COVID-19: นโยบายสาธารณะของรัฐรวมศูนย์ที่หลงลืมประชาชนไว้ข้างหลัง

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ทำให้เกิดปัญหาในทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะด้านการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์จนก่อให้เกิดความเสียหายหลายประการ ทว่าในความเสียหายเหล่านั้นหลายครั้งก็เกิดจากการ ‘ละเลย’ หรือ ‘หลงลืม’ ที่จะนับคนอีกหลายกลุ่มเข้าไปในสมการของการดูแลด้วยเช่นเดียวกัน

การทบทวนข้อผิดพลาดเหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเตรียมการรับมือต่อไปในอนาคต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงได้จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ ‘ทำอย่างไรเราจะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ในภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุข?: การพัฒนานวัตกรรมของกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาซับซ้อนของสังคมไทย’ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ฐิตินบ โกมลนิมิ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ

จากหลากมุมมองของนักรัฐศาสตร์ นักวิจัย นักออกแบบนโยบาย ไปจนถึงสื่อมวลชน ได้ร่วมถกเถียงพูดคุยถึงความผิดพลาดเชิงนโยบายหลายประการที่ทำให้เกิดผู้ตกหล่นและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ปอกเปลือกของปัญหา ไปจนถึงร่วมกันมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ สำหรับนโยบายสำหรับรับมือภัยอุบัติใหม่ต่อไปในอนาคต

ปัญหาที่ซับซ้อน มาจากโครงสร้างที่รองรับไม่ไหว

การสร้างกระบวนการเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนในประเทศไทย รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ มองว่า หลายความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นเพราะโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังถูกใช้งานไม่ได้มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับเหตุการณ์เช่นนี้ได้ ตัวอย่างเช่นความซ้ำซ้อนของการใช้ข้อมูล โดยเฉพาะนโยบายการนับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังสับสนอยู่ระหว่างการตรวจด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) และ RT-PCR (Real Time PCR) ที่ทับซ้อนกัน

นอกเหนือไปจากการใช้ข้อมูลที่ซ้ำซ้อน โครงสร้างการสื่อสารของภาครัฐเองก็มีปัญหา ตัวอย่างนี้เห็นได้จากการดำเนินงานของสายด่วนโควิดที่มีจำนวนน้อยและยังใช้คนทำงานรูปแบบอาสาสมัครอยู่ เมื่อการระบาดขยายวงขึ้นจึงรองรับไม่ไหว นอกจากนี้ภาครัฐยังพยายามใช้การสื่อสารด้วยการหยิบยืมถ้อยคำจากภาคเอกชนมาใช้ เช่น ชุดคำ VUCA มาปรับให้เกี่ยวข้องกับการรับมือไวรัส หรือการสร้างชุดคำอย่างมาตรการ DMHTTA ที่ รศ.ดร.นพ.บวรศม มองว่า นอกจากจะซับซ้อนเกินไปแล้ว หากถูกนำไปใช้อย่างผิดฝาผิดตัวก็อาจจะสร้างความเสียหายได้ และปัญหานี้เป็นเพราะการยึดติดกับการแก้ไขปัญหาแบบราชการมากจนเกินไป

สภาวะฉุกเฉินในช่วง 2 ปีกว่า และปัญหาโครงสร้างที่ไม่รองรับกับสภาวะฉุกเฉินนี้ รศ.ดร.นพ.บวรศม ได้เสนอชุดความคิดที่มีตัวอย่างมาจากวารสารวิชาการต่างประเทศอย่าง Science ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 2020 ในบทความชื่อ ‘Harnessing multiple models for outbreak management’ ที่นำเสนอแนวคิด ‘Triple-Loop Learning’ ในระบบบัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command System: ICS) กระบวนการนี้ถูกแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ‘Single-Loop’ จะมองว่าปัญหาได้ถูกแก้โดยนโยบายที่ทำออกไปหรือไม่ จากนั้นจะดูว่าการสร้างแนวคิดสำหรับการตอบโจทย์นโยบายที่ออกมาดีพอแล้วหรือไม่ กว้างไปหรือแคบไปอย่างไร จุดนี้ถูกเรียกว่า ‘Double-Loop’ และสุดท้ายจุดหมายของวิธีการนี้คือ ‘Triple-Loop’ ที่หมายถึงว่าเราจะเรียนรู้ต่อไปอย่างไร ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดที่การออกนโยบายในไทยยังไปไม่ถึง 

เพราะ ‘รัฐรวมศูนย์’ จึงมองไม่เห็นผู้คน

ศ.สุริชัย หวันแก้ว กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการออกนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนของสังคมไทย โดยเฉพาะปัญหาด้านการไม่ได้นับรวมคนหลายกลุ่มไว้ในกระบวนการออกนโยบายเอาไว้ว่า สภาวะฉุกเฉินกำลังเรียกร้องให้ทุกคนใช้ ‘สติของทั้งสังคม’ ในการแก้ไขปัญหา 

ศ.สุริชัย อธิบายแนวคิดดังกล่าวว่า ในสภาวะฉุกเฉินโดยเฉพาะโรคระบาดนั้นเกี่ยวข้องกับคนทุกคน ตั้งแต่คนในวงการสาธารณสุขจนถึงคนจำนวนมากที่ชีวิตยึดโยงกับเศรษฐกิจ ดังนั้นการใช้ ‘สติของทั้งสังคม’ จากคนทุกคนร่วมกันแก้ไขปัญหาจึงเป็นทางออกที่ได้ผลที่สุด มากกว่าการนำการตัดสินใจไปผูกเอาไว้ในที่ที่เดียวในฐานะ ‘สติรวมศูนย์’ 

การใช้สติรวมศูนย์สำหรับจัดการสภาวะฉุกเฉินในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้สังคมไม่ได้สนใจที่จะออกแบบระบบเพื่อส่งผ่านข้อมูลไปยังส่วนกลาง เมื่อส่วนกลางตัดสินใจเชิงนโยบายที่ไม่ได้มีความโปร่งใสก็ทำให้ความน่าเชื่อถือของนโยบายลดลงไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อสติแบบรวมศูนย์ตัดสินใจนำภาวะฉุกเฉินมาใช้กับทุกเรื่องในสังคม จนทำให้สังคมไม่เกิดการเรียนรู้ที่จะรับมือโรคระบาดนี้ร่วมกัน จุดนี้ ศ.สุริชัย มองว่าเป็นความผิดพลาดที่ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกหลายด้าน

การเรียนรู้ร่วมกันของคนทั้งสังคมในสภาวะฉุกเฉินเป็นเรื่องสำคัญมาก ศ.สุริชัย อธิบายต่อไปอีกว่า ในการระบาดระลอกแรกๆ ผู้คนต่างหวังพึ่งพาความรู้จากหมอหรือบุคลากรด้านสาธารณสุข แต่เมื่อการระบาดดำเนินต่อไปอย่างยาวนาน ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมกันกับบุคลากรเหล่านั้นเช่นกัน ไปจนถึงเรียนรู้เรื่องสมุนไพรพื้นบ้านและเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้ร่วมกับสื่อมวลชนรูปแบบใหม่ ประเด็นนี้ ศ.สุริชัย ระบุว่า หากไม่มีสื่อมวลชนหรือโซเชียลมีเดีย นโยบายรัฐหลายๆ ด้านอาจจะไม่มีการขยับตัวตาม เพราะการตัดสินใจเชิงนโยบายแบบสติรวมศูนย์ไม่ได้มีการนำเหตุผลเข้าไปพูดคุยกัน จนกระทั่งกลายเป็นปัญหา ปัญหาที่ทุกคนต้องแบกรับเนื่องมาจากการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐ

เมื่อสะพานเชื่อมข้อมูลกับผู้มีอำนาจขาดหาย นโยบายจึงตกม้าตายในตอนจบ 

จากปัญหาใหญ่ที่ทำให้การออกนโยบายของรัฐมีปัญหาหลายครั้ง ดร.สมชัย จิตสุชน มองว่า เป็นเพราะการติดขัดด้านกฎระเบียบราชการจำนวนมาก เนื่องจากไม่ว่าจะคิดหรือออกแบบนโยบายมาอย่างรัดกุมหรือครอบคลุมแค่ไหน สุดท้ายก็มักพบว่าเกิดปัญหาที่ไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ 

นอกจากระเบียบราชการแล้ว การจัดตั้งองค์กรอย่างศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยให้การตัดสินใจกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง สำหรับ ดร.สมชัย มองว่า นั่นคือหนึ่งในปัญหา เพราะว่าองค์กรเหล่านั้นมักเรียก ‘Big Names’ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการทางการแพทย์และวงการอื่นๆ เข้าไปทำงานด้วย แม้คนกลุ่มนี้จะมีความตั้งใจดี ทว่ายังคงเกิดคำถามถึงขอบเขตความรู้ของคนเหล่านั้นว่าเชี่ยวชาญเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาสำคัญที่ว่า หากต้องมีการสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปประกอบการตัดสินเชิงนโยบายจะมีช่องทางให้สามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน

ในแง่ปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างหน่วยผลิตองค์ความรู้เพื่อส่งต่อขึ้นไปยังผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบาย ดร.สมชัย ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากต่างประเทศที่แก้ไขปัญหานี้ด้วยการสร้างองค์กรที่ทำหน้าที่เป็น ‘สะพานเชื่อม’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างองค์กร Scientific Advisory Group for Emergencies (SAGE) ของสหราชอาณาจักรที่ต่อสายตรงสู่ผู้มีอำนาจได้ทันที

องค์กร SAGE เป็นองค์กรที่สร้างองค์ความรู้หลายแขนงและนำองค์ความรู้เหล่านั้นตีพิมพ์ออกมาให้สาธารณชนทราบ กระบวนการทำงานเบื้องหลังยังมีการนำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้มาจากการทำวิจัยเหล่านี้ไปเข้าสู่การประชุมถกเถียงกันภายใน ก่อนที่จะจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเข้าสู่รัฐบาลอังกฤษได้ทันที ส่วนรัฐบาลจะทำตามข้อเสนอแนะเหล่านั้นหรือไม่ก็ได้ เพราะจุดสำคัญคือข้อเสนอแนะเหล่านั้นได้เผยแพร่ออกไปยังสาธารณะแล้วนั่นเอง

ดร.สมชัย กล่าวว่า ด้วยรูปแบบการทำงานของ SAGE มีสายบังคับบัญชาที่สั้น ทำให้การส่งข้อเสนอเชิงนโยบายที่สร้างขึ้นมาบนฐานวิชาการไปถึงมือของผู้มีอำนาจได้อย่างรวดเร็ว แตกต่างจากรูปแบบของไทยที่กฎระเบียบทางราชการกำหนดให้มีสายบังคับบัญชาหลายชั้นหลายระดับ ทำให้ไม่สามารถรับประกันได้ว่าข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนั้นจะผ่านคณะกรรมาธิการขึ้นไปถึงมือของผู้ออกนโยบายได้มากน้อยแค่ไหน

กระบวนการเหล่านี้ ดร.สมชัย กล่าวว่า ประเทศไทยควรศึกษาและหาความเป็นไปได้ในการใช้งาน โดยทาง SAGE มีตำแหน่ง Chief Scientific Advisers ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลในการเสนอนโยบาย ประเทศไทยจึงควรศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งตำแหน่งที่คล้ายคลึงกันขึ้นมาได้หรือไม่ รวมไปถึงกระบวนการภายในของสาธารณสุขไทยที่สามารถยกระดับขึ้นมาเพื่อให้ใกล้เคียงกับ SAGE ได้ โดยเฉพาะการ ‘ทำงานไปวิจัยไป’ หรือ Return to Research (R2R) ที่น่าจะพัฒนาต่อไปได้

การสื่อสาร การกระจายข้อมูล และกระบวนการทำงานที่ไม่เดินไปด้วยกัน

การออกนโยบายที่มีปัญหาจนส่งผลให้เกิดการ ‘ทิ้งคนไว้ข้างหลัง’ ในหลายครั้ง ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ กล่าวว่า เป็นเพราะ 3 เรื่องที่สำคัญต่อกระบวนการออกนโยบาย คือ การสื่อสาร การกระจายข้อมูล และกระบวนการทำงานที่ไม่ไปด้วยกันกับทุกเรื่องที่กล่าวมา

ประการแรก เรื่องการสื่อสาร ดร.ชญาวดี ระบุว่า หากมีการสื่อสารที่ดี เมื่อเกิดการปรับนโยบายภาครัฐก็จะทำให้ ‘ต้นทุน’ ถูกลง แต่หากมีการสื่อสารที่ไม่ดีก็จะทำให้ต้นทุนสำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล บทเรียนสำคัญของไทยคือการที่สถานการณ์โควิด-19 มีผู้สื่อสารหลายคน โดยเฉพาะการสื่อสารในเรื่องวัคซีนที่ไม่ดีจนทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนถูกลดทอนลงไปอย่างไม่จำเป็น รวมถึงการสื่อสารของรัฐที่ไม่ได้คำนึงถึงจังหวะเวลา และเมื่อไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงก็ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลง และไม่เชื่อใจการสื่อสารของภาครัฐ

ประการที่สอง คือ เรื่องการกระจายข้อมูล ดร.ชญาวดี ระบุว่า การเข้าไม่ถึงข้อมูลกลายเป็นจุดสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้ทำข้อเสนอเชิงนโยบายไม่สามารถคาดการณ์ไปยังอนาคตได้ ตัวอย่างสำคัญคือการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของจำนวนเตียงทั้งหมดของแต่ละจังหวัดได้ ทำให้ไม่สามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์ในจังหวัดใดมีผู้ป่วยหนักมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะส่งผลต่อการทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เนื่องจากไม่สามารถรู้ได้ว่าควรออกมาตรการหนักหรือเบาแค่ไหน 

เรื่องสำคัญประการที่สาม คือ กระบวนการทำงานที่ไม่สอดคล้องกัน ไม่เกิดการพูดคุยกัน และไม่มีแพลตฟอร์มสำหรับการนำข้อมูลต่อกัน แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ใน ศบค. แล้วก็ตาม แต่ก็ทับซ้อนกับตำแหน่งในองค์การอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อเกิดการติดขัดของข้อมูลเช่นนี้จึงทำให้การทำงานเชิงนโยบายอื่นๆ ยากขึ้นไปด้วยเช่นกัน

ด้วยข้อมูลที่กระจัดกระจายนี้ ทำให้เกิดแอพพลิเคชั่นขึ้นมามากมาย รวมถึงมีนวัตกรรมที่เก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านี้อีกนับไม่ถ้วน แต่ประเทศไทยไม่สามารถนำสิ่งเหล่านี้มาประสานให้เป็นแพลตฟอร์มเดียวกัน และเป็นหนึ่งในจุดบอดของการทำงานเชิงนโยบายในสภาวะฉุกเฉินที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาอย่างยิ่ง

มาตรการรับมือโรคระบาดบนฐานคิดความมั่นคงอันคับแคบ

ปัญหาของการรับมือโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ฐิตินบ โกมลนิมิ ระบุว่า เป็นเพราะวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (pure science) อย่างเดียวใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อนโยบายสุขภาพถูกมองจากฐานคิดด้านความมั่นคง และสื่อสารออกมาในสภาพสังคมที่กำลังแตกแยกทางการเมืองอย่างรุนแรง ความละเอียดอ่อนของคนชายขอบจึงถูกมองข้ามไป จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่มีคนชั้นล่างจำนวนมากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ปัญหาสำคัญคือ อำนาจการตัดสินใจในการรับมือโรคระบาดตกอยู่ในมือทหาร โดยไม่เหลือพื้นที่ให้หมอหรือภาคประชาสังคม สำหรับฐิตินบมองว่า จุดนี้เป็นความผิดพลาดสำคัญสำหรับสังคมไทยในปัจจุบันที่มีความคิดทางการเมืองที่หลากหลาย การมองภาพการรับมือโรคระบาดจากชุดความคิดแบบความมั่นคงและมุ่งแต่การใช้วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ทำให้เกิดการละเลยปัญหาเชิงพหุวัฒนธรรมไป ตัวอย่างสำคัญที่ถูกยกมาคือ การระบาดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงมากพอๆ กับกรุงเทพมหานครตั้งแต่การระบาดระลอกแรก แต่การกำหนดนโยบายหลายครั้งกลับไม่ได้มีการคำนึงถึงคนในกลุ่มนี้เลยตั้งแต่แรก จุดนี้ฐิตินบกล่าวว่า เป็นเพราะการขาดวิธีคิดแบบมานุษยวิทยาการแพทย์ในการออกนโยบาย

ในขั้นต้นก่อนการระบาด ฐิตินบระบุว่า มีสัญญาณเตือนมาแล้วว่าจะเกิดคลัสเตอร์ใดขึ้นบ้าง เช่น กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังอย่างชุมชนแออัด กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และคนชายขอบต่างๆ ดังนั้นหากสื่อมวลชนและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้กำหนดนโยบายมากกว่านี้อาจช่วยให้การรับมือโรคระบาดครอบคลุมทุกกลุ่มคนมากขึ้น

การสื่อสารของภาครัฐนับเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่ง ในมุมมองของสื่อมวลชนอย่างฐิตินบ การสื่อสารของภาครัฐหรือ ศบค. เป็นการสื่อสารทางเดียวจนทำให้สื่อมวลชนต้องหาข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่นๆ อย่างนายแพทย์นอกกระแสไม่กี่คน หรือไม่ก็อาศัยการแปลข่าวจากสื่อต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้ชุดข้อมูลมีหลากหลายและการสื่อสารลำบากมากขึ้น อีกประการที่สำคัญคือ ชุดการสื่อสารของภาครัฐเน้นการขยายความกลัวโรคระบาดเป็นหลัก ฐิตินบกล่าวว่า การทำแบบนี้เหมือนเป็นการสะท้อนว่าภาครัฐไม่ได้เรียนรู้จากการสื่อสารเรื่องโรคเอดส์ในอดีตเลย ที่หากเราสื่อสารเรื่องโรคกับสังคมด้วยความกลัว เราก็จะไม่สามารถอยู่ร่วมกับโรคนั้นได้ ทั้งที่ความจริงแล้วโควิด-19 เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้

เมื่อเกิดความกลัวอย่างมากขึ้นในสังคม และระบบสาธารณสุขก็ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทัน ทำให้ประชาชนต้องดูแลตัวเอง ทว่าระบบสุขภาพกลับดูเหมือนจะไม่ยินยอมคืนอำนาจในการจัดการตัวเองให้แก่ประชาชน การสื่อสารเพื่อแก้ไขจุดนี้จึงสำคัญมากขึ้นในอนาคต

นอกเหนือไปจากการสื่อสารด้วยความกลัวแล้ว ภาครัฐยังสื่อสารอย่างไม่เข้าใจพหุวัฒนธรรมอีกด้วย จากที่ฐิตินบระบุไปแล้วข้างต้นว่า นโยบายภาครัฐไม่ได้สอดคล้องกับพื้นที่ที่เกิดการระบาดขนาดหนักอย่างสามจังหวัดชายแดนใต้ อย่างเช่นการระบุว่ามัสยิดเป็นสถานที่เสี่ยงเนื่องจากมีการรวมกลุ่มทำพิธีทางศาสนา ซึ่งฐิตินบกล่าวว่า การระบุชื่อเจาะจงหรือการห้ามในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประชาชนเช่นนี้จะทำให้เกิดการต่อต้านขึ้น แต่หากรัฐแค่ระบุถึงมาตรการทั่วไปอย่างเช่นการไม่รวมตัวกันเกินจำนวนที่ระบุเอาไว้ ก็อาจจะเพียงพอแล้ว

สำหรับการสื่อสารนโยบายของภาครัฐนั้น ฐิตินบมองว่า จุดบอดสำคัญคือการที่ยังสื่อสารในลักษณะ TV-centrate อยู่ หรือสื่อสารด้วยสื่อโทรทัศน์เป็นหลัก แต่โลกปัจจุบันโทรทัศน์ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป ภาครัฐยังคงใช้การสื่อสารที่เหมือนจะกล่าวโทษทุกอย่างโดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ทั้งที่โซเชียลมีเดียกำลังจะกลายเป็นอนาคต อีกทั้งวิธีการคิดหรือทำนโยบายแบบทหารไม่สามารถที่จะทำให้เกิด Data Literacy ได้ วิธีคิดแบบทหารหรือการแพทย์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถใช้ได้กับสังคมไทยที่มีปัญหาซับซ้อน แต่การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเป็นสิ่งที่คนทั้งสังคมสามารถช่วยได้ ไม่ควรผูกขาดเอาไว้ที่คนกลุ่มเดียว

ผู้ถูกลืมจากกระบวนการออกนโยบาย และผลพวงจากการผูกขาดอำนาจรัฐ 

จากทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น ผู้ร่วมเสวนาต่างระบุถึงปัญหาที่คล้ายคลึงกันว่า การตัดสินใจเชิงนโยบายแบบรวมศูนย์ในสถานการณ์วิกฤติโรคระบาดไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมนัก เนื่องจากทำให้เกิดความเสียหายมหาศาลจากการทอดทิ้งคนอีกหลายกลุ่มไว้ข้างหลัง ดังนั้นสังคมจึงควรที่จะเรียนรู้ประสบการณ์เหล่านี้ไปด้วยกัน

การตัดสินใจแบบรวมศูนย์จะยิ่งย่ำแย่มากขึ้นเมื่อผู้ออกนโยบายยึดเอาแนวคิดแบบทหารเป็นหลัก เมื่อกรอบคิดด้านความมั่นคงถูกนำมาใช้กับโรคระบาดจึงเกิดการละเลยคนชายขอบเป็นจำนวนมาก และอยู่นอกเหนือการตัดสินใจเชิงนโยบาย ประกอบกับการสื่อสารที่ใช้แนวคิดด้านความมั่นคงแบบเดียวกันก็ทำให้เกิดปัญหาอีกมากในแง่ของการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน

การหลงลืมกลุ่มคนต่างๆ ในนโยบายควบคุมโรคระบาดดังที่กล่าวไปข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมทางนโยบายด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยหัวใจสำคัญของปัญหานี้ตรงกับสิ่งที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเอาไว้ในวงเสวนา Health Justice ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ในหัวข้อ ‘แรงงานเคลื่อนเมือง: โอกาสและความเหลื่อมล้ำในสถานการณ์โควิด’ จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ว่า “นอกจากความรู้ทางการแพทย์แล้ว เรายังต้องการคนที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ผู้ประกอบการรายย่อย ฯลฯ หัวใจสำคัญคือเราต้องการการมีส่วนร่วมและโปร่งใส” สอดคล้องกับสิ่งที่ฐิตินบพยายามนำเสนอ รวมถึงประเด็นเรื่องการตัดสินใจของ ศบค. ที่มองโควิดผ่านมิติความมั่นคงเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงคนส่วนใหญ่ในสังคม 

ที่ผ่านมาการนำนโยบายไปปฏิบัติจริงและการประชาสัมพันธ์ของรัฐยังคงติดขัดกับสิ่งที่เรียกว่าระบบราชการ โดยไม่มีความยืดหยุ่นและเท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังเกิดความเสียหายในวงกว้างมากขึ้นเมื่อผู้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือกระบวนการสื่อสารกับผู้มีอำนาจได้เหมือนในต่างประเทศ ความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการและการกำหนดนโยบายของรัฐจึงยิ่งลดความน่าเชื่อถือ และทำให้การรับมือโรคระบาดยิ่งย่ำแย่ลงไปอีกในสายตาของประชาชน

หากมีการเรียนรู้จากความผิดพลาดครั้งสำคัญของรัฐครั้งนี้ อาจนำไปสู่การเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือโรคระบาดในครั้งหน้า หรือภัยพิบัติใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับสังคมในอนาคต ดังนั้นประเทศไทยต้องหาแนวทางจัดการที่มากไปกว่าความคิดแบบความมั่นคงเพียงมิติเดียว ต้องมีการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในด้านข้อมูล แพลตฟอร์มการทำงาน และกระบวนการตัดสินใจ ไปจนถึงช่องทางการสื่อสารที่โปร่งใสต่อสาธารณะ มิเช่นนั้นการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็จะไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้ใดๆ แก่สังคมไทยเลย

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า