เมื่อคิดถึงความสุข คุณคิดถึงอะไร?
สมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุด?
ตั๋วคอนเสิร์ตของวงดนตรีที่รอคอย?
อาหารดินเนอร์หรูๆ สักมื้อ?
คำตอบจากใครบางคนที่พิมพ์กลับมาว่า “เหมือนกัน”
?
??
???
ความสุขมีหลากหลายนิยาม สุดแล้วแต่ความรู้สึกนึกคิดในโมงยามนั้น แต่สำหรับคนพังงา – กล่าวให้จำเพาะเจาะจงลงมาอีกนิด – โดยเฉพาะคนบนเกาะยาวน้อย ความสุขคือการได้เฝ้ามองธรรมชาติบนเกาะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ
ความสุขคือการที่ผู้คนบนเกาะได้เรียนรู้ที่จะจัดการต่อรองกับทั้งนายทุนที่มาจากภายนอก และข้าราชการที่ปากบอกทำเพื่อประชาชนแต่ไม่เคยถามสักคำว่าสิ่งที่ชาวเกาะยาวน้อยต้องการ
จริงๆ แล้วคือสิ่งใด?
พังงาแห่งความสุข
ลมแรงพัดปะทะใบหน้า ละอองฝอยของมหาสมุทรพัดกระจายแล้วระเหยหายไปในฟองคลื่นสีขาวทิ้งแผ่นดินภูเก็ตไว้เบื้องหลัง เมื่อชาวคณะที่ประกอบไปด้วยนักวิชาการ นักวิจัย ตัวแทนจากพื้นที่ต่างๆ ที่ทำงานขับเคลื่อนด้านประชาสังคม ตลอดจนที่ปรึกษา และตัวแทนของ สสส. รวมไปถึงคณะสื่อมวลชนก้าวขึ้นจากเรือเร็ว รถสองแถวจากกลุ่มที่มีชื่อของคนขับสกรีนไว้บนประตูทั้งสองฝั่งก็มาจอดรอพร้อมต้อนพวกเราขึ้นไปบนรถเพื่อมุ่งหน้าสู่ที่พักและเข้าร่วมรับฟังที่มาที่ไปของ ‘โครงการผู้นำแห่งอนาคต’ ภายใต้การทำงานและขับเคลื่อนระหว่างชาวบ้านและนักวิจัย โดยมี รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี หัวหน้าชุดโครงการเป็นคนกล่าวในบรรยากาศริมทะเล
โครงการผู้นำแห่งอนาคตจัดขึ้นเป็นปีที่สี่ ภายใต้การดำเนินงานของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งพบว่าการขับเคลื่อนสังคมหรือองค์กรยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการเข้าถึงเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อสื่อสารความเข้าใจสังคม การคิดเชิงออกแบบ
สี่พื้นที่ในโครงการประกอบไปด้วย ขอนแก่นนิวสปิริต จังหวัดขอนแก่น, มูลนิธิบ้านครูน้ำ จังหวัดเชียงราย, สถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนา จังหวัดพัทลุง และ สมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข จังหวัดพังงา
ทว่าเหตุผลที่ต้องเป็นพังงา รศ.อนุชาติกล่าวว่า “พังงาเป็นจังหวัดที่น่าสนใจในนัยที่ว่า ถ้าดูจากประวัติศาสตร์เกือบจะเป็นชุมชนที่ล่มสลายหลังจากสึนามิ แต่เขาก็ฟื้นวิกฤติมาเป็นโอกาส จนกระทั่งสามารถทำงานขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงในระดับจังหวัดทั้งจังหวัด แล้วประกาศวาระแห่งพังงาเป็นพังงาแห่งความสุข”
ตลอดหกเดือนของการทำงานจากทั้งสี่พื้นที่ภายใต้โจทย์ข้อจำกัด โครงการผู้นำแห่งอนาคตนำเครื่องไม้เครื่องมือลงพื้นที่ไปเก็บบทเรียนจากชาวบ้านนำมาเป็นโมเดลการเรียนรู้สามประการ ได้แก่
- การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเครื่องมือสนับสนุนความยั่งยืนการขับเคลื่อนทางสังคม
- โค้ชติดตามการทำงานของพื้นที่ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ มีทักษะการใช้เครื่องมือทางสังคมจากภาคเอกชน มาให้คำปรึกษาและออกแบบการทำงาน
- เสริมศักยภาพด้านการสื่อสาร
ยาวน้อยโมเดล
หนึ่งในโครงการสำคัญของการทำงานพื้นที่บนเกาะยาวน้อย ภายใต้ภาพใหญ่ของความเป็นพังงาแห่งความสุข คือโครงการโรงกำจัดและคัดแยกขยะที่เกิดขึ้นทั้งจากผู้คนบนเกาะ นักท่องเที่ยว และรีสอร์ท โรงแรมต่างๆ ที่ข้ามมหาสมุทรมาเพื่อนำเม็ดเงินมาลงทุน แต่กลับทิ้งปริมาณการจัดการไว้กับผู้คนบนเกาะยาวน้อย จน บัญญัติ ศรีสมุทร กำนันตำบลเกาะยาวน้อย ในฐานะชาวเกาะยาวน้อยมาตั้งแต่กำเนิดมองเห็นว่าปัญหาเช่นนี้ไม่ได้หายไปเหมือนคลื่นที่พัดพาออกไปจากเกาะ เพราะที่สุดแล้ว คลื่นก็จะนำพาทุกสิ่งกลับมา ทั้งปัญหา และขยะ
หากต้องการให้สภาพบนเกาะยาว ทั้งยาวน้อยและยาวใหญ่ ยังสวยงามอยู่ต่อไป ต้องทำอะไรสักอย่าง
ภายใต้ความคิดนั้น โครงการ ‘เกาะยาวน้อยโมเดล’ จึงเกิดขึ้นภายใต้หลักการง่ายๆ คือการเปลี่ยนของเสียให้กลับมาเป็นพลังงาน โดยมีระบบการทำงานง่ายๆ สี่ระบบ ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัยสุรนารี ประกอบไปด้วย
- ระบบบำบัดขยะด้วยวิธีทางกลและชีวภาพ ที่จะคัดแยกขยะจำพวกพลาสติกและโลหะออกจากกัน
- ระบบผลิตเชื้อเพลิงขยะ เป็นการนำขยะที่ผ่านการคัดแยกแล้วมาย่อยสลายเพื่อเตรียมนำไปสู่ขั้นตอนที่สาม
- ระบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ที่จะนำไปขายต่อให้กับเกษตรกรสวนยางและไร่นา
- ระบบแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันดิบและน้ำมันดีเซล
ทั้งสี่ระบบของโรงงานคัดแยกขยะนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่บนเนินเขาของเกาะยาวน้อย ค่อนข้างห่างไกลจากชุมชน และแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้สะดวกต่อการทดลองนำปุ๋ยที่ได้จากการคัดแยกมาใส่ลงในต้นยางในโครงการกับสวนยางของเกษตรกรนอกโครงการ และทำการสังเกตใบยางที่แตกต่างกันระหว่างสองฟากฝั่งสวนยาง
ทุกวันนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวที่รับผิดชอบโรงคัดแยกขยะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการต่อเดือนราว 150,0000 บาท ขณะที่การคัดแยกขยะเพื่อนำมาเป็นปุ๋ยและน้ำมันดีเซลเพื่อขายคืนสู่ชุมชนยังขาดทุนอยู่ หากแต่ส่วนต่างที่ว่านั้น เมื่อมองในแง่ที่ชุมชนเกาะยาวน้อยไม่ต้องเสียเงิน 150,000 บาทเพื่อจัดการขยะโดยไม่ได้อะไรกลับมาเลยยังนับว่าคุ้ม
ดังนั้น โรงคัดแยกขยะจึงทำงานอยู่อย่างต่อเนื่องต่อไปตราบที่ผู้คนจากภายนอกเกาะยาวน้อยยังหลั่งไหลเข้ามาแต่ละวัน
ความสุขของ ‘กำนัล’ บัญญัติ ศรีสมุทร
“ในฐานะคนเกาะยาว กำนันมองสิ่งต่างๆ เหล่านี้เหมือนเป็นผู้รุกรานที่ต้องต่อต้านไหม?”
บัญญัติเหม่อมองออกไปยังทะเลอยู่ครู่ ก่อนจะเอ่ยตอบว่าตนไม่ได้มองไปถึงขั้นต่อต้าน แต่อยากให้ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปมากกว่า ก่อนกำนันเกาะยาวจะเอ่ยต่อว่านับตั้งแต่ที่เริ่มมีการเข้ามาของนักลงทุนราวทศวรรษ 2530 เกาะยาวที่ประกอบไปด้วยยาวน้อยและยาวใหญ่ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตลอดมา
นอกจากปัญหาขยะแล้ว สิ่งที่บัญญัติมองว่าจะนำมาซึ่งปัญหาต่อเนื่องกระทบไปถึงวิถีชีวิตและปากท้องของคนบนเกาะ ก็คือเรื่องแรงงาน และเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม เนื่องจาก 99 เปอร์เซ็นต์บนเกาะยาวทั้งสองเกาะเป็นพี่น้องมุสลิม แต่การเข้ามาถึงของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนมากเป็นชนชาวตะวันตก…
คำถามคือจะทำอย่างไรให้รีสอร์ทและโรงแรมต่างๆ ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการคงอยู่ของวิถีชีวิตได้
คำตอบนั้นคือการจัดสรรปันส่วนระหว่างเม็ดเงินที่เจ้าของโรงแรมและรีสอร์ทจะได้รับจากค่าที่พักและบริการต่างๆ ขณะที่เมนูอาหารพื้นเมือง กระทั่งเมนูอาหารสากลจะถูกปรุงโดยฝีมือของแม่ครัว ซึ่งมาจากแม่บ้านบนเกาะเพื่อที่ชาวบ้านก็จะได้เงิน นักลงทุนก็จะได้ด้วยในแง่ของรสอาหารที่แปลกลิ้นเพื่อเสิร์ฟให้แขกที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวตะวันตก
ไม่เพียงแต่เรื่องอาหารและแรงงานอันเป็นสัดส่วนที่จำเป็นต้องให้คนท้องถิ่นมากกว่าคนนอกแล้ว ข้อตกลงอีกส่วนยังครอบคลุมไปถึงเรื่องบริการด้านการขนส่งจากท่าเรือหลักๆ บนเกาะทั้งสามท่าจากสามจังหวัด คือท่าเรือมาเนาะที่รองรับนักท่องเที่ยวจากภูเก็ต ท่าเรือประดู่ที่รองรับนักท่องเที่ยวจากพังงา และท่าเรือท่าเขาที่รองรับนักท่องเที่ยวจากกระบี่
ท่าเรือทั้งสามมีบริการรถสองแถวคอยนำส่งนักท่องเที่ยวรับไม้ต่อจากบริการเรือเร็วและเรือหางยาวอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเร็วๆ นี้ได้เกิดปัญหาที่กำนันบอกเล่าว่าเป็นความต้องการของภาครัฐในระดับตำบล ที่ต้องการเพิ่มบริการเรือเฟอร์รี่ที่จะขนถ่ายรถโดยสารส่วนบุคคลเข้ามายังเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่
เป็นการความเพิ่มความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวที่อาจจะนำมาซึ่งความสูญเสียต่อปากท้องของผู้คนบนเกาะยาวทั้งสองเกาะ
“ปัญหาเรือเฟอร์รี่มันเกิดขึ้นเพราะเรามองว่าไม่อยากให้รถขนาดใหญ่ลงมาบนเกาะ เพราะที่นี่ (เกาะยาวน้อย) ถนนมันแคบ เกาะก็เล็ก ถ้ามีรถเยอะเกินไปจะเป็นปัญหาการสัญจร ส่งผลต่อวิถีชีวิต และอาชีพบางอาชีพมันก็จะหายไปเลย ทั้งรถรับจ้าง เรือโดยสารทั้งหมด รีสอร์ทต่างๆ ก็อาจจะสูญหายไป เพราะคนจะขับรถมาเอง มาเช้าเย็นกลับ เพราะเกาะเล็กๆ ไม่มีอะไร บางทีเอาเต็นท์มากางที่ชายหาด กินเสร็จ ขวดเหล้าขวดเบียร์ตั้งไว้ ทิ้งขยะไว้กับชุมชน มันเคยมีบ้างแล้ว เราเห็นข้อเสียมาแล้ว ไม่ใช่เราปิดกั้น”
“ความสุขของกำนันคืออะไร?”
รอยยิ้มประดับบนใบหน้าเมื่อบัญญัตินึกถึงความสุขในนิยามของตน ก่อนจะหล่นคำตอบออกมาว่า
เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านมันไม่มีอะไรตอบแทนเหมือน อบต. แต่การอยู่ตรงนี้มันคือการช่วยเหลือ และเรามีความสุข เห็นขาวบ้านมีความสุข เราก็มีความสุขแล้ว
“อีกอย่าง การอยู่ตามวิถีชีวิตของคนบนเกาะ ไม่ใช่นักท่องเที่ยวมา เราไปตามนักท่องเที่ยว แต่เราอยู่อย่างนี้ให้นักท่องเที่ยวมาดูวิถีของเรา เขาก็เข้าใจ เราก็มีความสุข”
คำถามในทำนองเดียวกัน ภายใต้นิยามของคำว่าความสุข เราเอ่ยถามไปยัง มูฮัมหมัด สินโต เจ้าของรถสองแถวที่โดดเด่นด้วยการทำกระบะส่วนท้ายสำหรับรองรับผู้โดยสารขึ้นจากไม้เกือบทั้งหมด ตอบคำถามในมุมมองของมุสลิมที่เคร่งครัดคนหนึ่ง แม้การแต่งกายภายนอกอาจไม่เอื้อให้มองเช่นนั้น
“มันไม่กระทบอะไรกับวิถีชีวิตของเรามากนัก เราละหมาดตั้งแต่ตีห้า ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีเรือเข้าเรือออก พอถึงตอนเที่ยง เรือรอบสุดท้ายมาถึงที่นี่ก็ 11 โมงครึ่งพอดี แล้วจะไปมีเรืออีกทีบ่ายโมงครึ่ง ซึ่งมันเว้นช่วงตรงนั้นที่เราจะไปละหมาดกันทุกๆ วัน มันก็มีเวลาพอสองชั่วโมง เพราะปกติแล้วเราทำพิธีกันแค่ชั่วโมงเดียวต่อวัน ช่วงบ่ายเรือรอบสุดท้าย สี่โมงครึ่งมาถึงที่เกาะยาวน้อย เราก็จะรอละหมาดอีกรอบหนึ่งตอนห้าโมงเย็น มันอยู่ที่ตัวเราเองมากกว่าว่าจะมองว่ามันลำบากหรือเปล่า ไม่ว่าเราจะทำงานอะไร ช่วงพักเที่ยงเราก็สามารถไปละหมาดได้ หรือหลังเลิกงาน อุปสรรคมันเป็นข้ออ้างสำหรับคนที่ไม่อยากทำมากกว่า”
มูฮัมหมัดบอกเล่าว่าตนไม่ใช่คนเกาะยาวน้อยแต่กำเนิด แต่มาตกหลุมรักกับเพื่อนเก่าสมัยเรียนอยู่ที่เกาะยาวน้อยในวัยเด็กเมื่อกลับมาพบกันอีกครั้งเป็นผู้ใหญ่แล้ว ทุกวันนี้ภรรยาของเขาเป็นพยาบาลที่มีเวลางานไม่แน่นอนตายตัว แต่กับมูฮัมหมัด หากไม่ใช่เวลาละหมาด เวลาของเขานั้นแน่นอนตายตัวเสมอ
ในฐานะของคนรอคอยอยู่ที่ท่าสม่ำเสมอ วิถีชีวิตที่แทบจะย่ำซ้ำรอยเดิมในแต่ละวัน ความสุขแบบไหนกันอยู่ในนิยามของคนคอยท่า มูฮัมหมัดตอบด้วยรอยยิ้มเปื้อนหน้าว่า
ความสุขของผม ถ้าคือการทำงาน เราเห็นลูกค้าพอใจเราก็มีความสุขแล้ว ถ้าทริปไหนลูกค้าไม่ค่อยพอใจ ไม่ค่อยแฮปปี้ก็จะรู้สึกเครียดๆ ส่วนในด้านชีวิต มีครอบครัวที่อบอุ่น เป็นที่พึ่งให้กับคนในครอบครัวได้ก็พอแล้ว
ผมลาจากมูฮัมหมัดด้วยการจับมือทักทาย แล้วเอ่ยคำไว้กลับมาพบกันใหม่ แม้จะรู้ว่าด้วยโอกาสและเงื่อนไขของชีวิต มากกว่าครั้งที่คำว่าพบกันใหม่มักหมายถึงการลาจากชนิดที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะได้กลับมาพบกันจริงๆ
ก่อนเรือของคณะเราจะออกจากท่ามาเมาะเพื่อคืนสู่แผ่นดินภูเก็ต หญิงสาวต่างชาติขออาศัยมาด้วยเพราะกลัวว่าหากรอเรือรอบต่อไปตนเป็นได้ตกเครื่องบินแน่นอน แน่นอนว่ากัปตันเรือที่เป็นชาวเกาะอีกนั่นแหละ กวักมืออนุญาตให้เธอก้าวลงเรือโดยไม่มีอิดออดว่าตนเพิ่งเสียค่าโดยสารไป
หญิงสาวผู้นั้นหันไปโบกมือลาคนขับรถสองแถวที่มาส่ง ร้องตะโกน ขณะที่เรือค่อยๆ ถอยออกจากท่า
ขอบคุณ ขอบคุณ see you
จนกว่าเราจะพบกันใหม่
ความหมายนั้นในทุกภาษา แม้จะเจือความไม่แน่นอน แต่ปฏิเสธได้ล่ะหรือว่าไม่จุดรอยยิ้มมุมปาก
ความสุขของผมคือรอยยิ้ม
ของคุณล่ะ…