เกณฑ์ชาวบ้านไปดับไฟป่า จิตอาสาในภาวะถูกบีบบังคับ

เกือบ 2 ปี ในการทำงานภาคสนามประเด็นไฟป่าฝุ่นควันภาคเหนือตั้งแต่ปี 2562-2564 ที่ต้องเดินทางเข้าออกชุมชนเพื่อพูดคุยสัมภาษณ์ชาวบ้าน สิ่งที่พบเห็นมิได้มีเพียงคำตอบและความร่วมมือของชาวบ้านเป็นอย่างดีต่องานวิจัยเท่านั้น แต่ยังมีข้อสังเกตการณ์จากการแสดงออกต่างๆ ทั้งปฏิกิริยาตอบสนองของชุมชนเมื่อรู้ว่าเป็นงานวิจัยไฟป่าฝุ่นควัน หรือความพร้อมอย่างยิ่งยวดที่จะตอบทุกข้อคำถามให้สิ้นสงสัย รวมทั้งความหวังจากงานวิจัยให้เป็นกระบอกเสียงส่งผ่านเรื่องราวของตนเองให้ดังไปถึงผู้กำหนดนโยบายด้วย โดยชาวบ้านหวังเต็มเปี่ยมว่าคนทำวิจัยมิได้มีหน้าที่เพียงเดินเก็บข้อมูล แต่ต้องนำส่งสารนี้ได้เช่นกัน 

ทุกสิ่งทุกอย่างและปฏิกิริยาที่ชาวบ้านแสดงออกให้เห็นนั้น ล้วนต้องการคำอธิบายทั้งสิ้นและมีผลต่อการวิจัยอย่างยิ่ง เรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกบันทึกไว้ทั้งในสมุดบันทึกภาคสนามและผลการวิจัยเช่นกัน 

1. กลืนไม่เข้า คายไม่ออก 

ชาวบ้านในชุมชนเล็กๆ เมื่อเห็นกำลังทหาร และหน่วยงานราชการต่างๆ กำลังกระตือรือร้นและเข้มงวดกับนโยบาย 60 วันอันตราย จับ ปรับ และกักขัง ย่อมมีความวิตกกังวลที่จะตอบคำถามกับนักวิจัยว่า ‘ไฟป่าเกิดจากอะไร’ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว สำหรับบุคคลที่อยู่ในฐานะ ‘ผู้ใหญ่บ้าน’ และ ‘ผู้นำชุมชน’ ซึ่งเป็นคนกลางเชื่อมประสานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐ เขาจะวางตัวเช่นไรในสถานการณ์วิกฤติไฟป่า ความคิดเห็นและปฏิกิริยาของพวกเขานั้นอาจช่วยสะท้อนผลกระทบจากนโยบายได้บ้าง 

ผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่งได้กล่าวแบบแบ่งรับแบ่งสู้ ว่าการต่อสู้กับไฟป่าตามแนวภูเขารอบหมู่บ้านเป็นงานหนักที่ต้องสู้กับไฟ เพื่อลดจำนวนฮอตสปอตให้ได้ แม้ว่าชาวบ้านที่ให้ความร่วมมือจะมีจำนวนน้อยถึงน้อยมาก แต่ในฐานะผู้ใหญ่บ้านก็ต้องทำตามนโยบายอย่างเคร่งครัด หน้าที่และเวลาส่วนใหญ่ของผู้ใหญ่บ้านในช่วงฤดูไฟป่าฝุ่นควันนั้นคือ การขึ้น-ลงแนวภูเขาเพื่อทำแนวกันไฟรอบๆ เขตหมู่บ้าน ซึ่งบางหมู่บ้านอาจมีเนื้อที่กว้างขวางเกินกำลังคน รวมถึงทำหน้าที่เวรยามที่ศูนย์เฝ้าระวัง เพื่อไปยืนเฝ้าและตรวจสอบบุคคลเข้าออก

“ห้ามมีฮอตสปอต เป็นนโยบายของภาครัฐที่ให้พบได้เพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ต้องลดลงให้ได้ แล้วแต่สถานการณ์ เช่น ไฟมาพร้อมๆ กัน” 

“ผู้ใหญ่บ้านจะขึ้นไปดูแลเองตลอด มีชาวบ้านร่วม 4-5 คน มีพระภิกษุช่วยดูแลร่วมด้วย ชาวบ้านยังไม่มีจิตสำนึก ไม่มีจิตอาสามากพอ เขาไม่ตระหนักว่ามีอันตราย หรือกระทบสุขภาพ ก็จะไม่กระตือรือร้น ส่วนตัวต้องทำต่อไปเพราะเป็นหน้าที่ ต้องสละเวลาไปทำแนวกันไฟ ไปเฝ้าจุดที่เฝ้าระวัง หรือศูนย์เฝ้าระวัง ศูนย์รวมพล เป็นแบบฝึกทหาร จนกว่าจะหมด 60 วัน ผลัดเปลี่ยนเวรยาม ทำให้ขาดกำลังช่วยทางบ้านขายของ บางครั้งต้องจ้างคนไปยืนแทนถ้าไม่ว่าง ทำให้เสียรายได้” 

การลดฮอตสปอตตามเป้าหมายให้ได้ เป็นภารกิจใหญ่และความเคร่งครัดในหน้าที่ หากผู้นำสามารถทำได้ตามเป้าได้จริง นอกจากจะได้รับความชื่นชมแล้ว จำนวนฮอตสปอตที่ลดลงได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ยังสามารถประเมินความสมบูรณ์ของสภาพป่าไม้ ระบบนิเวศวิทยา ประเมินความพร้อมของอุปกรณ์การป้องกัน และประเมินการระดมพลและความร่วมมือของชาวบ้านได้อีกด้วย แต่…เป็นที่น่าเสียดาย หลังจากนักวิจัยสัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านท่านนั้นไม่นาน 1 สัปดาห์ให้หลัง ไฟก็โหมกระหน่ำทั้งภูเขา 

นอกจากบทบาทและชีวิตของผู้นำชุมชนที่ถูกกำหนดจากนโยบายป้องกันไฟป่าแล้ว ปัจจัยด้านกำลังพลนับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อประสิทธิภาพการทำแนวกันไฟและดับไฟป่า ในหลายหมู่บ้าน กลุ่มผู้สูงอายุและเด็กเป็นประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน ไม่สามารถขึ้น-ลงทำแนวกันไฟได้เป็นประจำ แม้ว่าชุมชนจะแก้ไขปัญหาโดยมีหน่วยทหารหรืออาสาสมัครจากหมู่บ้านอื่นมาช่วยก็ตาม แต่กำลังพลก็ยังไม่เพียงพอ อีกทั้งแต่ละหมู่บ้านก็ประสบปัญหาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ หลายครั้งชาวบ้านต้องปล่อยให้ไฟป่ามอดดับไปเอง หากไฟโหมแรงในช่วงกลางคืน 

อีกด้านหนึ่ง หมู่บ้านที่ยังมีวัยรุ่น ก็พบว่าอาจเป็นผู้สร้างปัญหามากกว่าร่วมด้วยช่วยกันแก้ไข ผู้นำชุมชนท่านหนึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุไฟป่าที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง คือ กลุ่มมั่วสุมยาเสพติดในป่า จากการทำงานภาคสนามประเด็นยาเสพติดในชุมชนนั้น มักไม่ค่อยได้รับข้อมูลและไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า มียาเสพติดเชื่อมโยงกับสถานการณ์ไฟป่าฝุ่นควัน อาจเป็นไปได้ว่าไม่มีใครกล้าเปิดเผย มีเพียงการเปิดเผยอย่างไม่ตั้งใจของชาวบ้านเท่านั้น แต่สำหรับผู้นำชุมชนบางท่านที่กล้าเปิดเผยและยอมรับว่ามีแหล่งมั่วสุมยาเสพติดภายในชุมชนจริงและยากที่จะแก้ไขเพียงลำพัง จนถึงวันนี้สถานการณ์ไฟป่าลุกลามและกลายเป็นวิกฤติ ผู้นำชุมชนจึงเปิดเผยประเด็นนี้เพื่อนำไปสู่มาตรการป้องกันไฟป่าด้วย 

“ยาบ้า ฝิ่น ระบาด วัยรุ่นไม่อยู่ในหมู่บ้าน (กลุ่มเด็ก) หนีเข้าป่าตลอด เป็นเหตุให้เกิดไฟป่าได้ เป็นเด็กวัยรุ่นบ้านเราเองหลบซ่อนในป่า ไม่กล้าอยู่ในหมู่บ้านประมาณ 20 คน” 

จากบทสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน บทบาทของผู้นำกับภารกิจตามฤดูกาลฝุ่นควันและไฟป่า เป็นความคาดหวังจากภาครัฐต่อผู้นำชุมชนท้องถิ่น อาจเปรียบได้กับ ‘ความหวังที่ปลายอุโมงค์’ เช่นเดียวกับคำว่า ‘ผู้นำเข้มแข็ง ชุมชนยั่งยืน’ นอกจากจะต้องรับคำสั่งและทำตามนโยบายแล้ว ภารกิจสำคัญยิ่ง คือ ผู้นำยังต้องประสานกับชุมชน สร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับชาวบ้าน รวมถึงรายงานผลสัมฤทธิ์แก่ภาครัฐด้วย แต่มีข้อสังเกตว่า ผู้นำชุมชนจะต้องมียุทธวิธีอะไรบ้างจึงจะสร้างชุมชนยั่งยืน นอกเหนือจากยุทธวิธีเบี้ยเลี้ยงอาหารที่ได้รับสำหรับทำแนวกันไฟ 

2. “ไปดับไฟป่า!” 

หัวใจหลักและข้อท้าทายของการพัฒนาคือ การสร้างความร่วมมือของชุมชนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์วิกฤติไฟป่านั้น มีข้อสังเกตว่าชุมชนส่งเสียงตอบรับให้ความร่วมมือกับผู้นำและเจ้าหน้าที่ภาครัฐมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับตัวของผู้นำเอง ตัวเจ้าหน้าที่เอง หรือตัวโครงการและนโยบายจากภาครัฐ 

“เกณฑ์ชาวบ้านไปทำแล้วไม่มีค่าแรง … ครั้งนี้ไม่มีค่าแรงให้ ใครจะอยากไป … ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่ามีงบประมาณหรือไม่ … เกณฑ์คนไป ก็ไม่อยากไป” 

“ชาวบ้านมองเห็นไฟป่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ตื่นตัวเท่าใด แต่ก็ให้ความร่วมมือไปทำแนวกันไฟอยู่ … บางทีผู้ใหญ่บ้านไปทำแนวกันไฟไกลมาก ชาวบ้านไปวันแรกครั้งเดียว วันหลังก็ไม่มีใครไป … แต่ชาวบ้านอยากทำใกล้ๆ บ้าน ใกล้สวน … เบี้ยเลี้ยงเคยได้ 100 บาท แต่ 2 ปีมานี้ไม่มีเบี้ยเลี้ยง เพราะเอาไปใช้กับงานอื่นๆ” 

“ได้งบประมาณเป็นค่าจ้างจัดทำแนวกันไฟ … ยังไม่ประสบความสำเร็จแม้ว่าจะมีงบประมาณ … ผู้นำ เป็นเครื่องมือสำคัญของความสำเร็จในภารกิจนี้ … แต่ความร่วมมือแทบจะไม่มี เพราะชุมชนแบ่งเป็น 2 พวก คือ ให้ความร่วมมือ และไม่ร่วมมือ … ต้องดูผลจากการทำแนวกันไฟครั้งนี้ ถ้าไฟไม่เกิดขึ้น ชาวบ้านจะเข้าร่วมหรือไม่” 

บ่อยครั้งที่พบว่า ความขัดแย้งภายในชุมชนเกิดจากความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณ เมื่อมีความเคลือบแคลงจนเกิดความแตกแยกภายในชุมชนแล้ว ก็ยากที่จะดึงความไว้วางใจกลับมาได้โดยง่าย การประชุมโครงการหรืองบประมาณของหมู่บ้านที่ได้รับจากส่วนราชการจังหวัดนั้น ผู้ใหญ่บ้านมักจะเป็นตัวแทนชุมชนในการเข้าประชุมโครงการของรัฐ หากมีการสื่อสารไม่ดีพอภายในชุมชน ชาวบ้านก็ไม่มั่นใจว่ามีงบประมาณหรือไม่มี การสร้างความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์จึงต้องอาศัยการชี้แจงและสื่อสารกับชาวบ้านอย่างสม่ำเสมอถึงที่มาของงบประมาณและต้องโปร่งใส 

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การสื่อสารกับชาวบ้าน ประโยค “ไปดับไฟป่า” เป็นประโยคคำสั่งเชิงเชิญชวนเพื่อเกณฑ์คนขึ้นไปดับไฟในฤดูฝุ่นควัน “ไปดับไฟป่า” กลายเป็นกิจกรรมหลักของชุมชนและบางครั้งก็ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ จิตอาสาชุมชนท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่แค่เรียกร้องให้ช่วยดับไฟ แต่ไม่ได้สื่อสารว่าไฟป่ามีอันตรายและสำคัญอย่างไรต่อชาวบ้าน นอกจากนั้น คำสั่งกึ่งเชิญชวนยังสร้างความไม่พอใจแก่ชาวบ้าน เพราะพวกเขาถูกจำกัดหน้าที่เป็นเพียงผู้ลงมือปฏิบัติในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง ในขณะที่เจ้าหน้าที่เน้นพูดเชิญชวน มากกว่าลงมือดับไฟด้วยกัน

เหตุการณ์บานปลายจนส่งผลกระทบต่อความร่วมมือระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ จิตอาสาชุมชนสะท้อนปัญหาว่า ชาวบ้านให้ความร่วมมือแค่ 2 ใน 5 ส่วนเท่านั้น ถ้าเจ้าหน้าที่มาขอความร่วมมือก็จะมีชาวบ้านไม่ถึงครึ่งเข้าร่วม เมื่อเห็นคนอื่นๆ ไม่เคยเข้าร่วม ชาวบ้านก็เริ่มทยอยหายไปทีละคน คนที่เคยเข้าร่วมก็หายไปด้วย จนสุดท้ายจะเหลือคนที่เคยไปประจำและได้ค่าตอบแทน 300-350 บาทต่อวัน 

“ถือเป็นข้อท้าทาย” จิตอาสาฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า การสื่อสารกับชาวบ้านต้องใช้ระยะเวลาสื่อให้ชาวบ้านเข้าใจมากที่สุด เพราะชาวบ้านยังไม่ค่อยให้ความร่วมมือ หากเทียบสัดส่วนของจำนวนจิตอาสา มีแค่ 30 คน จากชาวบ้าน 500 คน นับว่าน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าขนาดใหญ่และกว้าง ส่วนมากแล้วกลุ่มจิตอาสาเป็นญาติพี่น้องกันเอง นอกจากนั้น ผู้สูงอายุนับเป็นประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน หลายๆ หมู่บ้านขาดกำลังพลที่จะขึ้นเขาไปทำแนวกันไฟ ด้วยเหตุนี้ เมื่อกำลังพลมีน้อย ประกอบกับงบประมาณไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับพื้นที่ป่าที่กว้างขวาง ผลลัพธ์จากปฏิบัติการ ‘ไปดับไฟป่า’ จึงยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แม้ว่าภาครัฐได้ส่งทหารเข้าร่วม 5 คน ต่อ 1 ตำบล แล้วก็ตาม

“ทุกคนต้องเป็นจิตอาสา” ความหวังสูงสุดของจิตอาสาชุมชนที่อยากฝากประเด็นการสื่อสารกับชุมชนให้เป็นเป้าหมายหลักของการทำงาน การสื่อสารต้องสื่อให้เข้าใจว่า “…เราทำแนวกันไฟเพราะอะไร ต้องสื่อสารแก่น ไม่ใช่คำสั่งที่พูดแค่ว่า ไปทำแนวกันไฟ เขตป่ากว้างและสูงชัน ต้องการแรงงานจำนวนมาก ยิ่งคนมาก ยิ่งช่วยได้มาก แต่ถ้าขึ้นไปร่วมกิจกรรมโดยไม่มีจิตสำนึก ไปตัวเปล่า ไม่มีน้ำไป ก็ทำอะไรไม่ได้” 

3. การดูแลชุมชนระยะยาว 

ยังมีกรณีศึกษาที่ดีด้านความร่วมมือระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งใช้เวลามากกว่า 20 ปี ในการสร้างความเข้าใจแบบค่อยเป็นค่อยไป ผ่านรูปแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ มากมายในชุมชน จนชุมชนเล็งเห็นประโยชน์จากการลงมือทำร่วมกัน และเกิดเป็น ‘การปะทะสังสรรค์อย่างมีความหมาย’

ในชุมชนบนพื้นที่สูงแห่งหนึ่ง ผู้นำศาสนาคริสต์กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านกะเหรี่ยงอยู่ในพื้นที่นี้มานานแล้วและทำไร่หมุนเวียนเพื่อยังชีพ จนกระทั่งหน่วยจัดการต้นน้ำแห่งหนึ่งได้เข้ามาถึงหมู่บ้าน การเปลี่ยนแปลงค่อยๆ เกิดขึ้น สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ไม่มีการทำไร่หมุนเวียนอีกแล้ว เพราะชาวบ้านเลิกทำมานานกว่า 40 ปีแล้ว 

แม้ว่าวันนี้จะไม่มีไร่หมุนเวียน แต่ผู้นำชุมชนยังคงบันทึกวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเก็บไว้ และเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า สมัยก่อนการทำไร่หมุนเวียนเปรียบเสมือนการทำความสะอาดป่า การจุดไฟเผาไหม้มีขึ้นทุกปี ไหม้เฉพาะใบไม้ ไฟไหม้ทุกปีจึงไม่รุนแรงมาก ไฟจะค่อยๆ ไหม้ แต่ควบคุมได้ง่าย ชาวบ้านจุดเผาไหม้ทุกปีเพื่อช่วยลดเชื้อเพลิงในป่าและลดความรุนแรงของไฟ ถ้ารัฐบาลศึกษาวิถีการทำไร่หมุนเวียนอย่างถ่องแท้ จะเข้าใจว่าการทำไร่หมุนเวียนเป็นการบริหารจัดการและควบคุมไฟป่าได้อย่างยั่งยืนแท้จริงโดยชุมชนท้องถิ่น 

เทียบกับไฟป่าในปัจจุบัน จะเห็นความแตกต่างชัดเจน แม้ว่าความถี่การเกิดไฟเผาไหม้จะน้อยกว่าสมัยก่อนและไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี เช่น 1 ปี เว้นระยะ 1 ปี หรือ 1 ปี เว้นระยะ 2 ปี ก็ตาม แต่ความรุนแรงของการเผาไหม้แต่ละครั้งนั้นมหาศาล กินพื้นที่ป่ากว้างขวาง ส่งผลให้ต้นไม้ใหญ่ตายเป็นจำนวนมาก เพราะมันไม่ใช่ไฟจากการบริหารจัดการ แต่มี ‘มือดี’ จุดไฟเผา จึงไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ดี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีไฟที่เกิดจากชุมชนเลย แต่เป็นไฟป่าจากที่อื่นๆ ลามเข้ามาในเขตป่าของหมู่บ้าน 

ผู้นำชุมชนเล่าถึงอดีตการต่อสู้ของชุมชนกะเหรี่ยงในยุคเปลี่ยนผ่านจากไร่หมุนเวียนสู่เกษตรผสมผสานว่า ยุคนั้นกฎหมายป่าไม้เน้นการปราบปรามอย่างเดียว เพราะรัฐบาลใช้ชุดข้อมูลเดียวคือ ไฟป่า เท่ากับการทำลายป่า ส่วนการเผาสวน เผาไร่ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ด้วยชุดความคิดนี้ ทำให้รัฐบาลมุ่งจัดการที่ชาวบ้านเท่านั้น เวลานั้นชุมชนกะเหรี่ยงเดือดร้อนและลำบากกันมากกับนโยบายและกฎหมายป่าไม้ เสียงของชาวบ้านไม่ดังพอ เพราะชาวบ้านพูดไม่มีน้ำหนักเท่ากับนักวิชาการ อย่างไรก็ดี การใช้กฎหมายเป็นไปตามบริบทแต่ละพื้นที่ ชุมชนกะเหรี่ยงแห่งนี้อาจจะโชคดีที่มีหน่วยจัดการต้นน้ำที่เข้าถึงชุมชนด้วยวิธีการสื่อสาร ไม่เน้นการปราบปราม เพราะถือว่าการเผชิญหน้าไม่ช่วยให้เกิดความเข้าใจ จนในที่สุด ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่หน่วยจัดการต้นน้ำอยู่ทำงานพัฒนาร่วมกับชุมชนกะเหรี่ยง ด้วยความผูกมิตรและแสดงความจริงใจของเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านจึงเรียนรู้และค่อยๆ ปรับตัวได้

คำพูดสุดท้ายที่ผู้นำกะเหรี่ยงได้ฝากไว้ “เกรงใจ เกิดจากจริงใจ” ถ้าอยากให้ชาวบ้านเกรงใจ ขอให้ใช้ความจริงใจและคุณธรรมนำแนวทางการปฏิบัติ และย้ำว่า “ความกลัว ไม่ได้เกิดจากความจริงใจ แต่มันเกิดจากการใช้อำนาจ” ที่ชาวบ้านยอมทำตามคำสั่ง ไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้จริง แต่ทำเพราะความกลัว 

จากกรณีศึกษานี้ ขออ้างอิงแนวคิด ‘การปะทะสังสรรค์อย่างมีความหมาย’ ของ ศ.ดร.เอซิโอ มานซินี่ จากหนังสือ การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน (Politics of the Everyday) เพื่อชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมของหน่วยจัดการต้นน้ำและชุมชนกะเหรี่ยงที่ร่วมกันทำมาโดยตลอด 20 ปีนั้น คือการเปิดโอกาสให้ปะทะสังสรรค์หรือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนใน กับ คนแปลกหน้า หรือคนนอกชุมชน โดยใช้บทสนทนา และกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ดึงดูดให้ผู้คนหันมาทำกิจกรรมร่วมกันอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับเล็กๆ และเอื้อต่อการก่อร่างความร่วมมือ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่การถอนรากถอนโคน และเป็นการดูแลชุมชนระยะยาว

4. การสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง 

ในหนังสือ การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน ได้กล่าวไว้ว่า

…เพื่อรักษาความร่วมมือของชุมชนให้ดำรงอยู่ในระยะยาว การสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ จำเป็นต้องเกิดขึ้นเป็นระยะ เพื่อสร้างความต่อเนื่องในเจตจำนง

จิตอาสาชุมชนคนหนึ่งที่คลุกคลีกับการดับไฟป่าทุกฤดูกาลได้เล่าสถานการณ์ให้ฟังว่า การดับไฟป่ากลายเป็นกระแส ชาวบ้านและจิตอาสาจึงต้องทำงานตามกระแส เมื่อฤดูไฟป่าฝุ่นควันมาถึง กลุ่มจิตอาสาและผู้นำจะรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อใช้งบประมาณตามที่ได้รับ และเมื่อหมดฤดูทุกคนก็แยกย้ายกลับไป เป็นที่น่าสังเกตว่า การตั้งศูนย์เฝ้าระวังมีแนวคิดที่ไม่ต่างจากรูปแบบการทำงานเฝ้าระวังอุบัติเหตุในงานเทศกาลสงกรานต์

“หน่วยงานรัฐไม่ลงทุนจริงจัง ทำงานเป็นกระแส ควรให้สนใจและลงทุนระยะยาว สม่ำเสมอ ถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ เศรษฐกิจก็จะลำบาก ถ้าเศรษฐกิจดี คนจะกลับมาอยู่บ้าน”

อาสาสมัคร อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) คนหนึ่งมีความหวังว่า การดับไฟป่าในพื้นที่กว้าง จำเป็นต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เขาเสนอวิธีดึงการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เช่น จ้างชาวบ้านเป็นกรรมการ เพื่อให้ชาวบ้านสื่อสารกับชาวบ้านด้วยกันเองแทนเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพราะในเขตพื้นที่ป่ายังมีคนแอบตัดไม้อยู่ ชาวบ้านบางคนจึงกลัวและระแวงที่จะเข้ากลุ่มร่วมกับเจ้าหน้าที่ 

เขายังเสนออีกว่า การจัดตั้งเครือข่ายป้องกันไฟป่าควรใช้งบประมาณจากรัฐ เพื่อสร้างแผนการทำงานระยะยาวต่อเนื่อง เขามองเห็นว่าการทำงานเครือข่ายป้องกันไฟป่านั้น คือการปรับรูปแบบการทำงานที่ไม่ใช่แค่จิตอาสา แต่ควรฝึกฝนเป็นผู้เชี่ยวชาญผ่านกระบวนการอบรมและเรียนรู้ มีความชำนาญสมควรแก่ค่าตอบแทนและค่าจ้างอย่างต่อเนื่อง เพราะพวกเขาเหล่านี้ต้องทำงานตลอดทั้งปี ไม่ใช่ทำงานตามกระแส นอกจากนั้นปัญหาการทำงานตามฤดูกาลยังส่งผลให้งานล่าช้า เช่น ปัญหาการเบิกเงินล่าช้าของหน่วยงาน เป็นต้น

จากบทสัมภาษณ์จิตอาสาชุมชนและผู้นำท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นว่า ศักยภาพและความเป็นหนึ่งเดียวของชุมชน เป็นหัวใจหลักของการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควัน การใช้งบประมาณและคำสั่งจากศูนย์กลางไม่เพียงพอต่อการสื่อสารและทำความเข้าใจกับชุมชนได้ ในทางกลับกัน การเปิดพื้นที่และสร้างโอกาสให้ชุมชนและบุคคลภายนอกได้ปะทะสังสรรค์อย่างมีความหมาย ได้แลกเปลี่ยน เสวนาซึ่งกันและกัน อาจเป็นทางเลือกสำหรับการสร้างชุมชนเติบโต

เช่นเดียวกับแนวคิดการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง จากหนังสือ การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน กล่าวว่า “…การสร้างสรรค์ชุมชนไม่มีวันสิ้นสุด หากต้องการก่อร่างชุมชนให้เข้มแข็ง จำเป็นต้องให้การหล่อเลี้ยงดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับแผนการพัฒนามุ่งหน้าไปสู่ขั้นตอนการดูแลและบริหารชุมชน สร้างสรรค์และออกแบบกิจกรรมใหม่ๆ ร่วมกัน ท้ายที่สุดผลิตผลที่ได้คือ การไม่หยุดนิ่งภายในชุมชนนั้นเอง รวมทั้งการเติบโตทางความรู้และความเข้าใจ” เฉกเช่นกรณีศึกษาหมู่บ้านกะเหรี่ยงและหน่วยจัดการต้นน้ำ 

อ้างอิง

มานซินี่, เอซิโอ. การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน (Politics of the Everyday). แปลโดย อนุสรณ์ ติปยานนท์. นนทบุรี: อินี่เครือข่ายนวัตกรรมสากล, 2562.

นิตินันท์ การพร้อม
เกิดกรุงเทพฯ มาใช้ชีวิตที่จังหวัดเชียงใหม่ มีบ้านเป็นหลักแหล่งที่จังหวัดกระบี่ ศึกษาและทำงานด้านพัฒนาสังคมและงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า