เปิดตัวหนังสือ ‘เฟมินิสต์แบบบ้านๆ’ ใครๆ ก็เป็นนักต่อสู้ในสังคมชายเป็นใหญ่ได้

วันที่ 19 มิถุนายน 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ เฟมินิสต์แบบบ้านๆ เพื่อถ่ายทอดค่านิยมในครอบครัว สังคม การเข้าถึงวิถีชีวิตของคนงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และการขับเคลื่อนเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ตนเองและทีมงานมูลนิธิช่วยกันระดมสมองกว่า 2 ปี ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาเพื่อสื่อสารให้ผู้คนได้รับรู้และเข้าใจว่าการต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศเป็นเรื่องของทุกคน

3 เหตุผลที่ใช้ชื่อหนังสือว่า เฟมินิสต์แบบบ้านๆ คือ 1) เพื่อต้องการให้เห็นว่า การต่อสู้เรื่องสิทธิสตรีเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะองค์กรผู้หญิง คนงานหญิง คนยากจน แต่ไม่ว่าจะเป็น LGBTQIA+ หรือใครก็ตามที่สนใจ สามารถร่วมต่อสู้เรื่องความเสมอภาคทางเพศก็ถือว่าเป็นเฟมินิสต์ได้ 2) การเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นเรื่องของทุกคน ส่วนคนทำงานด้านพัฒนาอย่างมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สนับสนุนคนเหล่านี้ให้รวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรอง สร้างการเปลี่ยนแปลง เช่น สิทธิลาคลอด 90 วันของกฎหมายประกันสังคม และกฎหมายอื่นๆ 3) ในขบวนการต่อสู้ ไม่มีใครเป็นฮีโร่ เพราะทุกคนมีความสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงของสังคมไปด้วยกัน

“หนังสือเล่มนี้อยากชี้ให้เห็นว่า ผมมีความเข้าใจเรื่องพื้นฐาน เรื่องผู้หญิง เป็นครั้งแรกจากแม่ที่สอนให้ทำงานบ้าน หุงข้าว ซักผ้า ถูบ้าน ล้างจาน ที่ผู้ชายต้องทำได้ ถึงเป็นลูกชายคนเดียวก็ต้องทำ และช่วงวัยรุ่นผมก็ไม่ได้เป็นชายชาตรี ไม่กล้าหาญ เวลาเพื่อนชกต่อยก็ไม่กล้าไปช่วยเพื่อนเพราะกลัว” จะเด็จกล่าว

ด้าน ธารารัตน์ ปัญญา ทนายความประจำองค์กร Feminist Legal Support (FLS) มองว่า เรื่องสิทธิความเท่าเทียม ความหลากหลายทางเพศ เป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ ตื่นตัว และให้ความสำคัญมากขึ้นกว่ายุคก่อนๆ สถานการณ์โดยรวมในปัจจุบันถือว่าดีขึ้นมาก คนเข้าใจมากขึ้น อุปสรรคน้อยลง หลายเรื่องมีความก้าวหน้า แต่ก็ไม่ได้สำเร็จทั้งหมด อย่างเช่น คำนำหน้านาม สิทธิของสามีที่จะสามารถลางานมาช่วยเลี้ยงดูบุตร ซึ่งต้องต่อสู้เรียกร้องกันต่อไป 

แม้การผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นผลสำเร็จแล้ว ก็ยังต้องมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับคนในสังคมต่อไป จึงจะเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมอย่างแท้จริง

“หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องสิทธิความเสมอภาคของคนในสังคมในแต่ละช่วงเวลา บอกเล่าเรื่องราวสิทธิและความเสมอภาคที่เริ่มต้นตั้งแต่ในระดับครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ” ธารารัตน์กล่าว

ขณะที่ ชูวิทย์ จันทรรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า เนื้อหาสำคัญของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ความคิดความเชื่อในสิทธิ ความเท่าเทียม ความเสมอภาค ปัญหาจากความคิดชายเป็นใหญ่ การต่อสู้ของผู้ด้อยโอกาส ผู้ถูกกดทับในสังคม ซึ่งสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจอย่างง่ายๆ ได้ ไม่ต้องปีนบันไดขึ้นไปเรียนรู้ 

“ด้วยความเรียบง่ายในการนำเสนอ มันจึงเป็นเฟมินิสต์แบบบ้านๆ ที่ใครๆ ก็เป็นได้ เรียนรู้และใช้ประโยชน์จากมันได้จริง แม้กระทั่งในเรื่องง่ายๆ เช่น งานบ้านที่ผู้ชายเองก็ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่มอบให้เป็นภาระของผู้หญิง แล้วตัวเองก็ลอยนวล” ชูวิทย์กล่าว

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า