ภาพประกอบ: Shhhh
6 เมษายน ประเทศอังกฤษออกกฎหมายใหม่ ขอให้บริษัทต่างๆ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 250 คนขึ้นไป แสดง ‘gender pay gap’ หรือ ความแตกต่างของค่าจ้างที่เป็นผลมาจากเรื่องเพศ เป็นผลให้บริษัทกว่า 9,000 แห่งต้องปฏิบัติตามในเดือนเมษายนปีหน้า
กฎหมายนี้มาจากตัวเลขที่ชี้ว่า ผู้หญิงอังกฤษได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายที่ทำงานในตำแหน่งเดียวหรือใกล้เคียงกันราว 18.1 เปอร์เซ็นต์
แม้ว่ากฎหมายนี้จะดูก้าวหน้า พยายามจะแก้ปัญหาอคติจากเรื่องเพศ และได้รับคำชมเชยในฐานะเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางสังคมด้วยหลักทางกฎหมาย แต่ยังมีข้อท้วงติงจากนักวิชาการ นักการตลาด นักการเมือง กระทั่งผู้ที่ทำงานในบริษัทประกัน ที่ออกมาแสดงความเห็นและตั้งคำถามคล้ายๆ กันว่า
นอกจากเงินที่อาจได้เท่ากันแล้ว ปัญหาอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้พวกเธอเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ได้ จะถูกแก้ไขด้วยกฎหมายชิ้นนี้หรือเปล่า?
สถานการณ์ปัญหาเรื่องค่าจ้างในประเทศอังกฤษ
เฉพาะในวงการฮอลลีวูด โรบิน ไรท์ (Robin Wright) นักแสดงนำในซีรีส์ House of Cards เคยออกมาประกาศว่าเธอจะต่อสู้เพื่อให้ได้ค่าตัวเทียบเท่า เควิน สเปซีย์ (Kevin Spacey) โปรดิวเซอร์และนักแสดงนำในเรื่องเดียวกัน ที่ได้ค่าตัวราว 500,000 ดอลลาร์/ภาค ขณะที่ค่าตัวของไรท์อยู่ที่ราว 420,000 ดอลลาร์/ภาค
เช่นเดียวกับ จิลเลียน แอนเดอร์สัน (Gillian Anderson) จากซีรีส์ The X-Files ก็เคยออกมาพูดว่าเธอได้ค่าตัวน้อยกว่านักแสดงชายเช่นกัน
มองให้พ้นไปจากรายได้ของดาราผู้มั่งคั่ง กลับมายังมนุษย์เงินเดือนธรรมดา อ้างอิงจากสถาบันศึกษาวิจัยด้านรายได้ (Institute for Fiscal Studies: IFS) โดยเฉพาะเรื่องภาษีและนโยบายสาธารณะ รายงานสถิติที่เกี่ยวกับผู้หญิงในเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการลาคลอดของผู้หญิงว่า
ผู้หญิงราว 54,000 คน ถูกกดดันให้ออกจากงานหลังจากคลอดบุตร หรือเมื่อกลับมาทำงานแล้วอาจได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายราวสามเท่า หรือบางรายก็ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งที่มีรายได้มั่นคงเสียเลย
ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ใช่การได้ค่าจ้างไม่เท่ากันเพียงอย่างเดียว
“กฎหมายดังกล่าว เพียงแค่ให้บริษัทเปิดเผยตัวเลขเงินเดือน แต่ไม่ได้บอกว่า ผู้ชายและหญิงได้รับค่าจ้างอย่างเท่าเทียม มันเพียงแต่โชว์ค่าเฉลี่ยของเงินเดือนและโบนัสที่พนักงานในบริษัทได้รับ เพื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกันเท่านั้น”
คือความเห็นของ ซูซานน์ ฮอร์น (Suzanne Horne) นักกฎหมายของ Paul Hastings บริษัทกฎหมายที่มีสาขาอยู่ 21 ประเทศทั่วโลก และได้เสริมว่า เกณฑ์การพิจารณาว่าใครควรจะได้รับเงินเดือนเท่าไร ต้องถูกคิดมาจากศักยภาพ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการทำงานของเขาและเธอ ซึ่งทั้งหมดนี้มันซับซ้อนเกินกว่าจะบอกแค่ว่า ‘ต้องเท่ากัน’
ขณะที่ โซฟี วอล์คเกอร์ (Sophie Walker) หัวหน้าพรรค Women’s Equality แสดงความเห็นว่า ขอให้รัฐบาลหยุดความพยายามสร้างตัวเลขทางเศรษฐกิจด้วยการเล็งเป้ามาที่เรื่องผู้หญิง เพราะเพียงกฎหมายนี้ยังไม่เพียงพอ
นอกจากค่าจ้าง ยังต้องพูดถึงเรื่องเงินบำนาญ
โรส เซนต์ลูอิส (Rose St Louis) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินบริษัทประกัน Zurich กล่าวว่า อีกหนึ่งปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ไข คือเงินบำนาญของผู้หญิง ที่เมื่อคิดไปไกลๆ จนวันเกษียณ ผู้หญิงจะมีเงินสะสมหรือเงินบำนาญน้อยกว่าผู้ชาย ราว 47,000 ยูโร
ลูอิสหยิบตัวเลขลูกค้าของบริษัทประกัน Zurich ราว 250,261 คน ในปี 2013-2016 ชี้ว่าผู้ชายอายุต่ำกว่า 35 ปี จะได้รับเงินสมทบจากผู้ว่าจ้างในระบบบำนาญมากกว่าผู้หญิงที่อายุเท่ากันราว 217 ยูโร
อ้างอิงข้อมูลจาก: pinknews.co.uk