รู้ได้อย่างไรว่าตรงไหนอากาศแย่
ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา มีแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า AirVisual ซึ่งได้รับความนิยมกระทั่งติดอันดับ 1 ของ PlayStore ในหมวดหมู่ Weather และเป็น Best Application 2018 ของ PlayStore ในหมวด Best Daily Helper หรือแอพฯ ตัวช่วยประจำวันที่ควรมีติดมือถือของเราไว้
AirVisual ช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์มลพิษทางอากาศแบบ realtime ได้ง่ายๆ ด้วยปลายนิ้ว โดยนอกจากรายงานผลแบบระบุพื้นที่ได้หลากหลายระดับแล้ว ยังมีพยากรณ์สภาพอากาศในอีก 7 วันข้างหน้า พร้อมบอกคำแนะนำการปฏิบัติตัว นอกจากนี้ยังตรวจสอบทิศทางลม สภาพอากาศในแต่ละเมือง แต่ละประเทศ กระทั่งสามารถดู ranking มลพิษทางอากาศก็ได้เช่นกัน โดยมีข้อมูลที่ไม่น่าภูมิใจว่ากรุงเทพฯ ประเทศไทยนั้นวนเวียนอยู่ใน Top 5 หลายวันแล้ว
สิ่งที่แอพฯ นี้รายงานผลให้เรารู้คือค่า PM2.5, PM10, โอโซน, ไนโตรเจนไดออกไซด์, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งรายงานแบบรายชั่วโมง รายวันให้รู้กันไปเลย ข้อมูลเช่นนี้ไม่เพียงช่วยทำให้เข้าใจว่าเรากำลังหายใจเอาอะไรเข้าไปในร่างกายเท่านั้น แต่ยังทำให้สิ่งที่มองไม่เห็นปรากฏเป็นภาพขึ้นต่อหน้าของเราได้ ทีนี้เห็นตัวเลขแล้วจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ค่าแบบไหนที่เราควรระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้
- 0-50 Good – สภาพอากาศดี สบายใจได้
- 51-100 Moderate – อากาศเริ่มมีปัญหากับคนที่เป็นภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันต่ำ คนเหล่านี้ไม่ควรทำกิจกรรมนอกบ้าน
- 101-150 Unhealthy for sensitive groups – เริ่มแย่แล้ว กลุ่มที่เป็นภูมิแพ้ หรือภูมิคุ้มกันต่ำ ไม่ควรออกจากบ้าน เพราะอาจทำให้ระคายเคือง กระทั่งระบบทางเดินหายใจมีปัญหาได้
- 151-200 Unhealthy – ไม่เพียงกลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำเท่านั้นที่ต้องระวัง พวกที่แข็งแรงอย่างเราๆ ท่านๆ ก็กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจได้เช่นกัน
- 201-300 Very unhealthy – ค่าแบบนี้ก็แทบจะจบกันสำหรับการทำกิจกรรมนอกบ้าน แนะนำให้อยู่ภายในบ้าน ในอาคารจะดีที่สุด
- 301-500 Hazardous – นี่คือภาวะเสี่ยงที่สุดสำหรับทุกคน อยู่ในบ้านหรืออาคารจะกลายเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ หาไม่แล้วก็เท่ากับพาตัวเองออกไปเสี่ยงกับมลพิษขั้นรุนแรงซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไม่มีหน้ากาก N95 ก็ต้องหาวิธีพลิกแพลง
ก่อนหน้านี้มีข่าวดีสำหรับคนที่ไม่สามารถหาซื้อหน้ากาก N95 ซึ่งสามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้ดี ว่ามีอีกทางเลือกที่เข้าท่าก็คือใช้หน้ากากอนามัยร่วมกับกระดาษทิชชู 2 ชั้น พร้อมกับบรรยายสรรพคุณว่าวิธีง่ายๆ นี้กลับมีประสิทธิภาพไม่แพ้หน้ากาก N95 เพราะสามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โดยแทนที่จะมีหน้ากากอนามัยครอบปากและจมูกเท่านั้นก็เอาทิชชูไปเป็นตัวกลางระหว่างหน้ากาก กับจมูกและปากของเราเป็นอันใช้ได้ เห็นวิธีการเช่นนี้ก็ต้องปรบมือชื่นชมเพราะนอกจากจะช่วยให้รอดจากฝุ่นแล้วยังประหยัดเงินในกระเป๋าได้โข
แรกทีเดียวเรื่องนี้มีข้อโต้แย้งอีกด้าน เมื่อ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลไป ว่าการใช้หน้ากากอนามัย ร่วมกับกระดาษทิชชู 2 ชั้น จะสามารถป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ได้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัย N95 นั้น จากการตรวจสอบกับหน่วยงานที่ทำวิจัยว่าผลการวิจัยชิ้นนี้ถูกต้องอ้างอิงได้หรือไม่ เบื้องต้นจากการตรวจสอบความถูกต้องกับแหล่งข้อมูล ยังไม่สามารถยืนยันว่าการใช้หน้ากากอนามัย ร่วมกับกระดาษทิชชู 2 ชั้น สามารถป้องกันฝุ่นได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ จริง ดังนั้นจึงขอความร่วมมือหยุดเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวก่อน จนกว่าจะมีผลการตรวจสอบใหม่ออกมา
หลังจากนั้น คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการทดลองประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM2.5 ผ่านการใช้หน้ากากอนามัยหลากหลายวิธี ซึ่งผลการทดลองเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อพบว่าหน้ากากอนามัยธรรมดาๆ เมื่อพลิกแพลงเพียงเล็กน้อยกลับเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนที่จะปกป้องตนเองออกจากฝุ่นได้แล้ว โดยผลการทดลองดังกล่าวให้ผลตามภาพด้านล่างนี้
วิ่งได้ไหม
มีคำแนะนำจาก นพ.อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ นักกีฬาไตรกีฬา ว่า หากค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) อยู่ที่ 0-60 ถือว่าปลอดภัยในการออกกำลังกายกลางแจ้ง (outdoor) หากค่า AQI 60-100 สามารถออกกำลังกายได้ แต่ลดความถี่ออกกำลังกายกลางแจ้ง, ค่า AQI 100-150 แนะนำให้เข้าสถานที่ออกกำลังกาย (ยิม) หรือว่ายน้ำในสระว่ายน้ำระบบปิด และหากค่า AQI เกินกว่า 150 แม้ออกกำลังกายในร่มก็ต้องมีเครื่องกรองอากาศ
อยากวิ่งแล้วใส่หน้ากากอนามัยชนิด N95 ได้ไหม คำตอบคือ ถ้าใส่ถูกวิธี ช่วยป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ได้ แต่ถ้าใส่ไม่ถูกวิธีก็แทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย เนื่องจากการออกกำลังกายทำให้หายใจแรงขึ้นเร็วขึ้น ลมผ่านทางปากเข้าปอดโดยตรงมากขึ้นกว่าหายใจปกติ ฉะนั้นถ้าใส่หน้ากากอนามัยชนิด N95 ไม่ได้มาตรฐาน หรือใส่ผิดวิธีก็ไม่ได้ช่วยอะไร
นอกจากนี้ยังมีเรื่องน่ากังวลคือ การออกกำลังกายขณะใส่หน้ากากอนามัย ยิ่งนานเข้าจะทำให้หน้ากากอนามัยเปียกชุ่มจากเหงื่อ การใส่หน้ากากอนามัยขณะออกกำลังกาย จะทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานหนักมากขึ้น
หยุดเรียนสองวันสิวจะยุบไหม
ปัญหาใหญ่ของวัยรุ่นคือ สิว ขณะที่ฝุ่นละออง PM2.5 ก็มีผลต่อผิวพรรณของมนุษย์ เพราะมันจะก่อให้เกิดอาการแพ้และระคายเคือง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) หรือโรคผิวหนังอักเสบบริเวณที่มีต่อมไขมันเป็นจำนวนมาก ผลระยะยาวอนุภาคของฝุ่นจะแทรกผ่านเข้าผิวหนังแล้วทำลายเซลล์ผิว เพราะผิวหนังเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกายจึงต้องเจอฝุ่นเยอะที่สุด
ผู้ที่เสริมความงามด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ฉีดโบท็อกซ์ หรือศัลยกรรม จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะรอยที่ผิวหนังจะทำให้ระคายเคืองได้ง่าย และหากแกะเกาจนเกิดแผล ก็อาจจะติดเชื้อ เนื่องจากอนุภาคฝุ่นสามารถทำลายเซลล์ผิวหนังได้ เพราะก่อให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (oxidation) ซึ่งทำให้เซลล์เสียหาย
ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการเดินทางออกไปนอกอาคารโดยไม่จำเป็น และอย่าเพิ่งออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะผู้ที่ทำศัลยกรรมความงาม เช่น ฉีดโบท็อกซ์ จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
อยู่ในบ้าน หลบฝุ่นได้จริงหรือ
ในเมื่ออากาศข้างนอกมันโหดร้าย ก็อยู่ในบ้านมันนี่แหละ เพียงแค่เราปิดประตูหน้าต่างให้สนิท ก็สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัย และหลบหลีกความอันตรายจากฝุ่น PM2.5 ได้จริงหรือ
ในสถานการณ์ที่ฝุ่นละอองปกคลุมไปทั่วเมืองแบบนี้ แน่นอนว่าการอยู่ในอาคาร อยู่ในห้อง อยู่ในสถานที่ปิด ย่อมลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหลังจากการสูดฝุ่นวายร้ายเข้าไปเต็มปอด แต่การปิดประตู-หน้าต่างอย่างแน่นหนา อาจไม่ใช่ข้อการันตีว่าจะทำให้เราปลอดภัยและอยู่ในอากาศบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมกว่า 25 เท่าเช่นนี้ ยังต้องการวิธีพิเศษบางอย่างที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้คลี่คลายลง
กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้คำแนะนำในการดูแลอาคารบ้านเรือนให้อยู่รอดจากปัญหาหมอกควัน ไว้ว่า นอกจากการปิดประตูหน้าต่างแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองพัดเข้าไปได้ บ้านที่มีเครื่องปรับอากาศก็ควรเปิดใช้งาน เพื่อระบบหมุนเวียนอากาศภายในบ้านได้ทำงานแทนการดึงอากาศมาจากภายนอก แต่ควรเปลี่ยนหรือหมั่นล้างระบบกรองอากาศเป็นประจำ ส่วนบ้านที่ใช้พัดลม ควรเป่าลมลงผิวน้ำก่อนเพราะละอองน้ำจะช่วยดักจับฝุ่นในอากาศ และลดปริมาณฝุ่นในอากาศได้อย่างมีประสิทธิมากขึ้น
อยู่ในรถจะปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 หรือ
ไม่เพียงแต่ผู้ที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่าง รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือ หรือผู้เดินเท้าเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศของกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM2.5 สำหรับผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเองก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงฝุ่น PM2.5 ได้เสมอไป
แม้รถยนต์ส่วนบุคคลจะเป็นรถที่มีหน้าต่าง ประตู รวมถึงระบบกรองอากาศเป็นเกราะป้องกันฝุ่น แต่สิ่งที่ควรระมัดระวังของผู้ที่ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลคือไม่ควรเปิดหน้าต่างหรือประตูรถทิ้งไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ฝุ่น PM2.5 สามารถเข้ารถได้
นอกจากนี้ควรปิดช่องดักอากาศจากภายนอกแล้วใช้อากาศภายในรถยนต์เเทน เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่น PM2.5 เข้ามาภายในรถได้ อีกทั้งเปลี่ยนเครื่องกรองอากาศแอร์อย่างน้อยปีละครั้ง หรือทุกๆ 15,000 กิโลเมตร หากรถคันไหนไม่มีเครื่องกรองอากาศก็ควรติดตั้งให้เรียบร้อย ทั้งนี้ก็เพื่อกรองฝุ่นไม่ให้เข้ามาภายในรถ
อย่างไรก็ตาม การเดินทางโดยใช้รถยนต์ส่วนบุคคลก็มีความเสี่ยงน้อยกว่าผู้ที่อาศัยการเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งต้องฝ่าฟันกับอากาศภายนอกที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM2.5 เพราะไม่สามารถควบคุมตัวแปรรอบตัวได้เลย กระนั้นก็มีสิ่งที่ต้องคำนึงอีกด้านเช่นกัน นั่นคือการใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นจำนวนมากเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมลพิษ วิธีที่หลายคนเสนอว่าเป็นทางออกที่เข้าท่าคือ ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น และลดการใช้รถบนถนนด้วยการขึ้นรถสาธารณะ แน่นอนว่ารถสาธารณะก็ต้องแก้ไขให้การปล่อยควันนั้นได้มาตรฐานที่ปลอดภัยเช่นเดียวกัน
ล้างจมูกกันหน่อย
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า “PM2.5 เป็นหนึ่งในฝุ่นหลายๆ ชนิดที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะขนาดที่เล็กมากๆ ทำให้สามารถผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและสร้างปัญหากับหลอดเลือดได้ง่ายกว่าฝุ่นที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะโดนดักเอาไว้ด้วยขนจมูกและเมือก รวมถึงขนโบกตามช่องทางเดินหายใจ เมื่อฝุ่นจิ๋วเข้าสู่ร่างกายแล้ว อาจจะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจ จากการทะลุทะลวงผ่านปอดเข้าสู่เส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย รวมทั้งเสี่ยงจะเกิดโรคมะเร็งปอดด้วย”
สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังกล่าวว่า “PM2.5 สามารถทำให้ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เช่น หืดหอบ มีอาการกำเริบได้ และในระยะยาวจะส่งผลให้ปอดทำงานถดถอย จนอาจก่อให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองและมะเร็งปอด”
ส่วนวิธีป้องกันก็มีหลากหลาย แต่อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยบรรเทาความหนักหนาหลังร่างกายปะทะกับฝุ่นละออง นั่นคือการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9 เปอร์เซ็นต์ (0.9% NaCl หรือเรียกว่า 0.9% NSS) ซึ่งหาซื้อง่ายตามร้านขายยาทั่วไป เพราะประโยชน์ของการล้างจมูก จะช่วยทำความสะอาดโพรงจมูก ซึ่งเป็นด่านแรกที่สำคัญในการนำอากาศเข้าร่างกาย ช่วยชะล้างเอาน้ำมูกหรือสิ่งสกปรกในโพรงจมูกออก บรรเทาอาการคัดจมูก แสบจมูก คัน จาม มีน้ำมูกไหลได้ ที่สำคัญการล้างจมูกยังช่วยลดจำนวนเชื้อโรค มลพิษ ฝุ่นละออง สารก่อภูมิแพ้ สิ่งระคายเคือง และสารที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้ในโพรงจมูก รวมไปถึงไซนัส นอกจากนี้การล้างจมูกยังช่วยป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกและไซนัสขึ้นไปหูชั้นกลาง หรือลงไปสู่ปอดได้ด้วย
ฝุ่น PM2.5 เกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยาอย่างไร
ดร.ภาณุ ตรัยเวช อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความเชื่อมโยงของฝุ่นกับปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาว่า “ปัญหาฝุ่นเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์อุตุนิยมวิทยาอย่างแน่นอนครับ เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มหรือลดปริมาณความเข้มข้นฝุ่นในอากาศคือ ฝุ่นสามารถกระจายตัวได้ดีหรือไม่แค่ไหน
“ถ้าอากาศเปิด ฝุ่นกระจายตัวดี ต่อให้มีปริมาณฝุ่นในชั้นบรรยากาศมาก ก็จะไม่เกิดปัญหารุนแรงเท่านี้ กรณีที่ท้องฟ้าปิด อากาศไม่สามารถลอยตัวได้ ประกอบกับไม่มีลมพัดมา ฝุ่นมลพิษที่แพร่ออก ลอยค้างอยู่เหนือเขตเมืองใหญ่ และมีความเข้มข้นมากจนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตคน
“อยากให้สังเกตอย่างหนึ่งว่า ช่วงกลางคืนปัญหาฝุ่นควันไม่ได้ลดลงเลย และบางทียิ่งเลวร้ายขึ้นด้วยซ้ำ ทั้งที่ปริมาณรถบนท้องถนนน้อยลง อันนี้คือเหตุผลโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงอากาศ และการไหลเวียนอากาศในแต่ละช่วงเวลาในแต่ละวันครับ
เมื่อเป็น ‘ปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิยา’ แสดงว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 คือสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ และโดยหลักการ เราพยากรณ์ล่วงหน้าได้
“เราทำนายล่วงหน้าได้แน่นอนครับ มีกราฟคร่าวๆ ที่คนส่งต่อทางเฟซบุ๊ค แสดงให้เห็นว่าปัญหาฝุ่นจะเลวร้ายสุดช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ และก็เป็นแบบนี้ทุกปีด้วย ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน จากฤดูฝนมาฤดูหนาว อากาศแห้งแล้ง เลยไม่ค่อยมีความชื้นมาดักจับฝุ่น ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวกับการไหลเวียนอากาศอีก”
กับสภาพความเป็นจริง ‘การแก้ปัญหา’ หรือการทำให้ฝุ่นหมดไป ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากการออกมาตรการ ‘รับมือ’ เราอาจต้องรอให้ธรรมชาติช่วยพาฝุ่นออกไป “ตอนนี้รอสามอย่าง คือรอลม รอความชื้น แล้วก็รออุณหภูมิครับ ถ้าลมมา ฝุ่นก็จะกระจายตัวได้มากขึ้น ถ้าความชื้นสูง ก็จะดักจับฝุ่นได้ดีขึ้น ถ้าโครงสร้างอุณหภูมิเปลี่ยน อากาศลอยตัวได้สูงขึ้น ฝุ่นก็จะเจือจางลงครับ”