บนเวทีเสวนา ‘อุ้ม ซ้อมทรมาน ฆาตกรรม: อาชญากรรมแห่งความเกลียดชังต่อ ‘ทอม’ และความหลากหลายทางเพศ’ ผู้ดำเนินรายการชี้เหตุผลที่เสวนาถูกจัดขึ้นวันที่ 19 มกราคม 2560 ที่ชัดเจนว่ามาจาก ‘คดี สุภัคสรณ์ พลไธสง’ หรือในภาษาข่าวใช้พาดหัวว่า ‘คดีอุ้มทอม’
นอกจากนัยยะในพาดหัว ‘คดีอุ้มทอม’ ที่ต้องสาวออกมาวิเคราะห์กันก่อนว่า
หนึ่ง-นี่เป็นการกระทำที่เกิดจาก ‘ความเกลียดชัง’ หรือ ‘hate crime’ ใช่หรือไม่
และสอง-เพราะผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงต้องถูกวิเคราะห์ในอีกชั้นหนึ่งว่า นี่เป็นการกระทำโดยใช้เครื่องมือ อำนาจ และเป็นผู้รู้ดีเรื่องช่องว่างทางกฎหมาย ‘อุ้มหาย’ ที่แปลว่า ตราบใดที่ไม่พบศพ ก็ไม่ถือว่าเป็นคดีอาญาใช่หรือเปล่า
ถ้าใช่…แปลว่ามีคำถามอีกมากที่เราต้องถามกัน
เป็นต้นว่า hate crime แตกต่างจากอาชญากรรมธรรมดาอย่างไร ความรุนแรงที่เกิดทั้งก่อนและหลัง ต้องมีกฎหมายหรือระบบอะไรต้องถูกเขียนเพิ่มเพื่อปกป้องให้ทุกคนปลอดภัยเท่ากัน รวมทั้งสางดูว่ามีประเด็นอะไรที่ต้องทำความเข้าใจกับสังคม โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า…ประเทศไทยเปิดกว้างอยู่แล้วในความหลากหลายทางเพศ (ไหมนะ)
ทำไมผู้สื่อข่าวจึงพาดหัวว่า ‘คดีอุ้มทอม’
ทั้งในห้องประชุมและกระดานโต้เถียงออนไลน์ มีการวิจารณ์กันบ่อยครั้งถึงความไม่พิถีพิถันเรื่องการใช้ภาษาของสื่อมวลชน โดยเฉพาะกรณีนี้ใช้พาดหัวว่า ‘คดีอุ้มทอม’ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีของ ‘หญิง-สุภัคสรณ์ พลไธสง’ ผู้ตายลง
“แทนที่จะใช้ชื่อของเขารายงานข่าว กลายเป็นใช้คำว่า ‘ทอม’ ไป ตอนนี้มีใครจำได้บ้างว่าผู้ตายชื่ออะไร” พรรณิการ์ วานิช ผู้สื่อข่าวและพิธีกร ช่อง Voice TV กล่าวถึงความไม่พิถีพิถันและการไม่มี gender lens ของสื่อมวลชน
พรรณิการ์ยอมรับว่า นี่เป็นความหละหลวม ไม่เข้าใจในปัญหา และอาจย้ำสร้างอคติในอัตลักษณ์ทางเพศของผู้ตาย ต่อมาเธอเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังวิธีคิดในการยังเลือกใช้พาดหัว ‘คดีอุ้มทอม’ ในช่วงแรกของ Voice TV ว่า
เป็นเพราะต้องการย้ำ ‘นัยยะ’ ของข่าว เพราะทั้งผู้คนขณะนั้นจำได้แล้วว่า ‘คดีอุ้มทอม’ นี้หมายถึงคดีอะไร และคำว่า ‘คดีอุ้มทอม’ ให้นัยยะของความรุนแรงจากความเกลียดชังที่เกิดจากอัตลักษณ์ทางเพศ หรือต้องการย้ำให้เห็นว่า นี่คือ ‘hate crime’
ในช่วงแรกของการสอบสวน รายงานข่าวออกมาว่ามาจากความหึงหวง และเพราะผู้ตายเป็นทอม ตอนนั้น Voice TV ปิดโต๊ะเพื่อพูดคุยกันว่า เราควรใช้คำว่าอะไรในรายงานข่าว การใช้คำนี้จะเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีของผู้ตายไหม เราควรใช้ชื่อของเขาในรายงานข่าวหรือเปล่า เช่นใช้ว่า ‘คดีสุภัคสรณ์’ แต่สุดท้ายเรายังเลือกใช้ ‘คดีอุ้มทอม’ เพราะต้องการแสดงนัยยะข่าวว่า นี่เป็นการฆาตกรรมที่มีมูลเหตุจากความเกลียดชัง (hate crime)
“แต่ในชั้นการสืบสวนต่อมา คดีพลิก เพราะเมื่อสาวไปแล้วพบว่า คนที่ว่าจ้างฆ่า คือเมียน้อยของตำรวจ เหตุจูงใจคือการโกงเงิน ฉะนั้น ตอนนี้จึงมีความซับซ้อนในรูปคดี และไม่อาจสรุปได้ว่ามันเป็น hate crime หรือเป็นเพราะเหตุจูงใจอื่นๆ ที่หากไม่ใช่ ‘ทอม’ คนนี้ เหตุการณ์นี้ก็อาจเกิดขึ้นก็ได้”
หมายความว่าเธอกำลังตั้งคำถามว่า – แค่ไหนที่เรียกว่า hate crime
แล้วแค่ไหนที่เรียกว่า ‘hate crime’
สิ่งที่พรรณิการ์ชี้แจง เรียกเสียงอื้ออึงในห้องประชุม ทั้งเห็นด้วยและชี้แจงข้ดแย้ง ผู้ร่วมงานเสวนาท่านหนึ่งตั้งคำถามและกล่าวเสริมประเด็นนี้ว่า
ผมเห็นว่าประเด็นนี้เป็น hate crime แน่ๆ นะครับ เพราะโอเคว่า ผู้ที่จ้างวานอาจจะไม่ hate คือจ้างด้วยมูลเหตุโกรธแค้นเรื่องเงินทองหรือชู้สาวอะไรก็ว่าไป แต่ผู้ที่เป็นคนฆ่า ในวินาทีที่ฆ่า คนนั้นอาจจะเกลียดทอม หรือฆ่าอย่างเกลียดในอัตลักษณ์ของผู้นั้นก็ได้”
ขณะที่ผู้ร่วมงานเสวนาอีกท่านกล่าวว่า “เราสรุปกันได้แล้วหรือว่านี่คือการกระทำที่เกิดจากความเกลียดชัง โดยเฉพาะที่เกิดจากอัตลักษณ์ทางเพศ เพราะแรงจูงใจจากการก่อเหตุรวมถึงวิธีการลงมือเป็นไปได้หลายสาเหตุมาก”
ท้ายที่สุด พรรณิการ์เสริมว่า เส้นแบ่งของ hate crime อาจอยู่ที่ ‘เพราะมันเป็นอาชญากรรมที่เกิดจากสิ่งที่เขาไม่ได้เลือก ไม่ใช่โกรธเพราะสิ่งที่เขาทำ’
จากนั้นไมค์จึงถูกเวียนไปยัง รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อถามว่า อะไรและแค่ไหนจึงเรียกว่า ‘ความรุนแรงที่เกิดจากความเกลียดชัง’
“เฉพาะความรุนแรงที่เกิดกับบุคคลที่มีอัตลักษณ์เป็นทอม ในเวลา 10 ปี เราพบปรากฏการณ์อุ้มหายแบบนี้ 14 คดี เป็นคดีเฉพาะที่แจ้งความด้วยนะคะ และไม่ใช่เฉพาะทอมที่ไม่กล้าแจ้งความ แต่ในกรณีของผู้หญิงด้วย เพราะเรามักปฏิบัติกับผู้ถูกข่มขืนราวกับเหยื่อ”
และที่ถูกจัดว่าเป็นการกระทำบนความเกลียดชัง คือการกระทำใดๆ ที่ผู้ทำคิดว่า ‘ทำไปด้วยความถูกต้อง’
โดยเฉพาะอคติ (ในอคติ) ที่ผู้มีอัตลักษณ์เพศชายมักเห็นว่า ‘ความเป็นผู้ชายของเขา สามารถรักษาความเป็นทอมได้’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘การแก้ทอม ซ่อมดี้’
ซึ่งกฤตยาเห็นว่า ความเชื่อแบบนี้ฝังรากลึกและชี้ว่า เรายังไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ เท่าที่เราคิดว่าเราเป็นและควรเป็น
นอกจากนั้น กฤตยายกตัวอย่าง hate crime ในกลุ่มคนอื่นๆ เช่น การรุมทำร้ายแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เพียงแต่ไม่ชอบหน้าแรงงานข้ามชาติที่เคยเดินสวนกันในกลุ่มก่อนหน้านั้น
หรือเปรียบเป็นวลีว่า ‘กูไม่รู้จักมึง แต่กูเกลียดมึง’
ข้อโต้เถียงเรื่อง ‘แค่ไหนที่เรียกว่า hate crime’ ยังไม่มีข้อสรุป แต่ที่ชี้ชัดได้ คือการฆ่าด้วยวิธีการโหดเหี้ยม ทารุณ และสามารถอนุมานจากศพได้ว่า ‘ผู้กระทำ ทำไปด้วยความเกลียดชัง’ และไม่เกิดเฉพาะผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หากเกิดกับ ‘กลุ่มคนชายขอบ’ เช่น แรงงานข้ามชาติ เมียน้อย บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
โหดร้ายยิ่งกว่า ถ้าผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
ความซับซ้อนในขั้นที่สองของประเด็นนี้ คีย์เวิร์ดอยู่ที่ ‘ผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ’ ด้วย
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อธิบายความหมายของคำว่า ‘อุ้มหาย’ และ ‘อุ้มฆ่า’ รวมทั้งช่องว่างทางกฎหมายของคำสองคำดังกล่าวว่า
อุ้มหาย หมายถึง การหายสาบสูญของบุคคลหนึ่ง ซึ่งถูกตั้งสมมุติฐานว่าถูกฆาตกรรมหรือเสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่พบศพ เท่ากับ ยังไม่ถูกนับเข้าเป็นคดีอาญา ไม่ถือว่าเป็นฆาตกรรม ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มีกฎหมายใดๆ มาควบคุมรองรับ (อ่าน พ.ร.บ.อุ้มฆ่า-อุ้มหาย)
และจะเข้าข่าย ‘อุ้มฆ่า’ ในกรณีพบศพแล้วเท่านั้น
แต่ทั้งการ ‘อุ้มฆ่า-อุ้มหาย’ มีความรุนแรงในแง่ที่ว่า ผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้รู้เรื่องช่องว่างทางกฎหมาย มีเครื่องมือและวงวารในการทำผิด ทั้งมีอำนาจในการสั่งอำพรางคดีได้อย่างมิดชิด และมีเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐได้หลายอย่าง
ดังที่เกิดในกรณี ‘ทนายสมชาย’ และ ‘บิลลี่’ นักสิทธิมนุษยชนที่ถูกทำให้หายไป
คล้ายวงเสวนาจะจบแบบปลายเปิด เพราะแต่ละประเด็นยังสรุปชี้ชัดไม่ได้ แต่ในห้องเล็กๆ นั้นเห็นตรงกันว่า ความเกลียดชังที่เกิดจากอัตลักษณ์ทางเพศนั้นมีอยู่จริง หลักฐานคือเรื่องเล่าผ่านไมโครโฟนจากวิทยากร พริษฐ์ ชมชื่น นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ ทอมทรานส์ จาก ทิพย์อัปสร ศศิตระกูล สมาคมฟ้าสีรุ้ง จากเจ้าของเรื่องที่นั่งอยู่ในห้องนั้น
และจากประสบการณ์ทั้งการเป็นผู้กระทำและผู้พบเห็นการถูกกระทำในชีวิตจริงของ ‘คนที่อยู่ในมาตรฐานสังคมอย่างเราๆ’