ทุนนิยมที่ไร้หัวใจกับความเปราะบางเหลือทนของชีวิตคนทำงาน

‘VIPA Film Festival’ เทศกาลภาพยนตร์สะท้อนความเหลื่อมล้ำ โดย Thai PBS และ Documentary Club ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 21-23 กรกฎาคม 2566 นี้ จะนำภาพยนตร์สารคดี 3 เรื่อง ได้แก่ Push (2019) May I Quit Being a Mom!? (2020) และ After Work (2023) มาเปิดฉาย ซึ่งภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องมีความเกี่ยวโยงกับสังคมทุนนิยมที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของคนยุคปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ ในบทความนี้จึงอยากชวนดูความเปราะบางของชีวิตภายใต้อิทธิพลทุนนิยม ผ่านเรื่องราวที่ภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องต้องการนำเสนอและตั้งคำถาม

หากทำความรู้จักกับทุนนิยมแล้วจะเห็นว่า ทุนนิยมเป็นระบบที่สร้างการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แต่ปัญหาที่อาจเรียกได้ว่าทุกประเทศที่ดำเนินเศรษฐกิจในรูปแบบของทุนนิยมต้องเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการไม่สามารถกระชับช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ยิ่งเศรษฐกิจโต ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยยิ่งชัดเจนขึ้น นอกจากนี้วิถีชีวิตของพลเมืองโลกยังถูกกำหนดด้วยพลวัตของทุนนิยม ไม่ว่าจะฝักใฝ่ทุนนิยมหรือไม่ แต่ด้วยความลื่นไหลของระบบที่กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิต จึงต้องหันกลับมาบอกตัวเองว่า “ยังไงก็ต้องใช้ชีวิตอยู่กับมัน”

เรื่องราวของภาพยนตร์สารคดีทั้งสามเรื่องได้หยิบยกสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไปมานำเสนอ แต่กลับพบความเกี่ยวโยงกันของชีวิตเปราะบางของผู้คนในโลกทุนนิยม ภาพยนตร์เรื่อง After Work ที่มุ่งเล่าเรื่องราวของ ‘งาน’ อย่างตรงไปตรงมา ชวนตั้งคำถามถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน รวมถึงการนิยามคุณค่าของตนเองในโลกทุนนิยม และภาพยนตร์เรื่อง Push ที่เล่าถึง ‘ราคาที่พักอาศัยในเมือง’ ที่แพงจนดูเหมือนจะเป็นการผลักไสผู้คนทางอ้อม ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องมีเรื่องราวที่สัมผัสกับชีวิตคนที่ดำเนินอยู่ในโลกทุนนิยมโดยตรง มีการตั้งคำถามและนิยามคุณค่าของคนจากงาน รวมถึงการที่ต้องเผชิญกับภาวะค่าที่อยู่อาศัยแพงจนเกินจ่ายไหว เป็นความเปราะบางที่ทุนนิยมหยิบยื่นให้กับชีวิตคนทั้งสิ้น

การเติบโตของทุนนิยมในทุกวันนี้มักแลกกับความอ่อนแอลงของแรงงานที่มีอำนาจในการต่อรองน้อยลงไป เมื่อนายทุนมีอิทธิพลต่อโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ในขณะเดียวกันแรงงานก็เป็นกลุ่มผู้บริโภค เป็นอีกตัวแสดงที่สำคัญในวงจรทุนนิยม ซึ่งไม่เพียงแค่ถูกกำหนดคุณค่าด้วยงาน แต่กลับต้องมารับภาระค่าครองชีพที่แสนหนักหน่วงอีกด้วย

แม็กซ์ ไคลน์ (Max Klein) ได้กล่าวถึงทุนนิยมในปัจจุบันในบทความเรื่อง Precarious work: a Marxist explanation (2019) ไว้ว่า นายทุนทำให้คนทำงานเป็นผู้แบกรับวิกฤตทางเศรษฐกิจ ด้วยการลดค่าจ้าง ทำงานหนักขึ้น และขยายเวลาทำงาน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่คนทำงานทั่วโลกกำลังเผชิญ จึงเป็นที่มาของความเปราะบางที่เกิดขึ้นในชีวิตผู้คน

ภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย May I Quit Being a Mom!? เนื้อเรื่องเล่าถึง ‘มนุษย์แม่’ ที่ต้องพบเจอกับปัญหาที่ประเดประดังเข้ามาหลังคลอด มุมมองที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการหยิบยื่นคือ การที่สังคมนั้นผลักภาระการเลี้ยงดูลูกให้กับผู้หญิง สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศและค่านิยมปิตาธิปไตย หากแต่เรามองลึกลงไป ความเปราะบางที่คนเป็นแม่ได้รับก็มีความเกี่ยวโยงอยู่กับทุนนิยมเช่นเดียวกัน

แนวคิด ‘ปิตาธิปไตยทุนนิยม’ (capitalist patriarchy) ถูกกล่าวถึงตั้งแต่ปี 1979 ผ่านงานศึกษาเรื่อง Capitalist Patriarchy and The Case for Socialist Feminism ของ ซิลลาฮ์ ไอเซนสไตน์ (Zillah Eisenstein) ซึ่งวิเคราะห์บนฐานคิดที่ว่า หากแยกปิตาธิปไตยและทุนนิยมออกจากกัน จะไม่สามารถทำความเข้าใจความเจ็บปวดของผู้หญิงได้เลย การศึกษาของเขาได้วิเคราะห์และสะท้อนให้เห็นอำนาจชายเป็นใหญ่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ในบริบทความเป็นจริงที่ผู้หญิงต้องรับบทบาทแม่ ความจำเป็นของทุนนิยมจึงบีบบังคับให้ผู้หญิงไม่ถูกจ้าง หรือได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย จนนำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องสิทธิการทำงานหรือการลาคลอดของผู้หญิง ซึ่งแนวคิดนี้มองว่าเป็นการปรับตัวของปิตาธิปไตยทุนนิยม

ในขณะเดียวกัน ไฮดี้ ฮาร์ทแมนน์ (Heidi Hartmann) เจ้าของผลงาน Capitalism, Patriarchy, and Job Segregation by Sex (1976) ได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงกันของปิตาธิปไตยและทุนนิยมเช่นเดียวกันว่า การดำรงอยู่ของทุนนิยมส่งผลกระทบต่อผู้หญิงเป็นอย่างมาก เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้นายทุนที่ต้องการสะสมทุน แทนที่แรงงานชายด้วยแรงงานหญิงที่ทักษะต่ำและค่าแรงถูกกว่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากปิตาธิปไตยเพื่อผลประโยชน์ของนายทุน

เรื่องราวภาพยนตร์สารคดีทั้งสามเรื่อง สะท้อนความเหลื่อมล้ำภายใต้การเติบโตของเศรษฐกิจทุนนิยมที่ไม่สามารถแบ่งปันผลประโยชน์ให้ผู้คนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมได้ คนวัยทำงานจำนวนไม่น้อยจึงตกอยู่ในสภาพวิตกกังวลกับสถานะของตนเองที่ห้อมล้อมไปด้วยปัจจัยที่ทำให้ชีวิตเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นอาชีพการงาน ที่อยู่อาศัย หรือกระทั่งบทบาทการเป็นแม่

ชวนดูมุมมองสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่หลายสังคมกำลังเผชิญหน้าอยู่ จากภาพยนตร์สารคดีคุณภาพทั้งสามเรื่องที่ตั้งคำถามคัดง้างกับทั้งทุนนิยมและค่านิยมของสังคมได้เป็นอย่างดี

อ้างอิง:

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า