อาจเป็นเบียร์ในลังกระดาษ ขวดเหล้าในกล่องหลากสี กระทะย่างเนื้อเท่าที่มี คนหลายวัยนั่งล้อมวงกัน แสงแดดยังไม่อ่อนแรง แต่เริ่มกินดื่มแข่งกับแสงตะวัน นี่คือเวลาของเทศกาลวันปีใหม่ แต่บางคนไม่ได้กลับบ้าน
อาจเป็นใครสักคนที่ไม่ยอมจำนนกับอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร บางคนลี้ภัยทางการเมือง กลับบ้านไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าชั่วคราวหรือชั่วกาล
เราสามารถเรียกประเทศนี้ว่าบ้านได้ไหม
ภายหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. ได้ออกคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวอย่างเป็นทางการจำนวน 37 คำสั่ง รวมผู้ถูกเรียกไปรายงานตัว 472 รายชื่อ และมีการประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 กำหนดโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับ 40,000 บาท กับบุคคลที่ไม่ยอมมารายงานตัวตามคำสั่ง
การเรียกให้บุคคลมารายงานตัวและควบคุมตัวไว้ในค่ายทหาร กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ คสช. ใช้สร้างความสงบราบคาบทางการเมือง ข้อเท็จจริงภายใต้การควบคุมตัวด้วยอำนาจกฎอัยการศึก ผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อญาติ หรือทนายความ ไม่มีการเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ถูกสอบสวนเพื่อหาข้อมูล หาหลักฐานในการดำเนินคดี มีการพูดคุยเพื่อปรับ ‘ทัศนคติ’ ถูกบังคับให้เซ็นเอกสารยินยอมยุติการแสดงความคิดเห็นและการเคลื่อนไหวทางการเมือง หลายคนถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีหลังการควบคุมตัว และหลายคนแสดงออกถึงการไม่ยอมรับอำนาจของ คสช. ด้วยการเลือกที่จะหนีออกนอกประเทศ เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง
วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นหนึ่งในนั้น ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และคดี 112 ในบทบาทผู้จัดงาน 40 ปี 14 ตุลาคมในปี 2556 ในงานวันนั้นมีการแสดงละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่า ในฐานะผู้จัดงานวันนั้น วัฒน์โดนข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เขาเลือกลี้ภัยออกนอกประเทศ พลัดพรากจากครอบครัว หลีกลี้ไกลบ้าน
ไกลบ้าน
“ความรู้สึกของผมคือความสะเทือนใจ” ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ อธิบายความรู้สึกที่มีต่อ วัฒน์ วรรลยางกูร เพราะ “เรารู้สึกผูกพันกับเรื่องเล่าของเขา และรู้สึกผูกพันกับคนที่เขียนนวนิยายเรื่องนั้นขึ้นมา”
เขาหมายถึง มนต์รักทรานซิสเตอร์ นวนิยายที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 2544 กำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง ธีรพันธ์ผูกพันกับภาพยนตร์เรื่องนี้ หลายปีต่อมาเขาพบว่าภาพยนตร์ที่เขารักกำเนิดมาจากบทประพันธ์ของ วัฒน์ วรรลยางกูร และเพื่อนของเขาเป็นลูกชายของนักประพันธ์
เมื่อเจอเพื่อน เขาถามเพื่อนถึงสภาพความเป็นอยู่ของพ่อเพื่อนผู้เลือกที่จะลี้ภัยทางการเมือง สิ่งที่เขาสัมผัสได้คือระยะของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับเพื่อน เป็นระยะที่เขาอยากจะเล่าออกมา
“มันก็มีความห่างๆ ของความสัมพันธ์พ่อลูก มันมีระยะที่เรารู้สึกได้ ผมไม่ได้อยากเล่าเรื่องนี้ในฐานะหนังของคนลี้ภัยทางการเมืองอย่างเดียว ผมอยากเล่าเรื่องของคนที่บ้านพัง ที่สุดแล้วผมอยากจะเล่าเรื่องของสถานการณ์ทางสังคมที่ทำให้ครอบครัวครอบครัวหนึ่งต้องแตกบิ่น คนในครอบครัวกระเส็นกระสายแตกไปคนละทิศจากกฎหมายหรือจากการเมือง ผมอยากไฮไลท์ตรงนี้ ผมไม่ได้โฟกัสว่าเขาหนีไปยังไง
“เมื่อได้รู้ว่าเขามีชะตากรรมแบบนี้ในตอนนี้ ประกอบกับผมมีความสนใจเรื่องการเมือง มันก็เกิดเป็นความอึดอัดใจ และเราอยากจะเล่าออกมา เรารู้สึกเหมือนเป็นลูกเป็นหลานเขา ญาติผู้ใหญ่ของเราคนหนึ่งกลับบ้านไม่ได้” ธีรพันธ์เล่าถึงความเป็นมาของหนังสารคดีเรื่องไกลบ้าน (Away) ผลงานภาพยนตร์ความยาว 35 นาทีของเขา
ภาพชีวิตของ วัฒน์ วรรลยางกูร ในประเทศเพื่อนบ้านจึงถูกถ่ายทอดออกมา เขาซื้อที่ดินริมบึงเพื่อจะสร้างบ้าน หลักแหล่งถาวรที่จะอาศัยอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง แต่วัฒน์บอกเสียงดังฟังชัดและเอ่ยมากกว่าหนึ่งครั้ง เขามีชีวิตอยู่ในฐานะเสรีชน มนุษย์ซึ่งมีเสรีภาพทางความคิด แสดงออกตรงกับสิ่งที่เชื่อที่คิด แต่การเป็นเสรีชนในบางประเทศกลับต้องแลกกับหลายอย่างของชีวิต แลกด้วยบ้านที่สร้างด้วยน้ำหมึกน้ำแรงในฐานะนักประพันธ์ ย้ายมาอยู่เพิงไม้ไผ่ที่มีฝาบ้านไม่ครบ 4 ด้าน แลกด้วยการพลัดพรากจากครอบครัว พลัดจากแม่และลูกๆ ย้ายมาอยู่ลำพัง มีเพื่อนผู้ลี้ภัยการเมืองคอยดูแลกัน เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกผักปลูกข้าวไว้บริโภค กินไวน์ สูบบุหรี่ เมาแล้วก็เข้ามุ้งนอน ตื่นเช้ามาหาอยู่หากิน ขีดเขียนต้นฉบับ อ่านหนังสือหนังหา อยู่แบบพอเพียงเพราะชีวิตต้องเพียงพอ ก็ที่นั่นไม่ใช่บ้าน
“สภาพที่เขาอยู่เป็นเพิงที่สร้างชั่วคราว แมลงก็เยอะ ต้องกางมุ้งนอน ช่วงที่ผมลงไปถ่ายทำเป็นช่วงที่ฝนตกทุกวัน บรรยากาศมันจะชวนซึมมากๆ สภาพความเป็นอยู่ไม่ดีเลย เราจะได้เห็นในหนังว่าเขาซื้อที่ดินเพื่อเตรียมปลูกบ้านที่จะอยู่อาศัย ช่วงที่ผมลงไปถ่ายทำน่าจะเป็นช่วงเดือนกันยายน เป็นช่วงก่อนเกิดเหตุ 3 ศพที่ลอยแม่น้ำโขง” ธีรพันธ์เล่าถึงช่วงเวลาที่เขาลงไปสัมภาษณ์และถ่ายทำหนังเรื่องไกลบ้าน
ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2561 ข่าวการหายตัวไปของนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวน 3 ราย ได้แก่ สุรชัย แซ่ด่าน, ไกรเดช ลือเลิศ, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ ได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับเหล่าผู้ลี้ภัยที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงวัฒน์ด้วย ในเดือนเดียวกันนั้น มีการพบศพของนักกิจกรรม 2 รายหลัง หลังจากนั้น สยาม ธีรวุฒิ คนที่วัฒน์ใกล้ชิดผูกพันราวกับเป็นพ่อลูก หายตัวไปในเวียดนาม การหายตัวไปของผู้ลี้ภัยหลายรายในช่วง 2561-2562 ทำให้วัฒน์เริ่มกระบวนการจนได้สถานะผู้ลี้ภัยไปยังประเทศฝรั่งเศส
“ตอนที่เขาวางแผนไปฝรั่งเศส ผมก็ได้ยินมาว่าบ้านของเขาสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งเขาวางแผนจะอยู่ที่นั่นยาว เขาวางแผนว่าจะย้ายจากเพิงนั้นไปอยู่ในบ้าน แต่เมื่อบ้านสร้างเสร็จ ก็ไม่ได้อยู่” ธีรพันธ์เล่า
มีอย่างน้อย 86 คนต้องลี้ภัยหลังรัฐประหาร 2557 และในจำนวนนั้นมี 8 คนสูญหาย พบศพ 2 ราย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดเมืองนอนของ วัฒน์ วรรลยางกูร – ประเทศไทย
Home in the Sky
“คนที่ไกลบ้านมีหลายแบบ ไม่ได้มีความหมายเชิงโรแมนติกอย่างเดียว” ธีรพันธ์พูดถึงชื่อหนังของเขา หนังเรื่องนี้มีความยาว 35 นาที หนังแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกหนังอยู่กับวัฒน์ที่เพิงพักชั่วคราว ซึ่งเป็นบ้านของวัฒน์ที่ประเทศลาวในเวลานั้น ส่วนหลังของหนัง เดินทางไปยังบ้านที่จังหวัดกาญจนบุรีของวัฒน์ ที่นั่นไม่มีใครอยู่ ทุกอย่างร้างองค์ประกอบของบ้าน
“บ้านของเขาสวยนะครับ” ธีรพันธ์เริ่มต้นบรรยายบ้านของวัฒน์ หลังจากเดินทางไปถ่ายทำจนปรากฏเป็นส่วนหลังของหนังเรื่องไกลบ้าน “มันสวยเหมือนที่เขาเล่าให้ฟังในหนัง ตอนที่ผมไปที่กาญจนบุรีครั้งแรก ผมรู้สึกว่าบ้านแบบนี้เป็นบ้านที่คุณวัฒน์เขาชอบ เป็นบ้านที่มีความสันโดษ อยู่ในร่มไม้ป่าไผ่ มีมุมมีพื้นที่ให้เขาใช้ชีวิต มีพื้นที่ให้เขาเขียนงาน ผมรู้จักเขาผ่านลูกของเขา เขาจะเล่าให้ฟังบ่อยๆ ว่า พ่อชอบใช้ชีวิตแบบไหน ชอบอยู่กับธรรมชาติ ผมก็รู้สึกว่าบ้านที่กาญจนบุรีมันก็เป็นแบบนั้นเลย สวยมากแต่รกร้าง เพราะไม่มีใครอยู่ ก็เหมือนที่ลูกของคุณวัฒน์พูดไว้ในหนังว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่ลูกๆ ตั้งใจจะเก็บไว้ เพื่อหวังว่าสักวันพวกเขาจะได้กลับมาอยู่ด้วยกันอีก ผมรู้สึกว่ามันเป็นความหวังที่…” เขาหยุดเพื่อสรรหาถ้อยคำที่เหมาะสม
“เป็นความหวังที่… ใหญ่เหมือนกัน ผมคิดว่าเขาเสียสละพอสมควรเลยนะ เขาทิ้งบ้านหลังนี้ไปเพื่อไปใช้ชีวิตในบ้านหลังนั้นที่เป็นเพิงเปิดตามมีตามเกิด เพื่อยืนยันในสิ่งที่เขาเชื่อ” ธีรพันธ์เล่า
นอกจากชีวิตของนักประพันธ์คนหนึ่งที่ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ไกลบ้าน มุ่งสำรวจตรวจตรารูปและนามของสิ่งที่เรียกว่า ‘บ้าน’ ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่สร้างขึ้นเพื่ออยู่ชั่วคราวของวัฒน์ที่ประเทศลาว (ก่อนที่มันจะสร้างเสร็จ แต่เขาก็ต้องลี้ภัยไปฝรั่งเศส) บ้านที่ประเทศไทย วันนี้เป็นบ้านที่ไม่มีใครอยู่ ตัวตนเจ้าของบ้านถูกทิ้งร้าง ฝุ่นและหยากไย่ปกคลุมขวดไวน์ บ้านทรุดโทรมเมื่อไม่มีใครอยู่ และบ้านในความหมายของความรู้สึก การอยู่ร่วมกันของครอบครัว
Home in the Sky เป็นชื่อกรุ๊ปไลน์ครอบครัว ประกอบไปด้วยลูกทั้งสามคนของวัฒน์ ลูกๆ สามคนกระจัดกระจายเหมือนเกสรดอกไม้ตามเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคน บ้านที่จะได้กลับมาเจอมาพูดคุยกันประสาพี่น้องประสาครอบครัวจึงอยู่ในอากาศในท้องฟ้าในไลน์ Home in the Sky
“พอได้อยู่ได้คุยกับคนที่เขาต้องรับมือกับเรื่องนั้นจริงๆ ผมรู้สึกว่า สังคมทุกวันนี้คนมันโกรธกันเยอะแหละ แต่มันคงมีหลายปัจจัยที่ทำให้ความโกรธนี้ยังไม่ปะทุออกมา คงมีความกลัวบ้าง ความไม่มั่นคงบ้าง มันก็ทำให้เราอยู่ในจุดที่โอเค กูโกรธแต่กูจะอยู่แบบนี้ แต่พอได้เจอคนที่เขาโกรธแล้วเขาลุยกับสิ่งที่ตนเองโกรธเต็มที่ เขาพูด เขาเคลื่อนไหว เขาไม่ยั้งเลย โอเค ไม่มีบ้านก็ไม่มี จะต้องไปอยู่ที่ไหนก็ต้องไป มันเป็นความรู้สึกแบบ… เหมือนเราได้เห็น worse version ของคนที่เลือกจะพูดมันออกมา ผมว่ามันเป็นความรู้สึกที่หลากหลาย สิ้นหวัง โกรธ เสียใจ มันปนๆ กันไปหมดเลย แต่ในฐานะที่ผมเป็นคนทำงานเล่าเรื่อง ผมจะเล่าเรื่องในแบบที่รู้สึกออกไปสู่วงกว้าง ให้เขาได้คิดเห็น ตั้งคำถาม สำรวจตัวเอง มันเป็นบทบาทที่ผมทำได้ในความรู้สึกโกรธกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่” ธีรพันธ์บรรยายความรู้สึกของตนหลังจากทำหนังเรื่องนี้เสร็จสมบูรณ์
หากครึ่งแรกของหนังทำให้เราเห็น ‘รูป’ ของบ้านหลังที่วัฒน์อาศัยระหว่างลี้ภัยการเมือง ซึ่งเกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ซึ่งก็เป็นบ้านอีกประเภทเช่นกัน ครึ่งหลังเราจะพบกับ ‘นาม’ ของบ้าน บ้านที่ก่อขึ้นมาจากความรู้สึก ความทรงจำ และประสบการณ์ที่คนในบ้านมีร่วมกัน
ลูกชายคนโตของวัฒน์เปรียบบ้านเหมือนเกวียนที่สมาชิกในครอบครัวต่างขนสัมภาระ ขึ้นไปนั่งบนเกวียน มีพ่อและลูกๆ สามคนกระเด้งกระดอนไปบนถนนขรุขระ บนเกวียนมีกรอบรูปของแม่ผู้วายชนม์ด้วย สิ่งของกระเด้งกระดอนออกไปตามรายทาง แต่ไม่ถึงจุดหมายเสียที ไม่ถึงที่ที่จะปักหลักเรียกบ้านได้สักที อุปมาของเขาคล้ายชะตากรรมของครอบครัวบันด์เรนใน As I Lay Dying ของวิลเลียม โฟล์คเนอร์
ลูกชายคนกลางมองเห็นการเคลื่อนเปลี่ยนในตัวพ่อ จากฮีโร่ในวัยเด็ก พ่อได้กลายเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีทั้งด้านที่กราดเกรี้ยวและอ้อมกอดให้คนในบ้าน มีทั้งความครื้นเครงและน้ำตา
ลูกสาวคนเล็กเปรียบพ่อเป็นดวงตะวัน แม่เป็นดวงจันทร์ ลูกๆ คือโลก ดาวสองดวงเกื้อหนุนให้โลกสมดุล แสงแดดและน้ำขึ้นลงให้ชีวิตแก่โลก ถ้าดาวดวงใดดับไป โลกก็จะเป็นโลกที่อยู่ลำบาก.