สูงวัยหลบไป Gen Y ครองแชมป์ถูกหลอก แม้รู้ทันคอลเซนเตอร์ แต่ไม่วายตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพมากที่สุด

ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน (Centre for Gambling Studies) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำเสนอรายงาน ‘การสำรวจสถานการณ์การถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ปี 2566’ ณ โรงแรมเมอร์เคียว กรุงเทพฯ สยาม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมี นายธน หาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) เป็นผู้นำเสนอรายงาน พร้อมทั้งผู้เข้าร่วมการเสวนาวิชาการจากทั้งภาครัฐและวิชาการ อาทิ พลตำรวจตรีนิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บช.สอท.) ร้อยตำรวจเอกเขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รองศาสตราจารย์ ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และ นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการชัวร์ก่อนแชร์ ร่วมแสดงข้อคิดเห็นต่อสถานการณ์การหลอกลวงทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

รายงานฉบับนี้ได้ทำการสำรวจกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่มีอายุระหว่าง 15-79 ปี จำนวน 6,973 ตัวอย่าง ใน 24 จังหวัด ทุกภูมิภาคของไทย ในระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยเน้นกรอบการวิเคราะห์ข้อมูลการหลอกลวงออนไลน์ออกเป็น 2 ประเภทคือ ‘การหลอกลวง’ และ ‘การตกเป็นผู้เสียหาย’ โดยมีการกล่าวถึงพฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและมือถือ รายงานชี้ให้เห็นว่า การพูดคุยและการสนทนาทางโทรศัพท์กับคนแปลกหน้าหรือเบอร์แปลกที่ไม่มีการบันทึกเอาไว้ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกหลอกสูงสุด ขณะที่การรับคนแปลกหน้าเป็นเพื่อนบนสื่อโซเชียลมีเดีย เสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงออนไลน์ในลำดับถัดมา 

ความน่าสนใจของรายงานฉบับนี้ยังเจาะลึกลงไปที่ ‘เจเนอเรชัน’ ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกหลอกลวงในรอบปีที่ผ่าน โดยกลุ่มผู้มีอายุ 61-79 ปี หรือ ‘เบบี้บูมเมอร์’ (ฺbaby boomer) ซึ่งมีข่าวการถูกหลอกลวงออกมาจากสื่อเป็นจำนวนมาก และสูญเงินเป็นจำนวนมาก กลับมีจำนวนการถูกหลอกลวงตํ่าที่สุดคือ ร้อยละ 43.5 เท่านั้น ขณะที่กลุ่มผู้มีอายุ 46-60 ปี หรือ Gen X ถูกหลอกลวงร้อยละ 69.29 ในทางตรงกันข้าม เจเนอเรชันที่มีการศึกษาดี มีการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศตลอดเวลาอย่าง Gen Y และ Gen Z กลับมีอัตราการถูกหลอกลวงออนไลน์มากที่สุด คือ ร้อยละ 76.9 และร้อยละ 75.7 ตามลำดับ จากผลรายงานดังกล่าวเป็นไปได้ว่า กลุ่มมิจฉาชีพมีการเปลี่ยนเป้าหมายและรูปแบบการหลอกลวงที่รุดหน้ามากขึ้น เช่น แอปพลิเคชันดูดเงิน เป็นต้น

Gen Y ครองแชมป์ถูกตุ๋นมากที่สุด Gen Z มีแนวโน้มถูกหลอกเพิ่มขึ้น

รายงานฉบับนี้พบว่า ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มีคนไทยถูกหลอกลวงออนไลน์ทั้งสิ้น 36.1 ล้านคน คิดเป็นร้อย 68.3 ของประชากรทั้งหมด โดย 18.3 ล้านคน หรือ ร้อยละ 50 ตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพ เมื่อเทียบช่วงอายุของกลุ่มประชากรที่ถูกสำรวจพบว่า Gen Y ถูกหลอกลวงมากเป็นอันดับที่ 1 ตามมาด้วย Gen Z Gen X และเบบี้บูมเมอร์ 

สาเหตุที่ทั้งสองเจเนอเรชันถูกหลอกลวงสูงสุด สามารถแยกออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้คือ 

  1. เสี่ยงกระทำผิดกฎหมาย คิดเป็น 22.14 ล้านคน
  2. การซื้อขายออนไลน์ คิดเป็น 15.42 ล้านคน
  3. การได้รับสิทธิประโยชน์ คิดเป็น 10.94 ล้านคน
  4. ความสัมพันธ์และความสงสาร คิดเป็น 2.65 ล้านคน 
  5. การทำงานหรือทำภารกิจ คิดเป็น 1.33 ล้านคน

จากรูปแบบการหลอกลวงทั้งหมดนี้ Gen Y เป็นกลุ่มช่วงอายุที่ถูกหลอกลวงออนไลน์มากที่สุดในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในประเภทเสี่ยงกระทำผิดกฎหมาย ร้อยละ 7.8 และการซื้อขายออนไลน์ ร้อยละ 6 ซึ่งอัตราการตกเป็นผู้เสียหายของ Gen Y นั้นมีมากถึงร้อยละ 58 รองลงมาคือ Gen Z ร้อยละ 57 ส่วน Gen X และเบบี้บูมเมอร์มีเพียงร้อยละ 43 และร้อยละ 27 ตามลำดับ

เมื่อวิเคราะห์ลงไปแล้วพบว่า Gen Y และ Gen Z เป็นเจเนอเรชันที่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศตลอดเวลา มีการศึกษาดี มีการป้องกันสูงมากกว่าเจเนอเรชันที่มีอายุมากกว่า โดย Gen Y เป็นเจเนอเรชันที่มีรายได้พอสมควรในการจับจ่าย เน้นการซื้อสินค้าออนไลน์ การพรีออเดอร์ หรือรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งตรงกับเป้าหมายของกลุ่มมิจฉาชีพที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงโดยอ้างว่าจะให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ตั๋วเครื่องบินฟรี ลดหย่อนค่านํ้าค่าไฟ เป็นต้น โดยมีมูลค่าการหลอกลวงสูงสุดถึง 30,000 ล้านบาท เฉลี่ยรายหัว 9,472 บาท รองลงมาคือ การหลอกลวงผ่านการซื้อขายออนไลน์ มูลค่า 10,454 ล้านบาท เฉลี่ยรายหัว 710 บาท แม้จะมีมูลค่าน้อย แต่ในทางตรงกันข้าม การหลอกลวงผ่านการซื้อขายนี้มีอัตราการตกเป็นเหยื่อง่ายที่สุด และมิจฉาชีพประสบความสำเร็จถึงร้อย 95.5 เลยทีเดียว

จากตัวเลขที่รายงานพบ Gen Y เป็นกลุ่มช่วงอายุที่ถูกหลอกลวงทางออนไลน์มากที่สุด ขณะที่ Gen Z ถูกหลอกลวงออนไลน์มากที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ตามมา และมีแนวโน้มมากยิ่งขึ้นในอนาคต ลักษณะของการถูกหลอกลวงออนไลน์ของ Gen Z แทบไม่แตกต่างจากจาก Gen Y มากนัก เนื่องจากมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและมือถือเช่นเดียวกัน

แม้รู้จักป้องกันตัว แต่ไม่รู้ช่องทางร้องเรียน 

ปกติแล้วคนไทยป้องกันตัวจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงทางออนไลน์หลากหลายวิธี โดยมีวิธีการป้องกันที่ได้รับความนิยมตามลำดับดังนี้

  1. ตั้งรหัส ล็อกหน้าจอหรือแอปพลิเคชัน คิดเป็นร้อยละ 69
  2. ลบหรือบล็อกบุคคลต้องสงสัย ดูอันตราย คิดเป็นร้อยละ 57
  3. ใช้แอปพลิเคชันตรวจจับ คิดเป็นร้อยละ 43
  4. รีพอร์ทให้ผู้ใช้บริการทราบ คิดเป็นร้อยละ 24

อย่างไรก็ตาม วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการที่ง่ายดาย สามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่สามารถป้องกันกลุ่มมิจฉาชีพได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น และอาจไม่สามารถป้องกันการถูกหลอกลวงออนไลน์ที่พัฒนาไปอย่างรุดหน้ามากขึ้นในปัจจุบัน 

ส่วนวิธีการที่ไม่ได้รับความนิยม 4 อันดับ แต่เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากในการป้องกันระยะยาวคือ 

  1. แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คิดเป็นร้อยละ 10
  2. สังเกตว่ามี https:// หรือไม่ คิดเป็นร้อยละ 11
  3. เช็กประวัติคนที่เข้ามาพูดคุย คิดเป็นร้อยละ 17.6
  4. เปลี่ยนพาสเวิร์ดการใช้งานโปรแกรม อุปกรณ์ เว็บไซต์ คิดเป็นร้อยละ 22.2

โดยการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบนั้นเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด ตรงกับตัวเลขรายงานที่พบว่า ช่องทางการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างตำรวจไซเบอร์ (โทร. 1441) สคบ. (โทร. 1166) ศูนย์รับร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (โทร. 1122) มีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับการเข้าแจ้งความตามสถานีตำรวจที่รับร้องทุกข์ทั่วประเทศ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90 เลยทีเดียว ซึ่งทางตำรวจไซเบอร์ได้แนะนำว่า จะเป็นการดีกว่าหากผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงออนไลน์ ติดต่อสายด่วน 1441 เพื่อแจ้งความร้องทุกข์โดยตรง ซึ่งจะช่วยให้ติดตามผู้กระทำผิดได้

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

Illustrator

พัชราภรณ์ สุจริต
กราฟิกดีไซน์ ที่รักการทำงานคราฟต์ มีสิ่งที่ชอบและอยากทำมากมาย
แต่ที่ชอบมากๆ คงจะเป็นการอ่านหนังสือ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า