เรื่อง: ปกป้อง จันวิทย์
ท่ามกลางความพยายาม ‘ล้ม’ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผ่านข้อเสนอ ‘การร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล’ (co-pay) ดังที่เป็นข่าวในช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 นั้น ข้อเสนอของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่สวนกลับว่า ถ้าคิดว่าระบบร่วมจ่ายมันดีกว่าและจำเป็นต้องทำ ก็ขอให้เริ่มทดลองใช้กับ ‘ระบบสวัสดิการข้าราชการ’ ก่อนระบบอื่น เป็นข้อเสนอที่ ‘เด็ดขาดบาดใจ’ เหลือเกิน
ถ้าคิดว่าระบบหลักประกันสุขภาพที่ช่วยเหลือคน 48 ล้านคนทั่วประเทศที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการและระบบประกันสังคม สิ้นเปลืองงบประมาณ และทำให้เกิดการใช้บริการพร่ำเพรื่อเพราะเป็นของฟรี ลองหันไปดูข้อมูลของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพที่ชี้ว่า ระบบสวัสดิการข้าราชการที่มีสมาชิกประมาณ 5 ล้านคน มีการเบิกเงินกันปีละ 6 หมื่นล้านบาท ตกหัวละ 12,000 บาทต่อปี ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ดูแลคน 48 ล้านคน ได้รับจัดสรรงบประมาณปีละประมาณ 1.1 แสนล้านบาท – ตกหัวละ 2,755.60 บาทต่อปีเท่านั้น
ดูตัวเลขแล้วไม่แน่ใจว่าระบบไหนควรจะต้องถูกปฏิรูปก่อนกัน ผมไม่ได้หมายความว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมันดีเลิศจนไม่ต้องแก้ไขอะไรทั้งสิ้นแล้ว รายละเอียดหลายอย่างควรจะต้องทบทวน แต่ในเรื่องหลักการหรือจิตวิญญาณของความเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำเป็นต้องรักษาไว้
ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งคนทั่วไปอาจจะคุ้นกับชื่อ ‘30 บาท รักษาทุกโรค’ มากกว่า ไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่เป็นการสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่ช่วยเหลือทุกคนอย่างถ้วนทั่ว เพราะมันเปลี่ยนสถานะของบริการสาธารณสุขจาก ‘สินค้า’ (ในระบบตลาดที่คนมีเงินเท่านั้นที่เข้าถึงได้) หรือ ‘ส่วนบุญ‘ (ในระบบสังคมสงเคราะห์ที่ต้องพกบัตร ต้องจน ต้องถูกแบ่งแยกกดต่ำ ต้องแสดงให้เห็นว่าตน ‘ด้อย’ กว่าจึงจะได้รับความช่วยเหลือ) ให้เป็น ‘สิทธิ์’ ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
เป็น ‘สิทธิ์’ ที่ไม่ต้องร้องขอ และไม่ต้องรอให้ใครอนุมัติก่อน
ประเด็นนี้มีความสำคัญมากและถือเป็นจิตวิญญาณของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ว่าได้ เพราะมันเปลี่ยนผ่านความสัมพันธ์เชิงอำนาจแนวดิ่งที่หมอหรือโรงพยาบาลถือครองอำนาจเหนือกว่าผู้ป่วย มาเป็นความสัมพันธ์เชิงพันธสัญญาที่หมอหรือโรงพยาบาลต้องกลายมาเป็นผู้ให้บริการผู้ป่วยไม่ว่าเขาจะยากดีมีจน มีการศึกษาสูงต่ำเพียงใด มันทำให้พลังอำนาจของหมอกับคนไข้เข้าใกล้กันมากขึ้น
หลายคนถึงกล่าวว่า การเกิดขึ้นของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2545 ถือเป็นการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขครั้งสำคัญที่สุดของประเทศไทย และเป็นตัวอย่างชั้นดีที่ชี้ให้เห็นว่าการปฏิรูปครั้งใหญ่ในสังคมเกิดขึ้นได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ตัวอย่างชั้นดีที่สุดในชั่วชีวิตของผมคือ การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราทำเรื่องที่ยากที่สุดเรื่องหนึ่งได้สำเร็จภายใต้ระบอบประชาธิปไตย หรือถ้าเราไม่ลืม ระบบประกันสังคมก็เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลประชาธิปไตยเช่นกัน
กรณีการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าบอกเราว่า เมื่อประชาชนหลากหลายกลุ่มรวมพลังกันเรียกร้องต่อเนื่อง มีงานวิชาการที่ดีหนุนหลัง พยายามทำความเข้าใจกับประชาชนวงกว้างผ่านสื่อและกิจกรรมทางสังคมต่างๆ พยายามหาวิธีทำงานกับนักการเมืองผู้กำหนดนโยบาย สุดท้ายนักการเมืองที่ต้องรับผิดรับชอบต่อประชาชน ก็ต้องฟังและตอบสนองต่อเสียงเหล่านั้น จะได้มากน้อยสมใจแค่ไหนก็ต้องต่อสู้กันต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นกระบวนการต่อเนื่องไม่รู้จบ ไม่จบแค่เข็นกฎหมายออกมาบังคับใช้
แน่นอนว่า กระบวนการเหล่านี้ต้องออกแรงเหนื่อยหนัก เพราะมันไม่มักง่าย ไม่ใช่การเดินทางลัดข้ามหัวประชาชน ไม่ได้เปลี่ยนผ่านด้วยอำนาจที่ไม่ชอบธรรม แต่ด้วยเหตุผลและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของทั้งสังคม กระนั้น ข้อดีของมันก็คุ้มเหนื่อย เพราะหากเริ่มต้นได้สำเร็จ มันจะอยู่ยั่งยืน คนจะรู้สึกหวงแหน และพร้อมต่อสู้หากจะมีใครไปพรากสิทธิของเขาไป ก็ ‘มันเป็นของเขา’ นี่ครับ
ผลประโยชน์ของข้าราชการกระทรวงที่อยากจะล้มหรือทำหมันระบบ เพราะส่วนหนึ่งอยากจะดึงงบฯกลับมาที่กระทรวง (งบฯภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายิงตรงไปที่โรงพยาบาลเป็นรายหัว โดยไม่ต้องผ่านกระทรวงสาธารณสุข) หรือผลประโยชน์ของสถานพยาบาลเอกชนที่คิดว่าจะได้ประโยชน์มหาศาลหากล้มระบบนี้สำเร็จ ก็ไม่น่าจะเอาชนะพลังของประชาชนที่ต้องการปกป้องสิทธิ์อันพึงได้ของตน ก็ ‘มันเป็นของเขา’ แล้วนี่ครับ
พูดถึงกรณีระบบหลักประกันสุขภาพแล้ว ชวนนึกไปถึงคำพูดของหลายคนที่ชอบบอกว่า ระบอบประชาธิปไตยสร้างการปฏิรูปไม่ได้ นักการเมืองไม่คิดปฏิรูปหรอก เพราะตัวเองเสียประโยชน์ หลายคนที่คิดแบบนี้แอบหวังลึกๆ ว่า รัฐประหารแต่ละครั้งคือโอกาสเปิดในการเปลี่ยนแปลงประเทศในแบบที่เขาอยากให้เป็น…อ้าว แล้วไม่คิดบ้างหรือครับว่าระบอบเผด็จการทหาร ซึ่งมีข้าราชการเป็นใหญ่ โดยเฉพาะกองทัพ ไม่คิดปฏิรูปหรอก เพราะตัวเองเสียประโยชน์ พรรคราชการหรือพรรคทหารนี่ก็ผลประโยชน์ไม่แพ้พรรคการเมืองนะครับ ไม่ได้ยืนเด่นเป็นกลางแต่อย่างใด ถ้าใช้ตรรกะเดียวกัน ข้าราชการในระบบราชการจะมีศักยภาพในการเป็นผู้นำปฏิรูปได้อย่างไร ถ้าพูดถึงการถูกปฏิรูปละก็ว่าไปอย่าง (ฮา)
แล้วทำไมนักเปลี่ยนแปลงสังคมหลายคนถึงคิดกันแบบนั้น? ก็ภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร มันผลักดันอะไรง่ายกว่าสบายกว่าไงครับ เราแค่หาทางต่อสายกับผู้มีอำนาจให้เจอ ล็อบบี้ให้อยู่หมัด ไม่ต้องเสียเวลาไปคุยกับหลายคนหลายฝ่ายให้วุ่นวาย คำถามก็คือ แล้วประชาชนที่เข้าไม่ถึงผู้มีอำนาจละ เขาจะแสดงออกอย่างไร จะคัดค้านแลกเปลี่ยนกรณีที่ไม่เห็นด้วยอย่างไร เราถือสิทธิ์สูงส่งกว่าคนอื่นอย่างไร เราแน่ใจได้อย่างไรว่าข้อเสนอของเราดีที่สุดแล้ว ใครตรวจสอบเรา และเราเข้าใจมิติอื่น มุมมองอื่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องอื่น อย่างรอบด้านแล้วจริงๆ หรือ
ในโลกที่ซับซ้อนขึ้น ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ โมเดลเผด็จการ + คนดี + คนเก่ง มันตอบโจทย์โลกยุคใหม่ไม่ได้แล้วครับ คนอื่นๆ ในสังคมที่ถูกข้ามหัวไปเขาก็ไม่ยอมแล้วด้วย การผลักดันนโยบายสาธารณะจึงไม่มีทางอื่น นอกจากสนทนากับสังคม กับประชาชน ในบรรยากาศที่เท่าเทียมและทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่การปิดห้องคุยกับผู้มีอำนาจดังที่เคยทำสำเร็จกันมาในอดีต
เช่นนี้แล้วจึงมีแต่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่สร้างการปฏิรูปอย่างยั่งยืนได้ ถ้าวันนี้มันยังทำหน้าที่ของมันได้ไม่ดี ก็ต้องปฏิรูปประชาธิปไตยให้มีประสิทธิภาพและสร้างความเป็นธรรมได้ดีขึ้น ให้ประชาธิปไตยใช้ปฏิรูปประเทศไทย สร้างการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองความต้องการของประชาชนวงกว้างได้ดีขึ้น
พูดมาทั้งหมด มันไม่ง่ายหรอกครับ ต้องใช้เวลา ต้องใช้แรง ต้องใช้ความรู้ ต้องใช้พลังผลักดัน แต่มันไม่มีทางอื่น และมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากคุณเชื่อว่าประเทศไทยเป็นของพวกเราทุกคนและคนเราเท่ากัน
****************
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY 76 ฉบับเดือนสิงหาคม 2557