ประวัติศาสตร์การบังคับยืนในโรงหนัง เครื่องมือกดปราบภายใต้หน้ากากความเป็นไทย

-1-

“ไห้บอกกรมประสานงานว่า มีราสดรจำนวนมากมาแจ้งแก่ฉันว่า ได้พบทหานยี่ปุ่นและชาวยี่ปุ่น ไม่สแดงการเคารพเมื่อหยู่ไนโรงมหรสพ และได้ฉายพระบรมรูปและรูปนายกรัถมนตรี ทุกคน เขายืนสแดงการเคารพแม้ฝรั่ง แต่คนยี่ปุ่นหลายคนนั่งเฉย และยังเอาตีนพาดบนพนักเก้าอี้เสียด้วย หย่างนี้ สแดงไม่เคารพเอกราชอธิปตัยกันเลย ได้ความเจรจาหย่างได ขอซาบ”

นั่นคือน้ำเสียงของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งถ่ายทอดลงบนกระดาษด้วยลายมือภาษาเขียนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484-2488) ตามที่ตัวเขาเองพร้อมคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยรวมๆ เกือบ 30 ราย ได้ประกาศปรับปรุงตัวอักษรและอักขรวิธีไทย แต่คนในแวดวงหนังสือยุคหลังๆ กลับเรียกขานว่า ‘ภาษาวิบัติ’ มิหนำซ้ำ ถ้อยความข้างต้นยังเป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2487 

ห้วงเวลาที่เมืองไทยได้รับการประโคมโหมกล่อมด้วยชุดคำทำนอง “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” เมื่อท่านผู้นำแสดงความประสงค์สิ่งใดแล้ว หน่วยงานแรกๆ ที่กระตือรือร้นเห็นจะมิแคล้ว ‘สำนักงานเลขานุการนายกรัถมนตรี’ (สะกดตามภาษายุคนั้น) โดยจะต้องรีบเร่งส่งเรื่องดังกล่าวไปยังกรมประสานงานพันธมิตรทันที

อีกบุคคลหนึ่งที่ จอมพล ป. มิวายนึกถึงย่อมมิพ้น ‘ท่านพิสิถ’ ผู้เป็น ‘ท่าน’ เพราะถือกำเนิดมาเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า หากด้วยภาระหน้าที่การงานกลับอยู่ภายใต้อำนาจการนำของนายกรัฐมนตรีลูกชายชาวสวนแห่งเมืองนนท์ จึงมีจดหมายเนื้อความสั้นๆ ฉบับหนึ่งส่งไป

“ท่านพิสิถ ส่งเจรจาเวลามาพบกัน แต่ลองสอบถามพวกเราก่อนว่า ใครเคยเห็นเปนอย่างไร”

นามอันแท้จริงของท่านพิสิถ คือ หม่อมเจ้าพิสิฐดิศพงษ์ ดิศกุล พระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ หม่อมลำดวน วสันต์สิงห์

เหตุที่หม่อมเจ้าผู้นี้ต้องมาคอยเอาใจใส่กรณีความไม่สบอารมณ์ของจอมพล ป. เรื่องทหารญี่ปุ่นไม่ยอมยืนแสดงความเคารพในโรงภาพยนตร์ ก็สืบเนื่องจากขณะนั้นท่านชายเป็นนายทหารยศพันโทภายใต้บังคับบัญชาของ พันเอกไชย ประทีปะเสน (ต่อมาได้รับยศสูงสุดเป็นพลตรี) ซึ่งรั้งตำแหน่งเจ้ากรมประสานงานพันธมิตร ส่วนหม่อมเจ้าพิสิฐดิศพงษ์รับตำแหน่งเป็นรองเจ้ากรม ในเอกสารติดต่อเจรจากับฝ่ายกองทัพญี่ปุ่นมักจะพบการลงนามของทั้งสองเสมอๆ 

ภารกิจพิเศษสุดอันท่านพิสิถได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบคือการติดต่อเจรจาด้านการเงิน ทั้งยังเป็นกรรมการควบคุมและจัดการกิจการหรือทรัพย์สินของคนต่างด้าวในภาวะคับขัน แน่นอนว่าเรื่องเงินนั้นต้องเคร่งครัดยิ่งยวด กระทั่งนายกรัฐมนตรีเองก็ต้องผ่านตาและตรวจทานก่อนจะลงนาม ส่งผลให้จอมพล ป. และหม่อมเจ้าพิสิฐดิศพงษ์ได้ทำงานคลุกคลีกันสนิทสนมแน่นแฟ้น

ก่อนจะไปแจกแจงรายละเอียดเรื่องทหารญี่ปุ่นไม่ยอมลุกยืนในโรงหนัง ไม่ควรจะละเลยการเท้าความเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง จอมพล ป. กับหม่อมเจ้าพิสิฐดิศพงษ์ให้กระจ่าง

คงรับทราบกันในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่หลวงพิบูลสงคราม แกนนำคณะราษฎรสายทหารบก ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นท่านจอมพล ป. ไม่ชื่นชอบถึงขั้นชิงชัง ช่วงปลายทศวรรษ 2470 ครั้นกรมพระยาดำรงฯ และพระธิดาลี้ภัยการเมืองไปประทับอยู่ที่เกาะหมากหรือปีนังแล้ว หลวงพิบูลฯ เคยเอ่ยปากว่าถ้าเจ้านายพระองค์นี้เข้ามาในเขตประเทศสยามก็ให้ยิงทิ้งได้

ทางด้านพระโอรสคือ หม่อมเจ้าพิสิฐดิศพงษ์ ยังคงรับราชการทหารที่เมืองไทย ประจำกรมยุทธการทหารบก แล้วย้ายมาประจำกองบัญชาการกรมจเรทหารบก พอเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2484 ย้ายมาประจำกองบัญชาการกรมเสนาธิการทหารบก ทำงานอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพันเอกไชย จวบได้รับยศพันโท 

พันเอกไชย เคยเป็นนายทหารประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติงานจนจอมพล ป. โปรดปรานและไว้วางใจอย่างมาก ยิ่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในเมืองไทย ท่านจอมพลพยายามดึงตัวพันเอกผู้นี้มาช่วยเหลืองานแบบใกล้ชิด ต้นปี พ.ศ. 2485 ตอนจอมพล ป. ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ย้ายให้พันเอกไชยมาเป็นรองปลัดกระทรวง ต่อมาแต่งตั้งให้เป็นอัครราชทูตประจำกระทรวง ล่วงมากลางปี พ.ศ. 2486 แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนจะโยกให้มาเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แทนนายทวี บุณยเกตุ ที่ลาออกไปเพราะขัดใจกับท่านจอมพล

พันเอกไชย ได้รับการกล่าวขานถึงว่าประหนึ่งเลขาฯ ที่ช่างรู้ใจ จอมพล ป. 

ความที่ท่านชายพิสิฐตั้งใจปฏิบัติราชการทหารอย่างแข็งขัน พันเอกไชยจึงอดรู้สึกรักและเอ็นดูมิได้ 

คราวหนึ่ง ท่านชายพิสิฐรับจดหมายจากพระบิดาคือ กรมพระยาดำรงฯ เขียนมาทำนองตัดพ้อต่อชะตาชีวิตว่า โรคหัวใจกำเริบและชราภาพมาก ต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก คงจะต้องสิ้นลมหายใจที่เกาะหมากแน่แท้ ท่านชายอ่านแล้วร้องไห้ พันเอกไชยเห็นเข้า นึกสงสารจับจิต ไปช่วยร้องขอต่อจอมพล ป. ว่า อนุญาตให้กรมพระยาดำรงฯ ได้หวนกลับจากปีนังมาพำนักที่เมืองไทยเถิด แม้จอมพล ป. จะไม่พึงใจเจ้านายพระองค์นี้มาเนิ่นนาน หากตอนนั้นมิรู้นึกคิดเช่นไร จึงยอมอนุญาตให้ตามที่พันเอกไชยเอ่ยปากขอ

ในที่สุด กรมพระยาดำรงฯ ได้มาเห็นแผ่นดินสยามด้วยตาเนื้ออีกหน บนเรือขณะล่องลำกลางแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนเทียบท่าพระนคร เจ้านายผู้ชรารับสั่งกับท่านชายพิสิฐ พระโอรสว่า “ชายแอ๊ว ที่เธอทำให้แก่พ่อครั้งนี้เท่ากับเธอได้ตอบแทนบุญคุณพ่อครบถ้วนทุกอย่างแล้ว” 

ผ่านมาอีกราว 1 ปี กรมพระยาดำรงฯ ก็สิ้นพระชนม์

การที่จอมพล ป. อนุญาตให้กรมพระยาดำรงฯ เดินทางกลับคืนสู่เมืองไทยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน สร้างความปลื้มปีติให้กับหม่อมเจ้าพิสิฐดิศพงษ์อย่างถึงที่สุด โดยใยสายสำคัญที่เชื่อมโยงก็คือ พันเอกไชย ท่านชายยกย่องและมองเห็นจอมพล ป. เป็นผู้มีพระคุณ ยินดีอุทิศตนช่วยเหลือกิจการงานต่างๆ เต็มที่ เป็นจุดที่ทำให้ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นำพระนามของหม่อมเจ้าพิสิฐดิศพงษ์ มาล้อว่า ‘พิสิฐดิศพิบูล’ 

ไม่เพียงเท่านั้น คุณชายคึกฤทธิ์ยังนำพระนามของพระธิดาในกรมพระยาดำรงฯ คือ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล มาล้อว่า ‘พูนพิศปรีดี’ เพราะต่อมาท่านหญิงหายขุ่นเคืองใจต่อนายปรีดี พนมยงค์ แล้วได้ทำงานด้านวัฒนธรรมร่วมกัน ส่วนหม่อมเจ้าหญิงมารยาตรกัญญา ดิศกุล ต่อมาได้ทำงานกิจการกาชาดสากล และพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ให้การสนับสนุน จึงล้อว่า ‘มารยาตรธำรง’ 

กลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2486 พันเอกไชยเลื่อนขึ้นครองตำแหน่งเจ้ากรมประสานงานพันธมิตร หรือ Department of Alliance ซึ่งยกฐานะมาจากกองอำนวยการคณะกรรมการผสมไทย-ญี่ปุ่น ที่ก่อตั้งขึ้นหลังทหารญี่ปุ่นยกทัพบุกเข้ามาในเมืองไทยใหม่ๆ เพื่อเจรจาเรื่องข้อเรียกร้องและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดซึ่งกันและกัน กำหนดให้ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการทหารสูงสุดที่จอมพล ป. ควบคุมดูแลด้วยตนเอง 

พันเอกไชยมอบหมายให้หม่อมเจ้าพิสิฐดิศพงษ์มาช่วยเหลืองานในตำแหน่งรองเจ้ากรม เพราะก่อนหน้านั้นนับแต่ปลายธันวาคม พ.ศ. 2484 ท่านชายเคยเป็นเจ้าหน้าที่กองอำนวยการคณะกรรมการผสมร่วมกับพันเอกไชย และพออีก 1 ปีถัดมา ก็เป็นกรรมการสะสางทรัพย์สินชนชาติศัตรู

-2-

วกกลับไปยังกรณีทหารญี่ปุ่นไม่ยอมลุกยืนในโรงหนัง ครั้น ‘สำนักงานเลขานุการนายกรัถมนตรี’ ส่งเรื่องที่จอมพล ป. กังวลไปยังกรมประสานงานพันธมิตรแล้ว ทางกรมดังกล่าวโดย พันตรีปุ่น วงศ์วิเศษ ได้มีหนังสือที่ 290/2487 ส่งไปยังรองสารวัตรใหญ่ทหาร ในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2487 ความว่า

เรียน รองสารวัตรไหย่ทหาน

เนื่องจากได้ซาบว่า มีทหานยี่ปุ่นและชาวยี่ปุ่นไม่สแดงการเคารพ เมื่อหยู่ไนโรงมหรสพไนขนะที่ได้ฉายพระบรมรูปสมเด็ดพระเจ้าหยู่หัว และรูปพนะท่านนายกรัถมนตรี นับว่าเปนการไม่เคารพต่อเอกราชอธิปไตยของไทย เพื่อมิไห้พรึติการน์เช่นนี้มีต่อไป กรมประสานงานฯ จึงได้ติดต่อขอไห้เจ้าหน้าที่ตำหรวดเมื่อได้ประสพเหตุการณ์เช่นนี้ ไห้รีบโทรสัพท์แจ้งไปยังหน่วยสารวัตรผสมของฝ่ายไทย เพื่อจัดการติดต่อกับสารวัตรยี่ปุ่น และร่วมกันไประงับเหตุตามทางที่ควนปติบัติต่อไป. 

จึงเรียนมาเพื่อขอได้สั่งการปติบัติประจำกรมประสานงานพันธมิตร

พ.ต. ปุ่น วงส์วิเสส

วันเดียวกัน รองสารวัตรใหญ่คือ พันเอกเพิ่ม มหานนท์ มีหนังสือตอบกลับ

เรียน พ.ต. ปุ่น วงส์วิเสส

ไม่เฉพาะแต่กรนีที่แจ้งมา แม้แต่ธงชาติไนเวลาที่ชักขึ้นหรือลดลง ซึ่งมีประชาชนส่วนมาก กระทำการเคารพ บุคคลดังกล่าวแล้วก็ไม่ทำการเคารพ การปติบัติการกระทำอย่างไร สารวัตรผสม ไปไม่ทันแน่ๆ เสียน้ำมันรถยนต์เปล่า ขอไห้ชี้แจงข้อปติบัติไนเมื่อบางโอกาสอาดพบปะ

พ.อ. เพิ่ม มหานนท์

รองสารวัตรไหย่ทหาน

ถัดมาวันที่ 10 มกราคม กรมประสานงานพันธมิตรยังมีหนังสือลับที่ 291/87 ส่งไปยังกองบังคับการตำรวจนครบาล

เสนอ นายเวรผู้บังคับการตำหรวดนครบาล

เนื่องจากได้ซาบว่ามีทหานยี่ปุ่นและชาวยี่ปุ่น ซึ่งเข้าไปชมมหรสพไนโรงมหรสพไม่สแดงความเคารพ ไนขนะที่ฉายพระฉายาลักสน์สมเด็ดพระเจ้าอยู่หัว และรูปพนะท่านนายกรัถมนตรี เปนการไม่เคารพต่อเอกราชและอธิปไตยของไทย ฉะนั้น เพื่อมิให้ปรากตพรึติการน์เช่นนี้ต่อไปอีก จึงขอไห้ท่านสั่งเจ้าหน้าที่ตำหรวด ซึ่งไปประสพเหตุการณ์เช่นนี้ ไห้บันทึกวันเวลาชื่อโรงมหรสพ จำนวนผู้ไม่สแดงความเคารพ และถ้าเปนทหานก็ไห้สังเกตุด้วยว่ามียสชั้นได แล้วแจ้งไปให้กรมประสานงานฯ ซาบ เพื่อดำเนินการต่อไป

ฝ่ายเจ้าหน้าที่กองบังคับการตำรวจนครบาล พอรับเรื่องแล้วก็กระจายกำลังพลไปคอยสังเกตการณ์ตามพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะโรงภาพยนตร์แห่งหลักๆ เช่น ศาลาเฉลิมกรุง, Odeon, ศาลาเฉลิมบุรี และ แคปปิตอล ส่วนใหญ่รายงานมาว่า ไม่เคยเห็นทหารญี่ปุ่นไม่ยืนแสดงความเคารพตอนฉายพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และภาพนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้อาจจะปลดเปลื้องความเคร่งเครียดของจอมพล ป. ลงไปบ้าง แต่กระนั้นยังมีเสียงรายงานว่า “เคยเห็นทหารยี่ปุ่นไม่หยุดเดินเพื่อยืนตรงเคารพธงชาติเวลาเช้าไนสถานีรถไฟหัวลำโพง ขนะที่ทุกคนเขายืนตรงหมด”

ทำไมจอมพล ป. ต้องเดือดเนื้อร้อนใจกับการที่ทหารญี่ปุ่นไม่ยืนแสดงความเคารพในโรงหนัง นั่นเพราะท่านจอมพลคือผู้ออกพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 ซึ่งกำหนดให้ชาวไทยทุกคนต้องเคารพระเบียบ วัฒนธรรมของชาติ และประเพณีอันดีงาม หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 100 บาท หรือจำคุก 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ หนึ่งในระเบียบเหล่านั้นคือทุกคนต้องยืนเคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงอื่นๆ ที่บรรเลงขึ้นในงานของทางราชการ ในงานสังคม หรือในโรงมหรสพต่างๆ กฎหมายที่จอมพล ป. ประกาศใช้ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังเป็นเครื่องมือในความพยายามควบคุมอำนาจปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ การปรากฏบุคคลไม่ยอมลุกยืนแสดงความเคารพต่อบทเพลง มิว่าจะคนไทยหรือทหารญี่ปุ่น จึงมิใช่แค่เรื่องไม่ทำตามวัฒนธรรม แต่ประหนึ่งการไม่ทำตามอำนาจของรัฐบาลด้วย

แน่ล่ะ เมื่อได้รับรายงานว่าพวกทหารญี่ปุ่นนอกจากจะไม่ลุกขึ้นยืนตอนยินเสียงเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี หรือไม่ยอมลุกขึ้นยืนตอนฉายพระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์และภาพนายกรัฐมนตรีในโรงภาพยนตร์ อีกทั้งยังทำกิริยาเอาเท้าพาดพนักเก้าอี้ ก็ถือว่าไม่แสดงความเคารพอธิปไตยและวัฒนธรรมของชาติไทยอย่างสูง รัฐบาลไทยยอมให้เกิดขึ้นมิได้

-3-

พอว่าถึงการไม่ลุกยืนขึ้นเมื่อมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์นั้น จำได้ว่า ตอนผมเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ช่วงปลายปี พ.ศ. 2550 เคยเห็นข่าวเรื่องมีคนที่ไม่ยอมลุกยืนตอนเสียงเพลงสนั่นก้องโรงหนังและถูกผู้ชมอีกรายขว้างปาข้าวของใส่ ซึ่งคนที่ไม่ลุกยืนก็ยืนยันนี่ไม่ใช่สิ่งผิด เพราะกฎหมายมิได้บังคับ ผู้กระทำผิดคือคนที่ปาข้าวของใส่พวกตนต่างหากจึงไปฟ้องร้อง แต่ต่อมาคนที่ปาข้าวของใส่ได้ไปฟ้องร้องกลับคนที่ไม่ลุกยืนด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ภายหลังเมื่อผมมาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ก็ได้ทราบว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องบุคคลที่ไม่ยืนแสดงความเคารพระหว่างเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี เพราะไม่ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายข้อใดเลย

ในทศวรรษ 2560 การไม่ลุกขึ้นยืนตอนเพลงสรรเสริญพระบารมีบรรเลงในโรงภาพยนตร์ได้กลายเป็นภาพปกติที่พบเห็นเจนตาไปเสียแล้ว

ส่วนเรื่องการไม่ยืนตรงเมื่อยินเสียงเพลงชาติ ผมพลันหวนระลึกถึงเรื่องสั้น ‘เพลงชาติไทย’ ในหนังสือรวมเรื่องสั้น เราหลงลืมอะไรบางอย่าง ผลงานประพันธ์ของ วัชระ สัจจะสารสิน ที่คว้ารางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write) ประจำปี พ.ศ. 2551 ที่จริงผมเคยอ่านเรื่องสั้นนี้ครั้งแรกตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนมัธยมปลาย ตอนนั้นลงพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร ฅ.คน ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550

ใน ‘เพลงชาติไทย’ วัชระตั้งคำถามอย่างแหลมคมว่า การแสดงความรักชาติจำเป็นด้วยหรือที่จะต้องลุกขึ้นยืนตรงตอนเพลงชาติไทยดังขึ้น ตัวละครหลักที่ปรากฏในท้องเรื่องจึงเป็นบุคคลผู้ไม่แยแสต่อเสียงเพลงชาติ และไม่ยอมหยุดยืนตรง

วัชระเริ่มเปิดฉากว่า

“เย็นวันหนึ่งหลังเลิกงาน ผมแวะเข้าไปนั่งทอดอารมณ์ในมหาวิทยาลัยที่เคยร่ำเรียนมา ขณะกำลังนั่งคิดอะไรเพลินๆ เผอิญเพลงชาติไทยกระหึ่มขึ้นกลางมหาวิทยาลัย ผู้คนหยุดกึกอย่างกับเครื่องจักรถูกถอดปลั๊ก อย่าว่าแต่คนเลยครับ แม้แต่หมาในมหาวิทยาลัยยังร่วมเคารพเพลงชาติไปกับผู้คนด้วยเหมือนกัน ผมสังเกตเห็นออกบ่อย เมื่อสัญญาณเริ่มต้นเพลงชาติดังขึ้น หมาสองสามตัวที่อยู่โยงกับมหาวิทยาลัยมายาวนาน จะยืนนิ่งชูคอเห่าหอนรับเป็นทอดๆ ไปจนกว่าเพลงชาติจบ คราวนี้ก็เช่นกัน มันทำในลักษณาการเช่นเดิมไม่ผิดเพี้ยน มันเป็นภาพที่ชวนประทับใจหรือชวนตลกกันแน่ ผมเองก็ไม่แน่ใจ”

ตัวละคร ‘ผม’ ยังคงนั่งนิ่งเฉย หาได้ลุกตัวขึ้นยืนตรง เพราะ “ผมคิดว่าการลืมทำอะไรบ้างบางครั้งก็ไม่น่าจะก่อปัญหาขึ้นกับตัวเองหรือส่วนรวมเลย” กระทั่งอาจารย์ผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาหาด้วยดวงหน้าถมึงทึงและตะคอกถาม “นี่เธอ เป็นคนไทยหรือเปล่า?” พร้อมพิพากษากรณีที่ ‘ผม’ ไม่ยืนแสดงความเคารพเพลงชาติ “แน่ใจหรือว่าเธอเป็นคนไทย แล้วทำไมถึงทำอย่างนี้ล่ะ หรือเธอจะเป็นคอมมิวนิสต์”

“ผมลืม” เป็นคำตอบ ยิ่งกระตุกต่อมอารมณ์เกรี้ยวกราดของอาจารย์ผู้หญิงจนถึงกับลั่นวาจา “เธอไม่อายพวกหมามันบ้างเหรอ ขนาดมันเป็นหมาก็ยังรู้หน้าที่”

ตัวละคร ‘ผม’ อ้างว่า บางทีหมามันอาจจะเห่าหอนเพราะรำคาญเพลงชาติก็ได้ อาจารย์ผู้หญิงกระแทกหนังสือที่หอบมากับโต๊ะอย่างแรง “…เดี๋ยวฉันจะแจ้งความเอาเธอเข้าตะราง” 

ขณะชายหนุ่มกล่าว “…แต่ผมสงสัยจังว่าการไม่ยืนตรงเคารพเพลงชาตินี่มันจะเป็นความผิดด้วยหรือ ถ้าผิดจะเป็นข้อหาอะไรหรือครับ หรือจะเป็นข้อหาทำลายความมั่นคงของชาติ หรือข้อหาขายชาติ หรือข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ หรือร้ายแรงถึงขั้นการกระทำอันเป็นภัยต่อชาติในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย…” 

อีกทั้งตั้งคำถามเด็ด “…ถ้าเผอิญอาจารย์กำลังมีอะไรอยู่กับสามีแล้วเพลงชาติดังขึ้น อาจารย์จะหยุดทำอะไรอย่างว่าแล้วยืนตรงเคารพเพลงชาติหรือเปล่าล่ะครับ”

“อุบาทว์!” อาจารย์หญิงร้องอุทานหน้าเขียว คว้าจับหนังสือเล่มโตลงฟาดบนศีรษะชายหนุ่มโครมใหญ่จนสมองมึนชา 

จากนั้นภาพตัดไปเป็นฉากที่ตลาดทางภาคใต้บ้านเกิดของชายหนุ่ม 

ตัวละครอย่าง ‘น้าแสง’ ปรากฏกายบริเวณตลาด ขณะเสียงเพลงชาติดังกึกก้อง ไม่เพียงแต่ไม่ยอมหยุดยืนตรง น้าแสงยัง “…เดินพล่านวกไปวนมาทั่วตลาด ทุกคนจ้องเป็นจุดเดียวกัน เมื่อแกรู้ตัวว่าตัวเองกำลังตกเป็นเป้าสายตา ผ้าขาวม้าที่เป็นอาภรณ์ติดกายอยู่เพียงผืนเดียว ก็ถูกแกกระชากออกชูขึ้นสะบัดไปมาเหนือหัว แกมิมีแม้กางเกงใน เครื่องเคราเบื้องล่างจึงเห็นได้ถนัดตา”

แม้ ‘จ่าเมือง’ ตำรวจประจำป้อมใกล้ตลาดคนเก่าจะเคยประกาศปาวๆ ถ้าใครไม่ยอมยืนตรงเคารพเพลงชาติจะต้องโดนปรับ 500 บาท หรือโดนจับเข้าคุก แต่ทุกคนละแวกนั้นก็รู้ดีว่าน้าแสงเป็นคนบ้า จึงไม่มีใครถือสาหาความ พอแลเห็นก็พากันหัวเราะขบขัน

หากเช้าวันนั้น จ่าเมืองหาได้มาเข้าเวรประจำป้อม กลายเป็นตำรวจหนุ่มคนใหม่แทน ซึ่งโกรธจัดที่มองเห็นพฤติกรรมของน้าแสง พอเพลงชาติจบลง ตำรวจหนุ่มปราดเข้าไปหาคนบ้าประจำตลาด เค้นถามว่า “ทำไมเอ็งถึงไม่ยืนตรงเคารพเพลงชาติหือ?”

สิ่งที่น้าแสงแสดงออกคือถ่มถุยน้ำลายลงพื้นและพูดว่า “ประเทศชาติคงไม่ระยำฉิบหายหรอกวะ หากคนอย่างกูไม่เคารพเพลงนั่นน่ะ”

ตำรวจหนุ่มจับน้าแสงสวมกุญแจมือ ลากตัวไปที่ป้อม เกิดการถกเถียงกัน จากนั้น “ฝ่ามือตำรวจหนุ่มฟาดเข้าบ้องหูน้าแสงเต็มแรง จนหน้าสะท้านชวนเซไปชนกับบานหน้าต่าง เขาไขกุญแจมือออก น้าแสงรีบกุมมือด้วยความเจ็บปวด”

นั่นคือเหตุการณ์ช่วงเวลาหลัง 8 นาฬิกาตอนเช้า พอล่วงถึงตอนเย็นเวลา 18 นาฬิกา ตำรวจหนุ่มประจำป้อมก็เป่านกหวีดให้ทุกคนบริเวณตลาดหยุดยืนตรงเคารพเพลงชาติ 

กลางๆ เพลง น้าแสงโผล่ออกมาจากท้ายตลาดด้วยกิริยาอาการแบบเดียวกับตอนเช้า ถึงท้ายเพลง น้าแสงก็แหกปาก “สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศ ชาติไทยทวี มีชัย ชโย”

ผู้สวมเครื่องผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เดือดดาล คิดว่าน้าแสงล้อเลียนประเทศชาติ จนกระทั่ง “ด้ามปืนในมือตำรวจหนุ่มฟาดท้ายทอยน้าแสงเต็มแรง ร่างเปลือยทรุดฮวบลงกับพื้น”

วัชระเผยให้เห็นว่า ในสังคมไทยได้มีการอ้างเอาเรื่องการยืนตรงเคารพเพลงชาติมาใช้เป็นเครื่องมือแสดงอำนาจข่มเหงคนอื่นๆ ดังเห็นจากตัวละครอาจารย์ผู้หญิงในมหาวิทยาลัยริมแม่น้ำ (ซึ่งทั้งวัชระและผมเองย่อมคุ้นเคยดี) และตำรวจหนุ่มทางภาคใต้

ช่วงปีที่วัชระกลายเป็นนักเขียนซีไรต์นั้น ผมเพิ่งเป็นนักศึกษาปริญญาตรีปี 1 เคยไปฟังงานเสวนาเกี่ยวกับหนังสือ เราหลงลืมอะไรบางอย่าง คลับคล้ายคลับคลาว่าแว่วยิน ไพลิน รุ้งรัตน์ หรือ ชมัยภร แสงกระจ่าง เอ่ยปากทำนองคณะกรรมการเกือบไม่ให้รางวัลซีไรต์แก่วัชระ ก็เพราะเรื่องสั้น ‘เพลงชาติไทย’ นี่แหละ

-4-

ผมยังไพล่นึกถึงและอยากแนะนำให้คุณผู้อ่านรู้จักบทกวี ‘เหตุการณ์ตอนแปดนาฬิกา’ ผลงานของ จักรินทร์ สร้อยสูงเนิน ที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดวรรณกรรมรามคำแหง เมื่อปี พ.ศ. 2555 เนื้อหาบอกเล่าถึงหนุ่มบ้านนอกที่จับได้ใบแดงเลยถูกส่งไปเป็นพลทหารประจำการสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะอาลัยอาวรณ์ที่ต้องอำลาจากบ้านและแม่ ในการต่อสู้ปะทะกับผู้ก่อความไม่สงบคราวหนึ่ง พลทหารหนุ่มสูญเสียอวัยวะด้วยแรงระเบิด ดังที่จักรินทร์ถ่ายทอด

“บนถนนสายหนึ่ง-ปัตตานี หลังจากเขาทำหน้าที่จนเสร็จสิ้น

คุ้มครองครูและนักเรียนจนเหงื่อริน ลมประทิ่นกลิ่นเช้าพอชื่นใจ

แต่กลับเป็นเช้าวันอันโชคร้าย เงาความตายทอทาบอยู่หารู้ไม่

พอระเบิดดังลั่นขึ้นทันใด สิ่งที่เหลือคืออะไรในยามนี้ ?

เพื่อนทหารสองนายใกล้ใกล้เขา ภาพน่าเศร้าจมกองเลือดเกินหลีกหนี

แขนไปทางขาไปทิศปลิดชีวี เขาเลือดปรี่เจียนหมดกายทุรายทุรน

ลมหายใจในเรือนร่างอันรุ่งริ่ง ยิ่งเหลือยิ่งเจ็บปวดรุมทุกขุมขน

พอสองมือได้กำหมัดกัดฟันทน จึงรู้ตนว่าบัดนี้รอดชีวา

ภาพหนึ่งพลันผุดให้เห็นเป็นภาพแม่ ดีใจแท้ได้รอดตายกลับไปหา

พอได้ยินเพลงชาติแว่วแผ่วลมมา จะยืนตรงแต่ทว่า…ขาไม่มี”

พลทหารหนุ่มปรารถนาจะยืนตรงแสดงความเคารพเพลงชาติ แต่กลับมิสามารถยืนได้

จักรินทร์ ปิดท้ายบทกวีว่า

“ทุกวันแปดนาฬิกาหน้าตลาด หนุ่มขาขาดนั่งรถเข็นมาที่นี่

คนเห็นเขาร้องเพลงชาติองอาจดี ก่อนร้องขายลอตเตอรี่เลี้ยงชีวิต.”

ทั้งเรื่องสั้นของ วัชระ สัจจะสารสิน และบทกวีของ จักรินทร์ สร้อยสูงเนิน ตั้งคำถามต่อการยืนตรงเคารพเพลงชาติเหมือนกัน แต่ด้วยน้ำเสียงและแนวคิดที่แตกต่าง

หนึ่งวันก่อนวันชาติฝรั่งเศสของปี พ.ศ. 2565 (อันตรงกับวันที่ 13 กรกฎาคม) ถือเป็นประสบการณ์แรกรู้จักเมืองระนองของผมท่ามกลางสายฝนพร่างพรำ เช้านั้น ผมแวะถมท้องให้ผ่อนคลายความหิว ณ ร้านโรตีอาหรับแห่งหนึ่ง พลันสายตาสะดุดพบข้อความในเมนูอาหารว่า “8.00 ยืนตรงเคารพเพลงชาติ รับส่วนลด 5% จากร้านบังกี”

โอ้ น่าเสียดายเหลือเกิน ตอนผมไปถึงร้านก็ล่วงเลยเวลา 8.00 น. เสียแล้ว จึงอาจอดโอกาสได้รับส่วนลด 5 เปอร์เซ็นต์บ้าง

-5-

เผอิญความ ‘ได้แรงอก’ ตามประสาคนใต้ในการทำตนเป็น ‘นักเล่า’ ของผมยังขึงขังมิคลาย ขออนุญาตชวนสนทนาอีกสักเรื่องเกี่ยวกับเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ เป็นเหตุการณ์ช่วงปลายปี พ.ศ. 2503 ผมเคยอ่านหลักฐานเก่าๆ พบว่า ตอนนั้น เสนอ เมทะนี หัวหน้ากองกลาง การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือแสดงข้อคิดเห็น ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2503 ส่งไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย

การรถไฟแห่งประเทศไทย

วันที่ ๒๖ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓

เรื่อง เพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์

เรียน ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย

กระผมได้สังเกตเห็นว่า ในปัจจุบันตามโรงภาพยนตร์บางแห่งในพระนคร มีการใช้จานเสียงเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีเมื่อสิ้นสุดการฉายรอบหนึ่งๆ พร้อมด้วยเนื้อ (wording) และทำนอง (rhythm) ไม่ได้จัดแต่ทำนองเพลงอย่างเดียวเหมือนแต่ก่อน การจัดแบบนี้ก็รู้สึกว่าดีอยู่ แต่ถ้อยคำที่ใช้ร้อง (wording) ยังมีผิดเพี้ยนจากภาษาที่ใช้แท้จริงมาก เพราะจะโปรดเห็นได้ว่า เมื่อครั้งก่อนๆ ที่กระผมยังเป็นเด็กนักเรียน (เวลานี้อายุ ๔๘ ปี) ในการซ้อมเพลงนี้เพื่อแก่การทอดกฐินพระราชทานในขณะเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น จักต้องพยายามซ้อมกันให้ชัดถ้อยชัดคำ จริงอยู่ คำบางคำอาจจะให้ชัดทีเดียวไม่ได้ แต่ก็พยายามให้เสียงเป็นไปตามโดยถูกต้อง กระผมขอยกตัวอย่างให้ทราบดั่งนี้-

ข้าวรพุทธเจ้า เอา มโนและศิรกราน นบพระภูมิบาล บุญญดิเรก

เอกบรมจักรินทร์ พระสยามินทร์ พระยศยิ่งยง เย็นศิร เพราะพระบริบาล

ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์ ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด

จงสฤษฎิ์…ดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ชโย.

เมื่อคำมีผิดเพี้ยนไปเช่นนี้ กระผมจึงขอประทานเสนอความเห็นเป็นส่วนบุคคลว่า เมื่อเป็นการร้องโดยเปิดเผย และมีชนต่างชาติร่วมอยู่ด้วย บางชาติเขาก็เข้าใจในภาษาของเราดี จะสมควรให้กรมศิลปากรพิจารณาแก้ไขเรื่องนี้หรือไม่ สุดแต่จะโปรด. 

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

(นายเสนอ เมทะนี)

หัวหน้ากองกลาง

ต่อมาทางกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือลงนาม พล.ต.อ.หลวงชาติตระการโกศล ปลัดกระทรวง ส่งไปยังอธิบดีกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน 

พอวันที่ 6 พฤศจิกายน ทางกรมศิลปากรได้มีหนังสือลงนาม นายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีรักษาการแทนอธิบดี ตอบกลับมาและให้เหตุผลว่า

 “…โดยที่เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงที่มีเนื้อและทำนองเป็นแบบสากล การร้องจึงดำเนินตามแบบสากลโดยมุ่งเสียงของทำนองเพลงเป็นใหญ่ หากจะร้องให้ชัดเจนทุกคำแล้ว จะต้องมีการเอื้อนช่วยอย่างแบบร้องเพลงไทย ซึ่งจะทำให้เป็นการผิดลักษณะของเพลง และโดยปรกติการร้องเพลงก็ย่อมจะมีถ้อยคำที่ผิดเพี้ยนไปจากคำพูดสามัญบ้าง ซึ่งถ้าไม่ผิดเพี้ยนจนเสียความหมายแล้ว ก็มิได้ถือกันเป็นข้อสำคัญ”

และ

“เพื่อที่จะให้การร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีได้เป็นไปโดยถูกต้อง กรมศิลปากรจึงได้จัดทำแผ่นเสียงเพลงดังกล่าวนี้ออกจำหน่ายเผยแพร่ด้วย”

ในวันที่ 8 ธันวาคมปีเดียวกัน นายนันท์ ศิริสัมพันธ์ หัวหน้ากองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เขียนอธิบายความเห็นของกรมศิลปากรส่งไปยังนายเสนอ พอวันที่ 13 ธันวาคม นายเสนอจึงส่งหนังสือตอบกลับไป มีใจความหลักตอนหนึ่งว่า

 “…ในเรื่องนี้ที่เรียนชี้แจงมาขั้นแรกก็เป็นความเห็นส่วนบุคคลและถือเป็นเรื่องภายใน แต่เมื่อทางการได้พิจารณาจนกรมศิลปากรได้จัดทำแผ่นเสียงมาตรฐานขึ้นแล้ว ก็ใคร่ขอให้ทางกระทรวงมหาดไทยช่วยให้เจ้าหน้าที่ๆ เกี่ยวข้องไปตรวจสอบเสียงเพลงที่จัดให้มีเสียงร้องเป็นถ้อยคำตามโรงภาพยนต์บางแห่ง ถ้าโปรดเห็นว่าสมควรจะแนะให้ซื้อจานเสียงของกรมศิลปากรเพื่อให้เป็นมาตรฐานอันเดียวกันได้ ก็ขอได้โปรดติดต่อๆ ไปด้วย จะเป็นที่ขอบคุณยิ่ง”

ถ้าคุณผู้อ่านรู้สึกคุ้นๆ นามสกุลของนายเสนอแล้ว ผมใคร่เฉลยให้ชัด คนนี้แหละครับคือพ่อของพระเอกภาพยนตร์ไทยผู้โด่งดังอย่าง สมบัติ เมทะนี 

น่าสนใจว่า นายเสนอคงจะเป็นคนชอบดูภาพยนตร์ จึงเอาใจใส่กระทั่งบทเพลงที่เปิดขึ้นในโรงภาพยนตร์ด้วย ส่วนสมบัตินั้น ได้เริ่มก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงแล้ว โดยแสดงละครโทรทัศน์เรื่อง ‘หัวใจปรารถนา’ คู่กับ วิไลวรรณ วัฒนพานิช ออกฉายทางช่อง 7 ขาวดำ (สมัยนี้คือช่อง 5) ก่อนจะแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกคือ ‘รุ้งเพชร’ ในปี พ.ศ. 2504 คู่กับ รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง

นายเสนอยังเป็นคนชอบขีดเขียนหนังสือเพื่อสนองต่อความเพลิดเพลินสายตาของนักอ่าน ผลงานน่าสัมผัสเรื่องหนึ่งของเขาคือ ‘ไปญี่ปุ่นและไต้หวันกับผู้ว่าการรถไฟ’ เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ รถไฟ ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2509

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งนายกรัฐมนตรีคือสมาชิกคณะราษฎรระดับแกนนำสายทหารได้สร้างวัฒนธรรมการยืนแสดงความเคารพเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้นอย่างเข้มงวดในสังคมไทย โดยเฉพาะการเน้นย้ำให้คนลุกยืนเมื่อยินเสียงเพลงบรรเลงในโรงภาพยนตร์ วัฒนธรรมดังกล่าวกลายเป็นค่านิยมตกทอดมาจนทศวรรษ 2550 แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงก็มาถึงอย่างแจ่มชัดในทศวรรษ 2560 ซึ่งแทบจะไม่ค่อยพบเห็นการหยุดยืนตรงเคารพเพลงชาติในสังคมทั่วไป และเมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีสนั่นก้องในโรงภาพยนตร์ก็อาจจะแลเห็นผู้ชมที่ยังคงลุกขึ้นยืนตรงอยู่บ้าง แต่มิใช่เป็นการลุกยืนขึ้นทั้งโรงเฉกเช่นเคยประจักษ์สายตาในวันวาน

ทุกบรรทัดที่ผมร่ายเรียงขบวนตัวอักษรจึงสะท้อนภาพการเดินทางของประวัติศาสตร์การยืนหรือไม่ยืนแสดงความเคารพเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมีนับแต่อดีตตราบบัดนี้

อ้างอิง
  1. หจช. บก.สูงสุด 2.7/190 ทหารญี่ปุ่นและชาวญี่ปุ่นไม่แสดงการเคารพพระบรมรูป และรูปนายกรัถมนตรี เมื่ออยู่ในโรงมหรสพ (4-9 มกราคม 2487)
  2. หจช. มท. 0201.2.1/941 เพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ (ของนายเสนอ เมทะนี) (พ.ศ. 2503)
  3. ดิศพงษ์อนุสรณ์. พิมพ์ในงานเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ พลโท หม่อมเจ้าพิสิฐดิศ พงษ์ ดิศกุล ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 7 มิถุนายน พุทธศักราช 2509, พระนคร: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2509
  4. นิภาพร รัชตพัฒนากุล. “ไทย-ญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม: บางแง่มุมจากกิจกรรมทางวัฒนธรรม”. วารสารธรรมศาสตร์. ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 (ธันวาคม 2547). หน้า 140-166
  5. ปุ่น วงศ์วิเศษ, พลโท. ๙ ทศวรรษของชีวิตผม. อนุสรณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานเพลิงศพ พลโทปุ่น วงศ์วิเศษ ม.ว.ม., ป.ช., ต.จ.ว. ณ เมรุวัดธาตุทอง วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2554. ม.ป.ท.: ม.ป.พ, 2554
  6. วัชระ สัจจะสารสิน. “เพลงชาติไทย”. ใน เราหลงลืมอะไรบางอย่าง. พิมพ์ครั้งที่ 25. ปทุมธานี: นาคร, 2564. หน้า 97-113
  7. สมบัติ เมทะนี. เป็นพระเอกซะจนได้. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2539
  8. สายหยุด เกิดผล. มองญี่ปุ่นไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดบันทึกพลเอกสายหยุด เกิดผล พ.ศ. 2484-2488. กรุงเทพฯ: อาร์ตโปรดักชั่น, 2550
  9. เสนอ เมทะนี. “ไปญี่ปุ่นและไต้หวันกับผู้ว่าการรถไฟ.” รถไฟ ปีที่ 11 ฉบับที่ 5 (กรกฎาคม 2509)
  10. เสนอ เมทะนี. “ไปญี่ปุ่นและไต้หวันกับผู้ว่าการรถไฟ.” รถไฟ ปีที่ 11 ฉบับที่ 8 (ตุลาคม 2509)
  11. อนุสรณ์พลตรีไชย ประทีปะเสน. เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีไชย ประทีปะเสน ม.ว.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลา อิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 8 มกราคม 2505. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2505

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
เยาวรุ่นผู้แรมนิราศจากลุ่มตาปี มาเดินวนดูรูปปั้นนายปรีดีกลางทุ่งเชียงราก ฟ้าแลบหลายแปล๊บๆ ก็กลายเป็นหนุ่มวัยสามสิบต้นๆ

มักแปลงร่างเป็นเทพบก และแวะไปรับประทานหมกเสือ

ขะมักเขม้นอ่าน ค้น และเขียนหนังสือ โดยฝันหวานถึงรางวัล SHE LIKE

ช่วงหลังๆ มีคนเข้าใจผิดเนืองๆว่า เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านหนึ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า