เฮนรี เอ. คิสซิงเจอร์ (Henry A. Kissinger) รัฐบุรุษผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1973 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ในสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้านพักในมลรัฐคอนเนตทิคัต ในวัย 100 ปี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ตรงกับวันที่ 30 พฤศจิกายน ตามเวลาประเทศไทย
คิสซิงเจอร์ ถือเป็น ‘สถาปนิก’ ที่ทรงอิทธิพลในการเมืองโลกมากที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 ในการจัดระเบียบโลก (world order) ในยุคสงครามเย็น ผ่านแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบสัจนิยม (realism หรือ realpolitik) หรือการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐตามความเป็นจริงให้บรรลุสันติภาพและเสถียรภาพ ทั้งการสร้างสันติภาพและความขัดแย้งที่ทำให้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิต จนกลายเป็น ‘บุคคลที่ได้รับการถกเถียง’ (controversial figure) มากที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะการได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1973 ขณะที่สหรัฐกลับสุมไฟเข้าไปในสงครามเวียดนาม ในอีกทางหนึ่ง คิสซิงเจอร์คือผู้นำมาซึ่งสันติภาพฃระหว่าง ‘อาหรับ-อิสราเอล’ ในช่วงปี 1973 ภายหลังสงครามยมคิปปูร์ (The Yom Kippur War) เป็นต้น
มรดกของคิสซิงเจอร์ที่ได้ทิ้งเอาไว้ในการเมืองโลกตลอดศตวรรษที่ 20 และอาจรวมไปถึงศตวรรษที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ ทั้งการสร้างสันติภาพและความขัดแย้งมีอะไรบ้าง WAY จะชวนทุกท่านสำรวจ 5 นโยบายการต่างประเทศของคิสซิงเจอร์ ทั้งการสร้างสันติภาพแบบ realpolitik และการสุมไฟสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้นจนทำให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องเสียชีวิต
1. จำกัดสงครามนิวเคลียร์ (Limited Atomic War)
จากงานเขียนเรื่อง Nucler War and Foreign Policy ในปี 1957 คิสซิงเจอร์เชื่อว่า การจำกัดการทำสงครามนิวเคลียร์จะสามารถนำมาสู่ชัยชนะได้ ดังนั้นการใช้ขีปนาวุธขนาดเล็กอย่างมีชั้นเชิง (tactic) และยุทธศาสตร์ (strategic) จึงสมเหตุสมผลมากกว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งแนวคิดของเขาได้รับการสานต่อในฐานะนโยบายการต่างประเทศในสมัยประธานาธิบดีนิกสัน
2. ผ่อนคลายความตึงเครียดในช่วงสงครามเย็น
การผ่อนคลายความตึงเครียด (détente) เป็นหนึ่งในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่สำคัญของสหรัฐ เพื่อลดความตึงเครียดของสงครามเย็นที่ระอุไปทั่วโลก โดยเฉพาะกับมหาอำนาจในโลกสังคมนิยมคือ สหภาพโซเวียต เช่น การลดการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ คิสซิงเจอร์ยังดำเนิน ‘การทูตลับ’ กับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 1972 ทำให้ประเทศในโลกเสรีจำนวนมากต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นนโยบายสถาปนาความสัมพันธ์ตามสหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นความพยายามของสหรัฐในการลดทอนอำนาจของสหภาพโซเวียตในการเมืองโลก เมื่อสหภาพโซเวียตเกิดความขัดแย้งด้านพรมแดนกับจีนแผ่นดินใหญ่ จนหลายคนเรียกความสัมพันธ์ของทั้ง 3 ชาตินี้ว่า ‘ความสัมพันธ์แบบสามเส้า’
3. การถอนตัวของสหรัฐจากสงครามเวียดนาม
สหรัฐส่งกำลังทหารเข้าร่วมรบสงครามเวียดนามอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1965 จนในเวลาต่อมาเกิดฉันทามติของชาวอเมริกันจำนวนมากที่ต้องการให้สหรัฐยุติการส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามเวียดนาม ต่อมาประธานาธิดีนิกสันให้คำมั่นในการในการยุติสงครามเวียดนาม หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Peace with Honour’ หรือ การยุติสงครามเวียดนามอย่างสง่างาม
คิสซิงเจอร์ได้เดินทางไปเจรจากับนักการทูตและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ เล ดึ๊ก เถาะ(Lê Đức Thọ) หลายครั้ง จนกลายมาเป็น ‘ข้อตกลงสันติภาพปารีส’ (Paris Peace Accords) ในปี 1973 อันเป็นผลให้สหรัฐถอนทหารออกจากเวียดนาม ทำให้ทั้งคิสซิงเจอร์ และ เล ดึ๊ก เถาะ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1973 ซึ่งเลได้ปฏิเสธการรับรางวัลดังกล่าว ขณะที่การได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของคิสซิงเจอร์เป็นที่ถกเถียงอย่างมาก เนื่องจากเขาเห็นด้วยกับการทิ้งระเบิดในกัมพูชา ทำให้กรรมการรางวัลโนเบล 2 คน ลาออกจากตำแหน่ง
4. ทิ้งระเบิดสังหารหมู่ผู้บริสุทธิ์ในกัมพูชา
แม้ว่าสหรัฐกับเวียดนามเหนือจะอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อยุติสงครามเวียดนาม แต่คิสซิงเจอร์กลับให้การสนับสนุนแผนการทิ้งระเบิดในกัมพูชา เพื่อสกัดกั้นการเดินทัพของเวียดนามเหนือบนเส้นทางโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh Trail) ที่ต้องการรวมชาติเวียดนาม และการทำลายฐานที่มั่นของเขมรแดง
ในระหว่างปี 1969-1973 ระเบิดจำนวน 2.7 ล้านตัน ถูกใช้ในการถล่มกัมพูชาเพื่อสกัดกั้นคอมมิวนิสต์ ประชาชนผู้บริสุทธิ์มากกว่า 100,000 ราย เสียชีวิต อันเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เขมรแดงอาศัยความโกรธแค้นของประชาชนชาวกัมพูชาเป็นข้ออ้างสนับสนุนการเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลลอน นอล (Lon Nol) ซึ่งสหรัฐอยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (Norodom Sihanouk) จนในที่สุดการยึดอำนาจการปกครองของเขมรแดงนำไปสู่การฆ่าล้างพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 20
5. สันติภาพอาหรับ-อิสราเอล
คิสซิงเจอร์เป็นตัวประสานเพื่อการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลางจากความขัดแย้งระหว่างอาหรับ-อิสราเอล หลัง ‘สงครามยมคิปปูร์’ (Yom Kippur War) ด้วยภารกิจตัวกลางทางการทูต (Shuttle Diplomacy) ระหว่างผู้นำอิสราเอลและผู้นำโลกอาหรับ ในระยะเวลา 32 วัน ด้วยการดึงความร่วมมือจากอียิปต์และโดดเดี่ยวซีเรียออกจากประชาคมโลก และลดทอนอำนาจของสหภาพโซเวียตในตะวันออกกลาง เพื่อป้องกันการเกิดสงครามในอนาคต
อ้างอิง:
- Henry Kissinger: Divisive diplomat who shaped world affairs
- Henry Kissinger Is Dead at 100; Shaped Nation’s Cold War History
- Kissinger: The View From Vietnam