ในน้ำมีปลา ในปลามีอะไร?

IMG_8666

จะทำอย่างไร หากวันหนึ่ง เราจะไม่มีปลาดีๆ กินกันแล้ว …ทั้ง “ดี” ในแง่ปลอดสารพิษและ “ดี” ตรงที่ไม่เป็นภัยกับชีวิตใคร

กระแสข่าวแรงงานทาสบนเรือประมงไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาอาจทำให้ทั่วทั้งโลกผวา ผู้อพยพจำนวนมากตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ต้องขึ้นไปอยู่บนเรือประมงนานเป็นนับปี ทำงานเยี่ยงทาสต่อเนื่อง 20 ชั่วโมงต่อวัน ดื่มน้ำสกปรก และขาดไร้อิสรภาพ แถมหลายรายยังถูกโยนลงมาจากเรือเมื่อทำงานไม่ได้ดังใจ ที่น่ากลัวก็คือ ความโหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์นี้เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมประมงซึ่งมีเม็ดเงินล่อใจราว 260,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนเรา ผู้บริโภค ไม่มีทางรู้เลยว่าอาหารทะเลหน้าตาน่ากินที่อยู่ในจานนี้ มีเบื้องหลังที่เหม็นคาวเลือดอย่างข่าวที่ว่ามาหรือไม่

เรากินปลาด้วยความไม่มั่นใจว่าจะต้องอร่อยบนความเจ็บปวดของใครบ้าง…

fish2

เกร็ดตลาด-ตลาดเกล็ด

หากลองคิดเล่นๆ ดู ทุกวันนี้ เรามีทางเลือกในการซื้ออาหารทะเลสดไม่มากนัก อาจเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน หรือตลาดสดย่านชานเมือง อาจจะมีเหงือกแดงแจ๋ชวนสงสัย หรือขาวซีดดูน่าปลอดภัย แต่ถึงอย่างไร เราก็ไม่มีทางรู้เลยว่า ก่อนปลาจะมาถึงมือและปากของเรา พวกมันเดินทางผ่านอะไรมาบ้าง และปลาที่ตายแล้วก็ไม่สามารถให้ปากคำกับเราได้

ความจริงก็คือ อาหารทะเลจำนวนมากมาจากการทำประมงที่ไร้ความรับผิดชอบ เช่น การใช้เรืออวนลากที่ทำให้สัตว์น้ำตัวเล็กตัวน้อยต้องติดมาด้วย ซึ่งรวมถึงสัตว์สงวน สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน ปะการัง และหญ้าทะเล ซึ่งล้วนมี “คุณค่า” ต่อระบบนิเวศน์ในท้องทะเล แต่กลับถูกใช้อย่างทิ้งขว้าง เมื่อไม่มี ”มูลค่า” ในตลาดอาหารทะเลของมนุษย์

เมื่อชีวิตใต้ทะเลเหล่านี้ถูกลากขึ้นมา ปริมาณปลาในอนาคตต้องลดลงไปด้วย เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้อให้เกิดชีวิตใหม่ๆ อีกต่อไป สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน รายงานผลการวิเคราะห์ว่า ปลาที่จับโดยเรืออวนลากทุกวันนี้ลดปริมาณลงถึง 25 เท่าต่อหนึ่งยูนิต จากเมื่อราวๆ 150 ปีที่แล้ว เหตุผลง่ายๆ คือ เมื่อไม่มีสัตว์ทะเลใต้น้ำ ก็จะไม่มีปลาให้จับเช่นกัน

แล้วผู้บริโภคเสี่ยงอะไร เรืออวนลากเหล่านี้ทำให้สัตว์ทะเลต้องหมกตัวอยู่ในอวนเป็นเวลานานกว่าจะเดินทางเข้าฝั่ง ความสดย่อมหายไป บางส่วนเน่าเสียคาอวน และเมื่อนำไปขายในตลาดเพื่อต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลาง เวลาที่ดำเนินไประหว่างขั้นตอนขนส่ง-ต่อรอง-ขาย-ขนส่ง ย่อมทำให้อาหารทะเลเสียความสดซิง พ่อค้าคนกลางอาจแก้ปัญหาปลายเหตุโดยการใช้ตัวช่วยอย่างสารฟอมาร์ลินหรือสารคลอร็อกซ์เพื่อรักษาหน้าตาอาหารทะเลให้สดใหม่เข้าไว้ และให้ดูมีราคาในตู้กระจก แต่ผู้บริโภคอย่างเราต้องรับกรรมไปเต็มๆ เพราะหากสารเข้าไปในร่างกายก็จะทำให้ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียง่าย และกระทบระบบทางเดินอาหาร …ปลาดูสดก็จริง แต่ร่างกายของเราคงเสื่อมสลายจากความมักง่ายเหล่านี้

เมื่อตลาดทั่วไปไม่ได้ให้ความมั่นใจกับเราว่า อาหารทะเลที่ได้มานั้นมีอดีตเป็นมาอย่างไร ได้ทำลายท้องทะเลหรือเปล่า หรือจะมีอนาคตอย่างไร นั่นคือ จะเข้ามาทำลายอวัยวะภายในของเราหรือเปล่า คงไม่แปลก หากเราจะเบือนหน้าหนีอาหารทะเลไปเสียเฉยๆ

 

kid2

ทะเลสีดำ เธอกลัวหรือไม่

เมื่อเดินไปในท้องตลาดแล้วเห็นปลาหลายขนาดนอนเรียงรายอยู่บนถาดน้ำแข็งอย่างเหลือเฟือ และคงนึกภาพไม่ออก หากมีคนมาบอกเราว่า ท้องทะเลในวันนี้มีความอุดมสมบูรณ์ลดน้อยลงไปมาก

ในรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณอาหารทะเลต่อปีนั้นสูงยิ่งกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกเสียอีก แต่นั่นบ่งบอกแค่ว่าเราจับปลามาได้มากเท่าไร ไม่ได้สะท้อนว่าปลามีเหลืออยู่ในทะเลมากน้อยแค่ไหน ในรายงานเดียวกันนั้นได้บ่งบอกว่า สัดส่วนของจำนวนปลาที่จับได้จากแหล่งประมงที่มีการควบคุมก็ลดลงจากร้อยละ 90 ในปี 1974 เหลือร้อยละ 71.2 ในปี 2011ส่วนอีกร้อยละ 28.8 เป็นการทำประมงในปริมาณที่มากเกินไป และจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลในอนาคต

มามองที่ประเทศไทยกันชัดๆ การทำประมงเกินขนาดและสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ทรุดโทรมลง ทำให้เราผลิตอาหารทะเลได้น้อยลงเรื่อยๆ นั่นคือ ลดลงร้อยละ 39 ในปี 2014 แล้วยิ่งมาเจอกับความเสื่อมโทรมทางทะเลทั้งจากการปล่อยน้ำเสียปริมาณมากจากบ้านเรือนและภาคอุตสาหกรรม การปล่อยสารพิษจากอุตสาหกรรมเหมืองและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่อย่างการท่องเที่ยวอันไร้ความรับผิดชอบ สถานการณ์อาหารทะเลไทยก็น่าเป็นห่วงไม่น้อย

กุ้ง

ในน้ำมีปลา ในปลามีโรค

เมื่อปลาถูกขอดเกล็ด แล่ออกมาเป็นชิ้นๆ แยกส่วน ใส่ถาดแล้วซีลพลาสติกปิด แปะฉลากบาร์โค้ดระบุว่านี่คือปลาแซลมอนจับจากทะเล ใครเล่าจะยืนยันได้ว่ามันคือน้องปลาแซลมอนตัวจริงเสียงจริง! ถ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญสัตว์ทะเลก็ไม่แน่ แต่กับผู้บริโภคที่ซื้อหาอาหารในซูเปอร์มาเกต ไม่สันทัดเรื่องการแยกชนิดปลา จะรู้ได้อย่างไรว่าที่ซื้อมา  ปลาอะไรกันแน่

ชาวอเมริกันเคยผวากับข่าวลักษณะนี้มาแล้ว ช่วงปี 2010-2015 เว็บไซต์โอเชียนาได้ขุดคุ้ยขบวนการปลอมแปลงชนิดปลาจนในที่สุดสื่อใหญ่ก็ต้องเอามาป่าวประกาศ พบว่ามีปลามากมายตามร้านค้าทั่วไปที่ระบุชนิดไม่ตรงกับความจริง โดยนำเนื้อปลาคล้ายคลึงกันมาแปะฉลากใหม่ให้กลายเป็นปลายอดนิยมราคาสูง เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะอาหารทะเลเดินทางจากเรือชาวประมงต่างภูมิภาค ผ่านผู้ส่งออก ผ่านผู้ค้าส่ง ผ่านผู้ค้าปลีก เมื่อส่งต่อมาหลายๆ ทอดเข้า ก็ไม่รู้จะจับมือใครดมได้ คนระหว่างทางก็แปลงชนิดปลาเพิ่มกำไรเสียเลยดีกว่า และใช่ว่าปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย

อันตรายก็คือ ปลาบางชนิดสร้างผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภค และปลาบางชนิดเป็นสัตว์สงวนที่จับมาอย่างไร้ความรับผิดชอบ เส้นทางสู่จานผู้บริโภคอันไม่โปร่งใสนี่เองที่เป็นจุดอ่อนให้การโกงลูกค้าและโกงธรรมชาติเกิดขึ้น

นอกจากนี้ การใช้สารฟอกขาวในปลาหมึก ใช้ฟอร์มาลีนใส่ถังน้ำแข็งแช่อาหารทะเล หรือใช้ยาฆ่าแมลงในอาหารทะเลแห้ง ก็ทำให้เราต้องเผลอกินสารเคมีปนเปื้อนเข้าปากไป โดยไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอวัยวะภายในของเราต่อไปบ้าง

IMG_8563

ชุมชนชาวเล

อุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ที่โลภมากใช้เรืออวนลากในการจับสัตว์น้ำ ไม่เพียงแค่ลากเอาถิ่นที่อยู่ของสัตว์น้ำให้หายไป แต่ยังทำให้ชาวเลอีกหลายคนโยกย้ายไปทำอาชีพอื่น นั่นก็เพราะ ทรัพยากรในทะเลร่อยหรอลงอย่างมาก คำว่า “ชาวเล” จึงเริ่มสูญเสียความหมายจากคนหาปลา มาเป็นคนที่อาศัยอยู่ข้างทะเลเพียงเท่านั้น

สังคมชาวประมงไม่ใช่แค่เรื่องการหาปลา ICSF หรือกลุ่มความร่วมมือสากลเพื่อสนับสนุนชาวประมงกล่าวว่า การทำประมงขนาดเล็กยังหยั่งรากลงไปในวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น สัดส่วนแรงงานประมงในกลุ่มประมงขนาดเล็กนี้มีจำนวนเกินครึ่งจากอุตสาหกรรมประมงทั้งหมด และกว่าร้อยละ 85 ในจำนวนนั้นก็อยู่ในทวีปเอเชีย สถิติยังบ่งบอกว่าอาหารทะเลจากชาวประมงรายเล็กยังมีโอกาสส่งต่อไปยังผู้บริโภคในท้องถิ่นได้มากกว่าอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ที่มุ่งการส่งออก

หากชุมชนคนหาปลาเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากทรัพยากรทางทะเลที่ลดลง รวมทั้งรายได้ที่โดนกดจากตลาดรับซื้อปลา นอกจากอาชีพท้องถิ่นจะค่อยๆ หายไป พร้อมทั้งกลิ่นอายทางวัฒนธรรมที่เจือจางลง ผู้บริโภคเองก็จะมีโอกาสได้กินอาหารทะเลสดๆ จากพื้นที่ใกล้เคียงน้อยลงไปด้วย นี่ยังไม่ได้พูดถึงบทบาทของชาวประมงรายเล็กในการทะนุถนอมธรรมชาติใต้ทะเลมากกว่าเรือประมงขนาดใหญ่

ประเทศไทยยังคงมีกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ที่ทำประมงเป็นอาชีพมายาวนาน ก่อนที่อุตสาหกรรมประมงไทยจะคละคลุ้งไปด้วยเรื่องอื้อฉาว หนึ่งในนั้นคือ ร้านคนจับปลา (Fisher folk) คือ กิจการอาหารทะเลไทยที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน 4 จังหวัด ทั้งจาก ตรัง สตูล ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ร่วมกันส่งเสียงเข้ามาสู่ตลาด ป่าวประกาศว่ายังมีพวกเขานี่แหละ เป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารทะเลที่ทั้งสดและมือสะอาด นี่คือโอกาสที่ชาวประมงพื้นบ้านจะได้ส่งมอบอาหารทะเลส่งตรงถึงผู้บริโภค แบบที่สะอาดทั้งวัตถุดิบและโปร่งใสตั้งแต่เบื้องหลังที่มาในการทำประมง

“ร้านคนจับปลา” เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ด้านการพัฒนาการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ได้ทำงานส่งเสริมชาวประมงพื้นบ้านให้ใช้ทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน รวมถึงให้ความรู้ถึงสิทธิของตนเอง แต่หลังจากทำงานร่วมกับชุมชนประมงพื้นบ้านที่ประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2551-2557 พบว่า ชาวประมงพื้นบ้านยังคงมีปัญหาจากการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางเนื่องจากไม่มีสิทธ์กำหนดราคาสินค้าของตัวเองได้

เพื่อแก้ปัญหา ร้านคนจับปลาจึงรับซื้อสัตว์น้ำในราคาที่สูงกว่าตลาดประมาณ ร้อยละ 20 ซึ่งเป็นราคาที่ยุติธรรมสำหรับชาวประมง โดยมีเงื่อนไขคือต้องนำกำไรส่วนหนึ่งกลับมาสู่การทำงานด้านการฟื้นฟูทรัพยากรด้วย เช่น กำไรสุทธิ 100 บาท ปันคืนให้กับชุมชนอย่างน้อยร้อยละ 30 และร้อยละ 40 เข้าสู่งานอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทะเล ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านมีความมั่นคงทางอาชีพ และผู้บริโภคมีความมั่นคงทางอาหารด้วย

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้บริโภคกินอาหารทะเลปลอดภัย ไร้สารฟอร์มาลีนและสารเคมีอื่นๆ  สุขภาพดีสู่คนกิน ชีวิตดีสู่คนจับ รับประโยชน์กันแบบวิน-วิน

(ที่มา :eussf.icsf.net,usa.oceana.org,huffingtonpost.com)

logo

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า