ด้วยความง่ายและสะดวก ที่สำคัญช่วยให้อิ่มท้องได้ระหว่างการทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่เชียร์กีฬาในสนามฟุตบอลกระทั่งนั่งชมภาพยนตร์ในราคาสบายกระเป๋า ทำให้ ‘ฮอทด็อก’ กลายเป็นอาหารฟาสต์ฟู้ดยอดนิยมของชาวอเมริกันและผู้คนทั่วโลก
ในอดีต ไส้กรอกที่เป็นองค์ประกอบหลักของฮอทด็อกเคยเป็นอาหารคุณภาพชั้นดีที่ได้จากเนื้อสัตว์ต่างๆ แต่เมื่อเข้าสู่การผลิตในระบบอุตสาหกรรมเพื่อรองรับความต้องการที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ของอาหารฟาสต์ฟู้ดชนิดนี้ ซึ่งประมาณการว่าในแต่ละปี ประชากรอเมริกันรับประทานฮอทด็อกรวมกันมากถึง 20 ล้านชิ้น ทำให้เบื้องหลังของกระบวนการผลิตไส้กรอกฮอทด็อกอาจไม่ชวนรับประทานสักเท่าไรนัก
ตามปกติแล้ว ไส้กรอกเป็นกระบวนการในการถนอมอาหารที่ถูกคิดค้นขึ้นตั้งแต่มนุษย์ยุคหิน โดยการนำเนื้อสัตว์มาบดแล้วผสมเข้ากับเกลือเพื่อกรอกลงไปในลำไส้ของสัตว์ การใช้เกลือเพื่อถนอมอาหารในไส้กรอกทำให้เป็นที่มาของรากศัพท์ภาษาละติน ‘salsus’ ที่แปลว่าหมักด้วยเกลือ และเป็นที่มาของคำว่า sausage ในเวลาต่อมา
ไส้กรอกโดยทั่วไปมักจะมีส่วนผสมเพียงไม่กี่ชนิด โดยส่วนใหญ่มักประกอบด้วยเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ, ไขมันสัตว์, ธัญพืช, ไข่ขาว และเครื่องเทศ นำมาผสมรวมเข้าด้วยกันและนำไปกรอกใส่ในลำไส้หรืออาจใช้ไส้เทียมที่ทำจากคอลลาเจนก็ได้ จากนั้นจึงนำไปต้มหรือรมควันเพื่อทำให้สุกก่อนที่จะบรรจุเพื่อจำหน่าย ซึ่งไส้กรอกชนิดนี้มักจะมีเนื้อสัมผัสที่ไม่ละเอียดเพราะยังมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ที่บดหยาบ และมีสีที่เข้มตามธรรมชาติ
แต่กระบวนการผลิตไส้กรอกในปริมาณมากๆ ของระบบอุตสาหกรรมเพื่อเป็นส่วนประกอบหลักของฮอทดอกนั้นกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เนื้อสัตว์ในไส้กรอกฮ็อทดอกเป็นเนื้อส่วนที่เหลือจากการตัดแต่งเพื่อนำไปทำสเต็กหรือพอร์คช็อป เนื้อหลากที่มาเหล่านี้จะถูกนำมาบดรวมกันผ่านเครื่องบดอาหารขนาดใหญ่ จากนั้นจึงนำไปรวมเข้าด้วยกันในอ่างผสมที่จะเติมสารต่างๆ เข้าไปในส่วนผสมเนื้อ เช่น น้ำเชื่อมข้าวโพดเพื่อเพิ่มความหวาน, น้ำสต็อกเพื่อเพิ่มรสชาติ, สารเคมีต่างๆ เช่น โซเดียมอีริธอร์เบทและโซเดียมไนเตรทเพื่อเพิ่มสีให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงและเพื่อเพิ่มอายุการเก็บรักษา เมื่อออกมาเป็นส่วนผสมเหลวเนื้อละเอียดแล้วจึงกรอกเข้ากับไส้เทียมเพื่อนำไปทำให้สุกต่อไป
นอกจากหน้าตาของไส้กรอกฮอทด็อกก่อนจะออกมาเป็นแท่งที่ดูแล้วไม่ชวนรับประทานสักเท่าไรนักแล้ว ไส้กรอกเหล่านี้ยังชวนไม่รับประทานมากขึ้นเมื่อมันยังเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งอีกด้วย จากรายงานของสมาคมโรคมะเร็งในสหรัฐอเมริกา สารประกอบต่างๆ ที่ผสมลงในไส้กรอกเหล่านี้ทำให้สัตว์ทดลองเกิดเชื้อมะเร็งขึ้นในร่างกาย
นอกจากนี้ การรับประทานเนื้อสัตว์ผ่านกระบวนการเหล่านี้ในปริมาณที่มากเกินไปยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้มากขึ้นกว่าเดิม โดยการรับประทานเนื้อสัตว์เหล่านี้ในปริมาณ 1 ออนซ์ต่อวันเป็นจำนวน 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ในผู้ชาย และจำนวน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ในผู้หญิง อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม
***********************************************
ที่มา: alternet.org / dailymail.co.uk