ประวัติศาสตร์ของการบุกรุกป่า กับลักษณะสองมาตรฐานของการทวงคืน

ผลการตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หมู่ 6 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เบื้องต้นพบว่า การครอบครองพื้นที่ดังกล่าวรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เป็นที่ทราบกันว่าพื้นที่ดังกล่าวครอบครองโดย นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ

คำอธิบายของเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีอยู่ว่า ที่ดินดังกล่าวเป็น ‘พื้นที่ติดแปลง’ ยังไม่รังวัดจัดสรร ทำให้เข้าเงื่อนไขถือครอง ส.ป.ก. 50 ไร่ตามคุณสมบัติ จึงยังไม่สามารถฟ้องดำเนินคดีได้ และหาก สส.ปารีณายอมรับที่จะรังวัดที่ดินสอบแนวเขต ส.ป.ก. ใหม่ ต้องรับเงื่อนไข สามารถถือครองหรือทำกินบนที่ ส.ป.ก. ได้ไม่เกิน 50 ไร่ต่อราย และต้องมาดูคุณสมบัติของ สส.ปารีณา ว่าเป็นเกษตรกรหรือไม่ ส่วนจะให้สอบแนวเขตหรือรังวัดใหม่ เลขาฯ ส.ป.ก. บอกว่า สามารถทำได้

กรณีการบุกรุกป่าของปารีณา ช่วยจุดประกายให้สังคมไทยหันมาสนใจปัญหาการถือครองที่ดินอย่างไม่เป็นธรรมอีกครั้ง รายงานชิ้นนี้เป็นความพยายามชวนผู้อ่านมองการเปลี่ยนแปลงของการจัดสรรพื้นที่ป่าไม้ไทยจากมุมที่กว้างและไกลกว่านั้น ที่นอกจากจะไม่มีประชาชนอยู่ในสมการแล้ว ผู้จับคันไถเพื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ทำมาหากินกลับเป็น ‘ผู้ถูกกล่าวหา’ มาโดยตลอด

แน่นอนเราคงไม่ต้องกล่าวซ้ำถึงปัญหาอำนาจในการถือครองที่ดินที่ต่างกันของสังคมไทย ที่เหลื่อมล้ำล้อกันไปทั้งองคาพยพไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การศึกษา และการเมือง แต่สำหรับการอธิบายว่าใครบุกรุกป่า เราอาจจะเริ่มตอบสิ่งนี้ด้วยการมองย้อนกลับไปเพ่งดูความสัมพันธ์ระหว่าง คน-ป่า-นโยบายรัฐ จากอดีต เพื่อหาคำอธิบายให้กับสถานการณ์ปัจจุบัน

Mr.H. A. Slade

เจ้ากรมป่าไม้คนแรกของสยามเป็นคนอังกฤษ

ย้อนไปในเวลาที่ไทยเริ่มทำสัมปทานป่าไม้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 บริษัทข้ามชาติหลายแห่ง เช่น บริษัทเบอร์เนียว, บริษัทบอมเบย์ เบอร์ม่า, บริษัทแองโกล-ไทย จำกัด, บริษัทสยามฟอเรสต์ ฯลฯ ผลักดันให้ผู้มีอำนาจของสยามเปิดประเทศและทำการค้าทรัพยากรที่มีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ หนึ่งในนั้นคือป่าไม้

ในปี 2369 เมื่อพม่าทำสัญญากับอังกฤษยินยอมให้อังกฤษเข้าปกครอง อังกฤษเริ่มธุรกิจค้าไม้สักในบริเวณชายแดนไทย-พม่า เนื่องจากไม้สักในบริเวณนี้มีคุณภาพดี มีลวดลายที่สวยงาม กิจการการทำไม้สักจึงขยายตัวรวดเร็ว เมื่อปริมาณไม้สักในพม่าเริ่มลดลง ชาวอังกฤษรวมทั้งชาวพม่า ไทใหญ่ กะเหรี่ยง เริ่มเข้ามาทำไม้สักในบริเวณชายแดนไทยพม่า (แสงสุรีย์ ลดาวัลย์ 2545: 95-97 อ้างจาก ประวัติการค้าไม้สักในแม่ฮ่องสอน การค้าไม้ในแม่ฮ่องสอน taiyai.org)

ที่ภาคเหนือของไทย บริษัทเหล่านั้นยังคงต้องทำธุรกิจไม้กับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จนกระทั่งปี 2417 ได้มีพระราชบัญญัติสำหรับผู้รักษาเมืองซึ่งจะทำสัญญากับชาวต่างประเทศปี 2417 ให้อำนาจกับส่วนกลางในการทำสัญญาสัมปทานแทนเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งในกฎหมายเรียกว่า ‘ผู้รักษาเมือง’ ที่ไม่เพียงมีอำนาจเรื่องการทำป่าไม้ แต่รวมถึงการทำไร่ข้าวสาร ดีบุก ร่อนทอง ขุดคลอง ทำทาง ทำปลา ผูกภาษีอากร ทำสวน ทำไร่นา ในที่ที่ไม่มีเจ้าของอื่น ซึ่งถือเป็นของแผ่นดิน

จนเมื่อมีประกาศตัดไม้สัก พ.ศ. 2427 ได้มีข้อบัญญัติ ห้ามไม่ให้ตัดไม้สักในป่าเขตเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ และน่าน ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจากข้าหลวงใหญ่ที่ถูกส่งไปจากส่วนกลาง สาเหตุของการประกาศนี้เพราะมีการลักลอบตัดไม้โดยคนในท้องถิ่นจำนวนมาก สิ่งนี้แสดงให้เห็นอำนาจรวมศูนย์การจัดการป่าไม้ที่มากขึ้นในช่วงกลางของรัตนโกสินทร์สมัยภายใต้กำกับความรู้ของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศตะวันตก

การจัดตั้งกรมป่าไม้มาเริ่มต้นขึ้นในปี 2439 เหตุผลสำคัญคือ รัฐบาลไทยได้ขอความร่วมมือไปยังอังกฤษให้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญ มิสเตอร์สเลด (Mr.H. A. Slade) เพื่อให้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะต่อระบบการจัดการป่าไม้ รายงานของสเลดระบุถึงปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ

1. การป่าไม้ทั้งหมดอยู่ในครอบครองของเจ้านาย ผู้ครองนคร หรือเจ้าเมือง แทนที่จะอยู่ในการควบคุมดูแลของส่วนกลาง

2. การทำไม้ที่เป็นอยู่ยังไม่เป็นระเบียบ ขาดหลักการเกี่ยวกับการคุ้มครองรักษาป่า ไม่ให้อำนวยผลอย่างถาวร

ผลจากคำแนะนำดังกล่าว เจ้ากรมป่าไม้คนแรกจึงเป็นชาวอังกฤษที่ชื่อ มิสเตอร์เสลด โดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้จัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้นในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในปี 2439 จากนั้นจึงมีการตรา พ.ร.บ. เกี่ยวกับการจัดการควบคุมกิจการป่าไม้ออกมาหลายฉบับ รายละเอียดของกฎหมายเหล่านั้นล้วนเป็นการควบคุมการจัดการป่ามากขึ้น เช่น การห้ามตัดไม้ที่ยังมีวงรอบไม่ถึงขนาดที่กำหนด ให้มีการตีตราไม้และริบไม้ที่ไม่มีดวงตราประทับเป็นของรัฐ ห้ามทำลายเปลี่ยนแปลงดวงตรา จนกระทั่งปี 2441 ได้เพิ่มข้อกำหนดให้การตัดไม้สักจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ถึงตรงนี้การกีดกันประชาชนออกจากป่า เริ่มปรากฏชัดในรายละเอียดมากยิ่งขึ้น

ยุครัฐเป็นผู้รับเหมาสัมปทานรายใหญ่

ต่อจากนั้น การสัมปทานป่าไม้ก็ตามมา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนในราวปี 2435 ก่อนจะเขยิบลงมาที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง (ประมาณปี 2442) และมีการให้สัมปทานมากในภาคอีสานและภาคใต้ (ประมาณปี 2516) ผลการศึกษาของ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง พบว่า ทุกพื้นที่ของการวิจัยที่มีชุมชนชาวบ้านตั้งอยู่ใกล้ป่า ในอดีตเคยมีสัมปทานทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมายและ/หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายเข้ามาทำไม้แล้วทุกหนแห่ง ความเฟื่องฟูของการสัมปทานป่าไม้โดยรัฐที่กว้างขวางเช่นนี้เองที่ดึงดูดให้มีการขยายกลุ่มคนใหม่ๆ ที่เข้าไปได้-เสียกับการหายไปของป่า

ก่อนที่จะมีการใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มีการให้สัมปทานไม้สัก จนไม้สักค่อยๆ ลดลงไปพร้อมกับการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2507 เป็นต้นมา ที่มีการให้สัมปทานแก่บริษัทภายในประเทศ เรียกว่าบริษัท ทำไม้ จำกัด แต่ละจังหวัดจะมีบริษัททำไม้ในแต่ละพื้นที่ เช่น ‘บริษัท ทำไม้ จำกัด เชียงราย’ ‘บริษัทจำกัดทำไม้ จำกัด น่าน’ คนมากหน้าหลายตาเข้าไปเอี่ยวกับธุรกิจไม้ โดยมีรัฐเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ ชาวบ้านที่แบกคันไถทำกินมาก่อน เริ่มกลายเป็นผู้ต้องหาในการทำกินบนผืนไร่ผืนนาของตัวเองมากขึ้น

ในช่วงเวลาเช่นนี้ หน้าที่ของชาวบ้านต่อผืนป่าจำนวนหนึ่ง มักจะเป็นแรงงานระดับล่างให้แก่บริษัทเหล่านั้น อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่ดูแลรักษาป่าก็ยังมีจำนวนมาก เพราะอำนาจรัฐไม่ได้แทรกซอนเข้าไปในทุกชุมชนที่อยู่ในเขตป่าได้หมด

จนเมื่อมีกฎหมายที่รวมศูนย์อำนาจจัดการป่าเพิ่มขึ้น เริ่มมีการจัดโซนนิ่งการใช้ทรัพยากร โดยกำหนดเป็นเขตป่าสงวน เขตป่าสงวนเสื่อมโทรม เพื่อส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ เกิดเป็นพืชใหม่ เช่น ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส ปัจจุบันเป็นสวนยาง ที่สำคัญรัฐเริ่มไล่ชาวบ้านออกจากป่า ในยุคนี้เกิดธุรกิจการกว้านซื้อที่ดินทั้งในและนอกเขตป่า มีระบบนายหน้าที่อยู่ในชุมชนติดต่อค้าที่ดิน โดยเกือบทั้งหมดไม่ได้ซื้อเพื่อเข้าไปอยู่อาศัย แต่ซื้อเพื่อใช้ทำประโยชน์ทางธุรกิจ

ผลที่ตามมาจึงเป็นการข่มขู่ชุมชนที่มีที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตป่าก่อนหน้าการประกาศกฎหมาย ว่าทำผิดกฎหมาย และขับไล่ชุมชนออก สภาวะอย่างนี้แพร่กระจายราวกับไฟลามทุ่ง การไล่รื้อหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตป่า ‘กระทำอย่างอเนจอนาถ’ ซึ่งภาพเหล่านี้มักปรากฏในสื่อกระแสหลัก แต่ในแวดวงการเมืองภาคประชาชนแล้วเป็นเรื่องที่ได้ข้อสรุปกันมานาน

อย่างไรก็ตามวิธีการรักษาที่ดินป่าไม้ที่ว่ามานั้นสำเร็จหรือไม่ นโยบายที่ออกตามมาถัดจากนี้เป็นคำตอบ

การบังคับคนออกจากป่าทำให้ป่าเสื่อมโทรมลง

เมื่อมีการให้สัมปทานในช่วงนี้ นอกจากเปลี่ยนวิธีการ ยังเปลี่ยนชนิดของไม้ด้วย จากไม้สักทองก็มาเป็นไม้กระยาเลย วิธีการที่ผ่านมาจึงไม่ได้แก้ปัญหาแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับทำให้การบุกรุกเพิ่มขึ้น เพราะต้องไปบุกเบิกที่ทำกินใหม่

ช่วงเวลาเช่นนี้ พื้นที่ป่าทั้งหมดทุกตารางนิ้ว โดยเฉพาะในภาคเหนือ ซึ่งที่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร ที่เคยผ่านการสัมปทานมาแล้วอย่างน้อย 2 รุ่น จึงเสื่อมโทรมจนนึกภาพเดิมๆ ไม่ออก

จากมุมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแล้ว เสน่ห์ จามริก และคณะ ได้เขียนไว้ในหนังสือ ป่าชุมชนในประเทศไทย: แนวทางการพัฒนา ตีพิมพ์ในปี 2536 เสนอว่า ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการสัมปทาน จากการตัดไม้ขนาดใหญ่ออกจากพื้นที่ อย่างน้อยคือผลกระทบทางอ้อมคือต้นน้ำลำธาร และกระทบต่อประเพณีความเชื่อ ว่าไม้ใหญ่ที่อยู่ตามขุนน้ำ จะมีผีขุนน้ำ หรือมีเทพารักษ์คอยคุ้มครองดูแลอยู่ เมื่อมีการตัดไม้เหล่านั้น ก็จะเกิดเภทภัย

เมื่อชุมชนหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ก็เป็นธรรมดาที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก จนไม่อาจเขียนบันทึกได้ครบถ้วนในที่นี้ ภาวะของการขัดขืนระหว่างชาวบ้านที่ต้องการที่ดินทำกินกับนโยบายรัฐที่มีการออกกฎหมายป่าหลายฉบับ ดำเนินไปด้วยความพ่ายแพ้ของผู้ที่ต้องการหักร้างถางพงเพื่อทำมาหากิน

ถึงกระนั้นก็ตาม ตั้งแต่ปี 2507-2532 ที่มีการบังคับให้คนออกจากป่า กลับพบว่าสภาพป่าเสื่อมโทรมลง จำนวนป่าไม้ของไทยกลับลดลงอย่างน่าใจหาย

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 ที่ประเทศไทยยังคงให้สัมปทานป่าอยู่ทั่วประเทศ ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ที่ไม่เคยประสบ นำมาสู่ข้อสรุปร่วมกันของคนในสังคมในระดับหนึ่งว่า การตัดไม้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา จนกระทั่งมีนโยบายยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศในปี 2533

สิ่งที่เข้ามาทดแทนคืออะไร หากไม่ใช่กระบวนการทำไม้เถื่อน ที่ยังคงดำเนินต่อไป พร้อมกับการที่รัฐออกนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศควรจะมีพื้นที่ป่าเท่ากับ 40 เปอร์เซ็นต์

โดยเแบ่งเป็น ป่าอนุรักษ์ 15 เปอร์เซ็นต์ (พื้นที่อนุรักษ์คือป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) และ ป่าเศรษฐกิจ ที่หมายถึง พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่จะอนุญาตให้เอกชนสามารถปลูกปาล์ม ปลูกยูคาลิปตัส หรือไม้เศรษฐกิจทั้งหลาย

นโยบายแรกเกิดขึ้นในปี 2528 แต่หลังการยกเลิกสัมปทานปี 2532 มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายนั้น โดยเป้าหมายคือการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ และสลับเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 15 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้รัฐเร่งสำรวจพื้นที่ป่าสงวนที่มีสภาพสมบูรณ์ทั่วประเทศอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ให้ได้ 25 เปอร์เซ็นต์ตามกฎหมาย

ในช่วงเวลานี้เกิดความขัดแย้งอีกระลอก เมื่อป่าชุมชนที่ชาวบ้านรักษาอยู่แต่เดิม ได้กลายเป็นอุทยานแห่งชาติ และกลายเป็นเขตหวงห้ามของรัฐตามกฎหมาย การเคลื่อนไหวใหญ่ของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่ากลับมาอีกครั้ง ด้วยการเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเรียกกันว่า ‘พ.ร.บ.ป่าชุมชน’ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2540 รับรองให้สิทธิประชาชนสามารถเสนอกฎหมายโดยตรงได้

 

ประชาชนยกร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน กับสาระสำคัญที่หายไประหว่างทาง

อะไรคือสาระสำคัญตั้งต้นของการเคลื่อนไหวครั้งนั้น คำตอบไม่มากหรือน้อยไปกว่า การต้องการสิทธิประชาชนในการจัดการป่าได้ทุกประเภท โดยเชื่อว่าถ้าชุมชนสามารถจัดการได้ ตั้งแต่อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตต้นน้ำลำธาร ป่าก็จะกลับคืนมาโดยคนไม่ตาย ไม่ติดคุก อย่างไรก็ตามเนื้อหากลับถูกแก้ไขให้เพี้ยนไปจากเดิมจนเหลือเพียงให้ชาวบ้านขออนุญาตจัดตั้งป่าชุมชนได้เฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมเท่านั้น

การผลักดันกฎหมายฉบับนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2540-2542 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการรวบรวมรายชื่อในการเสนอกฎหมาย ผลักดันเข้าสู่รัฐสภา พบว่าในชั้นสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบตามร่างของประชาชน แต่เมื่อถึงชั้นวุฒิสภา ที่ยังคงมาจากการแต่งตั้งของระบบรัฐราชการ ก็ได้มีการปรับแก้เนื้อหาตามที่กล่าวมา

“คนเราเกิดที่นี่ก็ต้องตายที่นี่ เพื่อให้อยู่ได้ ถ้าไม่ดูแลก็ไม่สามารถอยู่ที่นี่ได้ ทุกคนก็เข้าใจอย่างนี้ แต่ผมไม่รู้ว่าทำไมคนภายนอกไม่เข้าใจ ไม่เชื่อใจ คนข้างนอกใช้ประโยชน์เยอะกว่าเราอีก แต่ชาวบ้านใช้สร้างบ้าน ทำมาหากิน แต่คนข้างนอกใช้ประโยชน์เยอะแยะโดยไม่ได้บอกกับสังคมเลยว่าเขาใช้อย่างไร” (อาภัสสร สมบุญวัฒนกุล, 2544, หน้า 64)

จนเมื่อปี 2550-2551 มีความพยายามผลักดันกฎหมาย 4 ฉบับอีกครั้ง เพื่อยกระดับจากเรื่องป่าชุมชนมาสู่เรื่องสิทธิชุมชน ข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ ให้มีการถือครองที่ดินที่อยู่ในเขตป่าในลักษณะของกรรมสิทธิ์ร่วม เนื่องจากแต่เดิม ส.ป.ก. ให้เป็นลักษณะปัจเจก แต่สุดท้ายก็มีการหลุดมือ คนก็เข้าไปในพื้นที่ป่าอีกเช่นเดิม

สถานการณ์ในเวลานั้นพบว่ามีการตอบสนองเพียงเล็กน้อยจากรัฐบาล มีนโยบายที่มารองรับในเรื่องโฉนดชุมชนในบางพื้นที่ แต่ก็เป็นเวลาที่แสนสั้น เมื่อความคิดเดิมกลับมาอีกครั้งในยุคปัจจุบัน

 

 

แผนแม่บทป่าไม้: ยุคคณะรัฐประหาร คสช.

สถานการณ์ป่าเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลเพียงเดือนเดียวหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 64/2557 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิด ในการบุกรุกพื้นที่ป่าในการทำไม้อย่างเฉียบขาด ที่เปลี่ยนไปมิใช่ว่าป่าเพิ่มขึ้น แต่คือการกวาดจับประชาชนและยึดที่ดินทำกินชาวบ้านในหลายพื้นที่

จากคำสั่งที่ 66/2557 ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมป่าไม้กับกรมอุทยานลงไปปฏิบัติการตรงกับชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 คสช. อนุมัติใช้แผนแม่บทการจัดการป่าไม้ เรียกว่า ‘แผนแม่บททวงคืนผืนป่า’

สาระสำคัญก็คือ เพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กำหนดมาตั้งแต่ปี 2528 จนปัจจุบันก็ยังขอพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์

ณ เวลาที่มีการประกาศใช้ มีพื้นที่ป่าเหลือประมาณ 31 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป้าหมายต้องการอีก 9 เปอร์เซ็นต์ (ประมาณ 26 ล้านไร่) ทำให้ต้องทวงคืนที่ดิน ในกรอบเวลา 10 ปี โดยกำหนดให้มีการทวงคืนให้ได้ปีละ 2,800,000 ไร่

เครื่องมือที่ คสช. ใช้ในการพิสูจน์สิทธิผู้ถือครองที่ดิน คือการระบุให้ได้ว่าประชาชนคนใดอยู่ก่อนหรืออยู่หลังมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541

ความเข้าใจโดยชาวบ้านทั่วไป เข้าใจว่าหากอาศัยอยู่ก่อนปี 2541 ชาวบ้านก็สามารถที่จะอยู่ในป่าได้ แต่ในความเป็นจริง ดูเหมือนว่าข้อมูลจะยอกย้อนมากกว่านี้ เนื่องจากว่าปี 2541 ยังไม่มีภาพถ่ายทางอากาศพิสูจน์สิทธิเอาไว้ ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่รัฐจึงใช้ภาพถ่ายทางอากาศตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เป็นเกณฑ์ในการคัดกรองว่าที่ดินใดสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ

ปัญหาหลายอย่างเกาะกินตามมาในทุกภูมิภาค ตัวอย่างเกณฑ์การวัดที่ คสช. ใช้ก็เช่นเดียวกัน คือกำหนดให้ผู้มีสิทธิต้องไม่มีที่ดินในพื้นที่ล่อแหลม เช่น 1. จะต้องไม่เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันเกิน 35 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งจังหวัดน่านมีพื้นที่ลาดชัน 85 เปอร์เซ็นต์) 2. ต้องไม่เป็นพื้นที่สวยงามตามธรรมชาติ

ในแง่นี้ แม้ว่าชาวบ้านจะเข้าอยู่ก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ก็ไม่ได้สิทธิที่จะทำตามมติ ครม. นี้ เพราะว่าไปเข้าเกณฑ์เรื่องพื้นที่ล่อแหลม ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิได้

ปี 2562 มีการดำเนินการ ‘ทวงคืนผืนป่า’ ผ่านการออกคำสั่ง 2 ฉบับ ได้แก่ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ส่งผลให้ชาวบ้านถูกไล่ออกจากที่ดิน ไร้ที่ทำกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย ชาวบ้านถูกดำเนินคดีหลายชุมชน เช่น ชาวบ้านชุมชนซับหวาย จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น

จากที่เล่ามาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ปัญหาการบุกรุกป่าของไทย ผันเปลี่ยนไปตามตัวแสดงในแต่ละยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือการจัดการป่าไม้ ผู้มีอำนาจมักได้รับการยกเว้นอยู่เสมอ ขณะที่ประชาชนที่ทำมาหากินในพื้นที่ของตัวเอง ล้วนเดิมพันชีวิตไปกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยมีมาตรการทางกฎหมายเป็นหอกข้างแคร่ซ้ำเติม

อ้างอิงข้อมูลจาก:

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, วิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า. กรุงเทพฯ: สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, 2534
เสน่ห์ จามริก, ยศ สันตสมบัติ, บรรณาธิการ, รายงานวิจัยเรื่องป่าชุมชนในประเทศไทย: แนวทางการพัฒนา. กรุงเทพฯ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา 2536

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า