เรื่องผีที่เพิ่งสร้าง

เรื่อง: พิรญาณ์ อาจวิชัย

ในปี พ.ศ. 2557 รัฐบาลกัมพูชาได้ทำสัญญากับรัฐวิสาหกิจของประเทศจีนในการก่อตั้งโครงการ ‘Sinohydro’ ขึ้นมาเพื่อสร้างเขื่อนหลายแห่งทั่วทั้งประเทศกัมพูชา หนึ่งในนั้นคือการสร้างเขื่อนที่สตึงอาเรง (Stung Areng) แม่น้ำสายหลักในลุ่มแม่น้ำโขง หากโครงการนี้สำเร็จจะส่งผลให้น้ำท่วมหุบเขาอาเรง สร้างความเสียหายให้พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในกัมพูชา รวมถึงเป็นการขับไล่ชุมชนชาวชอง (Chong) ชาวพื้นเมืองกลุ่มน้อยในกัมพูชาผู้นับถือผีบรรพบุรุษและผีเจ้าที่ แต่ด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านจากเหล่านักกิจกรรมและพระภิกษุที่เดินทางจากพนมเปญไปยังหุบเขาอาเรงเพื่อสนับสนุนชาวบ้าน ได้ทำให้ทางรัฐบาลกัมพูชายกเลิกโครงการนี้ไปในที่สุด

เคว สัมนาง ศิลปินชาวกัมพูชาสร้างสรรค์ผลงานชุด ‘Preah Kunlong (The Way of the Spirit), 2016 – 2017’ ขึ้นมาหลังจากได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวดังกล่าว เขาใช้เวลาร่วมปีในการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์เชิงปฏิบัติการกับคนในชุมชนด้วยการพบปะพูดคุยและสอนการถักหน้ากากสัตว์จากเถาวัลย์ที่เก็บได้ในป่าให้แก่ชุมชน กระบวนการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงปฏิบัติการในครั้งนั้นเกิดเป็นชุดผลงานศิลปะอันประกอบด้วยประติมากรรมหน้ากากสานด้วยเถาวัลย์และวิดีโอการแสดงของ เรดี เอง (Redy Nget) นักรำละโคนโขลประยุกต์ร่วมสมัย (Lakhaon Kaol Dancer) จัดแสดงที่ Documenta 14 เพื่อนำเสนอประเด็นทางการเมืองเรื่องที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติกับการพัฒนาที่คุกคามชุมชน

ในปี 2562 เควจัดแสดง ‘Preah Kunlong’ อีกครั้งที่ Nova Contemporary ระหว่างวันที่ 12 กันยายน – 31 ตุลาคม 2562 ในชื่อนิทรรศการ ‘A Forest of Spirits’ โดยมี Abhijan Toto เป็นภัณฑารักษ์ พร้อมกับตั้งคำถามว่า “เราจะสามารถเห็นการเคลื่อนไหวของกายภาพ (Materiality) ในโลกที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวของชีวิตได้อย่างไร?” นิทรรศการครั้งนี้มีการเพิ่มประติมากรรมหน้ากากหล่อทองแดงเข้ามาเพื่อแสดงถึงการปะทะกันระหว่างความเชื่อทางจิตวิญญาณโบราณกับความเป็นสมัยใหม่ที่เข้ามาพร้อมกับอุตสาหกรรมและทุนนิยม

นิทรรศการ ‘A Forest of Spirits’

ห้องนิทรรศการหลักของ Nova Contemporary มีการติดตั้งวิดีโอบันทึกการแสดงสดของเรดีบนผนังห้องด้านในสุดพร้อมกับติดตั้งประติมากรรมหน้ากากสัตว์หล่อทองแดงนับสิบชิ้น ได้แก่ กระต่าย ลิง กวาง ปู นกยูง ปลาไหล หมูป่า ช้าง วัว จระเข้ และไก่ป่า ซึ่งล้วนเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในหุบเขาอาเรงและเป็นภาพแทนของความเชื่อทางจิตวิญญาณที่สัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้น ในขณะที่ห้องนิทรรศการชั้นสองติดตั้งประติมากรรมหน้ากากวัวสานด้วยเถาวัลย์ อันเป็นผลงานชิ้นเดิมจาก ‘Preah Kunlong (The Way of the Spirit), 2016 – 2017’ การติดตั้งผลงานในลักษณะเต็มพื้นที่จนผู้ชมจำต้องยืนอยู่ท่ามกลางประติมากรรมหน้ากากสัตว์และปะทะสายตากับวิดีโอขนาดใหญ่พอดีกับขนาดของผนังห้องทั้งด้าน เป็นการเชื้อเชิญแกมบังคับให้ผู้ชมเห็นรายละเอียดของชิ้นงาน แม้ว่าจะตั้งใจมองมันอย่างถี่ถ้วนหรือไม่ก็ตาม ทั้งยังเป็นการจำลองสถานที่เสมือนว่าผู้ชมกำลังอยู่ในหุบเขาอาเรงและกำลังรับรู้ความเคลื่อนไหวของกายภาพที่กำลังโต้ตอบ ปฏิเสธ และกลายสภาพผ่านร่างกายของเรดี

‘Preah Kunlong, 2-Channles HD Video, 2017’

‘Preah Kunlong, 2-Channles HD Video, 2017’ คือวิดีโอสองช่องที่ฉายภาพเรดีสวมหน้ากากสัตว์ต่างๆ แล้วเคลื่อนไหวร่างกายด้วยภาษาที่หยิบยืมมาจากการรำละโคนโขล ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศกัมพูชาและมีความสำคัญอย่างมากในพิธีกรรมทางศาสนา หากแต่การเคลื่อนไหวร่างกายของเรดีกลับไม่เหลือเค้าของละโคนโขลมากนัก เนื่องจากละโคนโขลใช้การเคลื่อนไหวร่างกายประกอบการเล่าเรื่อง เช่น การกระทืบเท้าแสดงถึงความโกรธ การชี้นิ้วที่ขมับหมายถึงกำลังใช้ความคิด ซึ่งเป็นภาษากายที่สามารถเข้าใจได้ทั่วไป แต่การเคลื่อนไหวของเรดีเป็นการสื่อสารที่ผู้ชมไม่อาจแปลความหมายได้ เขาทำเพียงดัดร่างกายให้คดโค้งโก่งงอและพยายามแทรกตัวเข้าไปกับดิน รากไม้ และผืนน้ำราวกับกำลังจะกลายสภาพเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

ประติมากรรมหน้ากากสัตว์และการแสดงของเรดีจึงทำหน้าที่เป็นภาชนะสิงสู่ของผีบรรพบุรุษและผีเจ้าที่ในหุบเขาอาเรงที่พยายามสื่อสารกับมนุษย์ ทั้งยังเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า “เราจะสามารถเห็นการเคลื่อนไหวของกายภาพ (Materiality) ในโลกที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวของชีวิตได้อย่างไร?” กล่าวคือ เราจะเห็นการเคลื่อนไหวของกายภาพ (ในที่นี้คือธรรมชาติและ ‘ผี’ ที่ไร้เสียง ไร้ความสามารถในการต่อต้านการคุกคามของรัฐบาล) ผ่านการเล่าเรื่องและผลิตซ้ำเรื่องเล่านั้นด้วยภาชนะหรือวิธีแตกต่างกันไป

อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีแค่ผลงานของเควเท่านั้นที่พูดถึง ‘ผี’ ในมิติของความเชื่อทางจิตวิญญาณธรรมชาติและในมิติทางการเมือง ซึ่งในบทความนี้ ผู้เขียนก็ได้หยิบยกนิทรรศการของศิลปินไทยมาให้ยลกันเล็กน้อย เพื่อจะชวนสังเกตว่าหากเป็นบริบทในบ้านเรา นิทรรศการศิลปะเหล่านี้จะทำให้เราเห็น ‘ผี’ ตัวไหนบ้าง

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2562 กรกฤต อรุณานนท์ชัย ร่วมกับ อเล็กซ์ กวอจิก และ บอย ไชลด์ จัดแสดงนิทรรศการ ‘No History in a Room Filled with People with Funny Names 5’ ระหว่างวันที่ 20 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2562 ณ Bangkok CityCity Gallery ซึ่งเป็นนิทรรศการที่มีแนวคิดเกี่ยวกับผี (ghost) ที่ต้องการแหล่งสิงสถิต (host) และส่งต่อผ่านกาลเวลาด้วยการเล่าเรื่อง (storytelling) ผีในความหมายของกรกฤตจึงไม่ใช่แค่ภูตผีหรือวิญญาณ แต่ได้ขยับขยายขอบเขตการรับรู้เกี่ยวกับผีที่เปิดกว้างไปสู่ผีในมิติทางการเมืองในประเทศไทย นิทรรศการนี้ประกอบด้วยวิดีโอที่มีลักษณะเป็นการหยิบจับวิดีโอ footage ของหลายเหตุการณ์มารวมเข้าด้วยกัน ได้แก่ ความเชื่อเรื่องพญานาค ตำนานผีจ้างหนัง พระเมรุมาศของรัชกาลที่ 9 บริเวณท้องสนามหลวง รวมถึงเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็นที่ทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพในไทยเพื่อตามล่าคอมมิวนิสต์ สร้างกองบัญชาการชื่อว่า ‘ค่ายรามสูร’ ที่จังหวัดอุดรธานี เชื่อมโยงไปยังทหารที่เข้าไปช่วยเด็ก 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ยังมีวิดีโอบันทึกการแสดงของบอย ไชลด์ ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อถ่ายทอดเสียงของกรกฤตเล่าเรื่องเกี่ยวกับ ‘ผี’ ซึ่งก็เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่อาจแปลความหมายได้เช่นเดียวกับการแสดงของเรดี

อีกตัวอย่างที่สำคัญคือ กายวิภาคของความเงียบ: นาบัว และ ‘กายวิภาคของความเงียบ: ผลสืบเนื่อง’ นิทรรศการต่อเนื่อง 2 ชุด โดย พชร ปิยะทรงสุทธิ์ จัดแสดงที่ Artist+Run ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน – 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

นิทรรศการ ‘กายวิภาคของความเงียบ: นาบัว’ นำเสนอภาพจิตรกรรมภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์การเมืองในเหตุการณ์ ‘วันเสียงปืนแตก’ ในวันที่ 8 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2508 ที่หมู่บ้านนาบัว ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม อันเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศการต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และรัฐไทย พชรถ่ายทอดภาพทิวทัศน์บริเวณจุดเกิดเหตุที่ ณ เวลาปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยอะไรเป็นรูปธรรมถึงเหตุการณ์รุนแรงครั้งสำคัญ ภาพจิตรกรรมจึงปรากฏเพียงความเงียบของประวัติศาสตร์ความทรงจำจากฝ่าย พคท. ที่บ้านนาบัวกับความคิดและจินตนาการของศิลปินที่มีต่อเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก

‘The Sound of Silence’

ส่วนนิทรรศการ ‘กายวิภาคของความเงียบ: ผลสืบเนื่อง’ เป็นการนำเสนอเหตุการณ์ร่วมสมัยที่เกิดขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับภาคประชาชนในยุคสงครามเย็น พชรมุ่งเน้นนำเสนอความตายอันเป็นจุดจบของประชาชนผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐไทย ตั้งแต่กรณีของ ชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกศพงษ์ศา พนักการไฟฟ้าที่ถูกพบเป็นศพแขวนคออย่างปริศนาในจังหวัดนครปฐม ในปี พ.ศ. 2519 จนถึงความตายของอากง หรือ อำพล ตั้งนพกุล ที่ถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความดูหมิ่นและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ไปยังมือถือของ สมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (พ.ศ. 2553) อากงถูกศาลพิพากษาจำคุก 20 ปี แต่เขาได้เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2555 ขณะต้องขังในเรือนจำ

จากนิทรรศการ ‘A Forest of Spirits’ จนถึง ‘กายวิภาคของความเงียบ: ผลสืบเนื่อง’ ทำให้เห็นว่าโดยส่วนใหญ่แล้วหากจะมี ‘เรื่องผีๆ’ ในศิลปะร่วมสมัยที่นำเสนอประเด็นทางการเมืองก็มักจะเป็นการอุปมาถึงคนชายขอบที่โดนอำนาจรัฐเบียดขับทำให้ตายไปจากความเป็นพลเมือง หรือเป็นผีร้ายที่รัฐต้องกำจัดทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิทรรศการ 2 ชุดของ พชร ปิยะทรงสุทธิ์ ที่เผยให้เห็นกลวิธีของรัฐไทยในการสร้างเรื่องเล่าขั้วตรงข้าม (Binary Opposition) ให้คอมมิวนิสต์เป็นผีร้ายหรือเรียกกันอย่างแพร่หลายว่า ‘ผีคอมมิวนิสต์’ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมกับลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังรุกคืบเข้ามา มีการโฆษณาชวนเชื่อ ปลุกปั่น และปราบปรามอย่างรุนแรงในช่วงรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  ซึ่งก็หมายความว่า ผีร้ายไม่ได้อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นมาเอง แต่กลับเป็นรัฐที่สร้างมันขึ้นมาเพื่อติดป้ายว่าตนเองเป็นคนดี ยืนหยัดปกป้องประชาชนให้ปลอดภัย แต่ผลลัพธ์ก็ใช่ว่ารัฐจะประสบความสำเร็จในการกำจัดผีร้ายที่สร้างขึ้นมากับมือ ในทางกลับกัน มันยังคงสิงสู่อยู่ในภาชนะหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าปากต่อปาก พิธีกรรมรำลึก หรือนิทรรศการศิลปะ การปรากฏตัวของผีเหล่านี้จึงก้ำกึ่งระหว่างความเป็นและความตาย กลายเป็นสภาพของการหลอกหลอนรัฐไทยเรื่อยมาแม้ว่าสงครามเย็นจะสิ้นสุดไปกว่า 30 ปีแล้วก็ตาม

ภาพประกอบจาก:
Nova Contemporary
Bangkok CityCity Gallery
Artist+Run

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า