#SaveAmazonia ไฟป่าแอมะซอน ‘ปอดของโลก’ กำลังลุกไหม้ในเปลวเพลิง

ป่าแอมะซอนเป็นป่าฝนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ช่วยดูดซับคาร์บอนและชะลอการเกิดภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองนับล้าน รวมถึงพืชและสัตว์อีกกว่า 3 ล้านชนิด ป่าแอมะซอนกินอาณาเขตกว้าง แต่พื้นที่ส่วนใหญ่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์อยู่ในเขตแดนบราซิล

ข้อมูลจากดาวเทียมของสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติบราซิล (Instituto Nacional de Pesquisas Espaciais: INPE) เปิดเผยว่าปีนี้แอมะซอนเผชิญไฟไหม้ป่าแล้วไม่ต่ำกว่า 72,000 ครั้ง เบียดสถิติเดิมในปี 2016 ที่บันทึกไว้ว่าเกิดไฟไหม้ 68,484 ครั้งให้กลายเป็นสถานการณ์รุนแรงอันดับ 2 โดยปีนี้ทวีความรุนแรงจากปีที่แล้วถึง 84 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าบ่อยสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจในปี 2013

แม้จะเป็นเวลากลางวัน แต่เมืองเซา เปาโล (Sao Paolo) มืดทึบไปด้วยฝุ่นละอองและควันจากการเผาไหม้ เนื่องจากมีลมหอบเอาเขม่าจากรัฐแอมะซอนาส (Amazonnas) และรอนโดเนีย (Rondônia) ซึ่งอยู่ห่างออกไปเป็นระยะ 2,700 กิโลเมตร (หรือไกลกว่าระยะทางจากกรุงเทพฯ-ไต้หวัน) เข้ามาปกคลุม

ปกติแล้วบราซิลอาจเผชิญไฟป่าตามธรรมชาติอยู่บ้างในหน้าแล้ง แต่ระยะหลังนักอนุรักษ์เริ่มโทษว่าเป็นฝีมือของประธานาธิดีฌาอีร์ บอลโซนาโร (Jair Bolsonaro) ที่มีนโยบายสนับสนุนให้เพิ่มพื้นที่ทางการเกษตร แต่บอลโซนาโรปฏิเสธว่าช่วงนี้เป็น “ฤดูเผาไร่” ของเกษตรกรเพื่อเตรียมแปลงปลูก

อย่างไรก็ตาม อัลเบอร์โต เซ็ตเซอร์ (Alberto Setzer) นักวิจัยจาก INPE โต้แย้งว่าข้อมูลตัวเลขล่าสุดที่สูงจนทำลายสถิติเก่านี้ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มไฟป่าในฤดูแล้งปกติ แสดงว่าไฟที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฝีมือธรรมชาติ

“ฤดูแล้งเป็นเพียงปัจจัยที่เอื้อให้ไฟป่าลามได้ไว แต่จุดกำเนิดไฟมาจากฝีมือมนุษย์ ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือตั้งใจก็ตาม” เซ็ทเซอร์กล่าว และเสริมว่าข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนในเขตแอมะซอนปีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย แต่รวมแล้วยังปกติ

ไฟเผา ‘แอมะซอน’ เป็นสัปดาห์ที่สาม

ป่าแอมะซอนเป็นป่าฝน มีฝนตกหนักจนแทบไม่เกิดไฟป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ในปีนี้เกิดไฟไหม้ติดต่อกันแล้วมากกว่าสองสัปดาห์ ขณะนี้ขึ้นสัปดาห์ที่สาม จนรัฐแอมะซอนาสต้องประกาศภาวะฉุกเฉินและเกิดการติดแฮชแท็ก #PrayforAmazonia (ภาวนาให้ป่าแอมะซอน) บนโซเชียลมีเดียเพื่อเอาใจช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว

แม้อาณาเขตส่วนใหญ่ของป่าแอมะซอนอยู่บนแผ่นดินบราซิล แต่สถานการณ์ไฟไหม้กลับเป็นวาระนานาชาติ เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนให้คนทั่วโลก แอมะซอนถูกเรียกว่าเป็น ‘ปอดของโลก’ จากความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยก๊าซออกซิเจนมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของออกซิเจนที่ผลิตได้ทั่วโลก เป็นแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายประเภทที่สุด และเป็นความหวังในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

72,843 คือยอดการเกิดไฟไหม้ในป่าฝนแอมะซอนทั้งหมดในปีนี้ ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วมีรายงานการเกิดไฟป่าเพียง 40,136 ครั้ง และยังเหลือระยะเวลาอีกยาวไกลกว่าจะสรุปได้ว่าตัวเลขนี้มีแนวโน้มคงที่หรือเพิ่มขึ้นจนทุบสถิติตัวเองอีกครั้งระหว่างสี่เดือนที่เหลือในปี 2019

ทั้งนี้ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund: WWF) ประเมินว่า หากอัตราการทำลายพื้นที่ป่ายังเป็นเช่นนี้ ป่าแอมะซอนมากกว่า 1 ใน 4 จะกลายเป็นพื้นดินว่างเปล่าภายในปี 2030 นั่นคืออนาคตในอีกประมาณ 10 ปีเท่านั้น

ประธานาธิดีชาอีร์ โบลโซนาโร
ประธานาธิดีชาอีร์ โบลโซนาโร

กัปตัน ‘เลื่อยแหลก’ กับ ‘กษัตริย์เนโร’ ผู้ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน

เมื่อ ประธานาธิดีชาอีร์ โบลโซนาโร (Jair Bolsonaro) เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2019 เขาชูนโยบายการพัฒนานำหน้าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บอลโซนาโรสนับสนุนการทำการเกษตร ปศุสัตว์ และการทำเหมืองในเขตป่าฝน โดยไม่สนใจคำทัดทานจากนานาประเทศเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาวะภูมิอากาศโลกผันผวน ทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ต่างกล่าวว่า ป่าแอมะซอนเผชิญการสูญเสียพื้นที่ป่าในอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับแต่นั้น

จากข้อมูล INPE ระบุว่าอัตราการทำลายป่าไม้เดือนมิถุนายนปีนี้เพิ่มขึ้น 88 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ส่วนเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีการรุกป่าแอมะซอนไปแล้วกว่า 2,254 ตารางกิโลเมตร เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบ 300 เปอร์เซ็นต์ จนประธานาธิบดีบอลโซนาโรได้รับฉายาว่าเป็น ‘กัปตันเลื่อยแหลก’ (Capitao Motoserra) จากแนวโน้มการทำลายป่าแอมะซอนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง

INPE รับรองว่าข้อมูลตัวเลขเหล่านี้แม่นยำถึง 95 เปอร์เซ็นต์และมีการนำไปอ้างอิงต่อโดยสถาบันวิทยาศาสตร์หลายแห่ง อย่างไรก็ตาม บอลโซนาโรปฏิเสธว่าข้อมูลตัวเลขเหล่านี้คลาดเคลื่อนและโกหก ทำให้เขาตกเป็นเหยื่อเกมการเมืองของนานาชาติ หลังจากผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนีออกมาแสดงความกังวลเรื่องสถานการณ์ป่าไม้ภายในระเทศ

“ทีแรกก็ตั้งฉายาผมเป็นกัปตันเลื่อยแหลก ทีนี้จะให้ผมเป็นกษัตริย์เนโรผู้ทำให้แอมะซอนลุกเป็นไฟ” – “Now I am Nero, setting the Amazon aflame” บอลโซนาโรบ่นกับนักข่าว Reuters ถึงฉายาที่ไม่ดีนักของตัวเอง

ทั้งนี้ บอลโซนาโรยังกล่าวระหว่างประชุมกับผู้ค้ารถยนต์ในเมืองเซา เปาโลเมื่อต้นเดือนสิงหาคมว่า ที่ดินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของประเทศถูกทิ้งไว้อย่างเปล่าประโยชน์ เนื่องจากทำเป็นเขตอนุรักษ์ชนเผ่าพื้นเมืองหรือกิจการทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และจะไม่ให้พื้นที่แก่ชนเผ่าพื้นเมืองบราซิลอีก “แม้แต่เซ็นติเมตรเดียว” แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้นำประเทศซึ่งมีสิทธิบริหารปอดของโลก แต่ไม่ใคร่สนใจสิ่งแวดล้อมหรือภาระอนุรักษ์มากเหมือนที่ควร

โรมูโล บาติสตา (Romulo Batista) เจ้าหน้าที่แคมเปญ Greenpeace ในบราซิลกล่าวว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในบราซิลน่าเป็นห่วงอย่างมาก เขาประณามคำพูดของบอลโซนาโรว่าเป็นวาทกรรมต่อต้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซ้ำบอลโซนาโรยังหั่นงบประมาณรัฐสำหรับสนับสนุนหน่วยงานทางสิ่งแวดล้อมด้วย

ประธานาธิบดีบราซิลเคยกล่าวกับหนังสือพิมพ์ The Guardian ระหว่างลงพื้นที่ป่าแอมะซอนเมื่อปีที่แล้วว่า เขาจะจัดการพวกนักอนุรักษ์ NGO ‘ขี้ขลาด’ ที่คอยยื่นจมูกเข้ามาจุ้นจ้านกิจการภายในของบราซิล

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
bbc.co.uk
globalnews.ca
theguardian.com
vox.com

 

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า