เบื้องหลังการส่งออกความรุนแรง เมื่อไทย ‘ยืนหนึ่ง’ นำเข้าอาวุธปืนติดอันดับ 1 ของโลก

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ได้รายงานตัวเลขว่า ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ไทยนำเข้าอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติจากสหรัฐอเมริกามากเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยจำนวนมากกว่า 795,000 กระบอก จากจำนวนการส่งออกอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติของสหรัฐทั้งสิ้น 3.7 ล้านกระบอก โดยมีฐานข้อมูลมาจากสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐและสำนักงานสถิติแคนาดา 

ยอดส่งออกมหาศาลนี้มีนัยสำคัญที่สัมพันธ์กับจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรง หรือเหตุการณ์นองเลือดสะเทือนขวัญโดยการใช้อาวุธปืนในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา และการก่อเหตุทั้งหมดล้วนเป็นการก่อเหตุโดย ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ และเป็นอาวุธปืน ‘สวัสดิการ’ แทบทั้งสิ้น 

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยอื่นเพื่ออธิบายเหตุการณ์สะเทือนขวัญเหล่านี้ ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในระบบราชการของกองทัพและตำรวจ รวมไปถึงประเด็นปัญหาสุขภาพจิตของข้าราชการทหารตำรวจชั้นผู้น้อย เช่น การทุจริตเงินกู้สวัสดิการบ้านพักของผู้บังคับบัญชา ทำให้จ่าสิบเอกได้ก่อเหตุกราดยิงและจับตัวประกันจำนวนมากที่ห้างเทอร์มินัล 21 (Terminal 21) เมืองโคราช หรือกรณีอดีตตำรวจที่ถูกไล่ออกจากราชการเพราะมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด นำไปสู่เหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่จังหวัดหนองบัวลำภู ทำให้มีผู้เสียชีวิต 36 ราย ในจำนวนนี้มี 23 ราย เป็นเด็กเล็ก กลายเป็นข่าวสะเทือนขวัญไปทั่วโลก

พาณิชย์สหรัฐเบื้องหลังการส่งออกอาวุธปืนและความรุนแรงไปทั่วโลก

จากเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สิบตำรวจเอกปัญญา คำราบ ผู้ก่อเหตุใช้อาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติขนาด 9 มม. ยี่ห้อซิก ซาวเออร์ รุ่นพี 365 (Sig Sauer P365) บรรจุ 12+1 นัด อาวุธปืนรุ่นนี้เดินทางไกล 12,875 กิโลเมตร จากรัฐนิวแฮมป์เชียร์ (New Hampshire) ชายฝั่งทางตะวันออกของสหรัฐมายังจังหวัดหนองบัวลำภู โดยปืนรุ่นนี้เป็นปืนที่ได้รับความนิยมเนื่องจากมีขนาดกระทัดรัด ปกปิดการพกพาได้ง่าย

เบื้องหลังการเดินทางของอาวุธปืนเหล่านี้ ล้วนมาจากแรงผลักดันของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่สนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมอาวุธภายในประเทศ ขณะเดียวกัน เหตุการณ์กราดยิงและการก่ออาชญากรรมในสหรัฐก็เพิ่มขึ้นสูงมากอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้การส่งเสริมการส่งออกอาวุธปืนก็ถือเป็น ‘การส่งออกความรุนแรง’ ไปยังต่างประเทศอีกด้วย เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐได้ช่วยผู้ผลิตในการหาลูกค้าในต่างประเทศ จัดงานแสดงสินค้างานหลักที่เมืองลาส เวกัส (Las Vegas) รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางการหาลูกค้าออนไลน์ให้กับผู้ผลิตอีกด้วย จนทำให้ตัวเลขการส่งออกปืนกึ่งอัตโนมัติมีปริมาณทั้งหมด 3.7 ล้านกระบอก เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากเมื่อ 6 ปีก่อน

เบื้องหลัง Sig Sauer เบอร์หนึ่งการส่งออก ถึงมือผู้ก่อเหตุด้วย ‘ปืนสวัสดิการ’ ในไทย 

บริษัท ซิก ซาวเออร์ ถือเป็นบริษัทผลิตอาวุธปืนขนาดใหญ่รายหนึ่งของโลก ที่ป้อนอาวุธและยุทธภัณฑ์ให้กับกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคงทั่วโลก ซึ่งได้รับประโยชน์จากนโยบายส่งออกอาวุธปืนจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ 

แม้ว่า ซิก ซาวเออร์ จะถือกำเนิดขึ้นในเยอรมนี แต่ด้วยตลาดของสหภาพยุโรป (EU) ที่เล็กกว่าตลาดของสหรัฐทำให้บริษัทต้องปิดสายพานการผลิตในเยอรมนีไปในปี 2020 และหันไปดำเนินการผลิตในสหรัฐแทน โดยมุ่งเน้นการผลิตอาวุธปืนราคาถูกและผลิตเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการผลิตอาวุธปืนที่มีคุณภาพสูงอีกด้วย

การเติบโตของปืนซิก ซาวเออร์ อย่างก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งมาจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) นับตั้งแต่เขาเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน และภายใต้การบริหารงานของทรัมป์ (2017-2021) กฎระเบียบจำนวนมากในการส่งออกอาวุธได้รับการแก้ไขเพื่อให้ง่ายต่อการส่งออกมากขึ้น เช่น การควบคุมการส่งออกอาวุธปืนสั้นภายใต้การดูแลของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐที่ถูกส่งมอบอำนาจไปยังกระทรวงพาณิชย์แทน

ส่วนในประเทศไทย จำนวนการนำเข้าอาวุธปืนก็เพิ่มขึ้นมหาศาลในรอบ 6 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน ซึ่งเป็นช่วงของรัฐบาลชุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และจากตัวเลขของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ‘โครงการปืนสวัสดิการ’ ก่อให้เกิดการทุจริตลักลอบนำเข้า และกระตุ้นการก่ออาชญากรรมด้วยอาวุธปืนในไทย และการก่อเหตุจำนวนมากยังพบว่า ผู้ต้องหาหรือคนร้ายใช้อาวุธปืนซิก ซาวเออร์ ที่ได้รับจากโครงการปืนสวัสดิการในหลายกรณี นอกเหนือจากการกราดยิงที่ศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภู เช่น แก๊งค้ายาเสพติดยิงถล่มในภูเก็ตในปี 2565 กรณีนายตำรวจสังหารครอบตัวตนเอง กรณีนักเรียนเตรียมทหารยิงแฟนสาวอินฟลูเอนเซอร์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยี่ห้อเดียวกัน และซื้อขายจากโครงการปืนสวัสดิการ 

ปืนสวัสดิการ ‘หลุมอุกกาบาต’ ทางกฎหมายไทย

ช่องว่างทางกฎหมายของ ‘ปืนสวัสดิการ’ ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย เป้าหมายของโครงนี้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้ตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงสามารถซื้ออาวุธปืนได้ในราคาถูกกว่าในท้องตลาดทั่วไป โดยทางการจะมีการเจรจาต่อรองกับบริษัทผู้ผลิตโดยตรง เพื่อให้ได้ในราคาที่ถูกกว่าและเป็นจำนวนมาก

ขณะที่อาวุธปืนของทางราชการ หรือ ‘ปืนหลวง’ มักผ่านอายุการใช้งานมานาน ทำให้ข้าราชการตำรวจและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงรู้สึกไม่มั่นใจเวลาใช้งาน เมื่อภัยมาถึงอาวุธปืนบุโรทั่งเหล่านั้นอาจนำพาความตายมาสู่ตัวผู้บังคับใช้กฎหมายเอง แทนที่จะเป็นผู้ก่อเหตุ โครงการปืนสวัสดิการจึงเข้ามาปิดช่องว่างปืนหลวงแทน 

อย่างไรก็ตาม โครงการปืนสวัสดิการมีช่องโหว่ขนาดใหญ่ที่ทำให้ปืนหลุดออกจากระบบราชการไปยังพลเรือนหรือวงจรอาชญากรรม เนื่องจากผู้ซื้ออาวุธปืนสวัสดิการนำอาวุธปืนไปขายต่อให้กับเพื่อนหรือตลาดมืดเพื่อการเก็งกำไร โดยหลายปีก่อนหน้า จำนวนปืนสวัสดิการมีปริมาณหลักพัน และมีการนำไปขายต่อในจำนวนไม่มากนัก 

ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 ขณะที่โอกาสในการสร้างประชาธิปไตยของคนไทยริบหรี่ แต่กลับเป็นโอกาสทางการค้าของซิก ซาวเออร์ ภายใต้สัมพันธ์ที่แนบแน่นของกลุ่มทุนอาวุธปืนไทย ซิก ซาวเออร์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งยังสอดรับกับจำนวนงบประมาณที่เพิ่มขึ้นภายหลังรัฐประหารด้วย ทำให้การผลักดันโครงการปืนสวัสดิการนับตั้งแต่ปี 2558 เพิ่มขึ้นและมีมูลค่ามากกว่า 3,500 ล้านบาท พร้อมๆ กับที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้นำเข้าปืนซิก ซาวเออร์ รุ่น พี 320 ล็อตใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีคือ 150,000 กระบอก ในราคาตํ่ากว่าท้องตลาด และในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐก็ได้ผ่อนปรนกฎระเบียบการส่งออกอาวุธปืนพก ทั้งยังมีการให้สิทธิเจ้าหน้าภาครัฐในหลายองค์กร ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด รวมทั้ง ‘อาสาสมัครตำรวจ’ ที่สามารถเข้าถึงปืนสวัสดิการได้อย่างง่ายดายอีกด้วย 

การเข้าถึงอาวุธปืนสวัสดิการโดยผิดวัตถุประสงค์ เกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย การถือครองอาวุธปืนที่อ่อนแอ เกิดช่องโหว่ขนาดใหญ่ที่ส่งผลให้ปืนเหล่านี้หลุดออกไปยังวงจรอาชญากรรม โดยล่าสุดผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุของ ‘หน่อง ท่าผา’ มือขวา ‘กำนันนก’ คือปืนสวัสดิการของกรมการปกครองรุ่นแรกคือ ปืนนอริงโก้ 213 (Norinco 213) ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ผลิตขึ้นในจีน จากการเลียนแบบปืนพกโตกาเรฟ (Tokarev: TT-33) ของสหภาพโซเวียต 

คำถามคือ คนเหล่านี้ได้ปืนสวัสดิการมาอย่างไร และหน่วยงานด้านความมั่นคงอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีข้อมูลอาวุธปืนสวัสดิการจากการขึ้นทะเบียน จะสามารถแก้ปัญหาสิทธิการถือครองอาวุธอย่างไรในอนาคต

อ้างอิง:

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า