 ตันต่อปี 70-80 เปอร์เซ็นต์ส่งออกไปเกาหลีใต้ ฮ่องกง สหรัฐ ไต้หวัน และจีน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 3/11 ฉบับญี่ปุ่น ทุกประเทศแบนสินค้าจากภูมิภาคนี้ทุกรายการ แม้ว่าในช่วงสองสามปีหลังนี้จะมีบางประเทศเริ่มผ่อนคลายกฎแต่ยังคงการตรวจสอบอย่างเข้มข้นไว้ อีกหลายประเทศก็ไม่มีคำสั่งซื้อ เพราะเมื่อติดฉลากชัดเจนตามกฎหมายถึงที่มา ผู้บริโภคก็ไม่ยอมรับ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเดินหน้าเจรจา ล็อบบี้ และกดดันอย่างหนักเพื่อขจัดอุปสรรคเหล่านี้

เกาหลีใต้

เป็นประเทศที่เคยรับสินค้าประมงจากโทโฮขุมากที่สุด แต่ขณะนี้เป็นสมรภูมิที่ต่อต้านสินค้าประมงจากโทโฮขุมากที่สุด สำนักข่าว BBC ภาคภาษาไทย รายงานว่า เคยมีกรณีที่ร้านค้าปกปิดที่มาของอาหารทะเล และติดป้ายหลอกว่าสัตว์ทะเลที่ขายไม่ได้มาจากฟุกุชิมะ เพราะชาวเกาหลีใต้พยายามเลี่ยง นอกจากนี้นักรณรงค์ยังเคยเดินประท้วงให้งดใช้อาหารทะเลจากฟุกุชิมะมาปรุงอาหารในโรงเรียนของรัฐบาลเกาหลีใต้

หลังจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2011 ส่งผลให้สารกัมมันตรังสีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิรั่วไหลลงสู่ทะเล เกาหลีใต้ได้ประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลหลายชนิดจาก จังหวัดฟุกุชิมะ และพื้นที่ใกล้เคียง ก่อนจะยกระดับเป็นการห้ามนำเข้าอาหารทะเลทุกประเภทจากพื้นที่โทโฮขุแปดจังหวัด ในปี 2013 โดยขอทั้งเอกสารรับรองการตรวจสารละเอียดยิบ และนำมาตรวจซ้ำที่ด่านฝั่งตัวเองอีกครั้ง อันเนื่องมาจากการยอมรับเป็นครั้งแรกหลังเหตุการณ์ของ บริษัท TEPCO ว่ามีน้ำปนเปื้อนรั่วไหลลงสู่ธรรมชาติตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 3/11 โดยไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

ทำให้ในปี 2015 รัฐบาลญี่ปุ่นยื่นคำร้องไปยังองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อคัดค้านนโยบายของเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว WTO ได้ตัดสินว่าการห้ามนำเข้าดังกล่าวนั้นขัดต่อข้อตกลงการค้าสากล เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ และให้เกาหลีใต้ปลดการแบนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศแล้วว่าจะเดินหน้าอุทธรณ์ต่อ WTO และยืนยันว่าจะห้ามนำเข้าต่อไปจนกว่าข้อถกเถียงนี้จะสิ้นสุด โดยข้ออ้างที่แข็งขันที่สุดของเกาหลีใต้คือ การที่รัฐและเอกชนของญี่ปุ่นปกปิดข้อมูลความจริงของการปนเปื้อน การปล่อยน้ำปนเปื้อนรั่วไหลสู่ธรรมชาติที่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน นั่นแสดงว่าไม่มีหลักฐานข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์มากพอที่จะประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพประชาชน ซึ่งในการพิจารณาของ WTO ญี่ปุ่นไม่มีข้อโต้แย้งประเด็นนี้ เพียงแต่ชี้ว่าจะพยายามตรวจสอบก่อนการส่งออกมากขึ้น

ไต้หวัน

หลังขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐบาลของ ไช่อิงเหวิน และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democrat Progressive Party: DPP) 2016 ความพยายามกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น เพื่อถ่วงดุลกับท่าทีไม่ยอมก้มหัวให้จีน ปลายปี 2016 รัฐบาลมีแผนที่จะผ่อนคลายกฎระเบียบการนำเข้าสินค้า จากห้าจังหวัดพื้นที่โทโฮขุ ประกอบด้วยฟุกุชิมะ อิบารากิ กุนมะ ชิมะ และโทชิกิ คือแบนเฉพาะฟุกุชิมะ แต่ให้นำเข้าจากสี่จังหวัดที่เหลือได้

แต่ด้วยความเป็นประชาธิปไตยที่มีมาตรฐานค่อนข้างดีหยั่งรากถึงท้องถิ่นทุกระดับ รัฐบาลต้องจัดทำประชาพิจารณ์ขึ้น 10 พื้นที่ทั่วเกาะไต้หวัน แต่ปรากฏว่าการรับฟังความคิดเห็นไม่สามารถดำเนินการจนจบกระบวนการเพราะ 10 พื้นที่เกิดความรุนแรงขึ้นจากความไม่พอใจของประชาชนกับแผนที่รัฐบาลจะยอมผ่อนคลายกฎดังกล่าว

ที่เกาสง มีทั้งการล้มโต๊ะ ตะโกนด่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่สนใจสุขภาพประชาชนแต่กำลังเร่งรัดขั้นตอนเพื่อไปเจรจาลับๆ กับญี่ปุ่น ทำให้การประชาพิจารณ์ต้องยุติลงเมื่อการต่อต้านรุนแรงขึ้น ที่ฮัวเหลียน การประชาพิจารณ์เริ่มต้นได้เพียงครึ่งชั่วโมง เกิดการขว้างปาข้าวของจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจนต้องยกเลิกในที่สุด เช่นเดียวกับการประชาพิจารณ์ที่ต้องยุติเพราะเหตุรุนแรง ในเถาหยวน ซินเป่ย ไถจง และไทเป ซึ่งปีก่อน คือ 2558 มีผลิตภัณฑ์อาหารปลอมฉลาก ปกปิดที่มาจากพื้นที่ดังกล่าวเข้ามายังไต้หวัน จนทางการไต้หวันต้องสั่งให้มีการตรวจเข้มมากขึ้น

จากการสำรวจความคิดเห็นของพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งขณะนี้เป็นฝ่ายค้าน พบว่า ชาวไต้หวันมากถึง 74.6 เปอร์เซ็นต์ไม่ต้องการให้มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์นำเข้าสินค้าจากพื้นที่ดังกล่าวเลย โดยพรรคก๊กมินตั๋งขณะที่เป็นรัฐบาลในปี 2015 ยอมรับกับสื่อมวลชนว่ามีแรงกดดันจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้ผ่อนคลายการนำเข้า

ล่าสุดรัฐบาลท้องถิ่นของหลายเมือง อาทิ เถาหยวน เกาสง และไถจง ออกกฎเกณฑ์ระดับท้องถิ่น ไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าญี่ปุ่นจากพื้นที่ดังกล่าว เพิ่มเติมจากกฎเกณฑ์ระดับชาติ

สิงคโปร์

ปี 2016 รัฐมนตรีเกษตร ญี่ปุ่น ฮิโรชิ โมริยะมะ เดินทางมาเยือนสิงคโปร์และระหว่างการหารือกับลอร์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาชาติ สิงคโปร์ โมริยะมะขอให้สิงคโปร์ผ่อนคลายการนำเข้าสินค้าจากพื้นที่ประสบภัย โดยอ้างว่า สหภาพยุโรปเริ่มพิจารณาผ่อนคลายกฎแล้ว

กระทั่งปลายปี 2017 ท่ามกลางความวิตกกังวลของชาวสิงคโปร์ AVA องค์การอาหาร เกษตร และสัตว์ของสิงคโปร์ (Agri-Food and Veterinary Authority of Singapore) ต้องออกมายืนยันกับสาธารณชนชาวสิงคโปร์ว่ายังอยู่ระหว่างการพิจารณาการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การนำเข้าของสหภาพยุโรปเป็นระยะ เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยกับผู้บริโภคสิงคโปร์ โดยไม่กระทบกับการค้าโดยไม่จำเป็น แต่ยังคงห้ามนำเข้าอาหารทะเลและสินค้าบางรายการ อาทิ สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากป่า เช่น หมูป่า เบอร์รีป่า เห็ดป่า จากฟุกุชิมะ ขณะที่อีกสี่จังหวัดต้องมีใบรับรองการตรวจสอบจากรัฐ และใบรับรองจากรัฐว่าเป็นสินค้าจากที่ไหน (Certificate of Origin) พร้อมกับการสุ่มตรวจอย่างเข้มข้นจากฝั่งสิงคโปร์เอง

สหภาพยุโรป

ปลายปี 2017 มี 25 ประเทศเริ่มผ่อนคลายกฎเกณฑ์การนำเข้าสินค้าจากพื้นที่ประสบภัย สหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในนั้น โดยผลิตภัณฑ์อาหารจาก 13 แห่งของญี่ปุ่นยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของ EU โดยสามารถนำเข้าประเทศสมาชิกได้ ก็ต่อเมื่อติดประกาศรับรองความปลอดภัยอย่างชัดเจนว่า ปราศจากการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี เพื่อยืนยันว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในขอบข่ายมาตรฐานความปลอดภัยของ EU ขณะที่บางผลิตภัณฑ์ใน 10 จังหวัดจะได้รับการยกเว้นข้อกำหนดที่ให้ติดประกาศรับรอง อาทิ ปลาหางเหลือง ปลาไท เห็ดบางชนิด ผักป่า และผลิตภัณฑ์ทุกชนิดจากจังหวัดอะกิตะ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข่าวคราวคำสั่งซื้ออาหารทะเลจากภูมิภาคดังกล่าว

ประเทศไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทุกสมัยนับตั้งแต่เหตุการณ์ปี 2011 ถูกทางเจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่นขอเข้าพบตลอดมา เพื่อให้มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การนำเข้า โดยให้เน้นที่ขั้นตอนเอกสารและผ่อนคลายการสุ่มตรวจซ้ำที่ด่าน ซึ่งจากการแถลงข่าวของเลขาธิการ อย. นพ.วันชัย สัตยานุพงศ์ ก็ชัดเจนว่า งานด่านของ อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการสุ่มตรวจเป็นระยะนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 คำถามสำคัญคือ เหตุใดการตรวจสอบจึงหยุดอยู่แค่นั้น

ประการต่อมา แม้เกณฑ์การยอมให้มีการปนเปื้อนของไทย (ไอโอดีน-131 ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัมหรือเบคเคอเรลต่อลิตร, ซีเซียม-134 และซีเซียม-137 รวมกันไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัมหรือเบคเคอเรลต่อลิตร) จัดว่าดีกว่ามาตรฐานที่คณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร FAO/WHO กำหนดมาตรฐานอาหาร/สารปนเปื้อนสากลอยู่บ้างบางรายการ แต่ถือว่าอ่อนกว่าญี่ปุ่นมากกว่า 10 เท่า ซึ่งที่ผ่านมามีความกังวลว่าอาจเป็นที่ส่งออกสินค้าตกเกรดจากผู้บริโภคในญี่ปุ่นได้ ด้วยมาตรฐานที่ต่างกัน

ที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้น จากคำสัมภาษณ์ของรองอธิบดีกรมประมง อุมาพร พิมลบุตร กับเนชั่นทีวีถึงการนำเข้าครั้งล่าสุดนี้ที่ไทยเป็น ‘ประเทศแรกในโลก’ ตามคำประกาศของผู้ส่งออกญี่ปุ่น โดยเป็นเพียงการตรวจเอกสารไม่มีการสุ่มตรวจซ้ำ

ไม่มีการแจ้งว่าปลานำเข้าเหล่านั้นไปที่ใด อย. อ้างว่าไม่สามารถเปิดชื่อร้านอาหารญี่ปุ่นทั้ง 12 ร้านได้เพราะกลัวถูกฟ้อง กฎหมายไทยไม่มีการบังคับติดฉลากแจ้งที่มา แล้วผู้บริโภคจะเลือกรับหรือปฏิเสธได้อย่างไร ขณะที่การจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ประมงจากภูมิภาคนี้ในญี่ปุ่นจะมีฉลากชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลต้องการช่วยเศรษฐกิจหรือเป็นกำลังใจให้คนในพื้นที่ หรือติดใจรสชาติอาหารท้องถิ่นนี้มายาวนานก่อนเกิดเหตุการณ์ปี 2011 ก็ตาม แต่ที่แน่ๆ เขามีสิทธิเลือกบนพื้นฐานข้อมูลที่ครบถ้วน

หรือว่าการนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะ 100 กิโลกรัมเศษจะเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็ง

5. เมื่อการคุ้มครองผู้บริโภคไทยถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการค้า

หลายคนสงสัย เหตุใด อย. จึงไม่ทำหน้าที่ตรวจตราสินค้านำเข้าเช่นที่ผ่านมา เหตุใดจึงอยู่ในความดูแลของกรมประมง ที่รองอธิบดีกรมประมงให้สัมภาษณ์ว่า ดูจากเอกสารของผู้นำเข้า ไม่ได้สุ่มตรวจซ้ำ และไม่มีอำนาจกัก ต้องให้เป็นหน้าที่ของ อย. ไปสุ่มตรวจเมื่อเข้าสู่ตลาดแล้ว

ย้อนหลังกลับไปเมื่อเมษายน พ.ศ. 2559 นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. ในขณะนั้นได้ลงนามในประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องการถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้า มีผลบังคับใช้ 15 พฤษภาคม 2559

เป็นประกาศ อย. ที่มีความผิดปกติอย่างมาก เพราะไม่ได้อ้างอิงถึงอำนาจตามกฎหมาย แต่เป็นการอ้างอิงนโยบายรัฐมนตรีและข้อเสนอคณะทำงานจัดทำแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ภายใต้คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีเพียงทหาร ข้าราชการ นักธุรกิจผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่มีตัวแทนผู้บริโภค อีกทั้งการตรวจสอบสินค้าที่เป็นอาหาร อย. ไม่สามารถถ่ายโอนภารกิจให้กระทรวงเกษตรฯ ได้เพราะพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ไม่ได้ให้อำนาจ อย. กระทำเช่นนั้น

นี่คือส่วนหนึ่งของการแถลงข่าวคัดค้านของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (คอบช.) เมื่อกันยายน 2559

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธาน คอบช. ได้เตือนถึงปัญหาการลดทอนมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อแลกกับการค้า โดยแถลงคัดค้านการถ่ายโอนอำนาจภารกิจดูแลอาหารนำเข้าเจ็ดพิกัดสินค้า (กลุ่มเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สัตว์น้ำ ไข่ เครื่องในสัตว์ กาแฟ ธัญพืช และเมล็ดน้ำมันพืช) และอาหารตีกลับ จากกระทรวงสาธารณสุขไปยังกระทรวงเกษตร

“ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เคยมีแรงผลักดันจากภาคธุรกิจที่จะดึงงานควบคุมดูแลเรื่องอาหารนำเข้าและส่งออกทั้งหมดให้ไปอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียว คือสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มอกช.) ภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ด้วยเหตุผลเพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นทางด้านเศรษฐกิจ โดยแทบไม่สนใจเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ครั้งนั้นมีการทัดทานจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะทีมวิชาการของ อย. และกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ด้วยเกรงว่าจะเกิดปัญหาการปิดบังข้อมูลความไม่ปลอดภัยที่จะมีต่อผู้บริโภคเพราะห่วงผลกระทบต่อการค้า ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อครั้งวัวบ้าระบาดในอังกฤษ และไข้หวัดนกในไทย ซึ่งในปัจจุบัน อังกฤษต้องทบทวนบทเรียนแยกหน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหารออกมาจากกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ขณะนั้นไม่ได้ดำเนินตามเสียงเรียกร้องของกลุ่มธุรกิจอาหาร แต่ประสบการณ์ไข้หวัดนกในไทยไม่ถูกนำไปสู่การทบทวนบทเรียนเช่นในอังกฤษ และไม่น่าเชื่อว่า กลุ่มทุนอาหารจะมาผลักดันจนสำเร็จในรัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

หลังรัฐบาลประหาร พฤษภาคม 2557 คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการและคณะทำงานจำนวนหนึ่งเพื่อทำรายงานพิจารณาศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบการนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร

อย่างที่ คอบช. ชี้ประเด็น “ภายใต้คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีเพียงทหาร ข้าราชการ นักธุรกิจผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่มีตัวแทนผู้บริโภค” และหนึ่งในคณะทำงานจัดทำแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบการนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร คือ พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ซึ่งต้องยอมรับว่า การส่งออกไก่สดไทยไปตลาดญี่ปุ่นกำลังเติบโตเป็นลำดับ หลังถูกห้ามนำเข้าจากการระบาดไข้หวัดนกยาวนานถึง 10 ปีเต็ม

ข้อเรียกร้องของ คอบช. เสนอให้มีการทบทวนประกาศ อย. ดังกล่าว และขอให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้แจงอย่างละเอียดว่ามีกระบวนการตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้าและอาหารตีกลับอย่างไร มีหน่วยงานหรือภาคส่วนใดเข้าไปร่วมตรวจสอบสร้างความสมดุล ประชาชนจะมีความปลอดภัยต่อการบริโภคอาหารที่ถูกส่งคืนกลับมาอย่างไร และจะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร แต่คำถามเหล่านี้ไม่เคยได้รับคำชี้แจงจากทั้ง อย. และกระทรวงเกษตร

เช่นเดียวกับที่ไม่มีคำอธิบายถึงสินค้าอาหารที่ส่งไปสหรัฐและสหภาพยุโรปที่ถูกตีกลับ กลับมาแล้วไปไหนอย่างไร เข้ามาสู่วงจรอาหารของผู้บริโภคในไทยหรือไม่ เพราะการตีกลับจากตลาดส่งออกใหญ่เหล่านี้ไม่ได้มีเพียงปัญหาฉลาก ปลายปี 2017 สหรัฐสั่งกักสินค้าไทย 11 รายการที่มีเชื้อแบคทีเรีย เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) ใช้สีที่ไม่ได้แจ้งไว้กับ FDA สหรัฐ มีสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐาน ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ และยาฆ่าแมลงตกค้าง

ก่อนหน้านี้ อย. ตรวจสอบอาหารนำเข้ามาโดยตลอด แต่เมื่อมีการถ่ายโอนภารกิจไปตั้งแต่พฤษภาคม พ.ศ. 2559 กรมประมงกลับอ้างว่า ไม่มีหน้าที่กักหรือตรวจสอบซ้ำ ให้ อย. ไปสุ่มตรวจหลังเข้าสู่ตลาดแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ผ่านมาเกือบสองปี อย. ไม่เคยมีการประเมินการถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้ว่าดีหรือเลวลงอย่างไร ซึ่งสะท้อนอย่างชัดเจนจากการนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะครั้งนี้

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคย้ำว่า หากไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายผู้บริโภคจะพิจารณาฟ้องให้เพิกถอนประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องการถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้า

6. ยุคสมัยที่ทุนเสียงดังและก้าวร้าว

เรื่องราวไม่ได้หยุดเพียงการถ่ายโอนภารกิจดูแลอาหารนำเข้า และอาหารตีกลับไปยังกระทรวงเกษตรฯ เท่านั้น เพราะหากเป็นไปตาม roadmap ข้อเสนอของคณะทำงานฯ ภายใต้คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นั่นคือการแก้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อให้อำนาจนี้มาอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ อย่างถาวร โดยกระทรวงเกษตรฯ เสนอร่างแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับ แม้ว่า พ.ร.บ.อาหารจะไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระทรวงเกษตรก็ตาม

กระทรวงเกษตรอ้างว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะเพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้าในการเปิดตลาด หรือเจรจาแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า แก้ปัญหาสินค้าส่งออกที่ถูกตีกลับต้องถูกตรวจสอบซ้ำ และใช้เวลานาน แก้ปัญหาสินค้านำเข้าต้องถูกตรวจสอบจากทั้งสองหน่วยงานทำให้เป็นภาระของผู้ประกอบการ และแก้ปัญหาเนื่องจากอัตรากำลังและงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขสำหรับการตรวจสอบอาหารนำเข้ามีจำกัด

นั่นจึงทำให้ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องออกสมุดปกขาว มองรอบด้านร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร วิเคราะห์ปัญหา และเสนอแนวทางอย่างชัดเจนไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและกระทรวงสาธารณสุข

“กระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งการป้องกันและการรักษาโรค ด้วยการทำงานแบบเครือข่ายบริการสุขภาพ ซึ่งอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน ดังนั้นการควบคุมความปลอดภัยอาหารทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจึงควรเป็นบทบาทหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่สอดคล้องกับหลักการควบคุมอาหารของสากล

สินค้าเกษตรและอาหารไม่สามารถแบ่งแยกกันได้ด้วยคำนิยาม เนื่องจากพื้นฐานของอุตสาหกรรมอาหารมาจากการเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารด้วยการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศคู่ค้า แต่ไม่ควรเอาเงื่อนไขทางด้านความปลอดภัยอาหารเป็นประเด็นในการเจรจาต่อรองทางการค้า

“การแยกการควบคุมกำกับดูแลอาหารนำเข้าออกเป็นสองหน่วยงานตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือให้กระทรวงเกษตรเป็นผู้ออกใบอนุญาตสถานที่นำเข้าอาหาร ออกหลักเกณฑ์เงื่อนไขการตรวจสอบอาหารนำเข้า รวมทั้งตรวจสอบอาหารนำเข้า ณ ด่าน และให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ขึ้นทะเบียน หรือรับจดแจ้งรายละเอียดของผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า และให้ทำหน้าที่ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาดนั้น นอกจากจะไม่สามารถลดภาระของผู้ประกอบการที่ต้องติดต่อสองหน่วยงานแล้วยังอาจเพิ่มความขัดแย้งในบทบาทหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ส่งเสริมการขายสินค้า หากทำหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขการตรวจสอบอาหารนำเข้า ณ ด่านด้วย จะมีปัญหาการเลือกปฏิบัติได้ง่ายและส่งผลกระทบทางด้านลบได้มากกับผู้บริโภค ซึ่งได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการจัดการโรควัวบ้าของกระทรวงเกษตรแห่งสหราชอาณาจักร จนเป็นหายนะด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ของโลก

“ยิ่งไปกว่านั้น หากกระทรวงสาธารณสุขมาตรวจพบสินค้านำเข้าปนเปื้อนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในภายหลังที่กระทรวงเกษตรฯ ตรวจปล่อยผ่านด่านเข้ามาแล้ว จะเกิดความยุ่งยากล่าช้าในการเรียกเก็บสินค้าคืน เพราะกระทรวงสาธารณสุขจะต้องแจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวให้กระทรวงเกษตรทราบเพื่อขอให้กระทรวงเกษตรระงับการนำเข้า และเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหารในท้องตลาด เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขไม่มีอำนาจในการควบคุมอาหารในรหัสพิกัดดังกล่าวตามนิยามของคำว่าอาหาร ซึ่งหากแยกบทบาทให้สองกระทรวงจะทำให้การปฏิบัติการล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายได้

“ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ชี้ว่า ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น กระทรวงสาธารณสุขจึงไม่ควรเห็นด้วยที่จะให้แยกการควบคุมอาหารนำเข้าไปดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร เพราะขัดกับหลักการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบงานควบคุมความปลอดภัยของอาหารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ จึงเสนอให้ระงับร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. …. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่างขึ้น”

สำหรับปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นมีข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ ดังนี้

(1)  การดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าส่งออกที่ถูกตีกลับ เสนอปรับหลักเกณฑ์การปฏิบัติ กรณีไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่ายภายในประเทศ ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าได้ แต่ถ้ามีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ โดยให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งทำลายหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านการประชุมคณะกรรมการอาหารทุกกรณี

(2)  อำนาจในการเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้า การแก้ไขกฎหมายไม่ช่วยแก้ปัญหานี้โดยตรง เนื่องจากกฎหมายอาหารมีเจตนารมณ์เพื่อการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ไม่ควรนำมาเป็นเรื่องที่ใช้ในการต่อรองทางการค้าแต่ควรใช้เทคนิคทางด้านการเจรจาอื่นๆ และควรให้กระทรวงสาธารณสุขรับทราบหรือให้ความเห็นต่อข้อเจรจาด้วยหากเกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยของอาหาร

“15 มกราคม 2561 กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อ้างว่า ‘กระทรวงเกษตร มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ งบประมาณ และความเชี่ยวชาญในการที่จะตรวจสินค้านำเข้าได้อย่างเข้มงวด จึงสามารถมั่นใจได้ว่าจะสามารถคุ้มครองผู้บริโภคจากอาหารนำเข้าได้’ อีกทั้ง ‘การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารที่นำเข้าและส่งออกระหว่างกระทรวงเกษตรและกระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นข้อจำกัดในการจัดทำความตกลงยอมรับร่วม (Mutual Recognition Agreement: MRA) ซึ่งเป็นความตกลงที่เสนอให้ประเทศคู่ค้าแต่ละฝ่ายยอมรับมาตรฐานและวิธีการตรวจสอบคุณภาพสินค้าของกันและกันในการทำการค้าระหว่างประเทศโดยไม่ต้องตรวจสอบหรือรับรองซ้ำอีก”

นั่นหมายความว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังยืนยันจะเดินหน้ารวมอำนาจการตรวจสอบอาหารนำเข้าและอาหารตีกลับเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการต่อไป

7. ดูแลตัวเองนะคนไทย

สิทธิผู้บริโภคห้าประการ อันได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการตัดสินใจ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ที่ได้รับการคุ้มครองทั้งในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ดูจะเป็นแค่คำโฆษณาโลกสวย

ถึงที่สุดแล้ว การนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะ 100 กิโลกรัมเศษนี้ เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง

ในยุคที่เสียงของทุนและรัฐ หรือจะเรียกว่าทุนประชารัฐตามสมัยนิยม ดังและก้าวร้าวกว่าเสียงของประชาชน

ดูแลตัวเองนะ ผู้บริโภคไทย


อ้างอิงข้อมูลจาก:
JIJI Press
Asahi Shimbun
Japan Times
WAY Magazine
PostToday
Indyconsumer.org
SalForest
BBC Thai
XINHUA
NHK
South China Morning Post
Third World Network
Cleantechnica.com
เนชั่นทีวี
ข่าวกรมการค้าต่างประเทศ
รายงานพิจารณาศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบการนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พฤษภาคม 2559
thaihealthconsumer.org
หนังสือ มองรอบด้าน พ.ร.บ.มาตรฐานอาหาร
หนังสือ 10 บทเรียนฟุกุชิมะ 

Author

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เป็นตัวอย่างของคนทำงานสื่อที่มีพัฒนาการสูง จากนักข่าวรายวันสู่คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุที่รอบรู้และรอบจัดในการสังเคราะห์ข้อมูล ขณะที่อีกขาหนึ่งยังรับบทผู้ประสานงาน และทำงานวิชาการป้อนข้อมูลให้องค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเข้มข้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า