เหมืองทองคำวังสะพุง อิทธิพลเหนือสิทธิชุมชน

10300518_619818084773844_9153657919605926426_n

 เรื่อง : อาทิตย์ เคนมี 

 

เหตุการณ์อุกอาจกลางดึกวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 กองกำลังอันธพาลกว่า 300 คน ยกพวกบุกทำร้ายชาวบ้าน ‘กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด’ ที่ขัดขวางการขนแร่ออกจากเหมืองทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นเหตุให้ชาวบ้านบาดเจ็บนับสิบราย เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความไร้มนุษยธรรมของวงการธุรกิจเหมืองแร่ที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงการกระทำดังกล่าว

การละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ด้วยการใช้ความรุนแรง ใช้อิทธิพลข่มขู่คุกคาม สร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่สาธารณชนถึงความไม่ชอบมาพากลของธุรกิจเหมืองแร่ และจุดกระแสสังคมให้หันมาจับตามอง

อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า โครงการเหมืองแร่ทั้งหลายที่ผ่านขั้นตอนการอนุมัติจากรัฐนั้นมีความโปร่งใสจริงหรือไม่ มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรที่ถูกซุกไว้ในมุมมืด และมีข้อเท็จจริงอะไรอีกบ้างที่ประชาชนถูกปิดหูปิดตา

วงเสวนาว่าด้วยเรื่อง ‘สิทธิชุมชน ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล กรณีศึกษาเมืองแร่ทองคำ จ.เลย’ จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา พยายามทบทวนบทเรียนที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมองไปข้างหน้าว่าประเทศไทยควรจะจัดการกับปัญหาทรัพยากรแร่กันอย่างไร

 

10313551_612419088847077_3544163522091132083_n

 

+ ประทานบัตรนี้ได้แต่ใดมา

จากการติดตามศึกษาข้อมูลและเอกสารราชการเกี่ยวกับการออกประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา พบข้อสังเกตหลายประการที่แตกต่างไปจากขั้นตอนปกติของการทำเหมือง ซึ่งขั้นตอนทั่วไปต้องเริ่มต้นจากการขออนุญาตสำรวจแร่ จากนั้นจึงจะขอประทานบัตร แต่เหมืองแร่ของบริษัท ทุ่งคำ มีขั้นตอนพิเศษต่างกับการขออนุญาตทำเหมืองของเอกชนรายอื่นๆ

“กรณีบริษัท ทุ่งคำ จะมีลักษณะพิเศษกว่านั้นคือ มีการทำสัญญาครอบลงไปอีกชั้น โดยให้ทั้งสิทธิในการสำรวจและทำเหมืองแร่บนพื้นที่กว่า 300,00 ไร่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะให้สิทธิในการทำเหมืองแร่ทองคำเท่านั้น สัญญาฉบับนี้ยังให้สิทธิในการทำเหมืองแร่ชนิดอื่นๆ ด้วย หากมีการสำรวจพบในภายหลัง” เลิศศักดิ์ระบุ

ภายหลังสำรวจแร่ทองคำแล้ว บริษัท ทุ่งคำ ได้มีการสรุปพื้นที่เป้าหมายและขอประทานบัตรจำนวน 110 แปลง หรือประมาณกว่า 30,000 ไร่ แต่หากวันใดวันหนึ่งมีการสำรวจพบแร่อื่นๆ ทุ่งคำก็ยังมีสิทธิในพื้นที่ทั้ง 300,000 ไร่

“สาระสำคัญของสัญญาฉบับดังกล่าวคือ เป็นสัญญาที่มีลักษณะอมตะนิรันดร์กาล หาจุดสิ้นสุดไม่ได้ว่าจะหมดอายุเมื่อใด และประเด็นสำคัญคือประทานบัตรนี้ออกโดยมติ ครม. (วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530) ไม่ได้ออกภายใต้ พ.ร.บ.แร่ และมีการเสนอผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐในการถือหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท ทุ่งคำ และผลประโยชน์อื่นๆ นอกเหนือจากการสำรวจและทำเหมือง”

สำหรับแนวทางการต่อสู้คัดค้านของภาคประชาชน เลิศศักดิ์ระบุว่า สิ่งที่ต้องศึกษาต่อไปก็คือ จะปลดสัญญาฉบับนี้ออกไปได้อย่างไร ภาคประชาชนจะพึ่งกลไกศาลปกครองในการยับยั้งโครงการได้หรือไม่ นอกจากนี้จะต้องมีการสำรวจให้แน่ชัดด้วยว่า บนพื้นที่กว่า 300,000 ไร่นั้น คาบเกี่ยวพื้นที่ป่าต้นน้ำหรือแหล่งน้ำซับซึมหรือไม่ จำนวนพื้นที่เท่าใด

 

+ กพร.แจงสัมปทานแร่ รัฐได้ประโยชน์

หลังมีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานของบริษัท ทุ่งคำ ชาติ หงส์เทียมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ชี้แจงว่า การให้สัมปทานเหมืองแร่แก่บริษัท ทุ่งคำ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น (ราวปี 2530 สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) ที่เร่งรัดให้มีการสำรวจและพัฒนาเหมืองแร่ทองคำ โดยภาครัฐได้เข้าไปสำรวจพื้นที่หลายแหล่งทั่วประเทศ พบพื้นที่ที่มีศักยภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะ จ.เลย รัฐจึงมีมติ ครม.ให้เปิดประมูลพื้นที่ มิใช่ให้สัมปทานแก่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง เจตนารมณ์ของการเปิดประมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อรัฐสูงสุด หากใครให้ผลประโยชน์ต่อรัฐสูงสุด บริษัทนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะชนะการประมูล

ผู้อำนวยการสำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ภายใต้กรอบสัญญามีข้อกำหนดที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งว่า การดำเนินการใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจ การทำเหมือง และการดำเนินการต่างๆ จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ รวมถึงกฎอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาด้วย

ชาติชี้แจงเพิ่มว่า กรณีการเปิดสัมปทานเหมืองแร่ที่ อ.วังสะพุง เป็นของทุ่งคำประมาณ 300,000 ไร่ โดยมีเงื่อนไขคือให้สำรวจได้เต็มพื้นที่ภายใน 3-5 ปีตามกฎหมายว่าด้วยแร่ เมื่อสำรวจเสร็จแล้วพื้นที่ใดที่เห็นว่ามีศักยภาพในการทำเหมืองแร่ ไม่ว่าจะเป็นทองคำหรือแร่อะไรก็ตาม ให้ยื่นขอประทานบัตรก่อนที่อาชญาบัตรพิเศษ (ใบอนุญาตสำรวจแร่) จะสิ้นอายุ ซึ่งบริษัท ทุ่งคำ ได้ขอประทานบัตรแร่ทองคำจำนวน 110 แปลง เนื้อที่ประมาณ 30,000 ไร่

“เมื่อยื่นคำขอประทานบัตรแล้ว พื้นที่ที่เหลืออีก 270,000 ไร่ บริษัท ทุ่งคำ จะไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆ ได้ ฉะนั้น การที่บอกว่าสัญญาสัมปทานครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 300,000 ไร่ชั่วนิรันดร์ จึงเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะสิทธิของทุ่งคำจะคงอยู่เฉพาะพื้นที่ 30,000 ไร่ตามที่ยื่นคำขอเท่านั้น”

 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

ชาติอธิบายอีกว่า หลังทุ่งคำได้ประทานบัตรแล้ว ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายแร่ทุกประการ ในสัญญาสัมปทานยังกำหนดด้วยว่า บริษัทต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐนอกเหนือจากค่าภาคหลวงแร่ นั่นคือที่มาของการเสนอหุ้นให้รัฐบาล 10 เปอร์เซ็นต์

“ขอยืนยันว่า หากเมื่อใดก็ตามที่บริษัท ทุ่งคำ ขาดคุณสมบัติ ไม่ดำเนินการตามกฎหมายแร่ สัญญาสัมปทานต่างๆ ก็สามารถเพิกถอนได้ ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการเหมือนเหมืองแร่อื่นทุกประการ ส่วนเรื่องผลกระทบด้านต่างๆ ยืนยันว่าต้องมีการศึกษาและดำเนินการตามขั้นตอน โดยเฉพาะการศึกษาการแพร่กระจายของมลพิษซึ่งผ่านการรับรองแล้วจากนักวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

อย่างไรก็ตาม ในวงเสวนามีผู้โยนคำถามขึ้นมาว่า ที่ผ่านมารัฐไทยได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นจำนวนเท่าใด และคุ้มค่ากับการเปิดสัมปทานจริงหรือไม่ เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชน

ในประเด็นนี้ จารุกิตติ์ เกษแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่เหมืองแร่ อ.วังสะพุง ชี้แจงว่า จากการเก็บค่าภาคหลวงตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ทางบริษัทได้จัดสรรผลประโยชน์แก่ภาครัฐราว 350 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีการจัดสรรให้ อบต.เขาหลวง ราว 70 ล้านบาท

“ผลพลอยได้อีกด้านหนึ่งคือ เกิดการจ้างงานกว่า 300 คน ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ภาครัฐได้จัดหางานให้แก่ประชาชน และเป็นหน้าที่ของ กพร.ในการนำทรัพยากรแร่มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ”

 

+ หวั่นเจรจาไกล่เกลี่ย เอื้อประโยชน์เอกชน

ด้านเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า คำชี้แจงของ กพร.ฟังดูดี แต่จะเชื่อถือได้หรือไม่นั้นต้องพิสูจน์กันด้วยเอกสารหลักฐาน

เลิศศักดิ์เล่าว่า ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ชายชุดดำบุกทำร้ายประชาชนในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 พบว่าทางบริษัท ทุ่งคำ ได้มีการขอประทานบัตรเพิ่มเติมเมื่อกลางปี 2556

ปัจจุบันทุ่งคำได้ขอประทานบัตรจำนวน 110 แปลง และได้ทำเหมืองไปแล้ว 6 แปลง หรือประมาณ 1,300 ไร่ ในบริเวณที่เรียกว่าเหมืองภูทับฟ้า ภูซำป่าบอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านออกมารวมตัวคัดค้าน ทั้งนี้ บริเวณดังกล่าวมิได้มีแค่เหมืองแร่เท่านั้น แต่ยังมีโรงแต่งแร่ โรงถลุงแร่ หรือโรงประกอบโลหะกรรม ฉะนั้น สิ่งที่น่ากังวลก็คือ พื้นที่อีกกว่า 100 แปลงที่เหลือ หากขอประทานบัตรสำเร็จจะต้องมีการลำเลียงแร่ทั้งหมดมาประกอบโลหะกรรมที่วังสะพุง จุดนี้จึงเป็นจุดวิกฤติที่สุด

“มีข้อสังเกตว่า ในช่วงที่มีการขอประทานบัตรแปลงใหม่ที่ภูเหล็ก มีการตรวจเลือดของชาวบ้านพบการปนเปื้อนของสารไซยาไนด์ ปรอท และตะกั่ว มติ ครม.เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 จึงสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่หรือการขอประทานบัตรของบริษัท ทุ่งคำ บริเวณแปลงภูเหล็ก จนกว่าจะได้ข้อสรุปถึงสาเหตุของการปนเปื้อน

“พร้อมกันนี้ ครม.ยังมีมติให้จัดทำผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่ กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบสารพิษปนเปื้อน เนื่องจากพบว่ามีปริมาณสารปรอทปริมาณสูงมากเมื่อเทียบกับหมู่บ้านอื่น ซึ่งมติ ครม.ครั้งนี้ส่งผลให้บริษัท ทุ่งคำ ไม่สามารถขอประทานบัตรแปลงอื่นๆ ต่อไปได้” เลิศศักดิ์ระบุ

ต่อมาสถานการณ์ได้พลิกกลับอีกครั้งภายหลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 มีการรายงานผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำผิวดิน น้ำบาดาล ในพื้นที่เหมืองภูทับฟ้า ภูซำป่าบอน พบว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน จึงเป็นเหตุให้ทุ่งคำสามารถขอประทานบัตรแปลงอื่นๆ ต่อไปได้

นอกจากนี้ ในการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรยังมีการระบุว่า พื้นที่ภูเหล็กไม่ใช่พื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมีการทำ EIA HIA ตามมาทีหลัง

“การไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรมีสาระสำคัญอันเป็นเท็จว่าพื้นที่ตรงนั้นไม่ใช่ป่าต้นน้ำ นำมาซึ่งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีกมาตรฐานหนึ่งเพื่อให้กระบวนการผ่านไปได้ จุดนี้ทำให้ชาวบ้านเห็นว่า ในเมื่อขั้นตอนไม่มีความโปร่งใส แล้วจะเชื่อใจได้อย่างไรกับการขอประทานบัตรแปลงอื่นๆ ที่เหลือ และกลายเป็นความขัดแย้งที่สั่งสมเรื่อยมาตั้งแต่กลางปี 2556 จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์บุกทำร้ายชาวบ้าน”

อย่างไรก็ตาม เลิศศักดิ์ให้ความเห็นว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงหลังจากนี้คือ สถานการณ์หลังเกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการส่งกองกำลังทหารมาเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างฝ่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบกับฝ่ายนายทุนเหมือง ซึ่งมีข้อกังวลว่าการเจรจาไกล่เกลี่ยนั้นอาจนำไปสู่การเปิดเส้นทางให้มีการขนแร่ต่อไปได้ เหตุเพราะสืบทราบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ลอบทำร้ายประชาชนยามวิกาล คือนายนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งในและนอกราชการเป็นผู้บงการ

 

10464009_631405753615077_7583012377626864925_n

 

+ ต้นตอความขัดแย้ง

แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะที่ปรึกษาคดีความต่างๆ ของชาวบ้านที่ถูกลิดรอนสิทธิ์ในหลายกรณี พบว่า ในจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากเหมืองแร่ไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่เฉพาะเหมืองทองคำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เหมืองหิน และเหมืองแร่ชนิดอื่นๆ

แสงชัยระบุว่า ความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลพวงจากโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งสวนทางกับวิถีชีวิตชาวบ้านที่ยังต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีแบบดั้งเดิม จนกระทั่งถูกรุกรานมากขึ้นเรื่อยๆ

“จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจกล่าวได้ว่ามันเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เรื่อยมาจนปัจจุบัน”

แสงชัยกล่าวว่า ประเด็นความขัดแย้งอีกส่วนหนึ่งยังเกิดจากความลักลั่นระหว่างข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมาย ทำให้โครงการพัฒนาของภาครัฐเกิดปัญหากับชาวบ้านมาโดยตลอด เพราะแทบทุกโครงการที่ผ่านการขออนุญาตจากรัฐล้วนให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือมีการบิดเบือนข้อมูลจนคลาดเคลื่อนในทุกกระบวนการ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จนถึงการยื่นขอใบอนุญาต

“ในรายงานการสำรวจหรือการอนุมัติโครงการต่างๆ มักพบเสมอว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จากประสบการณ์การตรวจสอบของอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน บอกได้เลยว่าผลการตรวจสอบเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ของทุกโครงการที่ชาวบ้านร้องเรียนเข้ามา พบว่ามีรายงานที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ยิ่งกว่านั้นหน่วยงานรัฐเองยังไม่สามารถให้การรับรองได้ว่า กระบวนการผลิตต่างๆ ของเหมืองแร่จะปลดปล่อยสารพิษอันตรายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมหรือไม่เพียงใด”

 

10300268_619818408107145_3257145059508916014_n

 

+ ประชาพิจารณ์จัดฉาก

แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 จะกำหนดไว้ชัดเจนว่า โครงการใดๆ ก็ตามที่มีผลกระทบต่อประชาชนย่อมไม่สามารถทำได้หากไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อน แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ทุกวันนี้หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

“เราพบว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่หน่วยงานรัฐดำเนินการนั้นเป็นเพียงแค่รูปแบบผิวเผิน แต่ไม่มีสาระของการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น การอ้างว่าโครงการนี้ดีเพราะทำให้เกิดการจ้างงาน แต่ข้อมูลรายละเอียดโครงการกลับไม่มีการเปิดเผย ฉะนั้นจะเรียกว่าเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นโดยชอบได้อย่างไร และที่สำคัญกระบวนการแปลกประหลาดเช่นนี้เองที่เป็นต้นตอของการออกใบอนุญาตจากรัฐแทบทุกกรณี

“พูดง่ายๆ ว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นเพียงแค่พิธีกรรมเพื่อออกใบอนุญาตของหน่วยงานราชการ ซ้ำร้ายกว่านั้นหลายโครงการยังไม่มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นด้วยซ้ำไป” แสงชัยกล่าว

ฉะนั้น ความอ่อนแอของรัฐไทยในการจัดการทรัพยากรแร่คือ การขาดกระบวนการตรวจสอบการพิจารณาออกใบอนุญาตที่บกพร่องของหน่วยราชการ ซึ่งหากมีกลไกการตรวจสอบที่ดีพอก็อาจช่วยป้องกันปัญหาไม่ให้ลุกลามหรือส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวบ้านได้

“สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ เรามีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้นเพียงพอแล้วหรือไม่ เพราะทุกครั้งที่เราได้เชิญหน่วยงานราชการต่างๆ มาชี้แจง คำตอบที่มักได้รับอยู่เสมอก็คือ เจ้าหน้าที่มีน้อยและงบประมาณมีจำกัด ดังนั้น กระบวนการตรวจสอบจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการสุ่ม เช่น 1 ปีจึงจะออกไปตรวจเหมือง 1 ครั้ง และสุดท้ายผลการตรวจสอบก็จะสรุปออกมาว่า ค่ามลภาวะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกประหลาดใจมากว่า เมืองไทยเรานั้นมีผู้เสียชีวิตจากมลภาวะที่ไม่เกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด”

 

10411849_628035713952081_558069121428394323_n

 

+ สิทธิชุมชนที่หายไป

อุปสรรคสำคัญอีกด้านหนึ่ง แสงชัยพบว่า เมื่อชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาของรัฐแล้วก็เป็นเรื่องยากลำบากในการที่ชาวบ้านจะลุกขึ้นมาฟ้องร้องดำเนินคดี และหากร้องเรียนไปก็มักจะได้รับคำตอบกลับมาว่า ต้องไปหาข้อพิสูจน์ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า โครงการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดมลพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ชาวบ้านจะมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจพิสูจน์ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดทางด้านต้นทุน

แสงชัยมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ทำให้สังคมต้องย้อนกลับมาคิดว่า แท้จริงแล้วต้นตอของปัญหาเกิดจากอะไร และเหตุใดจึงเกิดปัญหาเหมืองกันทั้งประเทศ

“เบื้องต้นผมคิดว่าต้นตอประการแรกมาจากจุดมุ่งหมายที่ขัดแย้งกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่มุ่งแต่จะพัฒนา กับชาวบ้านที่ยังต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต เมื่อเป้าหมายหน่วยงานของรัฐมุ่งสู่ทิศทางเช่นนี้แล้ว รัฐจึงต้องหาวิธีการขจัดอุปสรรคต่างๆ กระทั่งท้ายที่สุดแล้วสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชาวบ้านจึงถูกลิดรอนไป”

ข้อสรุปทิ้งท้ายของแสงชัยชวนให้ความหวังไว้ว่า หนทางคลี่คลายปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ หากรัฐปรับเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ว่า รัฐมิใช่ผู้มีอำนาจสูงสุดในการจัดสรรทรัพยากร หากแต่ต้องรับฟังเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะประชาชนคือเจ้าของทรัพยากรตัวจริง

****************************************************

(ที่มาภาพ: facebook.com/loeiminingtown)

 

logo

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า