วันที่ 25 มีนาคม 2558 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง เครือข่ายนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพและการคุ้มครองบริโภค ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อคณะกรรมาธิการปฎิรูปสาธารณสุข ต่อประเด็นการนำเสนอรายงานเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ณัฐกานต์ กิจประสงค์ ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่าตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ จะนำเสนอรายงานเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาในวันนี้ เห็นว่า ข้อเสนอในรายงานของคณะกรรมาธิการดังกล่าวนอกจากจะไม่เป็นการปฏิรูปแล้ว ยังมีลักษณะถอยหลังเข้าคลอง ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ หรือสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพแต่อย่างใด อีกทั้งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ณัฐกานต์ กล่าวว่าการวิเคราะห์ปัญหาของการปฏิรูปการคลังด้านสุขภาพขาดความรอบด้านและหลักฐานเชิงประจักษ์ เช่น จากการที่คณะกรรมาธิการฯตั้งประเด็นว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเติบโตเร็วกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีนั้น คณะกรรมาธิการฯ มองข้ามปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ ต้องหาหลักฐานเชิงประจักษ์ประกอบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไปเพิ่มขึ้นมากในส่วนใด เช่น การที่เงินเดือนบุคคลกรเพิ่มร้อยละ 10 ทุกปี หรืออาจไปกระจุกที่ค่ายารักษาโรค ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมากใน 3 ระบบสุขภาพ รัฐจ่ายให้ระบบสวัสดิการข้าราชการ มากกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถึง 6 เท่า และจ่ายให้กับคนงานในระบบระบบประกันสังคมน้อยมากการเหมารวมเช่นนี้จะทำให้เกิดภาพปัญหาที่พร่าเลือนและเสนอแนวทางปฏิรูปที่ผิดทาง
“คณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้มองปัญหาที่รัฐไม่มีกลไกการควบคุมราคายาที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีมาตรการกำกับเรื่องการตั้งราคายาต้นตำรับ หรือ การไม่สนับสนุนการใช้ยาชื่อสามัญ รวมถึงการผลักดันนโยบายการเป็นศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติ ซึ่งอาจจะไปทำให้ภาพรวมทั้งด้านงบประมาณ บุคคลากรและคุณภาพด้านสาธารณสุขมีปัญหา” ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกล่าว
ธนพล ดอกแก้ว ชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวในประเด็นเรื่องสัดส่วนการป้องกันโรคที่ระบุว่าน้อยมากเพียงร้อยละ 4.5 เท่านั้น แต่ไม่ได้มองว่า นี่มาจากงบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น ขณะที่ระบบสุขภาพอื่นๆ กลับไม่มีส่วนรับผิดชอบในเรื่องการป้องกันโรค ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญในการปฏิรูประบบการสาธารณสุขที่เน้น ‘สร้างนำซ่อม’
“ส่วนการเห็นปัญหาว่า ยังมีประชากรบางกลุ่มเข้าไม่ถึงการรักษาเป็นเรื่องที่ต้องมีแนวทางในการจัดการปัญหานี้ ที่ชัดเจน เช่น มีกลุ่มประชากรใดบ้าง และจะบริหารจัดการอย่างไร” ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าว
ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า การที่คณะกรรมาธิการฯเสนอให้จัดตั้ง National Health Policy Board (NHB) ไม่ตอบโจทย์เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพที่เป็นโจทย์ใหญ่ของปัญหา มีความซ้ำซ้อนกับกลไกที่มีอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่ภารกิจไม่ชัดเจน เพราะดูทั้งนโยบาย การเงิน และการบริการ หรือการเสนอให้สร้างกลไกในการกระจายค่าเหมาจ่ายรายหัวไปยังเขตสุขภาพโดยตรง
โดยเขตสุขภาพทำหน้าที่เป็น Purchaser โดยมีกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่กำกับและประเมินผลนั้น แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมาธิการฯไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในการทำงานของระบบสุขภาพต่างๆในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ใช่มีเพียงกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการอยู่เพียงฝ่ายเดียวอีกแล้ว
ข้อเสนอให้คำนวณค่าเหมาจ่ายรายหัวในระดับประเทศ เป็นระบบปลายปิด และการควบคุมค่าใช้จ่าย ควบคุมคุณภาพบริการ และความครอบคลุมของบริการโดยให้พื้นที่มีส่วนมากที่สุดนั้น ควรต้องทำเหมือนกันทุกกองทุนสุขภาพเพื่อการจัดการงบประมาณที่เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพสูงสุด
“ขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯพูดให้ชัดว่า การเติมเงินเข้าสู่ระบบสุขภาพมีหลายช่องทาง โดยเน้น การใช้มาตราการภาษี ซึ่งต้องสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการเสียภาษี และรัฐนำภาษีมาจัดเป็นรัฐสวัสดิการที่เป็นธรรมสำหรับคนทุกคน
“การสร้างระบบสำหรับผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ต้องมีความเป็นธรรมในด้านราคา และการสนับสนุนให้เข้าถึงบริการได้เมื่อเจ็บป่วย รวมถึงต้องจัดการลดความซ้ำซ้อนและยุ่งยากในการใช้สิทธิในแต่ละระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะ กองทุนผู้ประสบภัยจากรถ” ประธานชมรมเพื่อนโรคไตกล่าว
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข และที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ปรับปรุงรายงานตามข้อเสนอและข้อสังเกตของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการสาธารณสุขอย่างแท้จริงต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ที่มีรับจดหมายคือ นาวาอากาศเอกไพศาล จันทรพิทักษ์ โฆษกคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งได้กล่าวว่า จะทำให้ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯเป็นประโยชน์ที่สุด
———————
จดหมายเปิดผนึกถึง
คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ
ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ จะนำเสนอรายงานเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาในวันนี้ (25 มี.ค.58) พวกเรากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพซึ่งประกอบไปด้วยประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพและการคุ้มครองบริโภคเห็นว่า ข้อเสนอในรายงานของคณะกรรมาธิการดังกล่าวนอกจากจะไม่เป็นการปฏิรูปแล้ว ยังมีลักษณะถอยหลังเข้าคลอง ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ หรือสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพแต่อย่างใด อีกทั้งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของสภาปฏิรูปแห่งชาติ
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ขอตั้งข้อสังเกตต่อการวิเคราะห์ปัญหาและข้อเสนอระบบการคลังด้านสุขภาพ เพื่อคณะกรรมาธิการจะได้นำไปปรับปรุงเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการสาธารณสุขอย่างแท้จริง ดังนี้
การวิเคราะห์ปัญหาของการปฏิรูปการคลังด้านสุขภาพขาดความรอบด้านและหลักฐานเชิงประจักษ์
การที่คณะกรรมาธิการฯตั้งประเด็นว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเติบโตเร็วกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีทั้ง 3 ระบบสุขภาพหลักของประเทศ (ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบประกันสังคม) นั้น พบว่า
- คณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้ตระหนัก และยังมองข้ามปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมาย ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯควรต้องหาหลักฐานประกอบว่า จริงหรือไม่ที่งบประมาณที่ใช้ในการรักษาพยาบาลนั้นโตเร็วมาก และ ต้องหาหลักฐานเชิงประจักษ์ประกอบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไปเพิ่มขึ้นมากในส่วนใด เช่น การที่เงินเดือนเพิ่ม ร้อยละ 10 ทุกปี หรือ อาจไปกระจุกที่ค่ายารักษาโรค ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมากใน 3 ระบบสุขภาพ การเหมารวมเช่นนี้จะทำให้เกิดภาพปัญหาที่พร่าเลือนและเสนอแนวทางปฏิรูปที่ผิดทาง
- คณะกรรมาธิการมองว่า รัฐเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในสัดส่วนที่สูงขึ้น (ร้อยละ 77%) ประเด็นนี้ รัฐต้องมีวิสัยทัศน์ใหม่เรื่องการดูแลรักษาประชาชนทุกคนว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น รัฐต้องดูว่า การใช้จ่ายงบประมาณด้านนี้ได้ไปแก้หรือก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ-สร้างไม่เป็นธรรมในระบบสุขภาพอย่างไร ไม่ใช่ดูเพียงสัดส่วนงบประมาณที่เพิ่มขึ้น แต่การมองการใช้งบประมาณต้องนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐในการจัดการงบประมาณด้านนี้ให้เป็นธรรมกับระบบหลักประกันสุขภาพทุกระบบ โดยเฉพาะการแก้ความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันที่ รัฐจ่ายให้ระบบสวัสดิการข้าราชการ มากกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถึง 6 เท่า และจ่ายให้กับคนงานในระบบระบบประกันสังคมน้อยมาก
- คณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้มองปัญหาที่รัฐไม่มีกลไกการควบคุมราคายาที่มีประสิทธิภาพ, ไม่มีมาตรการกำกับเรื่องการตั้งราคายาต้นตำรับ หรือ การไม่สนับสนุนการใช้ยาชื่อสามัญ เพราะ ยาเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญของระบบสุขภาพทุกระบบ ในปี 2553 คนไทยบริโภคยามากกว่า 140,000 ล้านบาท สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ การใช้ยาต้นแบบที่มีราคาแพง กล่าวคือโรงพยาบาลของรัฐซื้อยาต้นแบบในราคาแพงกว่าราคายาอ้างอิงสากลถึง 3.3 เท่า ขณะที่ซื้อยาสามัญในราคา 1.46 เท่า ส่งผลต่อคุณภาพการรักษาและเศรษฐกิจของชาติเป็นอย่างมาก และทำให้เกิดความถดถอยของอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศ เมื่อปัญหานี้ไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหาทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่ ทำให้การปฏิรูปไม่อาจที่จะประสบความสำเร็จ
- เรื่องสัดส่วนการป้องกันโรคที่คณะกรรมาธิการฯระบุว่าน้อยมากเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น แต่ไม่ได้มองว่า นี่มาจากงบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น ขณะที่ระบบสุขภาพอื่นๆกลับไม่มีส่วนรับผิดชอบในเรื่องการป้องกันโรค ทั้งๆที่เป็นประเด็นสำคัญในการปฏิรูประบบการสาธารณสุขที่เน้น ‘สร้างนำซ่อม’
- การมองปัญหาว่า ยังมีประชากรบางกลุ่มเข้าไม่ถึงการรักษา เป็นมุมมองที่ดีที่สุดในข้อเสนอนี้ แต่ต้องมีแนวทางในการจัดการปัญหานี้ ที่ชัดเจน เช่น มีกลุ่มประชากรใดบ้าง และจะบริหารจัดการอย่างไร
- สิ่งที่ขาดหายไปในการมองปัญหาของ คณะกรรมาธิการฯคือ ปัญหาที่เกิดจากนโยบายการเป็นศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติที่แม้จะสร้างรายได้และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ แต่ในขณะเดียวกันด้วยข้อจำกัดของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย นโยบายนี้มีส่วนให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพของประชาชนไทยได้โดยเฉพาะการดึงบุคลากรทางการแพทย์ออกจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน, ค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระบบ หากมองข้ามปัญหานี้ ก็จะไม่นำไปสู่ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหา
กลไกการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพระดับชาติ
- การที่คณะกรรมาธิการฯเสนอให้จัดตั้ง National Health Policy Board (NHB) ไม่ตอบโจทย์เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพที่เป็นโจทย์ใหญ่ของปัญหา, มีความซ้ำซ้อนกับกลไกที่มีอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่ภารกิจไม่ชัดเจน เพราะดูทั้งนโยบาย การเงิน และการบริการ
- ข้อเสนอให้คำนวณค่าเหมาจ่ายรายหัวในระดับประเทศ เป็นระบบปลายปิด ควรต้องทำเหมือนกันทุกกองทุนสุขภาพเพื่อการจัดการงบประมาณที่เป็นธรรมและเป็นการเพิ่มเม็ดเงินเข้ามาในระบบ
- ข้อเสนอให้สร้างกลไกในการกระจายค่าเหมาจ่ายรายหัวไปยังเขตสุขภาพโดยตรง โดยเขตสุขภาพทำหน้าที่เป็น Purchaser โดยมีกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่กำกับและประเมินผลนั้น แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมาธิการฯที่มีข้อเสนอเช่นนี้ มิได้มีความรู้ความเข้าใจในการทำงานของระบบสุขภาพต่างๆในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ใช่มีเพียงกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการอยู่เพียงฝ่ายเดียวอีกแล้ว
- สำหรับข้อเสนอการสร้างกลไกในการควบคุมค่าใช้จ่าย ควบคุมคุณภาพบริการ และความครอบคลุมของบริการโดยให้พื้นที่มีส่วนมากที่สุดนั้น ข้อเสนอนี้ควรเสนอให้เป็นรูปธรรมและเป็นไปทุกระบบหลักประกันสุขภาพ
แหล่งเงินที่จะนำเข้าสู่ระบบ
- ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯต้องพูดให้ชัดว่า การเติมเงินเข้าสู่ระบบสุขภาพมีหลายช่องทาง โดยเน้น การใช้มาตราการภาษี ซึ่งต้องสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการเสียภาษี และรัฐนำภาษี มาจัดเป็นรัฐสวัสดิการที่เป็นธรรมสำหรับคนทุกคน
- การสร้างระบบสำหรับผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ต้องมีความเป็นธรรมในด้านราคา และ การสนับสนุนให้เข้าถึงบริการได้เมื่อเจ็บป่วย
- ต้องจัดการลดความซ้ำซ้อนและยุ่งยากในการใช้สิทธิในแต่ละระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะ กองทุนผู้ประสบภัยจากรถ
- และจากการวิเคราะห์ปัญหาที่ขาดหายไป คือ ปัญหาที่เกิดจากนโยบายการเป็นศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติ ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ปัญหานี้ ทางคณะกรรมาธิการฯ พึงทำตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย[1] ในการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านลบจากนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ นั่นคือ การคิดภาษีเพิ่มเติมจากคนต่างชาติที่มารักษาพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งนักวิจัยชี้ว่า แม้จะมีการคิดภาษีเพิ่มแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้ความสามารถทางารแข่งขันของประเทศไทยเสียไปในตลาดนี้ เพราะค่ารักษาพยาบาลของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นต่ำมาก โดยนำงบประมาณที่ได้ในส่วนนี้ไปเสริมสร้างศักยภาพและทำให้อาจารย์แพทย์สามารถทำงานในโรงเรียนแพทย์ของรัฐต่อไป และนำไปเพิ่มแรงจูงใจให้แพทย์และบุคลากรต่างๆสามารถทำงานอยู่ในชนบทต่อไปได้ ซึ่งจะสามารถแบ่งเบาปัญหาภาระทางการคลังของประเทศได้ส่วนหนึ่ง
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข และที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ปรับปรุงรายงานตามข้อเสนอและข้อสังเกตของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการสาธารณสุขอย่างแท้จริงต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
25 มี.ค.58