ในปี 2100 ธารน้ำแข็งครึ่งหนึ่งในโลกจะละลายหายไป แม้มนุษยชาติจะยึดมั่นและปฏิบัติตามเป้าหมายของ ‘ความตกลงปารีส’ (Paris Agreement) ที่พยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก็ตาม
งานวิจัยล่าสุดพบว่า 49 เปอร์เซ็นต์ คือตัวเลขของธารน้ำแข็งที่จะหายไป แม้อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นเพียง 1.5 องศาเซลเซียส และหากอุณหภูมิเฉลี่ยยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนตัวเลขแตะ 2.7 องศาเซลเซียส โลกจะสูญเสียธารน้ำแข็งมากถึง 68 เปอร์เซ็นต์
นั่นหมายความว่า การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกส่งผลกระทบต่อธารน้ำแข็งมากกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ ภายใน 30 ปีข้างหน้า ธารน้ำแข็งจะหายไปครึ่งหนึ่งของจำนวนความสูญเสียที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น
บทความ Global glacier change in the 21st century: Every increase in temperature matters ในวารสาร Science รายงานว่า หากสถานการณ์เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21 ธารน้ำแข็งในบริเวณยุโรปตอนกลาง แคนาดาตะวันตก และสหรัฐอเมริกาอาจหายไปเกือบหมด
แน่นอนว่า เมื่อธารน้ำแข็งละลายย่อมส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส จะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 90 มิลลิเมตร และหากตัวเลขพุ่งสูงถึง 2.7 องศาเซลเซียส จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 115 มิลลิเมตร น้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อแหล่งทรัพยากรน้ำจืดที่หล่อเลี้ยงประชากรโลกมากถึง 2,000 ล้านคน และยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมอีกด้วย
ทีมงานวิจัยดังกล่าวจัดทำแผนที่ธารน้ำแข็งบนโลกจากข้อมูลดาวเทียมย้อนหลังกว่า 2 ทศวรรษ จนสามารถระบุตำแหน่งธารน้ำแข็งกว่า 200,000 แห่ง ได้อย่างแม่นยำกว่าที่เคยมีมา แผนที่ดังกล่าวช่วยให้ทีมวิจัยเข้าใจสภาพการณ์การสูญเสียธารน้ำแข็งและอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างละเอียดขึ้น
เดวิด เรานซ์ (David Rounce) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากภาควิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย Carnegie และมหาวิทยาลัย Alaska Fairbanks และหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เราสามารถจำแนกจำนวนธารน้ำแข็งที่จะละลายหายไป ก่อนที่การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้น”
เรานซ์ยังกล่าวว่า แม้ธารน้ำแข็งที่ละลายไปส่วนมากจะมีขนาดเล็ก แต่ก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะไม่เพียงทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แต่การละลายของธารน้ำแข็งขนาดเล็กยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนนับล้าน โดยเฉพาะแถบภูเขาสูงบริเวณยุโรปตอนกลางและเอเชีย
ตัวอย่างเช่นเทือกเขาตอนล่างอย่างเทือกเขาแอลป์ (Alps) และเทือกเขาพิเรนีส (Pyrenees) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ภายในปี 2050 ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์จะมีขนาดเล็กลงโดยเฉลี่ย 70 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งยอดเขาบางยอดอาจไม่มีหิมะปกคลุมอยู่เลย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพันธุ์พื้นถิ่นบางสายพันธุ์อีกด้วย
ดังนั้น แม้ไม่ใช่งานวิจัยชิ้นแรกที่คาดการณ์ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากการละลายของธารน้ำแข็งโลก แต่งานวิจัยชิ้นนี้ก็ทำให้เห็นผลกระทบจากงานศึกษาก่อนๆ อย่างเป็นรูปธรรมขึ้น ตลอดจนเสนอข้อมูลที่แม่นยำกว่าแบบจำลองครั้งก่อนๆ
ที่มา:
- Global glacier change in the 21st century: Every increase in temperature matters
- Half of glaciers will be gone by 2100 even under Paris 1.5C accord, study finds