ไฟป่าฮาวาย หายนะโลกร้อน ฝีมือมนุษย์ หรืออุบัติเหตุ

ภายในเวลาชั่วข้ามคืน หลังไฟป่าจุดแรกบนเกาะเมาวี (Maui) รัฐฮาวาย ปะทุขึ้นบริเวณมาคาเวาตอนบน (Upper Makawao) ประมาณ 03.00 น. ของวันอังคาร (8 สิงหาคม 2023) ในเวลาต่อมา ภาพเมืองลาฮายนา (Lahaina) ย่านที่อยู่อาศัยและเมืองตากอากาศชื่อดังของเกาะที่กำลังถูกไฟโหมกระหน่ำก็แพร่กระจายบนโซเชียลมีเดีย 

รายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม ทางการสรุปข้อมูลว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 93 ราย ตัวเลขจะยังเพิ่มขึ้นอีก อาคารและสิ่งก่อสร้างมากกว่า 2,200 หลัง ถูกเผาและพังเสียหาย ร้อยละ 86 เป็นอาคารที่อยู่อาศัยของประชาชน รวมพื้นที่ที่ถูกไฟป่าเผาไหม้ 2,170 เอเคอร์ (ประมาณ 8.7 ตร.กม. หรือ 5,488 ไร่) ประเมินค่าเสียหายเบื้องต้นอยู่ที่ 1,100 ล้านเหรียญ (ประมาณ 38,500 ล้านบาท) และการจะสร้างเมืองใหม่อาจต้องใช้งบประมาณสูงถึง 5,520 ล้านเหรียญ) (ประมาณ 193,586 ล้านบาท) 

ตัวเลขผู้เสียชีวิตทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกบันทึกว่าเป็นพิบัติภัยทางธรรมชาติที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในฮาวายนับตั้งแต่มีสถานะเป็นรัฐในปี ค.ศ. 1659 และเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตจากไฟป่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสหรัฐอเมริกา จากก่อนหน้านี้สถิติอยู่ที่เหตุการณ์ Camp Fire ปี 2018 ในแคลิฟอร์เนียที่มีผู้เสียชีวิต 85 ราย 

ผ่านมาแล้วเกือบสัปดาห์ คำถามสำคัญที่ว่า อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของไฟไหม้ป่าครั้งนี้ ยังคงไม่มีใครตอบได้ มีแต่เพียงสมมติฐาน และเหตุผลสนับสนุนมากมาย

“เราต้องนำปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อไฟป่ามารวมกัน แล้วจะเข้าใจว่าหายนะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มันไม่ใช่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มันเกิดขึ้น” เจฟฟ์ มาสเตอร์ (Jeff Masters) นักอุตุนิยมวิทยาจาก Yale Climate Connections กล่าว

ฮาวายกับไฟป่า

“ที่นี่ฮาวาย ไม่มีใครคิดอะไรกับมัน” เอบบี (Ebby) ชาวเมืองลาฮายนาคนหนึ่ง บอกกับผู้สื่อข่าว เดอะ วอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post) ถึงความรู้สึกที่ตื่นมาพบกับไฟป่าในเวลาประมาณ 06.30 น. เช้าวันพุธที่ 9 สิงหาคม เสียงประกาศเตือนให้ผู้คนอพยพ และภาพของพนักงานดับเพลิงที่สาละวนกับการดับไฟป่า ไม่ได้ทำให้เธอและครอบครัวรู้สึกตกใจ เพราะนั่นคือสิ่งที่ชาวฮาวายคุ้นชิน 

ทุกปีพื้นที่ประมาณ 0.5 เปอร์เซ็นต์ของรัฐฮาวายจะถูกเผาโดยไฟป่าเป็นปกติ แต่สถานการณ์ไฟป่าเลวร้ายลงทุกปี พื้นที่ถูกเผาไหม้เพิ่มมากขึ้น มีตัวเลขรายงานว่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีพื้นที่ถูกไฟป่าเผาเพิ่มขึ้น 4 เท่า เป็นผลมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ภาวะแล้งรุนแรงขึ้น ความชื้นในอากาศและปริมาณน้ำฝนลดน้อยลง 

ความแห้งแล้งที่รุนแรงขึ้นเป็นปัญหาสำคัญที่ท้าทายรัฐฮาวายมากขึ้นทุกปี หนึ่งวันก่อนที่ไฟป่าจะปะทุขึ้นที่มาคาเวาตอนบนในช่วงกลางดึก และกลายเป็นหายนะไฟป่าครั้งนี้ หน่วยเฝ้าระวังความแห้งแล้งของสหรัฐ (US Drought Monitor) เพิ่งเผยแพร่รายงานความแห้งแล้งอย่างผิดปกติในภูมิภาคต่างๆ ของฮาวาย และไฟป่าที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก่อนจะถึงฤดูไฟป่าในปีนี้ พบว่าเขตเมาวี เคาน์ตี้ ต้องประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงอย่างก้าวกระโดด จนครอบคลุม 1 ใน 3 ของพื้นที่เกาะเมาวีทั้งหมด และพื้นที่ที่ถูกไฟเผาผลาญสาหัสที่สุดในครั้งนี้ก็อยู่ในพื้นที่ส่วนที่แห้งแล้งที่สุด ปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ตั้งแต่ปี 2018 ทางการได้ออกคำแนะนำให้ชาวเมืองย้ายกองไม้รวมถึงสิ่งของที่อาจติดไฟได้ออกจากสวนหลังบ้าน และถางแนวพุ่มไม้ให้ห่างจากตัวบ้าน 10-30 ฟุต โดยเฉพาะในหน้าร้อน แต่ในปี 2018 ชาวฮาวายก็ยังคงเผชิญกับไฟป่าที่รุนแรง 

อุณหภูมิเฉลี่ยของฮาวายสูงขึ้น 2 องศา จากตัวเลขในปี ค.ศ. 1950 นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นผลจากการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้น อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นกลายเป็นพลังงานขับเคลื่อนพายุเขตร้อนอย่างดี งานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า พายุหมุนเขตร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา และลมกระโชกของพายุหมุนเหล่านี้โหมให้ไฟป่ารุนแรงขึ้น

ฮาวายยังเผชิญหน้ากับปัญหาการแพร่กระจายของพันธุ์พืชต่างถิ่นที่ติดไฟได้ โดยเฉพาะหญ้ากินนี (guinea grass) ที่พบว่าแพร่กระจายย่างรวดเร็วจนรุกรานพืชพื้นเมือง การแพร่กระจายของหญ้าไม่เฉพาะหญ้ากินนี แต่รวมถึงสายพันธุ์อื่นๆ เป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการควบคุมและไม่มีใครดูแล แม้แต่พื้นที่ว่างที่ติดกับรั้วคฤหาสน์ใหญ่ๆ ของบรรดาศิลปินและเหล่าคนดัง ยังพบว่าปล่อยให้หญ้าขึ้นรก 

เอลิซาเบธ พิคเก็ต (Elizabeth Pickett) จากสำนักจัดการไฟป่าฮาวาย (Hawaii Wildfire Management Organization) กล่าวว่า หมู่เกาะต่างๆ ของฮาวายถูกบุกรุกด้วยหญ้าที่ง่ายต่อการติดไฟจากทั่วโลก ครอบคลุมพื้นที่รวมนับล้านเอเคอร์ คิดเป็นประมาณ 26 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่รัฐ 

เคลย์ ทราวเออร์นิคท์ (Clay Trauernicht) นักวิจัยด้านอัคคีภัยแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย กล่าวว่า หลายปีมาแล้ว เขาและเพื่อนนักวิจัยพยายามกระตุ้นให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของการจัดการกับหญ้า และให้ประชาชนสร้างบ้านเรือนให้แข็งแรงขึ้น

“ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องระดับโลก แต่หญ้าเป็นปัญหาของท้องถิ่นและเราสามารถจัดการได้” ทราวเออร์นิคท์กล่าว

สาเหตุไฟป่าเมาวี

ดังกล่าวข้างต้นว่า ยังไม่มีใครรู้สาเหตุของการเกิดไฟป่าในครั้งนี้ แต่บริษัททนายความหลายแห่งได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปเก็บหลักฐานและข้อมูลเกี่ยวกับสายส่งและระบบส่งกระแสไฟฟ้าบนเกาะเมาวีแล้ว หลังจากพบว่าบริษัท ฮาวายเอียน อิเล็กทริก (Hawaiian Electric) ซึ่งรับผิดชอบส่งกระแสไฟฟ้าให้พื้นที่ 95 เปอร์เซ็นต์ของรัฐฮาวาย ไม่ได้ตัดไฟตั้งแต่ช่วงที่เกิดพายุลมแรง 

“ตอนนี้หลักฐานทั้งหมด ทั้งคลิปวิดีโอ พยานผู้เห็นเหตุการณ์ และลักษณะการลุกไหม้และขยายตัวของไฟ รวมถึงซากของอุปกรณ์ส่งกระแสไฟฟ้าที่เหลืออยู่ ชี้ไปในทางเดียวกันว่า อุปกรณ์ไฟฟ้าของฮาวายเอียน อิเล็กทริก เป็นต้นเหตุการเกิดประกายไฟที่ทำลายล้างลาฮายนา” มิกัล วัตส์ (Mikal Watts) ทนายความบริษัท วัตส์ กูเออร์รา (Watts Guerra) กล่าว

หลังเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในแคลิฟอร์เนีย ปี 2018 ที่เรียกว่าเหตุการณ์ Camp Fire ซึ่งผลการสอบสวนพบว่า ต้นเพลิงเกิดจากประกายไฟจากสายส่งไฟฟ้าที่ชำรุด เมื่อถูกลมกระโชกแรงจากพายุทำให้ไฟลุกและลามอย่างรวดเร็ว หลายรัฐในสหรัฐได้ดำเนินนโยบายตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการตัดการจ่ายไฟให้กับสาธารณะเมื่อพบว่ามีลมแรงและเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า 

ในเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้กลับพบว่า ไม่เพียงฮาวายเอียน อิเล็กทริก จะไม่มีแผนตัดการจ่ายไฟเมื่อมีลมแรงและเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าแล้ว บริษัทยังไม่ตัดไฟบนเกาะแม้ในช่วงที่ไฟป่าเกิดขึ้นและกำลังขยายตัวอย่างรุนแรง มีพยานหลักฐานจำนวนมากยืนยันว่าสายไฟฟ้าที่หลุดร่วงลงดินระหว่างที่เพลิงกำลังเผาผลาญเมืองยังมีกระแสไฟอยู่

บริษัท วัตส์ กูเออร์รา เป็นหนึ่งในบริษัททนายอีกหลายแห่งที่ว่าความให้ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ Camp Fires ที่แคลิฟอร์เนียในปี 2018 ในการยื่นฟ้อง PG & E Corp บรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานที่เป็นเจ้าของสายไฟฟ้าที่เป็นต้นเพลิงเหตุไฟป่า Camp Fire เรียกร้องค่าเสียหายมากกว่า 13,500 ล้านเหรียญ (ประมาณ 474,000 ล้านบาท) และทำให้ PG & E Corp ต้องยื่นล้มละลายในปีต่อมา

ไฟป่าที่เมาวีครั้งนี้ บริษัททนายความหลายแห่งกำลังระดมรายชื่อผู้เสียหาย เพื่อเตรียมยื่นฟ้องฮาวายเอียน อิเล็กทริก ในลักษณะการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) ขณะที่อัยการของรัฐก็เตรียมลงมาสืบสวนประเด็นนี้เช่นเดียวกัน ผู้แทนฮาวายเอียน อิเล็กทริก ยอมรับกับหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ว่าบริษัทไม่มีแผนหยุดจ่ายไฟในช่วงเวลาที่เกิดลมแรงจริง แต่ไม่ได้พูดถึงสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ เพียงแค่นี้ก็ทำให้หุ้นของฮาวายเอียน อิเล็กทริก ลดลงจาก 35 เหรียญ มาอยู่ที่ 32 เหรียญ

ในขณะที่สาเหตุของไฟป่ายังไม่ชัดเจน สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ไฟป่าครั้งนี้ลุกลามอย่างรุนแรงและรวดเร็ว จนทำให้ลาฮายนากลายเป็นทะเลเพลิงและวอดเป็นจุลอย่างรวดเร็ว 

หายนะเพลิงเมาวี “มันเกิดขึ้นเร็วมาก” 

นอกเหนือจากภาวะแห้งแล้งที่รุนแรงเป็นพิเศษ จนทำให้ทั้งเกาะเมาวีเต็มไปด้วยหญ้าแห้งที่เป็นเชื้อเพลงอย่างดีแล้ว ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นรัฐฮาวายยังต้องเผชิญกับเฮอริเคนโดรา (Dora) ที่มีความรุนแรงถึงระดับ 4 ความเร็วลม 80 ไมล์ต่อชั่วโมง แม้โดราจะพัดห่างจากเกาะเมาวีหลายร้อยไมล์ แต่ก็ทำให้เกิดลมแรงพัดปกคลุมไปทั่วเกาะซึ่งเต็มไปด้วยเทือกเขาสูงชัน 

“ลมมาทางตะวันออกเฉียงเหนือ และกดตัวลงต่ำปกคลุมแนวเทือกเขา ความแรงลมช่วยกระพือเปลวเพลิงให้แรงขึ้นและพาเปลวเพลิงเคลื่อนตัวไป เมื่อสิ่งก่อสร้างถูกเผาและมีลมโหมรุนแรง เถ้าถ่านที่มีไฟลุกโชนก็จะถูกลมหอบไปติดอาคารอื่นต่อกันไปเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลารวดเร็วมาก” เครก คลีเมนต์ส (Craig Clements) นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยซานโฮเซ (San José State University) กล่าว

ทฤษฎีที่คลีเมนต์สกล่าวตรงกับภาพที่ปรากฏต่อสายตาของผู้รอดชีวิตจากเปลวเพลิงครั้งนี้

“มีประกายไฟตกลงมาใต้ต้นปาล์ม แล้วก็ลุกเป็นเปลวเพลิงทันที ประกายไฟตกที่ไหน ไฟก็ลุกไหมเป็นบริเวณกว้างตรงนั้น” เควิน โฟลีย์ (Kevin Foley) บาร์เทนเดอร์ของร้านอาหารแห่งหนึ่งในโรงแรมมาร์ริออทกล่าว เขาเห็นอาคาร 3 ชั้นหลังหนึ่ง ถูกไฟกลืนกินทั้งหลังต่อหน้าในเวลาไม่นาน

ในระหว่างยืนดูเปลวไฟที่ยังคงลามไม่หยุดจนถึงเช้าวันพุธ โฟลีย์เห็นชายคนหนึ่งตะเกียกตะกาย เดินโซเซออกมาจากบ้านหลังหนึ่งที่ไฟกำลังไหม้ ผิวหน้าของเขาหลุดลอกออกด้วยความร้อนของไฟ โฟลีย์รีบเข้าไปพยุงและพาชายผู้นั้นไปหาตำรวจ ซึ่งช่วยอะไรเขาไม่ได้มากไปกว่าการยื่นน้ำดื่มให้

ความรุนแรงของไฟทำให้รัฐฮาวายต้องระดมทรัพยากรทั้งหมดทั้งด้านการจัดการกับเปลวไฟและการรับมือกับผู้บาดเจ็บ แต่ทรัพยากรที่มีก็ไม่เพียงพอกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลทุกแห่งบนเกาะเมาวีเต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บจากการถูกไฟคลอกและสูดดมควันไฟ จนต้องกระจายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลบนเกาะอื่นๆ 

เปลวเพลิงและควันไฟสีดำที่ปกคลุมไปทั่วเกาะ ทำให้ชาวลาฮายนาจำนวนมากต้องโดดลงทะเลเพื่อเอาตัวรอด หลายคนต้องยืนแช่ในน้ำลึกระดับอกตลอดทั้งคืน กว่าเจ้าหน้าที่ชายฝั่งจะพบและช่วยเหลือขึ้นมาได้

ภาวะโลกร้อนกับความรับผิดต่อพิบัติภัย

แม้จะเชื่อมโยงได้ว่าภาวะโลกร้อนที่เกิดจากบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์จะเป็นต้นเหตุที่ทำให้อุณหภูมิของฮาวายสูงขึ้น และทำให้ลมพายุมีความรุนแรงขึ้น แต่ก็ยังไม่มีสิ่งใดยืนยันได้ว่า ภาวะแห้งแล้งในฮาวายเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน

“มีแนวโน้มว่าปริมาณฝนในฮาวายจะลดลงในระยะยาว แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอื่นนอกจากโครงสร้างสภาพภูมิอากาศที่ปกติและความผันผวนในมหาสมุทรแปซิฟิก” แอบบี ฟราเซียร์ (Abby Frazier) ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยคลาก ในแมสซาชูเซตส์ กล่าว

ฟราเซียร์กล่าวว่า อิทธิพลของเอลนีโญทำให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้นในฤดูหนาว แต่เอลนีโญไม่สามารถอธิบายสถานการณ์ที่กำลังเกิดในฮาวายขณะนี้ที่พบว่ามีพายุไซโคลนมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน

“เราไม่สามารถกล่าวได้อย่างเป็นทางการว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุของภัยแล้งทั้งหมดที่เกิดขึ้น ธรรมชาติในฮาวายผันผวนอย่างรุนแรงมาก” เธอกล่าว

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังให้ความสำคัญว่าเป็นปัจจัยที่มีส่วนก่อให้เกิดความผันผวนทางธรรมชาติในฮาวายคือ กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์เอง

“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างแรงกดดันให้กับสภาพแวดล้อมบนเกาะ และก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ภาวะมลพิษ การพังทลายของดิน การใช้น้ำปริมาณมาก การหยุดชะงักของพืชและสัตว์ท้องถิ่น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนเกาะขนาดเล็ก” แมรี แมคนามารา (Mary McNamara) นักวิเคราะห์และนักเขียนชื่อดัง เขียนไว้ในลอส แอนเจลลิส ไทมส์ (Los Angeles Times) 

แมคนามารา เคยได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ด้านการวิพากษ์ข่าว (Criticism) ในปี 2015 

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่กระจายของหญ้าต่างถิ่นที่ติดไฟง่าย เมื่อผู้ประกอบการจำนวนมากนำเข้ามาเพื่อประดับสถานที่ 

เธอยังเขียนวิจารณ์ถึงการไม่มีการจัดการพื้นที่เคยปลูกอ้อยและสับปะรดที่ปัจจุบันถูกทิ้งร้างเป็นจำนวนมาก และปล่อยให้หญ้าปกคลุมเป็นพื้นที่กว้าง เมื่อกิจกรรมทางการเกษตรลดลง พื้นดินที่เคยได้รับน้ำและการบำรุงรักษาก็ค่อยๆ แห้งลง ทำให้ภาวะแห้งแล้งขยายตัวรุนแรงขึ้น

“นักวิทยาศาสตร์พร่ำบอกพวกเรามาหลายต่อหลายปี ว่าหายนะภัยจากสภาพภูมิอากาศเกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ และความล้มเหลวในการหามาตรการจัดการปัญหาที่เฉียบขาด สถานการณ์จากนี้ไปก็มีแต่จะเลวร้ายลง” แมคนามารากล่าว 

เช่นเดียวกับอลิสัน นูเจนต์ (Alison Nugent) นักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศ แห่งศูนย์วิจัยทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยฮาวาย ที่มองว่าไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นการส่งสัญญาณเตือนจากธรรมชาติมาสู่มนุษย์

“มันมากกว่าแค่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่มนุษย์กำลังไปวุ่นวายกับระบบธรรมชาติ ตราบที่สถานการณ์แบบนี้ยังดำเนินต่อไป เราก็คาดเดาได้เลยว่าหายนะภัยจะต้องเพิ่มขึ้น” นูเจนต์กล่าว

อ้างอิง

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า